xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “บิ๊กตู่” แก้วิกฤตพืชการเมือง สกัดม็อบเกษตรกรเคลื่อนพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรประเมินแนวทางแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำในขณะนี้ เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ลดปัญหาก่อม็อบ หมอวรงค์แนะเรื่องข้าวรัฐบาลใหม่ต้องกล้าช่วย ขณะที่นักวิชาการเกียรติคุณชี้พืชการเมืองทำให้เกษตรกรด้อยพัฒนา ส่วนชาวไร่อ้อยแจงขยับราคาอ้อยเป็นเงินของกองทุนฯ ไม่ใช่เงินของรัฐบาล เห็นใจพืชอื่นที่ไม่มีเงินกองทุนสนับสนุน

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กำลังจะเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ หลังการยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จากนี้ไปการขับเคลื่อนประเทศจะเริ่มเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สร้างปัญหาทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองจนกองทัพต้องเข้ามายุติปัญหาดังกล่าว ขณะที่นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยยังคงสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรต่างๆ มาจนถึงวันนี้

โครงการรับจำนำข้าวที่เป็นนโยบายหาเสียงหลักให้กับพรรคเพื่อไทย ด้วยแนวทางการฝืนกลไกตลาดรับซื้อที่ 15,000 บาทสำหรับข้าวขาวและ 20,000 บาทสำหรับข้าวหอมมะลิ นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาลจากการที่ไม่สามารถขายข้าวออกไปได้ เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และยังค้างเงินจำนำข้าวกับชาวนาในช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนมีชาวนาต้องฆ่าตัวตายนับสิบราย

แม้ภายหลังการยึดอำนาจของ คสช.จะดำเนินการจ่ายเงินที่ค้างค่าจำนำข้าวกว่า 9 หมื่นล้านบาทให้กับชาวนาได้ทั้งหมด แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ราคาข้าวจึงต้องกลับมาสู่สภาพความเป็นจริงอีกครั้ง เช่นเดียวกับสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ ที่เคยมีนโยบายให้ความช่วยเหลือทั้งยางพาราและมันสำปะหลัง

คสช.เร่งแก้ตั้งแต่ยึดอำนาจ

ในระหว่างที่ คสช.เข้ายึดอำนาจได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรหลายรายการ ทั้งข้าว ยางพารา อ้อย และที่กำลังหาข้อสรุปกันคือมันสำปะหลัง

เริ่มจากข้าว พืชเศรษฐกิจหลักของไทย โดยทาง คสช.มีมติให้ความช่วยเหลือชาวนาทั่วประเทศ ในรอบการผลิตปี 2557 และปี 2558 จากเดิมที่ชาวนามีต้นทุนไร่ละประมาณ 4,000 บาท ผู้ประกอบการยินดีที่จะปรับลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าสารเคมี ค่าปุ๋ย และค่าเมล็ดพันธุ์ เบื้องต้น กำหนดตัวเลขว่าจะปรับลดตันทุนลงไร่ละอย่างน้อย 500 บาท แต่จะช่วยเหลือครัวเรือนละ 15 ไร่

ทั้งนี้ ค่าปุ๋ย ค่าเช่าที่นา ค่าใช้รถเกี่ยวข้าว รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ ลงมาอีกไร่ละ 432 บาท หรือคิดจากต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมที่ชาวนาต้องจ่ายไร่ละ 4,787 บาทต่อไร่ ลดลงมาเหลือไร่ละ 4,355 บาท

มาตรการทางด้านการเงิน โดยให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนารายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ชาวนานำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการลงทุนปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไป และมีมาตรการประกันภัยข้าวตามความสมัครใจ

พืชอีกชนิดที่ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำนั่นคือยางพารา โดยทาง คสช.มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปี 2557 มีกรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 5,938.25 ล้านบาท

มาตรการระยะเร่งด่วนในปี 2557 คือ 1.มาตรการยกระดับราคาโดยเพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาด 2.แนวทางการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพการผลิตวงเงินตลอดโครงการในปี 2557 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ วงเงินตลอดโครงการ และเตรียมแนวทางพัฒนายกระดับราคายางพาราในระยะยาว 10 ปีวงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ทาง คสช.ยังได้อนุมัติให้มีการเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 56/57 อีกตันละ 160 บาท จากเดิม 900 บาทต่อตัน เป็น 1,060 บาทต่อตัน โดยสนับสนุนเงินกู้ผ่าน ธ.ก.ส. วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่พืชเศรษฐกิจอีกรายการอย่างมันสำปะหลัง อยู่ในขั้นตอนการหารือกับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งทางเกษตรกรได้เสนอแนวทางเพื่อให้รัฐบาลใหม่ให้การช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต โดยอยากจะให้สนับสนุนกิโลกรัมละ 50 สตางค์ หรือตันละ 500 บาท โดยตั้งเพดานไว้ที่ครอบครัวละไม่เกิน 120 ตัน ใครมี 50 ตันก็ช่วยไป 50 แต่ใครมี 150 ตันก็จะช่วยได้ไม่เกิน 120 ตัน โดยจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้กับสำนักงานเกษตรแต่ละจังหวัด

