สภาทนายความนำพ่อแม่ของ 2 ผู้ต้องหาชาวพม่าที่ถูกจับคดีเกาะเต่าร้องดีเอสไอขอเป็นคดีพิเศษ พร้อมร้องทุกข์ชุดสอบสวน และล่ามปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้านกรรมการสิทธิฯ แสดงความไม่พอใจ ตำรวจไม่ส่งชุดจับกุมชี้แจง ยันตรวจสอบแค่เรื่องการซ้อมทรมาน การใช้อำนาจรัฐที่เกินเลย ไม่ได้ต้องการรู้ว่าใครถูกใครผิด เตรียมเสนอที่ประชุมจะใช้อำนาจตามกฎหมายเรียกชี้แจงหรือไม่
วันนี้ (3 พ.ย.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในสำนักงานคณะกรรมการการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน ได้มีการประชุมนัดที่ 4 เพื่อพิจารณากรณีมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบว่า 2 ผู้ต้องหาฆ่านักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ โดยการประชุมครั้งนี้ ชุดสืบสวนสอบสวนที่เข้าทำคดีนี้และทางอนุกรรมการได้มีหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้มาให้ข้อมูล ยังคงไม่เดินทางมาชี้แจง แต่ทางสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมด้วย นายโท โท ไทด์ และ นางเม เต้น บิดามารดาของนายวินซอทู และ นาง พิว เฉ นุ มารดาของนายซอลิน 2 ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และ นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีเกาะเต่าของสภาทนายความได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการ
นพ.นิรันดร์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ทางอนุกรรมการได้รับการยืนยันจากตัวแทนสถานทูต และพ่อแม่ผู้ต้องหาว่า ผู้ต้องหาถูกใช้ความรุนแรง บังคับขู่เข็ญ และซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอด ขอให้มาชี้แจง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 โดย พล.ต.ท.วัฒนา สักกวัตร จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือชี้แจงมาว่า ขณะนี้การสืบสวนสอบสวนในคดีเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการและศาล หากมาให้ข้อเท็จจริงกับหน่วยงานอื่นอาจมีผลต่อรูปคดีและอาจมีผลกับผู้เสียหายได้ ประกอบกับอนุกรรมการมีหนังสือไปถึงเมื่อวันที่ 29 ต.ค. เพื่อให้มาชี้แจงในวันดังกล่าว จึงเป็นระยะเวลากระชั้นชิด ไม่สามารถเตรียมข้อเท็จจริงมาชี้แจงได้ จึงขอเลื่อนการชี้แจง ซึ่งทางอนุกรรมการฯเห็นว่าข้ออ้างเรื่องความกกระชั้นชิดนั้นฟังไม่ขึ้น
ส่วนการที่อ้างว่าการมาให้ข้อมูลอาจมีผลต่อรูปคดี ยืนยันว่า อนุกรรมการตรวจสอบแค่เรื่องการซ้อมทรมาน การใช้อำนาจรัฐที่เกินเลย ไม่ได้ต้องการรู้ดีเอ็นเอ สภาพศพ ไม่ได้ตรวจสอบว่าใครถูกใครผิด ถ้าตำรวจมาแล้วบอกว่าเรื่องนี้ตอบไม่ได้ อนุกรรมการฯ ก็จะไม่ถามต่อ ดังนั้นการที่เชิญมาให้ข้อมูลจึงไม่เกี่ยวกับสำนวนคดีแต่อย่างใด แต่การซ้อมทรมานถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และตามหลักกฎหมาย ตราบใดที่ศาลฎีกายังไม่พิพากษา ก็ยังต้องถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งหลักการสอบสวนแนวใหม่มีหลายวิธีที่ทำให้ผู้ต้องหาสารภาพได้ ไม่จำเป็นต้องซ้อมทรมาน อีกทั้งยังมีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่รองรับโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 ว่าด้วยการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของชาวไทย ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากตำรวจมาให้ข้อมูลต่ออนุกรรมการจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของตำรวจมากกว่า เพราะจะทำให้สังคมรู้ว่าตำรวจไทยทำงานอย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้
“เรื่องนี้มีคนร้องมาที่กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องตรวจสอบตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่ทำผมก็โดนมาตรา 157 ได้ ผมไม่ใช่คนละอ่อน ไม่ใช่เด็ก ป.4 แต่อายุ 64 แล้ว เป็นข้าราชการก็เกษียณแล้ว เคยเป็น ส.ว. มา 4 ปี เป็น กสม. มา 5 ปีแล้ว รู้ดีว่าอะไรควรไม่ควร ซึ่งเราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แรงงานต่างด้าวก็ด้วย ไม่เช่นนั้นหากบ้านเมืองเราไม่เป็นธรรม ก็ไม่มีใครเข้ามาทำงาน กสม. ก็ไม่ได้มองว่าตำรวจเป็นจำเลยหรือจะเรียกมากล่าวหา เพียงแต่อยากรู้ข้อเท็จจริง” นพ.นิรันดร์ กล่าว
เมื่อถามว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหตุผลอย่างไรที่ไม่เข้ามาชี้แจง นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในครั้งแรก สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุเหตุผลว่าตรงกับวันตำรวจแห่งชาติ จึงไม่สามารถเข้ามาให้ข้อมูลได้ และครั้งต่อมาได้เชิญรองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8 เข้ามาชี้แจง ก็ชี้แจงว่ารู้ข้อมูลเฉพาะบนฝั่ง ไม่ได้ทราบข้อมูลการสอบสวนในพื้นที่เกาะพะงัน ครั้งที่ 3 จึงได้เชิญผู้กำกับ สภ.เกาะพะงันมาชี้แจง ก็ได้รับการยืนยันว่าหากเป็นชุดสืบสวนของ สภ.เกาะพะงัน นั้น ไม่มีการซ้อมผู้ต้องหา แต่ไม่สามารถรับรองได้ว่าหน่วยงานอื่นมีการซ้อมผู้ต้องหาหรือไม่ เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งชุดสืบสวนหลายหน่วยงานมาสอบสวน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล นอกจากนี้ตนก็จะนำกรณีที่ตำรวจไม่มาชี้แจงเข้าหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการ กสม. ในวันที่ 12 พ.ย. นี้ เพื่อฟังความเห็นจาก กสม. ทั้ง 7 คนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. กสม. มาตรา 34 หากบุคคลใดไม่ยอมมาชี้แจง กสม. ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายอาญา ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
ด้าน นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้จะนำพ่อแม่ของผู้ต้องหาไปร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นดดีที่มีความสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งจะขอให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษตำรวจชุดสืบสวน ชุดจับกุม และล่ามแปลภาษา ที่มีการซ้อมทรมานให้ผู้ต้องรับสารภาพในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกาย เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย