xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่สั่งตรวจสต๊อกยาง ไม่อยากเห็นม็อบหน้าทำเนียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ประยุทธ์" เผยสั่งตั้ง คกก.หามาตรการเร่งด่วนช่วยชาวนา ห้ามทุจริต สั่งทุกกระทรวงเขียนรายงานผลการทำงานทุก 3 เดือน ชงของขวัญคนไทย จัดมาตรการเอื้อประโยชน์คนจน พร้อมสั่งตรวจสต๊อกยางแล้ว ซัดที่ผ่านมาการเมืองเข้าแทรกแซง มอบ "ประวิตร" นั่งหัวโต๊ะ แก้ปัญหาที่ดินทำกิน พร้อมให้ "ศูนย์ดำรงธรรม" ช่วยเหลือประชาชน อย่าปล่อยให้บุกมาโวยถึงทำเนียบฯ ครม.เห็นชอบหยุดจ่ายน้ำทำนาปรัง 26 จว. เริ่ม 1 พ.ย.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหนัาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมครม. ถึง ความคืบหน้าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า กำลังดูการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว ซึ่งกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการรองรับกรอบการช่วยเหลือการทำนาปี และติดตามดูแลมาตรการเดิมที่ออกไปแล้ว คือ การเตรียมเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งต้องไม่มีการทุจริต ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้น ต้องมีคนรับผิดชอบ และที่ประชุมครม.ได้สั่งตั้งคณะกรรมการโดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานในการหามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนกับเกษตรกร ซึ่งจะต้องไม่มีการทุจริตเพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในทุกเรื่อง

ทั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาในเชิงนโยบาย ถ้ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนก็จะไม่ได้ โดยรัฐบาลมีความชัดเจนทุกเรื่อง เช่น การประชุมครม.นั้น ไม่ใช่การประชุมเพื่อนุมัติงบประมาณอย่างเดียว แต่หลักการคือ ตนต้องการถ่ายทอดแนวทาง และระดมความคิดเพื่อไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องของการกำหนดนโยบายให้ชัดเจน กำหนดมาตรการในการดำเนินการ และตรวจสอบว่าจะทำอย่างไรต่อไปในระยะกลาง และระยะยาว โดยสื่อต้องไม่เอาการดำเนินการทั้ง 3 ระยะ มารวมกัน

"อยากให้ทุกหน่วยงาน รายงานผลการดำเนินการทุกๆ 3 เดือน ทั้งการผลิต ส่งเสริมต้นทุน ลดต้นทุน อุปสงค์ อุปทาน และการเปิดตลาดภายนอก จะทำอย่างไร ทุกกระทรวงต้องมีแผนมาให้ดู จะได้สั่งการได้ว่า ในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว จะทำอย่างไรบ้าง ส่วนสิ่งที่จะเป็นของขวัญในแต่ละกระทรวงให้คนไทย เช่น การมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนจน ในการเข้าถึงกองทุน ซึ่งผมมองเป้าหมายให้แบ่งคนจำนวน 5 กลุ่ม ได้รับการแก้ปัญหาจากทุกกระทรวง ซึ่งทำได้ยาก"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้ทุกคนมองภาพรวมเศรษฐกิจร่วมด้วย เพราะถ้ามองเพียงตัวเลขของเราอยางเดียวก็น่าตกใจ แต่อย่าไปสรุปตรงนั้น ให้เอาวิกฤติมาเป็นโอกาส ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเลขสูงขึ้น ซึ่งไม่สามารถสั่งวันนี้แล้วเห็นผลพรุ่งนี้ เพราะทั้งหมดเป็นโครงสร้างเดิมที่ผ่านมาของรัฐบาลก่อน ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง และตนได้แก้ไขว่า จะบริหารจัดการอย่างไร โดยใช้บทเรียนที่ผ่านมาว่า มีการทุจริตอย่างไรบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องไม่เอามาปะปนกัน ทั้งนี้จะคิดว่า เมื่อสอบสวนแล้วจะเห็นผลได้เร็ว เพราะที่ผ่านมาก็มีปัญหาสอบเร็ว จบเร็ว เลยตีกันทั้งประเทศ ซึ่งเราต้องสร้างการยอมรับให้ได้ คือ ใครทำผิดต้องยอมรับผิดด้วยหลักฐาน และกรรมวิธีทางกฎหมาย ยืนยันว่า ถ้าหลักฐานชัดเจน ตนไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครอยู่แล้ว