รวมถึงต้องการรวมกลุ่มเพื่ออยากจะแปรรูปมันสำปะหลัง อย่างเช่นมันเส้น เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และอยากให้ คสช.กำหนดนโยบายให้ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังมากขึ้น โดยเฉพาะการเอาไปผลิตเอทานอลเพื่อให้ประชาชนใช้
ม็อบชาวนาที่มาทวงเงินจำนำข้าว
หมอวรงค์แนะรัฐบาลใหม่ต้องใจถึง

สำหรับมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ คสช.เข้ามาดำเนินการบริหารประเทศนั้น นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาระของรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเข้ามาเร่งแก้ปัญหาเรื่องข้าวว่า แนวทางการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งค่าเช่านา ค่ารถเกี่ยวหรือแม้แต่ค่าปุ๋ย ค่ายาและพันธุ์ข้าวปลูก อาจจะมีการลดราคาลงมาบ้างแต่ไม่สอดคล้องกับราคาขายข้าวเปลือก เทียบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ดังนั้นมาตรการที่จะต้องจัดงบลงไปช่วยพี่น้องชาวนาจึงยังมีความจำเป็นในปัญหาระยะสั้น รัฐบาลใหม่ต้องกล้าตัดสินใจว่าจะช่วยแบบประกันรายได้หรือช่วยเท่ากันไปว่าไร่ละเท่าไร รายละไม่เกินกี่ไร่ เนื่องจากปัจจุบันนี้ไม่มีเม็ดเงินลงไปช่วยชาวนา ซึ่งเป็นต้นธารของการใช้จ่าย ส่วนการช่วยระยะยาวค่อยว่ากัน

ประการต่อมา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ข้าวเปลือกฤดูการผลิตใหม่กำลังจะออกมากขึ้น อาจจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกในตลาดตามหลักดีมานด์และซัปพลาย รัฐบาลต้องดูแลราคาอย่างใกล้ชิดและเตรียมหามาตรการแทรกแซงระยะสั้นให้พร้อมถ้ามีความจำเป็น แต่อาจจะมีความโชคดีอยู่บ้างตรงที่ตลาดส่งออกล้วนต้องการข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออก

ประการที่สาม การระบายข้าวที่ค้างในโกดัง ในช่วงที่ผ่านมาการตัดสินใจระบายข้าวมีลักษณะกล้าๆ กลัวๆ ขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการข้าว ซึ่งวัดได้จากจำนวนผู้ร่วมประมูลมีจำนวนมาก รัฐบาลใหม่ต้องกล้าที่จะดำเนินการบนหลักการของความโปร่งใสและรู้เท่าทัน นั่นคือช่วงไหนมีความต้องการข้าวก็จัดการและที่สำคัญต้องประกาศราคากลางหรือฟลอร์ไพรซ์ให้ผู้ร่วมประมูลรับทราบ ใครชนะก็ให้เขาไป

ประการสุดท้าย การดำเนินการเรื่องการทุจริตโดยเฉพาะในการตรวจโกดัง ซึ่งรวมถึงการรายงานผลการตรวจแก่ประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ที่สำคัญต้องตอบข้อกังขาได้ทั้งหมด การดำเนินการเรื่องการทุจริตในขั้นตอนตรวจโกดังต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ระดับเจ้าหน้าที่เด็กไปแจ้งความ ไม่รู้ว่าให้ดำเนินคดีหรือแค่ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน

นี่คือโจทย์ 4 ข้อที่รอรับรัฐบาลใหม่อยู่

“สินค้าเกษตรมีปัญหาหมดทุกตัว ราคาปรับลดลง ทำให้รายได้ของเกษตรกร ผลผลิตตกต่ำ รัฐต้องทำให้เขามีรายได้ที่มั่นคง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหา อีกทั้งเกษตรกรถือเป็นต้นทางของการใช้จ่าย เมื่อมีรายได้เพิ่มก็จับจ่ายใช้สอยเพิ่ม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้” นายแพทย์วรงค์กล่าว

อีกทั้งแนวทางของ คสช.ด้วยการลดต้นทุนการผลิตนั้นยังค่อนข้างเป็นนามธรรม อาจจะช่วยได้ในทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะ ซึ่งเป้าหมายของราคาข้าวที่คสช.ตั้งไว้อยู่ที่ 8,500-9,000 บาทกับความชื้นที่ 15% ขณะที่ราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อตัน

