xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวรงค์” แนะ 3 ข้อก่อนแจกเงินชาวนา “วิรัตน์” หนุน สนช.ลุยถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“จอมแฉจำนำข้าว” ติงรัฐโปรยเงินช่วยชาวนาไร่ละพัน ไม่ถึงมือคนทำแต่เจ้าของที่ได้แทน แนะลงทะเบียน 3 กลุ่ม สุ่มตรวจ และจัดโซนนิง ด้านหัวหน้าทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ หนุน สนช. เดินหน้าถอดถอน บอกไม่แปลกเพื่อไทยร้องเหตุทำบ่อยๆ

วันนี้ (5 ต.ค.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาได้ตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. เป็นต้นไป ว่า ตนเข้าใจดีว่ามาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน เป็นมาตรการเยียวยาพี่น้องชาวนาเพื่อชดเชยราคาข้าวเปลือกและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ปัญหาที่รัฐบาลต้องตระหนักและรับฟัง โดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง ที่ต้องเช่าที่นา นั่นคือ เม็ดเงินดังกล่าวอาจจะไปตกแก่เจ้าของที่ดิน รวมถึงอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น คือ การแจ้งที่นาไม่ตรงกับความจริง ดังนั้น แนวทางที่รัฐบาลควรปฏิบัติ คือ 1. การลงทะเบียนเกษตกรว่าทำนาจริง และจำนวนที่นาที่มี รัฐบาลควรแยกการลงทะเบียนชาวนาออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่ลงทะเบียนรวมเหมือนอดีต คือ กลุ่มแรกคือชาวนาที่มีที่นาเป็นของตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหา เพราะทำนาเองและที่ดินเป็นของตนเอง กลุ่มที่สองคือ ชาวนาที่เช่าที่นา กลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสมีปัญหา ถ้าหละหลวมเงินจะไปตกแก่เจ้าของที่ดิน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดเพื่อให้เงินตกแก่ชาวนา และกลุ่มที่สามคือชาวนาที่ทำนาในที่สาธารณประโยชน์และไม่มีเอกสารสิทธิ

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า 2. เพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใสและเงินตกถึงมือชาวนาจริง รัฐบาลควรมีมาตรการสุ่มตรวจและลงโทษการทุจริตอย่างจริงจัง ถ้าสุ่มพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับชาวนาแจ้งเท็จ หรือเจ้าของที่ดินมาฉกฉวยประโยชน์ ถ้ารัฐบาลมีมาตรการสุ่มตรวจและลงโทษอย่างจริงจัง จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มาก และ 3. รัฐบาลต้องตระหนักว่า การจ่ายเงินช่วยชาวนาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มาตรการระยะยาว การจัดโซนนิงซึ่งมีการพูดกันมานาน โดยเฉพาะชาวนาที่มีต้นทุนทำนาสูงมากๆ แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะแก่การทำนา การจัดกลุ่มทำนาสายพันธุ์ตามความต้องการตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือแม้แต่ให้โอกาสชาวนาแปรรูปขายข้าวสารโดยใช้สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนและรัฐบาลช่วยทำตลาด เหล่านี้คือหน้าที่ที่รัฐบาลต้องทำควบคู่กันไป

ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องยื่นยันการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาซึ่งคาดว่า จะนำไปพิจารณาในที่ประชุม สนช. ในวันที่ 9 - 10 ต.ค.นี้ ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้ แต่การยกร่างข้อบังคับต้องดูอย่างครอบคลุมด้วย เรื่องนี้ สนช. ที่เคยเป็นสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ต่างมั่นใจว่า สนช. มีอำนาจในการดำเนินการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้อำนาจ ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกแล้วว่าสามารถทำได้ ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า สนช. มีอำนาจถอดถอนหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะพรรคเพื่อไทยก็ออกมาขู่ว่าจะร้องศาลทุกครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นการทำตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ ก็ต้องดูจะใช้ช่องทางไหนและใช้มาตราใดในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย


กำลังโหลดความคิดเห็น