xs
xsm
sm
md
lg

‘ประเทศไทยควรยิ่งใหญ่กว่านี้เยอะ’ : หมอข้าว-นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นี่ไม่ใช่การหาเสียงใช่ไหม?”
ไม่เพียงแค่นึกในใจ หากแต่เป็นถ้อยคำที่เราต้องเอ่ยปากถามอยู่เรื่อยๆ ตลอดการสนทนา
เพราะนักการเมืองย่อมต้องพูดแบบนักการเมือง...ปากหวานเข้าไว้เพื่อจะได้หัวใจคน...เป็นกันมาตั้งแต่สมัยตากแดดเดินถนนยกมือไหว้ผู้คนเพื่อผลด้านคะแนนเสียง จนถึงตอนนั่งคอห้อยคอเอียง รับแอร์เย็นฉ่ำในห้องประชุมสภา
แล้วอย่างนี้จะให้เชื่อใจได้ง่ายๆ อย่างไรล่ะท่าน?

ก่อนหน้าการมาถึงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก่อนหน้านี้ บ้านเมืองเราทุกข์ร้อนกันมาก็หลายเรื่อง จากเมืองหลวงจรดปลายนา ข่าวเขาว่า ปีนี้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก เงินค่าจำนำข้าวที่ “เขา” สัญญา ยังเดินทางมาไม่ถึง บ้างก็ว่าเพราะการเมืองในเมืองนั้นวุ่นวาย เงินจึงไปไม่ถึงชาวบ้าน และบ้างก็ว่าท่านผู้มีอำนาจจ่าย ไร้ปัญญาที่จะจ่าย เพราะหาไม่ได้ หมุนเงินไม่ทัน
ก็ว่ากันไป ต่างๆ นานา...

แต่ ณ ตอนนี้
ถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เรื่องจำนำข้าวจะถูกเข้าใจอย่างถ่องแท้?
ถึงเวลาแล้วหรือเปล่า ที่เบื้องหลังของเรื่องราวจะถูกแล่ออกมาให้เห็นทุกเส้นขนกลใน?
ใครไม่ได้ เพราะใครโกง?
นี่คือการเปิดโปงครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวพาดกับชะตากรรมของประชากรที่ได้รับเกียรติเสมอมา ในฐานะ "กระดูกสันหลังของชาติ"...

...หลังจากหนังสือ “มหากาพย์โกงข้าว” ก้าวขาออกมาจากโรงพิมพ์ได้ไม่กี่วัน เรานัดพบกับบุคคลผู้เป็นต้นหนแห่งงานเขียนเล่มดังกล่าว “นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม” ผู้เริ่มเปิดแผลของโครงการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่สมัยประชุมสภาคราวที่แล้ว ก่อนจะต่อยอดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
นายแพทย์วรงค์คลุกคลีกับเรื่องข้าวจนได้รับสมัญญาว่า “หมอข้าว” และเพราะเหตุนี้ก็จึงได้รับการขานกล่าวถึงสไตล์การทำงานด้วยว่าเป็นพวก “กัดไม่ปล่อย”

อย่างไรก็ดี นพ.วรงค์ ก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นนักการเมืองภายใต้ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้แต่คนขับแท็กซี่ซึ่งเพิ่งเดินขึ้นมาจากทุ่งนาเมืองร้อยเอ็ด ยังรู้แกวว่า “รอบจัด”...
“นี่ไม่ใช่การหาเสียงใช่ไหม?” เราถามย้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ก่อนกดปุ่มเรคคอร์ดของเครื่องบันทึกเสียงซึ่งเทียบราคาแล้ว ห่างกันหลายร้อยไมล์กับราคาไมค์บางอัน...

