xs
xsm
sm
md
lg

“ปส.-ปนม.-ปคม.-ฉก.-ชป.” ในวงการตำรวจล้วนคือ “วงจรอุบาทว์” ที่ต้องรีบตัดทิ้ง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การเสียชีวิตของ 1 ในผู้ต้องหาภายใต้อุ้งมือตำรวจ ปส. ใน จ.สงขลา (แฟ้มภาพ)
 
“ยาเสพติด” คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จนถึงรัฐบาลในปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขให้สถานการณ์การค้า และการเสพลดลง ในแต่ละปีมีแต่ตัวเลขของการค้า และการเสพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่มีการระบุว่า ณ วันนี้ไม่มีพื้นที่ของ “หมู่บ้านปลอดยาเสพติด” แม้แต่พื้นที่เดียว
 
การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงเป็นภารกิจที่ทุกหน่วยงานเข้าไปดำเนินการ แต่หน่วยงานที่มีบทบาทที่สุดยังคงเป็น “ตำรวจ” เพราะคือ ผู้ที่รักษากฎหมาย ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรม นำคนผิดมาลงโทษเพื่อสร้างความสงบสุขให้แก่สังคม
 
การปราบปรามยาเสพติดของตำรวจจึงมีมากมาย เช่น ในระดับโรงพักก็มีการจัดชุด “ปส.” หรือชุดป้องกันปราบปรามยาเสพติดอย่างน้อย 1 ชุด ส่วนในระดับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือ บก.ภ.จว.ก็จะมีการการตั้งชุด “ปส.” ที่เป็นของจังหวัดอีกต่างหาก ในขณะเดียวกัน ระดับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ก็มีการจัดตั้งชุด “ปส.” ขึ้นมาเช่นกัน เพื่อทำหน้าที่แบบเดียวกันอีก นี่ยังไม่นับชุด “ปส.” จากตำรวจส่วนกลาง หรือจาก ตชด. และจากฝ่ายปกครองต่างๆ อีกมากมาย
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากชุด “ปส.” ต่างๆ เกิดจากมีการปฏิบัติหน้าที่ในแบบที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นตก “เป็นข่าว” เสียเองมาโดยตลอด
 
กล่าวคือ การถูกร้องเรียนจากผู้ที่ถูกจับกุม และผู้เสียหาย การถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม เช่น การ “ยัดยา” ใส่เหยื่อเพื่อใช้เป็นของกลางหลังถูกจับกุม การถูก “รีดทรัพย์” เพื่อแลกต่อการปล่อยตัว การถูกบังคับให้เป็น “นกต่อ” และเป็น “สาย” เพื่อจับกุมผู้อยู่ในขบวนการเพื่อแลกต่อการไม่ตกเป็นผู้ต้องหา
 
และที่สำคัญที่สุดคือการ “ซ้อม” เพื่อให้ผู้ถูกจับ “คายความลับ” และเพื่อ “บังคับขู่เข็ญ” ให้ทางบ้าน หรือทางญาติๆ จ่ายเงินเพื่อแลกกับ “อิสรภาพ” ของผู้ถูกจับกุม
 
เช่นที่เกิดขึ้นกับครอบครัว นายสมชัย เสรีเกียรติดิลก อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 325/37 ซอย 4 ศุภสารรังสรรค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งได้ร้องขอความเป็นธรรมจากศูนย์ดำรงธรรม และจากสื่อมวลชนในกรณีที่ นายธีระพัฒน์ เสรีเกียรติดิลก บุตรชายถูก พ.ต.ท.ธวัชชัย ซุ้นเจริญ หัวหน้าชุด “ปส.” ของ ภ.จว.สงขลา และพวกอีก 10 นาย ควบคุมตัวไปยังเซฟเฮาส์เพื่อสอบสวนสืบสวนในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง
 
ก่อนที่จะบังคับเรียกเงิน 1 ล้านบาท เพื่อแลกต่ออิสรภาพ และมีการต่อรองจากครอบคัวของนายธีระพัฒน์ เหลือ 3 แสนบาท ซึ่งก็เป็นที่ตกลงแล้ว
 
แต่เมื่อครอบครัวไปรับตัวนายธีระพัฒน์ ที่เซฟเฮาส์ที่ใช้ในการควบคุมตัว สิ่งที่ได้พบคือ ร่างอันไร้วิญญาณของนายธีระพัฒน์ ที่นอนกองอยู่กับพื้นที่ และเจ้าหน้าที่แจ้งว่า นายธีระพัฒน์ เสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตาย โดยการใช้เข็มขัดผูกคอกับหน้าต่างห้อง ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
 
นี่คือสาเหตุของการที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งที่ 174/2558 สั่งย้าย...
 
