ปัตตานี - รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ตรวจสอบเหตุโจรใต้ลอบเผาอาคารโรงเรียน 6 แห่ง พร้อมเข้าประชุมร่วมฝ่ายความมั่นคง ฟังสรุปผลการดำเนินงานช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ
วันนี้ ( 17 ต.ค.) ที่หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 44 อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ เดินทางลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมกับหน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง และหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ อาธิ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การประถมศึกษาทั้ง เขต 1, 2 และ 3พร้อมกับรับฟังบรรยายสรุปกรณีเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงโรงเรียนทั้ง 6 โรงเรียน ใน อ.ทุ่งยางแดง อ.มายอ จ.ปัตตานี จนได้รับความเสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยมี พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย รองแม่ทัพภาคที่ 4 ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาฯ ศอ.บต.นายขวัญชาติ วงศุภรานันท์ รอง ผวจ.ปัตตานี/รองเลขาฯ ศอ.บต. พ.ต.อ.โกวิทย์ รัตนโชติ ผกก.สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ตลอดจน คณะครู นักเรียนโรงเรียนในละแวกให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงเช้า ได้เข้ารับฟังผลการดำเนินการของหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่กรณีการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่โดนลอบวางเพลิง หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 44 อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี หลังจากนั้นเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านมะนังยง อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อตรวจสอบสภาพความเสียหายของอาคารเรียน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อาคารเรียนที่ถูกลอบวางเพลิงทางกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะสนับสนุนการซ่อมแซมอาคารในส่วนที่ชำรุด ส่วนอาคารที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้จะมีการสร้างอาคารชั่วคราวภายใน 1 สัปดาห์ ด้วยความร่วมมือของทางกรรมการสถานศึกษาและชุมชนในแต่ละโรงเรียน ซึ่งมีแบบที่เป็นการชั่วคราวอยู่แล้ว ซื้อวัสดุมาและใช้ความร่วมมือของประชาชนในแต่ละโรงเรียน ของคณะครู นักเรียน ประชาชนในพื้นที่ ชุมชน ได้ร่วมกันสร้าง ร่วมกับทหารช่างจะแล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์
ส่วนแบบเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอนจะจัดหาซื้อมาให้ครบถ้วนพร้อมที่จะเปิดเทอม ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ให้สามารถสอนนักเรียนได้ในเบื้องต้น ส่วนการเรียนการสอนก็เป็นปกติมาตรฐานอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนอาคารที่จะต้องสร้างทดแทนขึ้นมานั้นมีความเห็นร่วมกันว่าจะขอรับการสนับสนุนจากกองทัพบกที่จะขอให้ทางทหารช่วยเข้ามาสร้างเนื่องจากดำเนินการได้ด้วยความรวดเร็ว ก็จะขอรับการสนับสนุนไปยังกองทัพบกให้มีทหารช่างเข้ามาดำเนินการ ตลอดจนนักศึกษาอาชีวะทั้งจากกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็จะร่วมมือกันด้วย เช่น ต่อไฟ เดินสายไฟ โรงเรียนที่ต้องสร้างอาคารชั่วคราวมี 4-5 โรงเรียน และอีกบางส่วนจะใช้อาคารที่มีอยู่เดิม เช่น ห้องสมุด ห้องละหมาด มาปรับปรุงแก้ไข ส่วนที่สร้างชั่วคราวจำเป็นต้องสร้างเพราะเนื้อที่ของห้องเรียนมีไม่พอ
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าการติดตามจับกุมคนร้ายทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีผู้ต้องสงสัย และมีความคืบหน้าซึ่งเป็นการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามเร่งรัด และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการเชิญตัว 3 ผู้ต้องสงสัยมาทำการสอบสวน โดย 1 ใน 3 ให้การรับสารภาพแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ต่อไปจะต้องมีการทำงานร่วมกันทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต.รวมไปถึงการดำเนินงานตาม ทุ่งยางแดงโมเดล ที่ต้องให้ชุมชนได้ดูแลร่วมกัน
ด้านนางสุทธศรี วงศ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีการเยียวยาครู และบุคคลากรทางการศึกษาด้วยว่า ส่วนเรื่องสวัสดิการครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาตั้งงบประมาณช่วยเหลือไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยหักลบจากเงินเยียวยาที่ได้รับไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 171 รายนั้น ทางกระทรวงก็จะดำเนินเรื่องโดยประสานกับทาง ศอ.บต. และจะเสนอเข้า ครม. ขอใช้งบกลางต่อไป ตอนนี้เตรียมทำเรื่องแล้ว เพื่อเตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กปต.จชต.) เพื่อพิจารณา
