xs
xsm
sm
md
lg

รัฐจี้คมนาคมช้า บี้สายน้ำเงินต่อขยาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลจี้ติดกระทรวงคมนาคมเร่งรัดคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (คณะกรรมการมาตรา 13) ให้พิจารณาการเจรจาตรงกับ BMCL ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หวั่นประชาชนเสียประโยชน์และแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ขณะที่ มติ ครม.อนุมัติให้เจรจา BMCL ช่วงต่อสถานีสถานีเตาปูน -บางซื่อ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงความคืบหน้า ที่ผ่านมาคณะกรรมการมาตรา 13 และผู้บริหาร รฟม.บางกลุ่มพยายามเร่งรัดให้เกิดประมูลคัดเลือกเอกชนให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) แบบเดินรถไม่ต่อเนื่องกับสายสีน้ำเงินเดิม (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ทำให้ประชาชนไม่สะดวก ต้องเสียเวลาเปลี่ยนขบวนรถระหว่างการเดินทางที่สถานีหัวลำโพงและเตาปูนทุกครั้ง และทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยในการบริหารจัดการเดินรถ โดยอ้างว่าต้องการให้เกิดการแข่งขัน โปร่งใส ไม่สนใจว่าระบบรถไฟฟ้าจะให้บริการต่อเนื่องกันได้หรือไม่ ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว เพราะขณะนี้การคัดเลือกเอกชนล่าช้ามากว่า 4 ปีแล้ว และงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะได้ตัวผู้รับสัมปทานในตอนนี้ก็ต้องใช้เวลาในการจัดหาระบบรถไฟฟ้าอีกกว่า 3 ปีครึ่ง จึงเปิดให้บริการได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสีย ผลกระทบต่อประชาชนและปัญหาต่างๆตามมามากมายจากการที่งานก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่มีรถไฟฟ้าให้บริการอีกกว่า 2 ปี

ขณะที่ กระทรวงคมนาคมได้ทราบถึงปัญหาทั้งหมดแล้วว่าเกิดขึ้นจากขบวนการใต้ดินที่จะผลักดันให้เกิดการประมูลรถไฟฟ้าสายต่างๆซึ่งเกี่ยวโยงกับกลุ่มอำนาจเก่า โดยอาศัยผู้บริหาร รฟม.และกลุ่มเสนาธิการทหารอ้างความโปร่งใส การแข่งขันเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนของตนที่ต้องการจัดซื้อรถไฟฟ้าจากจีน โดยไม่สนประโยชน์และความเดือดร้อนของประชาชน และได้สั่งการให้คณะกรรมการ รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 13 หยุดการประชุมไว้ก่อนเพื่อปรับปรุงและกำหนดแนวทางการดำเนินงานโดยใช้วิธีเจรจาตรงกับ BMCL ก่อนที่จะเริ่มประชุมใหม่เพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบให้เจรจาตรงกับ BMCL เพราะหากไม่แก้ไขหรือจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์นี้ก็จะทำให้คณะกรรมการมาตรา 13 ไม่สามารถหาข้อยุติในการเจรจากับ BMCL ได้ และทำให้กำหนดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายล่าช้าออกไปอีก

“ยิ่งล่าช้าเท่าไหร่ ประชาชนก็จะเสียโยชน์ ขณะที่รัฐบาลต้องการให้มีความคืบหน้าในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ ตอนนี้ล่าช้ามาก เพราะหากมีการเจรจาเกิดขึ้นก็ต้องใช้เวลาและขั้นตอน ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมการที่ดีก็จะทำให้ต้องชะลอการเปิดให้บริการออกไปอีก “

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ที่สถานีหัวลำโพงและสถานีเตาปูน จะทำให้เส้นทางสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายรวมกับเส้นทางใต้ดินเดิมเป็นระบบรถไฟฟ้าวงแหวนรอบเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในสายหลักที่รัฐบาลเร่งรัดให้ก่อสร้างตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57 โดย รฟม.คาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561

แหล่งข่าว กล่าวต่อไป ปัจจุบันคณะกรรมการมาตรา 13 ได้หยุดการประชุมมากว่า 2 เดือนแล้ว โดยยังไม่มีมติที่ชัดเจนว่าจะเจรจาตรงกับ BMCL เพราะมีการผลักดันจากกลุ่มผลประโยชน์นี้ให้ทำการประมูลแบบเดินรถแยกระบบ (ไม่ต่อเนื่องกับระบบเดิม) โดยอาศัยผู้บริหารของ รฟม. กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สนับสนุน แม้ว่าคณะกรรมการ รฟม.และกระทรวงคมนาคมจะพยายามผลักดันเร่งรัดให้เกิดการเจรจาตรงกับ BMCLเพื่อเดินรถแบบต่อเนื่องเพราะทราบว่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนแต่ก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาจนผู้ใหญ่ระดับสูงของรัฐบาลต้องลงมาแก้ไข โดยสั่งการให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลและเร่งรัดเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

เมื่อวานนี้( 28 ต.ค.) คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการพิจารณาการคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดำเนินการตามมาตร 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ดำเนินกาเจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - บางซื่อ (งานสัญญาที่ 5 ) ด้วยรูปแบบการลงทุนที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ โดยมีระยะเวลาของสัญญาที่เท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค. ตามมติครม.

ทั้งนี้มีความเห็นว่าเทคนิคเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าให้เกิดความต่อเนื่องและความเหมาะสม ในการเดินรถ และจุดเปลี่ยนผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางของผู้โดยสารสูงสุด จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีบางซื่อและสถานีเตาปูน สำหรับการให้บริการระบบรถไฟฟ้าจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สายหัวลำโพง -บางซื่อ , บางใหญ่ - บางซื่อ และบางซื่อ -ท่าพระ.
กำลังโหลดความคิดเห็น