1.พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร ผบก.ภ.จว.สงขลา
2.พ.ต.ท.ธวัชชัย ซุ้นเจริญ รอง ผกก.ป. สภ.คลองแงะ หัวหน้าชุด ปส.ภ.จว.สงขลา
3.พ.ต.ท.ธเนศ พงศ์รอด สว.สส.ภ.จว.สงขลา
4.ร.ต.อ.ยอดพิพัฒน์ โส๊ะขาว รอง สวป.สภ.สะเดา
5.ด.ต.สุรศักดิ์ แสงดี ผบ.หมู่ ป.สภ.เมืองสงขลา
6.ด.ต.พงษ์ บุญโรจน์ ผบ.หม.ป.สภ.เมืองสงขลา
7.ด.ต.จรงค์ สุทธิชล ผบ.หมู่ ป.สภ.เมืองสงขลา
8.ด.ต.สมชาย เรืองช่วย ผบ.หมู่ ป.สภ.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา
9.ด.ต.ประจักษ์ สิริพร ผบ.หมู่ ป.สภ.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา
10.ด.ต.พิทยา แสงเอียด ผบ.หมู่ ป.สภ.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
11. ด.ต.เชิดชัย พรรณราย ผบ.หมู่ ป. สภ.สะเดา จ.สงขลา
 
โดยให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดของชุด ปส. และ ผบก.ภ.จว.สงขลา ไปประจำที่ ศปก.ตร.ส่วนหน้า โดยไม่มีกำหนด
 
และ ผบ.ตร.ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.จักทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบในการสืบสวนข้อเท็จจริง และให้โอนคดีดังกล่าวให้แก่ กองปรามปราม เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่ง พล.ต.อ.จักร์ทิพย์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผบก.ป. และ พ.ต.อ.สมพงศ์ สุวรรณวงศ์ ผกก.6 ป. และคณะเดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งเชิญตัวนายสมชัย บิดาของนายธีระพัฒน์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประชุมสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่ห้องประชุม สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
 
สำหรับหลักฐานสำคัญในคดีดังกล่าวคือ ภาพจากกล้องวงจรปิดที่มีการถีบผู้เสียชีวิตตั้งแต่ในขั้นตอนของการจับกุมในที่เกิดเหตุ และภาพจากจุดอื่นๆ รวมทั้งผลการชันสูตรศพจากคณะแพทย์โรงพยาบาล ม.อ. ซึ่งมีการระบุว่า ผู้เสียชีวิตกระดูดซี่โครงหัก 4 ซี่ ปอดฉีกขาด และผลการพิสูจน์ที่เป็นเอกสารสำคัญได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ในแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้เปิดเผยว่า ผบ.ตร.ให้ความสำคัญในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะตำรวจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต โดยการทำร้ายร่างกาย และอำพรางคดีว่าเป็นการฆ่าตัวตาย และอีกประเด็นที่สำคัญคือ มีการเรียกร้องเอาเงินจากครอบครัวผู้เสียหาย ซึ่งทั้ง 2 กรณีถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง ทั้งทางวินัย และทางอาญา
 
อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า นอกจากตำรวจทั้ง 10 นายแล้ว ยังพบว่ามี “สายข่าว” ของตำรวจชุดดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย โดยในเบื้องต้น ได้ทำการควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว
 