• คุณหมอบอกไว้ในหนังสือว่า ทั้งหมดมีเอกสารอ้างอิงเป็นหลักฐาน ประเด็นคือเราจะเชื่อถือหนังสือเล่มนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ เพราะข้อมูลเอกสารทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่เราร้องต่อ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ทุกอย่างที่มีการพาดพิงถึงตัวละคร มีเอกสารอ้างอิงหมด แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมีพื้นมาจากการตั้งกระทู้ถามสดในการอภิปรายในสภา แต่ช่วงหลังเราก็ยังมีการหาข้อมูลเพิ่มเติม เสริมเข้าไป เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวในภาพใหญ่ มันเป็นยังไงบ้าง ที่เราบอกว่าทุจริตทุกขั้นตอน มันเป็นยังไงบ้าง

• คุณหมอไปได้เอกสารพวกนั้นมายังไง
ก็ต้องชื่นชมผู้หวังดีครับ เพราะเอกสารพวกนี้ต้องเป็นคนในจริงๆ ถึงจะเอามาได้ เขาคงเห็นแล้วว่ามันไม่ไหว เราก็หาวิธีที่จะให้เขาเอาเอกสารมาให้เรา เมื่อได้มาแล้ว เราก็เอาไปตรวจสอบกับคนในวงการที่เกี่ยวข้อง เช็กจากหลายๆ สาย สายแต่ละสายก็ต้องตรงกัน

• คิดว่า การที่มีคนแอบเอาเอกสารเหล่านั้นมาให้เรา มันบ่งบอกถึงอะไร
บ่งบอกว่าในสังคมก็มีคนรักความเป็นธรรมรักความถูกต้องอยู่ เขาเห็นคนที่โกงประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะระบบอำนาจที่มันใหญ่กว่า กดพวกเขาไว้หมด เขาต้องเก็บเป็นความลับ แต่เขาก็พยายามหาข้อมูลมาให้เรา

• เห็นเล่าไว้ในหนังสือถึงวิธีการรับเอกสารแต่ละครั้งนี่ ราวกับภารกิจเสี่ยงตายเลย
(ยิ้ม) ก็มีการติดต่อประสานกัน ให้คนขับรถของเรา ขับผ่านไปโรงแรมนั้นๆ ช่วงเวลานี้ เพราะหน้าโรงแรมนี้ ช่วงเวลานี้รถจะติดมาก เราก็เอื่อยไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องจอด แล้วก็ปลดกระจกรถไว้ จากนั้นจะมีคนโยนของใส่รถเราซึ่งก็คือเอกสารลับเหล่านั้น คิดดูแล้วมันก็น่าตื่นเต้นดี เหมือนกับเรากำลังเป็นนักสืบเลย

• คุณหมอเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าทำไมเราต้องลงทุนอะไรขนาดนี้
เรารู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้สังคมได้รับรู้ว่ารัฐบาลของเขาเป็นอย่างนี้ๆ เหมือนกับว่าภาพลักษณ์นั้นดูดี เหมือนอ้างว่าจะช่วยชาวนา ช่วยคนจน แต่เบื้องหลังจริงๆ มันเต็มไปด้วยอะไรต่างๆ นานา ที่เราจะต้องทำให้สังคมตามให้ทัน ไม่อย่างนั้น เขาก็จะอ้างอยู่นั่นล่ะว่าเขาช่วยคนจน ช่วยชาวนา คือเอาชาวนาเอาคนจนมาบังหน้า แต่สุดท้าย คุณมีผลประโยชน์ของคุณอย่างมหาศาลเลย แล้วเรื่องนี้มันกระทบกับประเทศชาติสูงมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการทำลายตลาดข้าว ทำลายข้าวไทยทั้งระบบเลยก็ว่าได้ แม้แต่ปัญหาเรื่องคุณภาพข้าว ช่วงหลังๆ ชาวบ้านปลูกข้าวด้อยคุณภาพเยอะมาก เราก็เลยต้องเอาออกมาให้เห็น

คือผมอาจจะรู้ทางเขาน่ะ มีเซนส์ว่า เอ๊ย อันนี้คุณหลอกเรานี่ คือถ้าหลอกแล้วเฉยๆ ก็อีกเรื่องนะ แต่นี่หลอกแล้วยังทำเป็นเหมือนกับว่าจะมาช่วยชาวบ้านในโครงการใหญ่ มันไม่ใช่ มันจึงเป็นเรื่องท้าทายที่เราจะต้องมาสู้กัน ด้วยการเอาข้อเท็จจริงมาสู้กัน และที่สำคัญ ถ้าเรามีเอกสาร มันจะเหมือนเป็นการลงยันต์เลยนะว่าคุณปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้ สังคมไทยมันเป็นสังคมอวิชชา ชอบโกหกบิดเบือน แม้แต่เรื่องชายชุดดำ เราจะเห็นการบิดเบือนเยอะแยะเลย ทำให้คนเชื่อไปอีกแบบหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่นักการเมืองยังใช้อวิชชาสูง ดังนั้นแล้ว ผมคิดว่ามันควรจะมีหลักฐานเชิงเอกสารชิ้นสำคัญ ถ้าวันใดคุณบิดเบือน เราจะเอาเอกสารอันนี้ไปโชว์ให้คุณดู

