xs
xsm
sm
md
lg

บ้าน – วัด – โรงเรียน (1)

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

บ้าน วัดและโรงเรียนเป็นสถาบันเบื้องต้นของชุมชนและสังคมซึ่งมักนิยมเรียกรวมกันตามอักษรย่อ “บวร” หากสถาบันทั้งสามมีความแข็งแกร่ง ชุมชนและสังคมย่อมมีความแข็งแกร่งด้วย นักการศึกษามองกันว่า ในการให้การศึกษาแก่เยาวชน หากทั้งสามสถาบันร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด งานจะมีประสิทธิผลสูงสมกับอักษรย่อ “บวร” ซึ่งหมายความว่า “ประเสริฐ”

ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า การให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยไม่ค่อยมีประสิทธิผลนักแม้ระบบการศึกษาจะได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่มาแล้วก็ตาม บทความนี้ซึ่งจะมีหลายตอนด้วยกันเกิดจากการเข้าไปสังเกตการณ์ตามสถาบันเบื้องต้นของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนประกอบสำคัญของการเข้าไปสังเกตนั้นได้แก่การดำเนินงานสนับสนุนการศึกษาในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตรในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมาและยังดำเนินต่อไป (ข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิฯ มีอยู่ในเว็บไซต์ www.bannareader.com) เนื่องจากงานของเรามุ่งเน้นการศึกษาของเด็กในระดับต่ำกว่าชั้นมัธยม เนื้อหาที่จะพูดถึงต่อไปส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับเด็กที่ยังอยู่ในชุมชน

เป้าหมายในการเขียนบทความนี้มีอยู่ 3 ประการหลักๆ ด้วยกัน นั่นคือ นำประสบการณ์และมุมมองของเรามาเสนอให้ผู้สนใจในด้านการศึกษาพิจารณาว่ามีเนื้อหาสาระสมควรแก่การนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้หรือไม่ นอกจากนั้น เราต้องการฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ในด้านการศึกษา โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำแนะนำในแนวที่เราจะปรับปรุงกิจกรรมที่มีทรัพยากรเพียงจำกัดของเราได้อย่างไรจึงจะทำให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้น และสุดท้าย หากเป็นไปได้ เราใคร่เชิญชวนภาคเอกชนที่พอมีทรัพย์และเวลาให้เข้ามาสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจังมากกว่าดังที่เรามองว่าทำกันอยู่โดยทั่วในปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงการศึกษา ประเด็นสำคัญอันดับแรกปรากฏตัวออกมาทันที นั่นคือ ผู้คนส่วนใหญ่ในทุกวงการมักมองการศึกษาว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาในสถาบันอันมีโรงเรียนเป็นแกน การมองแบบนี้มีปัญหาตามมาสารพัดโดยเฉพาะเรื่องการปัดความรับผิดชอบจากบ้านและชุมชนรอบด้านไปสู่โรงเรียน นั่นเป็นการมองผิดอย่างมหันต์เนื่องจากในช่วงเวลา 12 ปีก่อนที่เด็กจะเข้าเรียนในระดับมัธยม เขาใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากกว่าในโรงเรียนหลายเท่า ด้วยเหตุนี้ เด็กที่มาจากบ้านและชุมชนรอบด้านที่มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียนเท่านั้นมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพกว่าเด็กซึ่งมาจากครอบครัวที่มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของบ้านและชุมชนไม่น้อยกว่าเรื่องของโรงเรียน

เรื่องการศึกษาเกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนมีผู้ใส่ใจและนำไปปฏิบัติถึงขนาดพยายามให้ทารกฟังดนตรีขณะที่ยังอยู่ในท้องแม่ โดยเฉพาะเพลงยอดนิยมของโมซาร์ท เราอาจไม่ต้องทำอะไรในรูปนั้นเพราะมันค่อนข้างตกขอบ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าใส่ใจคือ การวิจัยยืนยันว่าภายในช่วงเวลา 1 ปีหลังจากวันที่เด็กคลอดออกมา เด็กที่พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเอาใจใส่และพยายามพูดคุยกับเด็กในทุกโอกาสจะสามารถเรียนในโรงเรียนได้ดีกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่พยายามพูดจากับเด็ก ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้แก่ ในระหว่างที่ผู้ใหญ่พูดคุยกับเด็กนั้น เด็กจะได้ยินคำพูดใหม่ๆ และการใช้คำอยู่เสมอ ยิ่งรู้คำพูดมากเท่าไร ยิ่งทำให้เด็กเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ การอ่านหนังสือง่ายๆ ให้ทารกฟังจึงไม่สูญเปล่าแม้เขาจะยังพูดไม่ได้ก็ตาม อย่างไรก็ดี การวิจัยชี้ว่า การรู้จักคำพูดของเด็กจะไม่เกิดขึ้นมากจากการปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ ประเด็นนี้น่าสนใจ ทั้งที่ยังไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