ในการสอบสวนข้อเท็จจริงจะยึดพยานหลักฐานเป็นด้นสำคัญ และจะสืบสวนสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อที่จะให้ความเป็นธรรมทั้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และต่อเจ้าหน้าที่ผู้ที่ถูกกล่าวหา ขณะนี้ได้ให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีต่อ “ตำรวจ ปส.” ชุดดังกล่าวที่ สภ.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ สถานที่เกิดเหตุ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 10 นาย ยังไม่ได้ให้ออกจากราชการ เพราะต้องรอผลการสอบสวนอีก 2-3 วัน
 
โดยข้อเท็จจริง การเสียชีวิตของผู้ที่ถูกจับกุม หรือผู้ถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือจำหน่ายนั้น คดีนายธีระพัฒน์ เป็นคดีที่ 2 ที่เกิดขึ้นใน จ.สงขลา เพราะเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันแล้วที่ สภ.ระโนด จ.สงขลา
 
โดยคดีที่ สภ.ระโนด มีผู้ต้องหาชื่อ นายสุชาติ หมื่นวุ่นหนู ถูกตำรวจ ปส.สภ.ระโนด จับกุมพร้อมของกลาง แล้วมีการเรียกเงินจากภรรยาของผู้ต้องหา จำนวน 5 แสนบาท แต่ต่อรองเหลือ 3 แสนบาท หลังจากนั้น เมื่อภรรยาของผู้ต้องหาเดินทางมายัง สภ.ระโนด พบว่า นายสุชาติ เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นการผูกคอตายเพื่อหนีความผิด เมื่อส่งศพไปให้โรงพยาบาล ม.อ.พิสูจน์ กลับพบว่า กระดูกซี่โครงหัก 7 ซี่
 
คดีนี้ญาติได้แจ้งความเอาผิดต่อตำรวจทั้ง 5 นาย และร้องเรียนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนสุดท้าย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากราชการ และให้ดำเนินการเอาผิดทั้งทางวินัย และอาญา
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลา มีลักษณะเหมือนกันคือ การจับกุมผู้ต้องสงสัย ตั้งข้อหา ทำร้ายร่างกาย และเรียกเงินแลกต่อการปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่กลับมีการซ้อมผู้ต้องหาจนเสียชีวิตก่อนที่ถูกปล่อยตัว
 
หลังเกิดเหตุมีการร้องขอความเป็นธรรม กระบวนการสอบสวนเป็นไปด้วยความล่าช้า มีลักษณะปฏิเสธความรับผิดชอบ และมีการ “วิ่งเต้น” เพื่อล้มคดี จนครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องร้องเรียนไปยัง “ส่วนกลาง” คดีจึงคืบหน้า และเกิดการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่
 
จึงหวังว่า 2 คดีที่เกิดขึ้นในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2558 ที่ จ.สงขลานั้น จะเป็นอุทาหรณ์ให้ “ตำรวจชุด ปส.” ทั้งหมดได้มีการปรับขบวนการจับกุม และสอบสวนเพื่อให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา ที่สำคัญต้องเลิกใช้ระบบการ “ซ้อม” และการ “แสวงหาผลประโยชน์” จากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนเป็นข่าวครึกโครมดังกล่าว
 
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่แค่เรื่องของการให้ความเป็นธรรมต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ครอบครัวเท่านั้น แต่ต้อง “ลงลึก” ถึงการแก้ปัญหาให้ถึงรากเหง้าของการตั้งชุด “ปส.” ขึ้นมามากมายเพื่อการปราบปราม และจับกุมผู้เสพผู้ค้ายาเสพติด
 
เนื่องเพราะนั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหา หรือเป็นการสร้างปัญหา และการตั้งขึ้นชุด “ปส.” ขึ้นมากมายนั้นทำไปเพื่อให้ “ยาเสพติดลดลง” หรือเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อ “หาเงิน” ให้แก่นาย และแก่ตนเองกันแน่
 
เนื่องจากชุด “ปส.” แต่ละชุด ซึ่งอาจรวมได้ถึงชุด “ปนม.” หรือชุด “ปราบน้ำมันเถื่อน” ชุด “ปคม.” หรือชุด “ปราบปรามการค้ามนุษย์” ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ชุดที่เป็นของ “ภ.จว.” ของ “บชภ.9” และที่มาจาก “ส่วนกลาง” ต่างก็เคยสร้างเรื่องราวฉาวโฉ่เกี่ยวกับการ “หา” และการ “เรียกรับ” ผลประโยชน์จากผู้ทำผิดมากกว่าการที่จะจับกุมเพื่อทำให้ปัญหาบ้านเมืองลดน้อยลง
 
