ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เป็นป่าเขา ในอดีตเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยงและเป็นถิ่นอิทธิพลของ “เซ็ง ลูกไม้ไผ่” ขุนโจรพูโล เป็นช่วงก่อนยุคของ “สะมะแอ ท่าน้ำ” และ “ยูโซ๊ะ ท่าน้ำ” 2 ผู้นำระดับผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธของขบวนการพูโลเก่าและพูโลใหม่
ทำให้ในวันนั้น "ทุ่งยางแดง” อำเภอหนึ่งของ จ.ปัตตานี กลายเป็น “พื้นที่สีแดง” สมชื่อที่มีทั้งแกนนำและแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่กันอย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีแดงของขบวนการก่อการร้ายใน จ.ปัตตานี
เมื่อประกอบกับความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงอำนาจของการเมืองท้องถิ่น ทั้งในเรื่องการแย่งชิงตำแหน่ง นายก อบต. สมาชิก อบต. กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ อ.ทุ่งยางแดง จะกลายเป็นพื้นที่ที่แม้นจะผ่านเวลาไป 10 ปีของการปะทุขึ้นของไฟใต้ระลอกใหม่ หลายพื้นที่ หลายหมู่บ้าน และหลายตำบลของ อ.ทุ่งยางแดง จึงยังไม่ได้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง
ทั้งๆ ที่มีกำลังทั้งของเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายอื่นๆ ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดงมากมาย และก็ปฏิบัติหน้าที่กันทั้งในด้านการเมืองและงานการทหารอย่างเต็มที่
เมื่อไม่กี่วันมานี้ อ.ทุ่งยางแดงก็กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อแน่วร่วมขบวนการกว่า 40 คนใช้วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสัญลักษณ์เนื่องจากตรงกับวันสถาปนาธรรมนูญของขบวนการพูโล พวกเขาใช้รถยนต์และจักรยานยนต์หลายคันบุกไปเผาโรงเรียนในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดงพร้อมๆ กัน 5 โรง (อีก 1 โรงอยู่ใน อ.มายอ จ.ปัตตานี) โดยมีเจตนาเพียงต้องการทำลายสัญลักษณ์ของรัฐไทย
เหตุที่บอกว่าแนวร่วมมีเจตนาเผาโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีการมุ่งหมายเอาชีวิตของผู้คนที่ทำหน้าที่เป็นเวรยามรักษาสถานที่ เพียงแต่ข่มขู่ให้อยู่ในความสงบ และไม่มีการยึดเอาอาวุธติดมือกลับไปด้วย สิ่งนี้ยืนยันได้จากผู้เข้าเวรยามเหล่านั้นให้ข้อมูลว่า ถ้าเอาปืนไปด้วยพวกเขาจะมีความผิด ต้องชดใช้ให้กับหลวง แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนร้ายหรือแนวร่วมมีการใช้ “การเมืองนำการทหาร” อย่างชัดเจน
หลังเกิดเหตุมีคำถามที่ดังกระหึ่มทั้งใน “สังคมเล็ก” คือคนในพื้นที่ชายแดนใต้ และใน “สังคมใหญ่” คือคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งเหมือนกับเป็นการ “ราดน้ำมัน” ดับไฟใต้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเรื่องเผาโรงเรียนที่ละหลายโรง หรือพร้อมๆ กัน 6 โรงในพื้นที่ 2 อำเภอไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว การเผาโรงเรียนในภาคใต้ครั้งใหญ่ที่สุดคือ เหตุการณ์เมื่อปี 2546 ซึ่งมีการเผาโรงเรียนที่เดียว 36 โรง ใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ยิ่งมีสื่อหลายสำนักพาดหัวข่าวในวันถัดมาทำนองว่า การเผาโรงเรียนเป็นการ “ตบหน้า” รัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้าเพียงอาทิตย์เดียวนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศด้วยเสียงอันดังฟังกันได้ชัดไปทั่วประเทศว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องยุติภายใน 1 ปี และแทบจะโดยทันที พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผบ.ทบ.และ รมช.กลาโหม ก็ออกมารับลูกด้วยการสำทับแบบเสียงนิ่มๆ ว่า ภายใน 1 ปีสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้จะลดลงครึ่งหนึ่ง
ดังนั้น การเผาโรงเรียน 6 โรงพร้อมๆ กันในพื้นที่ 2 อำเภอ จึงเหมือนกับเป็นการ “เยาะเย้ย” ทั้ง นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รวมถึง ผบ.ทบ.และ รมช.กลาโหมนั่นเอง
เกิดอะไรขึ้นที่ อ.ทุ่งยางแดง นี่อาจจะเป็นคำถามที่หลายคนรอคำตอบ ซึ่งการเผาโรงเรียนที่หลายแห่งในพื้นที่อาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการเยาะเย้ย หรือเป็นการตบหน้าคำประกาศ 1 ปียุติความไม่สงบในชายแดนใต้ หรือลดความรุนแรงลงได้ครึ่งหนึ่ง ตามที่สื่อหลายสำนักหยิบมาเป็นประเด็นพาดหัวเพื่อยั่วอารมณ์ผู้นำให้เบรกแตกก็เป็นไปได้
เมื่อย้อนกลับไปดูสถานการณ์ก่อนเผาโรงเรียนจะพบว่า สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นนายก อบต.ในพื้นที่ถูกยิงถล่มเสียชีวิต ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีคำตอบจากทั้งฝ่ายตำรวจและทหารว่า ใครเป็นผู้ลงมือ และปฏิบัติการด้วยสาเหตุอันใด มีเพียงการข่าวที่ระบุว่าผู้ตายมีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวร่วมขบวนการ
