xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการสิทธิฯ ชี้ทีวีดิจิตอลช่วงชิงเรตติ้งข่าว ละเมิดสิทธิอื้อ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“หมอนิรันดร์” กรรมการสิทธิฯ พร้อมนักวิชาการเรียกร้องสื่อทีวียุคดิจิตอลนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง ไม่แย่งชิงเรตติ้งข่าวจนละเมิดสิทธิบุคคลอื่น

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ช่วยด้วย! ทีวีรังแกฉัน” โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ภายในงานมีนักวิชาการด้านเด็กและเยาวชนและนักสื่อสารมวลชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความรู้

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมีการร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก ปีหนึ่งๆ มีหลายคดีที่ตนได้รับการร้องเรียนและต้องลงไปตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ถือกฎหมายและดำเนินคดีต่อผู้ต้องหา มีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมากในการปฏิบัติหน้าที่กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การซ้อมผู้ต้องหา การบังคับให้รับสารภาพ สิ่งเหล่านี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับสื่อมวลชนในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน หลายเรื่องมีการร้องเรียนเข้ามาว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันมากขึ้นในยุคทีวีดิจิตอลที่มีมากมายหลายช่องด้วยกันในเวลานี้ ทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หลายเรื่องสื่อมวลชนนำเสนอออกไปทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สรุปผลคดี ผลคือคนที่ถูกพาดพิงลงในข่าวได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งๆ ที่กระบวนการยุติธรรมระบุไว้อย่างชัดเจนผู้ตกเป็นผู้ต้องหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินพิพากษา แต่ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ สื่อนำเสนอข่าวออกไป เท่ากับบุคคลนั้นถือพิพากษาจากสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ขอยกคดีตัวอย่างเช่น คดีเกาะเต่า มีการนำเสนอข่าวและพาดพิงบุคคลต้องสงสัยไปหลายคน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สื่อมวลชนควรคัดกรองประเด็นในการนำเสนอขาวด้วยความระมัดระวังและไม่ให้กระทบสิทธิส่วนบุคคลผู้อื่น เพราะต้องยอมรับว่าในการนำเสนอข่าวเมื่อมีการนำเสนอข่าวผิดพลาด พื้นที่ในการแก้ข่าวให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากข่าวนั้นๆ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พาดหัวข่าวลงหน้า 1 แต่พอลงแก้ข่าวให้ผู้เสียหายกับไปลงในพื้นที่เล็กๆ หน้าใน ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญสื่อต้องให้ความสำคัญในการนำเสนอข่าวและแก้ข่าวผู้เสียหายอย่างเท่าเทียมกัน เพราะชื่อเสียงเขาและครอบครัวเสียหายไปแล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสามารถแก้ไขหรือชี้แจเสียงให้สังคมทราบได้ดีเท่ากับการนำเสนอของสื่อมวลชนที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุ

นางสุวรรณา บุญกล่ำ รองผู้อำนวยการข่าวและรายการ และผู้เชี่ยวชาญกระบวนการผลิตและพัฒนาบุคลากร สถานีโทรทัศน์ชื่อดัง ให้ความเห็นว่า จากประสบการณ์และการพูดคุยตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาในเรื่องการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิของผู้ที่อยู่ในข่าวนั้นยอมรับว่าทุกฝ่ายต้องการให้ปรับปรุงแต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เกิดทางเลือกและแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันไม่ให้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้มีกรณีตัวอย่างมากมาย เช่นเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือสื่อจากเหยื่อขบวนการที่ทำผิดกฎหมาย แต่มีการนำเสนอข่าวที่เห็นลักษณะเฉพาะของตัวบุคคล จนทำให้คนในสังคมทราบตัวตนของเหยื่อและสร้างผลกระทบในทางลบกับเหยื่อตามมา ดังนั้น สื่อต้องคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ความละเอียดรอบคอบในการผลิตและนำเสนอข่าวไม่ให้เกิดการทำละเมิดซ้ำบนพื้นที่สื่อ และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือต้องมีวิธีการให้ผู้ที่ตกเป็นข่าวทราบสิทธิในการปกป้องตนเองจากการนำเสนอข่าว

ด้านนายสืบสกุล พันธ์ดี พิธีกรรายการรถปลดทุกข์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีเส้นบางๆ ระหว่างธุรกิจกับจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว และในฐานะที่สื่อมีอิทธิพลในการชี้นำสังคมได้ จึงควรเน้นนำเสนอในส่วนที่เป็นการเตือนและป้องกันภัยในสังคมพร้อมกับการสะท้อนความจริงที่ต้องเข้าใจความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบ แม้แต่การสัมภาษณ์ก็ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์อย่างยิ่ง และที่สำคัญสื่อต้องไม่ลืมว่าไม่สามารถตัดสินให้ใครผิดหรือถูกได้ เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ตกเป็นจำเลยของสังคมด้วยการนำเสนอโดยสื่อ โดยเฉาะทางโซเชียลมีเดีย หรือการใช้ความคิดของตนเอง หรือมโนโซเชียล ซึ่งสร้างผลกระทบต่อบุคคลและสังคมเป็นอันมาก

ขณะที่ น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และตัวแทนสภาเยาวชน กรุงเทพมหานคร ย้ำว่าสื่อมีอิทธิพลต่อคนทุกวัย ดังนั้นในมุมมองจากการทำงานด้านเด็กเยาวชน พบว่าเยาวชนไทยขาดอาหารสมองคือความรู้ที่ได้จากสื่อ ดังนั้นในการตัดสินใจนำเสนอข่าวของสื่อแต่ละครั้งควร พิจารณาให้มีความเหมาะสมโดยเฉพาะมิติของการรับรู้ของเด็กที่ยังไม่มีภูมิต้านทานทางความคิด ทั้งนี้อยากให้สื่อนำเสนอข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์ โดยต้องมีพื้นที่และช่วงเวลาที่เหมาะสมให้เยาวชนเข้าถึงได้ ต้องตั้งคำถามทำไมถึงได้นำเสนอในช่วงเวลาที่มีกลุ่มเป้าหมายน้อย

อย่างไรก็ตาม เวทีสัมมนามีบทสรุปตรงกันว่า สื่อต้องมีคุณธรรม จริยธรรม การตระหนักรู้ในการทำหน้าที่ และท้ายที่สุดทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ทำงานด้านสื่อ หรือคนดูต่างต้องมีสามัญสำนึกความรับผิดชอบเสนอในการผลิตข่าว หรือการความรับผิดชอบต่อการแชร์ข้อมูลที่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นตามมา เพื่อให้ทุกฝ่ายเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม



กำลังโหลดความคิดเห็น