• คุณหมอเป็นหมอ เคยคิดไหมว่าทำไมต้องมาทำงานการเมือง
จริงๆ ผมชอบนะ อย่างตอนที่ผมเป็นนักศึกษา ผมก็ทำกิจกรรมเยอะ มันเป็นจุดเริ่มต้นของความใฝ่ฝันในการอยากทำงานการเมือง และผมก็เชื่อว่า ถ้าคิดดีทำดี การเมืองจะช่วยคนได้เยอะ ซึ่งถ้าเป็นหมอ เราก็ตรวจคนไข้ไปทีละคน แต่พอเป็นนักการเมือง เราจะคิดในเชิงนโยบาย เวลาทำอะไรแต่ละอย่าง มันจะช่วยคนได้ในวงกว้าง

• การคิดดีทำดี มันอยู่ได้จริงหรือในแวดวงการเมืองซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าเขี้ยวลากดิน
ผมก็อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้นะ (หัวเราะ) เราคิดบนพื้นฐานจุดยืนของเรา เราก็ยังยืนอยู่ได้นะ คือมันต้องตามพวกนักการเมืองให้ทันน่ะ เรายอมรับว่าในแวดวงการเมืองมันก็มีความหลากหลายของคน เหมือนกับแวดวงอื่นๆ ที่มีทั้งคนดีคนไม่ดี แต่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมายกตนว่าเป็นคนดีอะไรนะ เพียงแต่สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องดูมันให้ออก

• นอกจากต้องดูให้ออกแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้อง “กัดไม่ปล่อย” ด้วย?
(ยิ้ม) ผมคิดว่า สไตล์ผมจะเป็นแบบไม่มั่วมากกว่า คือให้ผมไปทะเลาะกับคนอื่นแบบมั่วๆ ผมก็รำคาญเหมือนกัน อย่างเช่นสมัยอยู่ในสภา ถ้าประท้วงแบบไร้สาระนี่ ผมรำคาญมากเลย แต่เราก็ต้องสู้กับเขา และเมื่อถึงเวลาที่ต้องสู้กันขึ้นมาจริงๆ ผมก็ไม่กลัวนะ เพราะในเมื่อประชาชนเขาให้เรามาทำหน้าที่แทน เราก็ต้องทำต้องสู้เต็มที่ เพียงแต่เราไม่ชอบการสู้แบบเกเรหรืออันธพาล มันควรจะต้องมีหลักในการสู้ ไม่ใช่จะพูดเพื่อเอามันสะใจอย่างเดียว แม้แต่เรื่องข้าว ผมก็รู้สึกว่านี่เป็นการสู้จริงๆ และเป็นการต่อสู้ที่ต่อเนื่องและยาวนาน

หลักในการสู้ของผมคือ ยึดถือหลักว่าต้องมีเอกสารอ้างอิง ต้องมีวิธีคิดและเหตุผล รวมถึงข้อมูลเพื่ออธิบายให้ได้ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ แต่ถ้าจะให้เราไปเป็นนักโต้วาทีอะไรแบบนั้น มันไม่ใช่ตัวเรา สังเกตดูสิว่าเวลาที่ผมอภิปราย ผมมีเอกสารอ้างอิงทุกครั้ง รัฐบาลก็ตอบเราไม่ได้สักครั้ง เพราะว่าเราไม่ได้จินตนาการขึ้นมาเอง