ในอเมริกา ทั้งรัฐบาลและองค์กรเอกชนพยายามช่วยเด็กเล็กของครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งผู้เลี้ยงดูมักมีการศึกษาต่ำกว่าของครอบครัวที่มีรายได้ในระดับปานกลางขึ้นไปและไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยกับเด็ก โครงการสำคัญของรัฐบาลกลางชื่อ “เริ่มก่อน” (Head Start) ปีหนึ่งใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ องค์กรเอกชนมีหลากหลาย องค์กรที่แพร่กระจายมากชื่อ Parent-Child Home Program ซึ่งส่งอาสาสมัครไปเยี่ยมครอบครัวที่มีรายได้ไม่สูงสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละราวครึ่งชั่วโมงเป็นเวลา 2 ปีเพื่อพูดคุยกับเด็กผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมร่วมกัน การติดตามประเมิณผลของโครงการสรุปว่า เด็กที่มีโอกาสผ่านโครงการจะเรียนในโรงเรียนได้เทียมทันกับเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่ามากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้คงชี้ว่าถ้าจะช่วยเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยและไม่ค่อยมีการศึกษาให้พ้นจากวังวนของความยากจนคงจะต้องช่วยกันถึงขั้นเข้าไปในบ้านของเขาตั้งแต่ต้น และการช่วยเหลือจะต้องนอกเหนือจากการเลี้ยงดูทารกปกติที่มักมีอยู่ในโครงการของรัฐบาลแล้ว จะออกแบบโครงการชนิดนี้อย่างไรในภาวะที่ทรัพยากรมีจำกัดเป็นประเด็นที่ท้าทายยิ่งกว่าการปฏิรูปการศึกษาในช่วงที่เด็กอยู่ในโรงเรียนเสียอีก

กิจกรรมสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เด็กรู้จักและใช้คำพูดได้แก่การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง การอ่านในช่วงแรกอาจเป็นหนังสือรูปภาพง่ายๆ และอาจจะให้เด็กสัมผัสหนังสือไปด้วย กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยให้เด็กรู้จักคำพูดต่างๆ อย่างกว้างขวางและรวดเร็วขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำให้เด็กฝังใจว่าในหนังสือมีเรื่องสนุกสนานอันเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็กยังเล็กอีกด้วย ประเด็นนี้มีข้อมูลในอเมริกาที่บ่งชี้ว่า เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยบางคนเมื่อเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาลยังไม่รู้ว่าจะเปิดหนังสืออ่านอย่างไรเมื่อครูบอกให้ไปหยิบหนังสือมาอ่าน เด็กไทยจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่และมากน้อยเพียงไรอาจไม่มีข้อมูล

เมื่อพูดถึงการอ่าน เราทราบกันดีแล้วว่า โดยทั่วไปคนไทยสนใจอ่านหนังสือกันน้อยอยู่แล้ว ยิ่งในยุคนี้มีละครโทรทัศน์จำพวกนิยายประโลมโลกให้ดูกันทั้งวันทั้งคืน เวลาที่จะใช้ในการอ่านหนังสือยิ่งถูกเบียดเบียนมากขึ้น เวลาที่ใช้ในการอ่านซึ่งน้อยอยู่แล้วนั้นเป็นการอ่านของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ส่วนครอบครัวในชนบทโดยทั่วไปแทบจะไม่อ่าน ฉะนั้น โดยทั่วไปจะหวังให้เด็กชนบทเช่นในโครงการที่มูลนิธิของเราเข้าไปสนับสนุนพร้อมที่เรียนเช่นเดียวกับเด็กในเมืองที่ครอบครัวมีรายได้ และความสนใจในการอ่านสูงกว่าย่อมเป็นไปได้ยาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกรณีพิเศษซึ่งเด็กจากกลางทุ่งนา หรือจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะตามไม่ทันเด็กที่มีความพร้อมสูงกว่า การติดตามเด็กที่ผ่านโครงการของเราแบบคร่าวๆ ชี้บ่งว่า เด็กบางคนอาจออกหน้าเด็กในเมืองเสียด้วยซ้ำ ในกรณีเช่นนี้เด็กมักมีความปราดเปรื่องเบื้องต้นสูงอยู่แล้ว

นอกจากในบ้านแทบจะไม่มีการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมประจำของสมาชิกในครอบครัวแล้ว ในยุคนี้ บ้านยังมีสภาพที่มักเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย เช่น การเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านเป็นระยะทางไกลๆ ของพ่อแม่ การไปทำงานเช่นนั้นเกิดขึ้นได้จากผลของการพัฒนาอันได้แก่ความก้าวหน้าทางด้านถนนหนทางซึ่งตอนนี้มักมีเข้าไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลโดยทั่วไปแล้ว พ่อแม่ของเด็กออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดและกว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น เวลาที่จะอยู่กับเด็กย่อมมีน้อย เด็กอาจอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งส่วนหนึ่งอาจสนใจในการเลี้ยงเด็กอย่างดีก็จริง แต่อาจไม่เข้าใจ หรือใส่ใจในด้านการศึกษาของเด็กและเตรียมตัวเขาให้พร้อมเข้าโรงเรียนตามแนวที่ควรจะเป็น

นอกจากนั้น แม้เราจะไม่มีข้อมูลเชิงวิจัย แต่ความประทับใจของเราบ่งว่า ความแตกร้าวในบ้านถึงขั้นหย่าร้างระหว่างพ่อแม่ของเด็กมีสูงขึ้น ความแตกร้าวอาจมีเหตุมาจากการกินเหล้าเมายา หรือการไปทำมาหากินไกลๆ จนส่งผลให้สามีภรรยาห่างเหินกัน ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไร ความแตกร้าวในบ้านมักมีผลกระทบทางลบต่อการให้การศึกษาแก่เยาวชนเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น