เหมือนๆ กับชุด “ปนม.” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำบัญชีผู้ทำผิดแล้วเรียกเก็บ “ส่วย” เป็นรายเดือน เหมือนๆ กับ ชุด “ปคม.” ที่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ในชุดจะเดินสาย “เก็บส่วย” จากกิจการที่มีการค้ามนุษย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตั้งตัวเป็น “เอเยนต์” เป็น “นายหน้า” หรือเป็น “ผู้จัดหา” เพื่อการค้าเสียเอง
 
การจับกุมผู้ทำความผิดแล้วเอาตัวไปไว้ใน “เซฟเฮาส์” แทนที่จะเอาตัวไปโรงพักเพื่อดำเนินการตามกฎหมายด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรมตามกระบวนการของกฎหมาย เรื่องแบบนี้จะยังให้มีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะ “เซฟเฮาส์” ที่ตั้งขึ้นมาไม่ใช่สถานที่สอบสวนเพื่อขยายผลในการจับกุมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นที่ “สอบและซ้อม” เพื่อบังคับ ข่มขู่ ข่มขืนใจเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินแลกต่อการปล่อยตัวให้พ้นผิดด้วย
 
โดยข้อเท็จจริง การจับกุมผู้เสพ ผู้ค้ายาเสพติด ผู้ค่าน้ำมันเถื่อน ผู้ค้ามนุษย์ ทุกโรงพักมีหน้าที่รับผิดชอบ และมีข้อมูลที่รู้ดีว่าในพื้นที่ของแต่ละโรงพักมีใครเป็นผู้ค้า เป็นผู้เสพ มีน้ำมันเถื่อนอยู่ตรงไหน มีการกิจการค้ามนุษย์อยู่กี่ห่าง และเป็นของใคร เพราะทุกโรงพักก็มี “บัญชีส่วย” อยู่แล้ว
 
จึงไม่มีความจำเป็นในการที่ ภ.จว. หรือ บชภ. จะจัดตั้งชุด “ปส.” หรือ “ฉก.” หรือ “ชป.” อะไรต่างๆ นานาขึ้นมาเพื่อทำงานที่ซ้ำซ้อนอีก เพราะไม่เห็นว่าจะทำให้ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน หรือการค้ามนุษย์ลงจำนวนลง แต่กลับมีแต่จะเกิดการระบาดมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่เคยแห้งเหือดไปจากทุกจังหวัดของภาคใต้
 
เป็นที่รับรู้กันถึงขั้น “นินทา” สนุกปากแล้ว จากทั้งตำรวจด้วยกัน และจากประชาชนที่รู้เรื่องตำรวจดีว่า การตั้งชุด “ปส.” ก็ดี “ปนม.” ก็ดี “ปคม.” ก็ดี “ฉก.” และ “ชป.” ต่างๆ เหล่านี้ก็ดี ทั้งหมดมีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้าง “ผลประโยชน์” มากกว่า “ผลงาน”
 
ตรงนี้ต่างหากที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ผู้ที่ประกาศว่าจะ “ปฏิรูป” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องยึดถือเป็นเรื่องสำคัญ และดำเนินการปฏิรูปเพื่อทำลายเหล่าดีงกล่าว “วงจรอุบาทว์” ที่ถูกสร้างขึ้นมาของตำรวจชั้นผู้ใหญ่เพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทุกพื้นที่
 
โดยการใช้ “ช่องทาง” ของการทำหน้าที่ใช้กฎหมายที่อยู่ในมือสร้างอำนาจที่ทั้ง “เถื่อน” และ “ดิบ” ขึ้นมา เพื่อแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ และที่สำคัญสุดคือ ผลประโยชน์จากความทุกข์ยาก และชีวิตของประชาชนที่ตกเป็น “เหยื่อ” ภายใต้กฎหมายเถื่อนของผู้ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายของประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น