• รำคาญพวกนักโต้วาทีก็รำคาญ...ถามตรงๆ คุณหมอเคยรู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองบ้างไหม
ก็ธรรมดาครับ คนเรามันก็ต้องมีสนุกบ้างเบื่อบ้าง เป็นเรื่องปกตินะ แต่ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องมานั่ง “โอ้ ไม่ไหวแล้ว” คือเรายังมีไฟอยู่ ในภาพรวม เรายังโอเคกับการเมือง ยังอยากท้าทายวิธีคิดอยู่ ผมว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มันท้าทายหลายเรื่องนะ เพราะส่วนหนึ่งเรารู้สึกเสียดายโอกาสประเทศน่ะ ประเทศเราควรจะยิ่งใหญ่กว่านี้เยอะ ด้วยศักยภาพ ความพร้อม ทรัพยากร แต่เรามาเสียโอกาส เพราะ...ผมคิดว่านักการเมืองอาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเยอะ ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปเยอะ ถ้าได้นักการเมืองที่คิดได้ดีและคิดดีนะ ประเทศเราเป็นมหาอำนาจในอาเซียนไปแล้วล่ะ คือเราพร้อมมาก คนไทยก็พื้นฐานดี ยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี ถ้ามีคนที่ชี้ได้ถูก เดินได้ถูกทาง มันจะไปได้โลดเลยล่ะ

• พูดเหมือนจะบอกว่า ที่ผ่านมา ไม่มีนักการเมืองที่คิดได้และคิดดี
มันก็ไม่ค่อยมีจริงๆ นั่นแหละ ประเทศมันถึงเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้นำดีๆ จะไม่มีปัญหาอะไร จะดีกว่านี้เยอะ

• ถามจริงๆ ขณะที่ใครต่อใครก็กล่าวอ้างพี่น้องชาวไร่ชาวนา ถ้าช่วยชาวนาได้ คุณหมอจะช่วยด้วยวิธีการอย่างไร
แนวคิดของผมคือต้องฝึกให้ชาวนาทำธุรกิจของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เขาปลูกข้าวแล้วขายแล้วก็จบ อันนั้นมันเป็นตั้งแต่ยุคปู่ย่าตายายแล้ว ชาวนาทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ยากจนมาตลอด แต่คนที่เกี่ยวกับวงจรข้าว รวยหมดนะ โรงสีก็รวย ผู้ส่งออกก็รวย คนทำข้าวถุงขายก็รวย ทุกคนรวยหมด แต่มีคนปลูกข้าวเท่านั้นแหละที่ยังจน จริงๆ แล้ว คนไทยเรากินข้าวเป็นอาหารหลักนะ ดังนั้น ด้วยตรรกะและความจริงข้อนี้ คนที่ปลูกข้าวก็ควรจะต้องรวย แต่ไม่รวย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ตลกมาก

ผมต้องการให้เขาทำธุรกิจ แล้วคนเรานะ เมื่อมันได้ทำได้คิด มันจะเริ่มตามคนทัน ไม่ใช่ให้ชาวนาขายข้าวเปลือกแล้วก็นอนเพ้อ ฝันถึงตัวเลขอย่างเดียว มันไม่ได้อะไร แต่ถ้าได้ทำธุรกิจด้วย ผมว่ามันท้าทายแล้วก็เราเห็นแนวทางที่รัฐจะช่วยได้โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมอะไร วิธีการก็คือ แทนที่ชาวนาจะปลูกข้าวแล้วขายแต่เฉพาะข้าวเปลือก ก็เปลี่ยนไปเป็นปลูกข้าวเปลือกแล้วขายข้าวสาร ที่เรากล้าพูดอย่างนี้เพราะมันมีวิถีของชุมชนจริงๆ ซึ่งแต่ละชุมชนก็จะมีโรงสีเป็นของตนเอง แต่เนื่องจากว่าการสีข้าวของชาวบ้านตอนนี้เป็นไปในลักษณะของการสีเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่ขายคือข้าวเปลือก ถ้าสมมติว่าเราแบ่งข้าวเปลือกไปสักสามสิบเปอร์เซ็นต์ เอาไปสีแล้วแพ็กใส่ถุงขาย

