xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"บิ๊กตู่" ว้าก ชาวสวนยาง อย่าเยอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แรงกดดันที่เริ่มประเดประดังเข้ามาทั้งราคาข้าว ราคายางพาราคา ดิ่งเหวกู่ไม่กลับ ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ออกอาการอารมณ์บ่จอยดุดันตามสไตล์ เมื่อเจอคำถามจะแก้ปัญหาราคายางพาราทั้งระบบอย่างไร

".... เราได้หารือกันมาตลอด ที่ผ่านมาที่อนุมัติผ่าน ครม. เรื่องของปัญหาชาวนาเราเห็นว่าชาวนาเดือดร้อนก่อนก็เอาไปเท่านี้ก่อน ส่วนเรื่องเกษตรกรชาวสวนยางถ้าพิจารณามาอย่างไรก็ว่ากันอีกที

“อย่าเรียกร้องกันมาก แล้วจะเอาเงินที่ไหน งบประมาณแผ่นดินมีเท่าไร เก็บภาษีรายได้รัฐเก็บได้เท่าไร ขาดทุนเท่าไรแล้ว ปีหน้าจะเก็บได้หรือไม่ก็ไม่รู้ พอบอกจะขึ้นภาษีก็ร้องโอ๊ยว่าไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ไอ้นี่จะเอาเยอะ แล้วจะเอาเงินจากตรงไหนวะ แจกคูปองได้มั้ย อีกหน่อยก็แจกคูปองให้หมดแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันขึงขัง

เรียกว่าเป็นการตัดไม้ข่มนามปรามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของเกษตรกรทุกสาขาทุกอาชีพก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะก่อนหน้านี้มีกระแสมาตลอดว่าชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้เตรียมฮึ่มฮั่ม เดี๋ยวจะชุมนุม เดี๋ยวจัดประชุม เดี๋ยวส่งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คุยกันมาแล้วหลายรอบ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นดังที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

เกษตรชาวสวนยางบางรายที่ทนแบกรับปัญหาไม่ไหวถึงกับฆ่าตัวตาย อย่างน้อยเวลานี้ก็มีเกษตรกรชาวสวนยางเซ่นชีวิตจากปัญหาราคายางตกต่ำแล้ว 2 ราย คือ นายวินัย ดวงแก้ว ชาวต.ที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมชาติ ที่ปลิดชีวิตด้วยการกินยาฆ่าตัวตาย หลังจากประสบปัญหาราคายางตกต่ำ และอีกรายหนึ่งคือ นายสมนึก ส้มเขียวหวาน ชาวอ.ทุ่งสง เช่นกันที่ผูกคอตายหนีปัญหาจากความเครียดเรื่องราคายางและสุขภาพ

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำสุดขีดถึงขั้นเกษตรกรฆ่าตัวตายคงลุกลามบานปลายสั่นคลอนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มากกว่านี้เป็นแน่ หากไม่ได้ "พระสุเทพ" อดีตแกนนำกปปส. ที่ขอร้องมวลชน กปปส. ให้โอกาสพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พระสุเทพ ยังขอให้ญาติโยมที่ไปปรึกษาเรื่องราคายางพาราตกต่ำและเตรียมเดินขบวนกดดันรัฐบาล "ล้มแผนทำม็อบ" เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ไขปัญหาได้แต่ต้องอาศัยเวลา และอีกอย่าง คสช. เป็น "พวกเดียวกับเรา" จึงต้องให้กำลังใจ

แต่ถึงแม้ว่าจะสยบม็อบได้ งานนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล "หม่อมอุ๋ย" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ถึงกับต้องร่อนเทียบเชิญนายอำนวย ปะติเส เข้าร่วม ครม.พลเอกประยุทธ์ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่กำลังมะรุมมะตุ้มเข้ามาทุกทิศทุกทางทั้งข้าวทั้งยาง เดี๋ยวตามด้วยอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นขบวน

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2557ที่ผ่านมา "หม่อมอุ๋ย" ได้นำนายอำนวย เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อหารือการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำด้วย และหากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะแต่งตั้งนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษานายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.กระทรวงเกษตรฯ ขึ้นเป็นรมช.กระทรวงเกษตรฯ ในเร็ววันนี้

"หม่อมอุ๋ย" คงเชื่อมือนายอำนวยว่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้น จากประสบการณ์ที่นายอำนวย เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอ้อยและน้ำตาล ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการแก้ไข ปัญหาอ้อยและน้ำตาลอย่างเป็นระบบจนบัดนี้ และก่อนหน้านายอำนวย ก็เคยได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการบริหารองค์การสวนยาง และผู้อำนวยการบริหารโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง มาแล้ว

ส่วนงานการเมืองนั้น นายอำนวย เคยเป็นรมช.กระทรวงคลัง สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และเป็นประธานที่ปรึกษานายธีระชัย แสนแก้ว รมช.กระทรวงเกษตรฯ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และเป็นที่ปรึกษานายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.กระทรวงเกษตรฯ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกว่า นายอำนวย อยู่วงในคอยแก้ไขปัญหาเกษตรกรมาโดยตลอดก็ว่าได้

