xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสรุปคดี"ปู"ทุจริตข้าว วรงค์เสนอ4ข้อให้รัฐบาลแก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 ส.ค.) นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้า การพิจารณาสำนวนคดี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย ในโครงการรับจำนำและระบายข้าวทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 123/1 ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานความเห็นจากคณะทำงานอัยการ ซึ่ง นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ที่ตนตั้งขึ้นพิจารณาสำนวนจากป.ป.ช.แล้ว โดยขณะนี้ คณะทำงานของอัยการสูงสุดกำลังตรวจดูรายงานความเห็นของคณะทำงานดังกล่าว เพื่อเสนอตนตามขั้นตอนต่อไปจึงยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งตนก็ให้อิสระไม่เข้าไปก้าวล่วงคณะทำงาน
นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบถึงความเห็นของคณะทำงาน ว่าเป็นอย่างไร และยังไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้ จนกว่าอัยการสูงสุดจะมีความเห็นสั่งคดี ทั้งนี้ หากอัยการสูงสุดสั่งคดีแล้ว จึงจะสามารถแถลงเปิดเผยรายละเอียดได้
ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังคณะทำงานอัยการที่มี นายวุฒิพงศ์ เป็นประธาน ประชุมพิจารณาสำนวนแล้วเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการสรุปความเห็นเสนอตามขั้นตอน เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ซึ่งมีรายงานแจ้งว่า คณะทำงานส่วนใหญ่มีมติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ขณะที่คดีนี้ ป.ป.ช.ได้สรุปสำนวนพยานหลักฐานให้อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยตามกฎหมายอัยการสูงสุดมีเวลาพิจารณาสำนวนและทำคำสั่งภายใน 30 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 4 ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม หากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนวนของป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ก็สามารถที่จะตั้งผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นคณะทำงานร่วมกับป.ป.ช. ภายใน 14 วัน เพื่อพิจารณาสำนวนให้สมบูรณ์ครบถ้วน

**ชง 4 ข้อให้รบ.ชุดใหม่แก้ปัญหาข้าว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะที่มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใหม่กำลังจะเกิดตามมา ซึ่งตนเห็นว่ามีโจทย์ 4 ข้อ เกี่ยวกับข้าวที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ
1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา เพราะแนวทางการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งค่าเช่านา ค่ารถเกี่ยวข้าว หรือแม้แต่ค่าปุ๋ย ค่ายา และพันธุ์ข้าวปลูก อาจจะมีการลดราคาลงมาบ้าง แต่ไม่สอดคล้องกับราคาขายข้าวเปลือก เทียบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้นมาตรการที่จะต้องจัดงบลงไปช่วยเกษตรกร จึงยังมีความจำเป็นในปัญหาระยะสั้น รัฐบาลใหม่ต้องกล้าตัดสินใจว่าจะช่วยแบบประกันรายได้ หรือช่วยเท่ากันไปเลยว่า ไร่ละเท่าไร รายละไม่เกินกี่ไร่ เนื่องจากปัจจุบันนี้ไม่มีเม็ดเงินลงไปช่วยชาวนา ซึ่งเป็นต้นธารของการใช้จ่าย ส่วนการช่วยระยะยาว ค่อยว่ากัน
2. ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ข้าวเปลือกฤดูการผลิตใหม่กำลังจะออกมากขึ้น อาจจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกในตลาดตามหลักดีมานด์และซัพพลาย รัฐบาลต้องดูแลราคาอย่างใกล้ชิด และเตรียมหามาตรการแทรกแซงระยะสั้นให้พร้อมถ้ามีความจำเป็น แต่อาจจะมีความโชคดีอยู่บ้าง ตรงที่ตลาดส่งออกล้วนต้องการข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออก
3. การระบายข้าวที่ค้างในโกดัง ในช่วงที่ผ่านมา การตัดสินใจระบายข้าวมีลักษณะกล้าๆ กลัวๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการข้าว ซึ่งวัดได้จากจำนวนผู้ร่วมประมูลมีจำนวนมาก รัฐบาลใหม่ต้องกล้าที่จะต้องดำเนินการบนหลักการของความโปร่งใส และรู้เท่าทัน นั่นคือ ช่วงไหนมีความต้องการข้าว ก็จัดการและที่สำคัญต้องประกาศราคากลางให้ผู้ร่วมประมูลรับทราบ ใครชนะก็ให้เขาไป เสียดายที่ช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยกล้า เพราะจากนี้ไปข้าวใหม่กำลังจะออก
4. การดำเนินการเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะการตรวจโกดัง ซึ่งรวมถึงการรายงานผลการตรวจแก่ประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ที่สำคัญต้องตอบข้อกังขาได้ทั้งหมด การดำเนินการเรื่องการทุจริตในขั้นตอนตรวจโกดัง ต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ให้ระดับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยไปแจ้งความ ไม่รู้ว่าให้ดำเนินคดี หรือแค่ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น