“รัฐบาลใหม่อย่ากลัวที่จะเอาเงินไปช่วยชาวบ้าน ถ้าเป็นสิ่งจำเป็นก็ต้องกล้าให้”
ม็อบยางพารา
ทำพืชเศรษฐกิจเป็นพืชการเมือง

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงมาตรการของ คสช.ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำว่า ยังไม่แน่ใจจะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะแนวคิดของผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศมักจะเป็นแนวคิดที่ถูกครอบงำโดยข้าราชการ

ที่ผ่านมาเราทำให้สินค้าเกษตรกลายมาเป็นพืชการเมือง ต้องให้การช่วยเหลือ ต้องอุดหนุน สุดท้ายก็ทำให้เกษตรกรไม่เกิดการพัฒนา ต้องรอการช่วยเหลือ ต้องทำให้พืชเหล่านั้นได้ราคาสูง สุดท้ายก็ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงตามไปด้วย ทั้งการเร่งอัดปุ๋ยและอัดยาเพื่อเร่งผลผลิต
ม็อบชาวไร่อ้อย
อ้อยอยู่ได้เพราะกองทุน

นายพนมพร เขตอนันต์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยกาฬสินธุ์ กล่าวถึงมาตรการที่ให้การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยว่า การให้ราคาอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 160 บาทต่อตันจากราคารับซื้อเดิม 900 บาท มาจากเงิน 5 บาทจากราคาขายน้ำตาลที่มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีเงินกองทุนราว 2-3 หมื่นล้านบาท เงินที่ได้จะนำไปใช้คืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ผู้ที่อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนดังกล่าวคือรัฐบาล รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการตั้งแง่พอสมควร เนื่องจากเงินเหล่านี้จะถึงมือเกษตรกรโดยตรง แต่ครั้งนี้ได้หารือกับทาง คสช. ซึ่งฝ่ายทหารเข้าใจในเรื่องนี้ดี จึงอนุมัติอย่างรวดเร็ว

“ต้องเรียนว่ากรณีของอ้อยนั้น รัฐบาลไม่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือ เงินที่ให้กับเกษตรกรเป็นเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาล”

ปัญหากับพืชเกษตรอื่นๆ นั้นอย่างมันสำปะหลัง ยางพาราหรือข้าว ไม่มีเงินกองทุนเหมือนอ้อย จึงแก้ปัญหาเรื่องการตกต่ำของราคาได้ลำบาก โดยเฉพาะยางพาราที่ไม่สามารถนำไปปรับใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ อีกทั้งที่ผ่านมามีการปลูกกันมากเนื่องจากราคาดี ไม่มีการทำโซนนิ่งในการปลูก รวมถึงผู้ซื้อรายสำคัญอย่างจีนก็มีการปลูกยางพารามาก จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

สำหรับมาตรการในการให้ความช่วยเหลือพืชเกษตรเหล่านี้ คงต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของพืชแต่ละชนิด แต่มาตรการเหล่านี้จะเป็นเพียงการแก้แบบปีต่อปี
ชาวไร่มันสำปะหลังที่ประท้วงราคาผลผลิตตกต่ำ
ต้องเร่งแก้หวั่นม็อบ

จะเห็นได้ว่าทาง คสช.ได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาตั้งแต่ก่อนการตั้งรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ทาง คสช.ได้ตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหาพืชเกษตรตกต่ำ เพิ่มขีดแข่งขันยั่งยืนกับพืชเศรษฐกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย

“การเลือกพืชเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในความดูแลของรัฐบาลนั้น จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดว่าจะเป็นพืชใดบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่หนีไปจากข้าว ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย ส่วนจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ขึ้นอยู่กับรัฐ ส่วนหนึ่งอาจเห็นว่าข้าวและยางมีมาตรการให้ความช่วยเหลือออกมาบ้างแล้ว” นักวิชาการรายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้พืชเศรษฐกิจที่กล่าวถึงกันนั้น อาจจะเรียกว่าเป็นพืชการเมืองก็ได้ เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้มีจำนวนมาก มีผลทั้งฐานเสียงสำหรับนักการเมืองทั่วไป หากราคาพืชผลเหล่านี้ตกต่ำก็มักจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ หรือจนถึงขั้นออกมาเคลื่อนไหวด้วยการขนเกษตรกรมาร่วมชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งทุกรัฐบาลพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเพราะเสี่ยงต่อสถานะของรัฐบาลและภาพลักษณ์

ดังนั้นการหาทางลดความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่ คสช.ให้ความสำคัญ ทั้งนี้คงต้องรอดูต่อไปว่ามาตรการดังกล่าวจะลดปัญหาของเกษตรกรได้หรือไม่ เนื่องจากมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น และยังไม่มีมาตรการระยะยาวที่เป็นรูปธรรมออกมา หากไม่ดำเนินการอย่างเป็นระบบแล้วปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรก็จะกลับมาเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาของพวกเขาอีกครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น