แต่เนื่องจากว่าชาวบ้านเขาอาจจะไม่ได้คิดเรื่องการค้า อาจจะทำตลาดไม่เป็น รัฐก็ต้องเข้าไปช่วย วิธีช่วยก็ไม่ยาก เอาง่ายๆ รัฐอาจจะเริ่มด้วยการช่วยโปรโมตให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องซื้อข้าว ให้ซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง เช่น โรงพยาบาล คนไข้ทั้งประเทศวันหนึ่งมีเท่าไหร่ กินข้าวเช้ากลางวันเย็น หรือแม้แต่โรงเรียนที่เลี้ยงข้าวกลางวัน นักเรียนเป็นแสนเป็นล้านคน แทนที่จะไปซื้อข้าวจากโรงสีหรือซื้อข้าวจากห้างใหญ่ๆ ก็มาซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งที่ผ่านมา เราก็พยายามทำอยู่นะ เช่นขอให้โรงพยาบาลมาช่วยซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง แต่ก็ทำได้แค่บ้านเราที่เดียว ถ้าจะให้ดีมันต้องเป็นนโยบายรัฐในการกำหนดว่า ต่อไปนี้ เราต้องมาช่วยชาวนา รัฐไม่ต้องออกเงินช่วยซื้อให้นะ เพราะที่ต่างๆ เขาก็มีงบซื้อข้าวของเขาอยู่แล้ว

• ฟังดู คล้ายๆ จะขายฝันอย่างไรไม่รู้นะครับ
ที่พูดมา ก็เพราะว่าเราอยากให้ประเทศเราเจริญเหมือนกับประเทศอื่นเขาครับ เช่น เราอยากจะเห็นชาวไร่ชาวนาไทยเหมือนชาวนาชาวไร่ที่ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งพอเสร็จจากงานในไร่นา หรือลูกๆ ปิดเทอม ก็สามารถพาลูกหรือครอบครัวไปเที่ยวได้ เที่ยวต่างประเทศได้ และมีความรู้พอที่จะสามารถเข้าร่วมประชุมสำคัญๆ ได้ แต่บ้านเรามันถูกกดไว้เยอะ ระบบเรามันกดเขาไว้เยอะ ถ้าเราสามารถจะช่วยเขาได้ ให้เขาสามารถยืนด้วยตัวเองได้ จะว่าไปเราก็ฝันหวานนะ แต่ถ้าทำได้ มันจะเป็นภาพของประเทศที่ดูศิวิไลซ์ขึ้นเยอะเลยล่ะ

• กระโดดจากเรื่องข้าว เรื่องชาวนา ฟังมาว่าคุณหมอกำลังดูเรื่องการศึกษา เหมือนจะเป็นหนังคนละม้วนไปเลย
คือเรื่องข้าวเรื่องชาวนา มันเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่แรก เราก็ต้องติดตามต่อไป แต่บังเอิญผมมีโอกาสไปเป็นคณะกรรมการนโยบายพรรคแล้วเขาให้มาช่วยดูเรื่องการศึกษา ซึ่งอันที่จริง มันก็เป็นผลพวงมาจากการที่เราได้ไปศึกษาเรื่องชาวนามาเยอะนั่นล่ะครับ ทำให้เราเกิดคำถามว่าทำไมประชาชนถึงเป็นแบบนั้นกันส่วนใหญ่ คือหนึ่ง หลักคิดเชิงเหตุเชิงผลน้อยมาก ชอบเชื่อข่าวลือ สองคือระเบียบวินัยน้อย และเรื่องที่สามเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิ์ของตนเอง นั่นยังไม่นับรวมถึงเรื่องปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย ไปจนถึงทักษะชีวิตและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ยิ่งแนวคิดเรื่องการเอาแท็บเล็ตไปแจก ป.1 ผมต่อต้านอย่างสูง มันเป็นการฆ่าเด็กรุ่นใหม่

• พูดแบบนี้ ค่อนข้างรุนแรงอยู่นะครับ เพราะแท็บเล็ตใครๆ ก็ชอบ แล้วมันจะไปฆ่าเด็กรุ่นใหม่ได้อย่างไร
แน่นอนครับ แท็บเล็ตใครก็ชอบ เหมือนอย่างถ้าไม่ให้ทำการบ้าน ใครๆ ก็ชอบ ให้เรียนชั่วโมงนึงแล้วไปเที่ยวได้ คนก็ชอบ แต่เรามองว่าถ้าเราจะสร้างคนขึ้นมา หรือคิดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นลูกของเรา เราจะซื้อให้มั้ย คืออยากให้คิดว่าเวลาจะออกนโยบายอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับเด็ก ให้คิดว่าเรากำลังทำกับลูกของเรา ผมว่าคนที่คิดอนาคตที่ดีให้แก่ลูก เขาจะไม่ให้แท็บเล็ตตั้งแต่เล็กๆ ขนาดนั้นหรอก มันต้องปูพื้นให้เขาดีๆ ก่อน