ดังนั้น จึงยิ่งทำให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าการเสียชีวิตของนายก.อบต.มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่ อาจจะไม่ใช่ก็เป็นได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าในพื้นที่มีความขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่นอย่างรุนแรง หรือมีมือที่สามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพราะต้องการขยายปมขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
จากนั้นตำรวจและทหารก็สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นที่หลบซ่อนของ “อันวา ดือราแม” แกนนำกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ แต่เขาก็หลบหนีไปได้ โดยทำอาวุธปืนตกไว้ในที่เกิดเหตุ จึงทำให้มีการนำตัวเจ้าของบ้านเข้าสู่ขบวนการซักถาม ซึ่งยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับแนวร่วมในพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ พี่ชายของอันวา ดือราแม ก็เคยถูกวิสามัญมาแล้ว
มีเรื่องราวน่าสนใจที่แหล่งข่าวในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ถ้าไม่มีการยิงนายก อบต. ถ้าไม่มีการนำตัวคนที่ไม่ผิดไปควบคุมตัว การเผาโรงเรียนอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ และถ้าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง กล่าวคือ ไม่ไปแอบอิงกับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มอิทธิพลอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อใส่ความกลุ่มการเมืองตรงกันข้ามแบบเลือกข้าง สถานการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่อาจจะทุเลา หรือยุติลงไปบ้างแล้วก็ได้
โดยไม่ต้องมาคิดค้นรูปแบบอะไรที่ใช้คำเรียกหรูหราว่าเป็น “โมเดล” นั่นนี่ให้ยุ่งยาก
แต่ในที่สุดสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากการเผา 6 โรงเรียนใน 2 อำเภอของ จ.ปัตตานีก็ทำให้เกิด “ทุ่งยางแดงโมเดล” ขึ้นมา
อันเป็นโมเดลเพื่อใช้พื้นที่ อ.ทุ่งยางแดงเป็นพื้นที่นำร่องของการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งวิธีการของทุ่งยางแดงโมเดลอาจจะสร้างความตื่นเต้นและน่าสนใจสำหรับสื่อนอกพื้นที่ และคนในสังคมใหญ่ แต่เป็นเรื่องธรรมดากับคนในสังคมเล็ก โดยเฉพาะธรรมดาสามัญยิ่งกับผู้สันทัดกรณีเรื่องของไฟใต้มาอย่างยาวนาน
เพราะ หลักการของทุ่งยางแดงโมเดลเป็นหลักการของการสร้างเอกภาพให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ รวมมือกันในการสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” มีการแบ่งความรับผิดชอบในงานด้านการรักษาความปลอดภัย การพัฒนา การศึกษาและอื่นๆ โดยการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันปกป้องหมู่บ้าน ตำบล โดยการเน้นให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ต่อสู้กับแนวร่วมขบวนการใดๆ แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันชุมชนของตนเอง ป้องกันสาธารณะสมบัติที่เป็นของทุกคนในชุมชน
โดยข้อเท็จจริงหลักคิดหรือโมเดลแบบนี้ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คิดและทำเป็นแผนงานไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในการปฏิบัติ เพราะความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลในอดีต
ดังนั้น การเกิดขึ้นของ “ทุ่งยางแดงโมเดล” โดยจะมีการขับเคลื่อนผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) จึงอาจจะเป็นอีก 1 ก้าวของความก้าวหน้าในการเปิดนโยบายเชิงรุกของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะดีกว่าการตั้งรับโดยไม่มีอะไรใหม่เหมือนอย่างที่ผ่านมา เพราะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงก็ทำได้เพียงการติดตาม ตรวจค้น จับกุมและขับไล่บรรดาแนวร่วมออกจากพื้นที่ และจบลงด้วยการ วางกำลังรักษาพื้นที่ รวมถึงลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยเส้นทางและบุคคล
“ทุ่งยางแดงโมเดล” จึงอาจจะไม่ใช่ขอนไม้สำหรับคนที่กำลังจะจมน้ำ แต่ก็เป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ถูกจุดขึ้นเพื่อขับไล่ความมืด ซึ่งอาจจะไม่ได้สว่างไสวอย่างฉับพลัน แต่ก็อาจจะเป็นการต่อยอดเพื่อให้เกิดแสงสว่างในอนาคตอย่างถาวร
หวังว่าคงจะไม่ใช่แสวงสว่างแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ มิติสำหรับประเทศไทย