** นายกฯสั่งตรวจสต๊อกยาง

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึง การบริหารยางพาราในสต๊อกว่า สต็อกยางนั้นมี 2 ประเภท คือ ของภาครัฐ และของเอกชน ซึ่งเราจะต้องส่งเสริมทั้ง 2 ประเภท ฉะนั้นต้องหาทางจำหน่ายในราคาที่ไม่ทำให้ราคาในท้องตลาดตกลง นอกจากนี้อาจจะต้องมีการหมุนเวียนให้กรอบใหม่ที่เข้ามา ซึ่งถ้าเราทำให้เกิดเสถียรภาพในประเทศได้ และต่างชาติเชื่อมั่นในคุณภาพ ผลผลิต ก็พร้อมที่จะซื้อจากเรา ต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีอยู่ในการทำอย่างไรให้ประเทศที่ใช้ยางพารามากๆ ซื้อยางในราคาที่ถูก เพื่อช่วยเรา ซึ่งถ้าเป็นการซื้อขายราคาในท้องตลาด ก็ตกต่ำ เพราะมีจำนวนมากและเก็บไว้นาน เนื่องจากการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทำให้ราคาถูกบิดเบือนไปหมด แต่ถ้าเราไม่อุดหนุน ก็ออกมาร้องเรียนรัฐบาล เปรียบเทียบกับรัฐบาลที่แล้ว ที่ให้ราคายางกิโลกรัมละ 150 บาท แต่วันนี้ราคายางในตลาดกิโลกรัมละไม่เกิน 50 บาท จะให้ตนทำอย่างไร เราต้องอุดหนุนช่วยเหลืออีกหรือ ถ้าช่วยเหลือแบบนั้น ยางก็จะกองอยู่ในประเทศ 5-6 แสนตัน ถ้าจะกองกันในสต๊อก ก็เกิดความเสียหายแบบข้าว ที่มีอยู่โกดังตอนนี้ 18 ล้านตันขาย 3 ปียังไม่หมดเลย แล้วราคาข้าวก็ตกลงเรื่อยๆ

" เราจะบริหารจัดการอย่างไรกับของเหล่านี้ โดยอาจจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ในขณะที่นาปรังทำไม่ได้ หรือข้าวราคาตก ก็สามารถใช้อาชีพเสริมในการกินอยู่ไปก่อน ส่วนข้าวก็เก็บไว้ในคลังยุ้งฉางของตนเอง ไม่ต้องมาฝากรัฐ ที่ต้องเสียค่าเช่าคลังวันละหลายร้อนล้านบาท ดังนั้นต้นทุนที่จำนำ มาบวกกับต้นทุนก่อนขายเป็นครั้งละกว่า 2 หมื่นบาท แล้วเราจะไปขายให้ใคร เราจึงต้องมาแก้ไขเรื่องเหล่านี้ จึงขอให้ใจเย็นๆ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะออกโรดโชว์ในต่างประเทศ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราทำมาโดยตลอด เราคิดทั้งหมดไม่ใช่เพียงว่าจะอนุมัติอะไร จะเห็นว่าเราประชุมตั้งแต่เช้ายันบ่ายทุกวัน พูดไม่รู้กี่เรื่อง เอกสารเยอะแยะ ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มีถึงมาตรการ และการประเมินผลตัวชี้วัดเป็นอย่างไร เราขับเคลื่อนด้วยสติปัญญหา ไม่ใช่มีเพียงรัฐมนตรี แต่มีคณะทำงานย่อยมากมาย ต้องไปไล่ดูว่าคณะทำงานชุดเดิม มีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ปรับออกให้หมด ซึ่งเปลี่ยนมาหลายคณะแล้ว และมีการตั้งกรรมการนโยบาย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในการดูเรื่องทุจริต เราทำทุกอย่าง แต่ขั้นตอนมีเยอะ

เมื่อถามถึงกรณีที่ชาวสวนยางเรียกร้องให้ตรวจสอบสต๊อกยางทั่วประเทศ เหมือนกับการตรวจสต๊อกข้าวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังตรวจสอบอยู่ แต่ตนไม่ได้ตรวจเอง เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

"เรามีหน่วยงานเยอะ แต่ไม่ทำงาน และไม่มีประสิทธิภาพ เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ไปกดไว้ วันนี้ไม่มีการเมืองแทรกแซง ผมสั่งทำงาน ทำให้ได้แล้วกัน ถ้าไม่ได้ ก็ต้องแก้ไข เพราะนี่คือการทำงานของรัฐบาลที่เป็นแบบนี้ อะไรที่เป็นวาระเร่งด่วน ก็นำเข้ามา เรื่องที่อยู่ในพื้นที่ที่ใครเป็นผู้รับผิดชอบแล้วไม่เข้าไปไม่ได้ ต้องเข้าไปทุกเรื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