ทั้งนี้กระทรวงได้เยียวยาช่วยเหลือบุตรหลาน ผู้เสียชีวิตตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาตรี ปีหนึ่งเกือบ 8,000 คน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะช่วยตลอดจนจบปริญญาตรี ปีหนึ่งประมาณ 700 กว่าล้าน นอกจากนั้นก็จะเป็นการส่งเสริมการศึกษา อิสลามศึกษา การพัฒนาครู พัฒนาคุณภาพและโอกาส จะดำเนินการต่อเนื่อง คิดว่าการมีศูนย์ สปบ. โดยมีผู้ตรวจเป็น CEO จะทำให้การดำเนินงานเข้มข้น เข้มแข็งและประสานกันกับ ศอ.บต กอ.รมน. หน่วยงานในพื้นที่ จะทำให้การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้บรรลุผล และคืนสันติสุขมาสู่พี่น้องชายแดนใต้ให้ประสบผลสำเร็จ
ซึ่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีศูนย์ประสานและบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการปรับให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ศูนย์นี้จัดตั้งที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 จังหวัดยะลา มีการบูรณาการการบริหารการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเอกภาพ เหมือนเป็นกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ซึ่งจะบูรณาการไม่ว่าจะเป็น อาชีวะ รัฐบาล เอกชน จะมีการให้นักวิชาการมาช่วยราชการและมาทำงานในเชิงบูรณาการมีผู้อำนวยการ ซึ่งจะให้ผู้ตรวจราชการมาเป็นผู้อำนวยการ และมีผู้อำนวยการศึกษาธิการภาคเป็นรองเพื่อที่จะทำงานทุกเรื่องในภาคใต้ให้เป็นในเชิง แอเรียเบส (Area base) จะบูรณาการกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุด่วนเหตุร้าย เรื่องของการเยียวยา การเข้าไปดูแลเรื่องมาตรฐาน โอกาส
การแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายเรื่องของการซ่อมแซมทุกอย่าง ก็จะบูรณการกันที่ศูนย์นี้ มีผู้อำนวยการคอยสั่งการ จะเชื่อมโยงกับ ศอ.บต. แม่ทัพภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงชุมชนประชาชนในพื้นที่เพื่อที่จะทำเรื่องของพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งเรื่องพัฒนาครู เรื่องของการเยียวยาช่วยเหลือครู ซึ่งจากการประชุมร่วมกันหลายฝ่ายทางแม่ทัพภาค 4ส่วนหน้าก็เตรียมที่จะจัดประชุมในเขตพื้นที่เพื่อที่จะนำครูประมาณ 600 คน มาอบรมในเรื่องการเฝ้าระวังในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกเตรียมตั้งรับไว้ก่อนเปิดเทอม จะเชิญครูทุกคนในอำเภอทุ่งยางแดงกับมายอมาอบรม
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัด ได้มอบหมายให้มาเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจ พร้อมมอบเงินให้กับโรงเรียนที่ถูกเผา โรงเรียนละ 20,000 บาท แม้เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากแต่คิดว่าเป็นการช่วยในเรื่องขวัญกำลังใจ ส่วนหนึ่งอยากจะให้ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่เด็กนักเรียน รวมถึงซื้อหนังสือแบบเรียนต่างๆ ทดแทนจากที่ถูกเผาไปซึ่งเป็นการช่วยในระยะเร่งด่วนก่อนที่จะได้ดำเนินการสร้างอาคาร หรือซ่อมแซมในส่วนอื่นต่อไป เพื่อที่เด็กนักเรียนจะได้มีกำลังใจในการเล่าเรียนต่อไป ในส่วนของหลักสูตรด้านอิสลามศึกษาที่ให้นักเรียนได้มีทางเลือกมากขึ้น ทางกระทรวงได้ทำอย่างต่อเนื่อง และจะปรับในเรื่องของหลักสูตรอิสลามศึกษาในระดับต้น กลาง สูง ให้กระชับ ไม่ซ้ำซ้อน และให้จบในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะพูดถึงการเกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่ ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต อัตลักษณ์ รวมถึงเรื่องของการเยียวยาทายาทครูผู้เสียชีวิต
ส่วนทางด้าน ด.ญ.สารีพ๊ะ เจ๊ะและ ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านเขาดิน กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่ารู้สึกเสียใจเป็นที่สุดเพราะหนังสือและสมุด ของตนเองและเพื่อนๆ ถูกเผาหมด ซึ่งตนเองอยากจะฝากถึงคนที่เผา โรงเรียนของตนด้วยว่า มาเผาหนังสือหนูทำไม หนูขอให้คนที่เผาโรงเรียนของหนูถูกดำเนินการทางกฎหมาย และอนาคตตนเองอยากเรียนเพื่อเป็นครูมาสอนที่บ้านเกิด นอกจากนี้ ด.ญ.สารีพ๊ะยังได้ร้องเพลงที่ตนเอง และเพื่อนๆ ช่วยกันแต่งขึ้นโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก และอาลัยต่อโรงเรียน และอุปกรณ์การเรียนที่ถูกเผาไปอีกด้วย