ข่าวเด็ดที่ร่ำลือกันไปทั้งบางแต่ไม่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเสริมทัพตั้งนายอำนวยหรือไม่ ก็ คือ นายปีติพงศ์เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งถึง 2 ครั้ง 2 คราเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เผลอไล่ให้ชาวสวนยางที่อยากได้ราคากิโลละร้อยให้เอายางไปขายที่ดาวอังคาร และไม่ใส่อารมณ์ว้ากชาวสวนยางอย่าเรื่องมาก อย่าเรียกร้องมาก เชื่อว่าโอกาสที่จะใช้สติปัญญาไตร่ตรองแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกฝ่ายก็พอจะทำให้ฝ่าวิกฤตไปได้ เว้นเสียแต่ผู้นำจะเกิดวิกฤตทางอารมณ์ทำให้เรื่องที่แย่อยู่แล้วแย่ลงไปอีกเสียก่อน

อย่าลืมว่าความรู้สึกเหลื่อมล้ำที่ช่วยบางกลุ่มไม่ช่วยบางกลุ่มนี่ก็ยังคงอยู่ ไม่ต่างไปจากรัฐบาลชุดก่อนที่ช่วยชาวนาเข้ารับจำนำข้าวโดยใช้เงินหลายแสนล้าน แต่กับชาวสวนยางช่วยแบบเสียไม่ได้ โดยจ่ายชดเชยให้เพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วยชาวนา มาคราวนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็เช่นกัน ออกประกาศเสียงดังฟังชัดจะช่วยชาวนาไร่ละพัน ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แต่สำหรับชาวสวนยางยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยอย่างไร และเท่าไหร่

ไม่เฉพาะแต่ปัญหาราคายางที่ตกต่ำลงรายวันเท่านั้นที่ต้องแก้ไข ยังมียางพาราในสต็อกของภาครัฐ จำนวน 2.1 แสนตัน ที่ซื้อเก็บไว้เพื่อพยุงราคายางตั้งแต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ด้วย รวมทั้งยังมีสต็อกยางของภาคเอกชน ซึ่งจะต้องหาทางระบายออกโดยที่ไม่ทำให้ราคาในท้องตลาดตกต่ำลง แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังคิดไม่ออกจะทำอย่างไร เพราะยางมีจำนวนมากและเก็บไว้นานซึ่งเป็นผลมาจากการอุดหนุนของรัฐบาลทำให้ราคาถูกบิดเบือนไปหมด

"....แต่ถ้าเราไม่อุดหนุนก็ออกมาร้องเรียนรัฐบาล เปรียบเทียบกับรัฐบาลที่แล้วที่ให้ราคายางกิโลกรัมละ 150 บาท แต่วันนี้ราคายางในตลาดกิโลกรัมละไม่เกิน 50 บาท จะให้ตนทำอย่างไร เราต้องอุดหนุนช่วยเหลืออีกหรือ ถ้าช่วยเหลือแบบนั้นยางก็จะกองอยู่ในประเทศ 5-6 แสนตัน ถ้าจะกองกันในสต๊อก ก็เกิดความเสียหายแบบข้าว ที่มีอยู่โกดังตอนนี้ 18 ล้านตันขาย 3 ปียังไม่หมดเลย แล้วราคาข้าวก็ตกลงเรื่อยๆ...." พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามที่เสมือนตกอยู่ในกับดักที่ยังหาทางออกไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 ได้อนุมัติมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยกำหนดวงเงินช่วยเหลือกว่า 5.85 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง

สำหรับระยะสั้น ได้อนุมัติเงินอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกยาง พื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 25 ไร่ จำนวน 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 15,000 บาท วงเงิน 8,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเกษตรกรได้ประมาณ 8.5 แสนราย สำหรับการจ่ายเงินจะจ่ายจริงในเดือนพ.ย. 2557 หลังการจดทะเบียนและตรวจสอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการดึงราคายางให้ปรับตัวสูงขึ้น มี 3 มาตรการ คือ 1) ให้องค์การสวนยาง (อสย.) ซื้อยางดิบจากเกษตรกร โดยใช้งบเดิมที่รัฐบาลก่อนอนุมัติไว้แล้ว 20,000 ล้านบาท 2) ให้ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้สหกรณ์ชาวสวนยางรับซื้อยางจากเกษตรกรมาขายให้อสย. และ 3) ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการน้ำยางข้น 10,000 ล้านบาท เพื่อรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกร

สำหรับมาตรการระยะยาว จะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ระยะเวลา 5 ปี วงเงินไม่เกิน 1 แสน บาทต่อครัวเรือน ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทำอาชีพเสริมควบคู่ไปกับรอเวลากรีดยาง รวมถึงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เพื่อลดปริมาณการผลิตยาง โดยจะใช้งบทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาท

มาตรการทั้งหมด กยน. ตั้งเป้าผลักดันราคายางให้อยู่ในระดับ 60 บาทต่อกก. ภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนการซื้อยางจะเริ่มดำเนินการได้หลังผ่านมติที่ประชุมครม.ในวันที่ 19 ต.ค.นี้

นี่ไม่ใช่ “ประชานิยม” แต่เป็นการคืนความสุขให้ชาวสวนยาง เช่นเดียวกับชาวนาที่รัฐบาลอนุมัติให้ไร่ละพัน รายละไม่เกิน 15 ไร่ ไปก่อนหน้านี้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น