**มอบ"ประวิตร"แก้ที่ดินทำกิน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ทั้งนี้ จะเอาที่ดินของรัฐมาดู ซึ่งมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรัฐบาลต้องดูทั้งระบบ โดยได้ให้นโยบายไว้ว่า ต้องหาอะไรให้ประชาชนที่ออกมาจากพื้นที่ได้ทำ และมีการบูรณาการที่ดินที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดผลผลิต ซึ่งตนเข้าใจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตนจึงพยายามสั่งการให้มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ตนได้ให้มีการขึ้นทะเบียนใหม่ และกำชับให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ต้องดูว่า นำใครออกมา และจะหาอาชีพได้อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานทุก 3 เดือนด้วย ซึ่งปัญหานี้ไม่มีรัฐบาลไหนอยากแก้ เพราะทำคนก็เกลียด แต่ตนต้องทำเพื่อประเทศ

**อย่าให้ผู้เดือดร้อนมาโวยถึงทำเนียบ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ครม.พิจารณาเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เกี่ยวกับเรื่องศูนย์ดำรงธรรม โดยทุกกระทรวงจะต้องสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัด ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ตลอดจนรัฐวิสาหกิจในสังกัด ให้สนับสนุนบุคคลากร วัสดุอุปกรณ์ ข้อมูลบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง กำชับในที่ประชุมว่า อยากให้ศูนย์ดำรงธรรม เป็นเหมือนยาสารพัดนึก ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในพื้นที่ได้จริงๆ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่นั่งทำงานอยู่ในศูนย์ฯเพียงอย่างเดียว จะต้องมีการตรวจสอบว่า ในพื้นที่รับผิดชอบ ใครมีปัญหาความเดือดร้อน ต้องเข้าไปหาถึงบ้าน โดยปฏิบัติงานทั้งสองลักษณะ คือ รับเรื่องและเข้าหา ทั้งนี้ กรณีที่เรื่องใดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่าปล่อยให้ผู้เดือดร้อนเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ ให้แจ้งมายังส่วนกลางเพือ่ประสานหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆได้ ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา

**ครม.เห็นชอบหยุดจ่ายน้ำทำนาปรัง 26 จว.

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (14 ต.ค.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหยุดจ่ายน้ำชาวนาเพื่อทำนาปรังในพื้นที่ 26 จังหวัด ที่มีชาวนา 260,000 ครัวเรือน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง โดนเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2557 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 และได้หามาตรการอาชีพอื่นๆ ไว้รองรับ

ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็นมาตรการหลัก คือ การจ้างแรงงานเกษตรการที่ปลูกข้าวนาปรังในการซ่อมแซม ขุดลอกคูคลองในช่วงแล้งครอบคลุม 2 แสนราย และมาตรการเสริม คือ ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านการประมง ปศุสัตว์และพันธ์พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 วงเงินงบประมาณปี 57 จำนวน 1,264.43 ล้านบาท

**ผลตรวจคุณภาพข้าวเสร็จ 15 ต.ค.นี้

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างข้าวจากห้องปฏิบัติการว่า ล่าสุด ห้องแลบของกระทรวงพาณิชย์ ขอตรวจทานครั้งสุดท้าย เพื่อจำแนกเกรดของข้าวให้ถูกต้อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ และจะรายงานคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (กบข.) และนายกรัฐมนตรีทันที จากนั้นจะนำข้าวที่คัดแล้ว ที่มีคุณภาพเต็มร้อย นำมาจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ ให้เป็นรายได้ของประเทศ เพราะหากเก็บไว้นาน จะเสียหาย

"กระทรวงพาณิชย์ จะสรุปได้ทันทีจากการสุ่มตรวจโกดังข้าวทั้งหมด ที่ผ่านมาล่าช้า เพราะโกดังข้าวไม่ให้ความร่วมมือ แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว ส่วนผลตรวจจะดูว่าส่วนไหนมีคุณภาพเต็มร้อย เพื่อให้สามารถระบายออกได้ แต่ส่วนคุณภาพไม่เต็มร้อย ก็ต้องแยกออกไป เราจะไม่โทษใคร กรรมการทุกคน จะศึกษาผลจากห้องแลบ ทั้งปริมาณ และคุณภาพ จะไม่มีการโทษใคร เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำข้อมูลที่ได้ส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า จะรายงานไปยังกบข.เป็นที่แรก ส่วนข้อมูลจะให้ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น