xs
xsm
sm
md
lg

ความพิเศษของดนตรี...พัฒนาเด็กพิเศษ / ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดนตรีนับเป็นสื่อที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มาโดยตลอด เพราะไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดในชีวิตประจำวันก็มักจะมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เช่น เพลงกล่อมลูกที่คุณแม่ร้องให้ลูกฟัง เสียงเพลงจากวิทยุและโทรทัศน์ หรือไม่เว้นแม้แต่เสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ผูกพันกับมนุษย์อย่างแท้จริง ในปัจจุบันนักวิจัยและนักการศึกษาได้ค้นคว้าและได้ผลสรุปออกมาว่า นอกจากดนตรีจะเป็นสื่อที่ผูกพันใกล้ชิดกับมนุษย์แล้ว ดนตรียังมีประโยชน์มากมายต่ออารมณ์ จิตใจ และสติปัญญาของคนเราทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกับเด็ก ดนตรีเป็นตัวช่วยในการพัฒนาศักยภาพของเด็กรอบด้าน อีกทั้งช่วยเสริมสร้างและแก้ไขความบกพร่องสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอีกด้วย ดังนี้

1. เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ (learning disabilities : LD) หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องในด้านของความเข้าใจในการพูด การเขียน การอ่าน การสะกดคำ รวมทั้งสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ โดยจะมีความบกพร่องในรับรู้ความหมายในเรื่องของการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อจำแนก จำ และแปลความหมาย อีกทั้งอาจมีปัญหาในเรื่องของการขาดสมาธิในการเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ เด็กในกลุ่ม LD มักจะมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกายช้ากว่าปกติ (Hypoactivity) หรือเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งมากกว่าปกติ (Hyperactivity)

ดนตรีช่วยเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ได้อย่างไร : การให้เด็กแอลดีได้ทำกิจกรรมดนตรี เช่น การให้เคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง โดยการตบมือ กระโดด เดิน เต้น ตามจังหวะเพลง จะช่วยทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อในการฟังจังหวะดนตรีและพยายามเคลื่อนไหวให้ถูกตามจังหวะของดนตรี ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาในเรื่องของสมาธิให้กับเด็กโดยตรง นอกจากนี้ ควรสอนให้เด็กในกลุ่มแอลดีร้องเพลง เพราะเด็กในกลุ่มนี้มีปัญหาในเรื่องของภาษาและการสื่อความหมาย โดยควรเริ่มสอนจากเพลงที่มีคำซ้ำๆและง่ายๆ เพื่อที่เด็กจะพูดและร้องตามได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการช่วยพัฒนาในเรื่องของภาษาแก่เด็กในกลุ่มแอลดีที่ได้ผลดีมากทีเดียว

2. เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorders : ADHD) ซึ่งอาการของเด็กในกลุ่มนี้จะแสดงออกโดยการไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งๆ ได้ จึงมักจะพูดไม่หยุด วุ่นวาย เล่นและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งไม่มีสมาธิในการทำงาน เบื่อง่าย วอกแวกง่าย มีความสนใจสั้นทั้งในการทำงานหรือแม้แต่การเล่น ขี้ลืม ไม่สามารถตั้งใจฟังหรือทำงานตามที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จได้ จึงทำให้มีปัญหาในการเรียนรู้ค่อนข้างมาก

ดนตรีช่วยเด็กที่สมาธิสั้นได้อย่างไร : ดนตรีเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยเหลือและพัฒนาเด็กสมาธิสั้นได้ดีและได้ผลมาก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กในกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเล่นเครื่องดนตรี เพราะการเล่นเครื่องดนตรี เช่น เปียโน ระนาด กีตาร์ จะช่วยฝึกให้เด็กสงบและมีสมาธิในขณะที่เล่นเครื่องดนตรี อีกทั้งการฝึกให้เด็กอ่านโน้ตดนตรีจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กพัฒนาในเรื่องของความจำและการเรียนรู้ที่เป็นระบบได้ดีขึ้นอีกด้วย

3. เด็กออทิสติก (Autistic) หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในด้านสังคม ชอบแยกตัว นั่งอยู่ตามมุม มีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารและสื่อความหมายกับผู้อื่น พูดช้า พูดได้เป็นคำๆ บางคนติดอ่าง บางคนแสดงออกด้วยการมีพฤติกรรมซนผิดปกติและไม่อยู่นิ่ง บางคนจะแสดงออกทางพฤติกรรมที่ย้ำคิดย้ำทำ เช่น นั่งโยกตัวได้นานๆ พูดหรือถามด้วยประโยคเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำอีก

ดนตรีช่วยเด็กออทิสติกได้อย่างไร : กิจกรรมดนตรีในด้านการฟังเป็นวิธีที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กออทิสติกที่ได้ผลดี โดยการเปิดเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะเร็วให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลงร่วมกับผู้อื่น เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้มีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ การเปิดเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะช้าจะช่วยทำให้เด็กมีสมาธิและมีอารมณ์สงบ

ปัจจุบันนี้สังคมไทยเปิดรับในเรื่องของเด็กพิเศษมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการศึกษาค้นคว้าถึงวิธีการที่จะช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของเด็กพิเศษอย่างจริงจัง และดนตรีเป็นทางเลือกหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่คุณครูสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาเด็กพิเศษที่ได้ผลดีได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเคยนำดนตรีมาใช้ในการพัฒนาเด็กพิเศษและพบว่า ความพิเศษของดนตรี...พัฒนาเด็กพิเศษ ได้จริงๆ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น