ผมต่อต้านเรื่องแท็บเล็ต เพราะเห็นว่าการให้แท็บเล็ตกับเด็กวัยนี้ มันหมายถึงคุณฆ่าเด็กชัดๆ แล้วการใช้แท็บเล็ต ภาษาแพทย์เขามีคำว่ารีเฟล็กซ์ คือคุณไม่ต้องใช้สมองเลย คุณก็สามารถใช้แท็บเล็ตได้ เอาเครื่องนี้ไปให้ใคร ก็จิ้มเป็นกันทุกคน ดังนั้น การให้แท็บเล็ตกับเด็กก็เหมือนสนับสนุนให้เขาไม่ต้องใช้สมอง คุณต้องให้พวกเขาได้ใช้สมองก่อน อย่างน้อย ถ้าคุณจะให้เด็กเรียนคอมพิวเตอร์ คุณต้องให้เด็กเริ่มเรียนจากการหัดพิมพ์ ฟ ห ก ด หัดพิมพ์หัดอะไร เป็นเบสิกไปก่อน

• เอาเป็นว่า ถ้าได้เป็นผู้ดูแลเรื่องการศึกษาของรัฐจริงๆ มีสิ่งไหนบ้างที่คุณหมอเห็นว่าควรจะทำ
ผมคิดว่าการแก้ปัญหาการศึกษามันต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐาน ถ้าเราแบ่งเป็น 3 ระดับ คืออนุบาล ป.1 ถึง ป.6 และ ม.1 ถึง ม.6 และระดับมหาวิทยาลัย พื้นฐาน ป.1 ถึง ป.6 เป็นช่วงที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเด็กนั้น สมองเขาจะโล่งมาก เราใส่อะไรเข้าไป เขาก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ทุกวันนี้ เรามัวไปแก้แต่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งผมมองว่ามหาวิทยาลัยเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพียงแต่รัฐต้องการอะไรก็บอกเขาไป เช่น ช่วงนี้ต้องการสายวิศวะเยอะๆ ก็บอกเขาไป แค่นั้น อย่างอื่นไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เขาเหมือนลูกคนโต ผมจึงแอนตี้มากเลยนะเวลาที่รัฐออกมาพูดเรื่องโอเน็ตเอเน็ต เนื่องจากว่าเราไม่ใช่ผู้อำนวยการโรงเรียน เราไม่ใช่ครู เราเป็นผู้กำหนดนโยบาย เราแค่บอกไปว่าเราต้องการอะไร เพราะเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องวิชาชีพเฉพาะหรือพวกวิชาชีพชั้นสูง นักการเมืองอย่าไปวุ่นวายเลย อย่างเช่นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองเลยที่จะต้องไปกำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ ให้มืออาชีพด้านการศึกษาเขากำหนดดีกว่าว่าอะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ภารกิจจริงๆ ของเราคือต้องทุ่มเทไปที่ลูกคนเล็ก เราต้องดูแลระดับอนุบาลและประถม ซึ่งมันเป็นพื้นฐานของปัญหาของประเทศเลยนะ ถ้าเราปลูกฝังเขาอย่างไร โตขึ้นมาเขาจะเป็นอย่างนั้นเลย คิดง่ายๆ ก็คือ ทำยังไงให้เกิดการเรียนการสอนในเชิงเหตุเชิงผล คิดเชิงเหตุเชิงผล ที่ผ่านมา เด็กไทยมีแต่ท่องๆๆ

อันที่สอง คือเรื่องของระเบียบวินัย ผมว่าพื้นฐานของการสร้างระเบียบวินัยชาติที่ดีที่สุดคือ การเข้าแถวด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่เข้าแถวเพราะกลัวครูตี เดี๋ยวนี้เด็กเข้าแถวเหมือนกัน แต่เข้าแถวเพราะกลัวครูตี การเข้าแถวด้วยจิตวิญญาณ มันจะเกิดโดยธรรมชาติของเด็ก อย่างเช่น ช่วงเย็นเลิกเรียนแล้วไปซื้อขนม เด็กเขาเข้าแถวเองเลย อย่างนี้มันจะเกิดผลตามมามหาศาลเลย นอกจากวินัยแล้ว ความอดทนจะเกิดขึ้น และที่สำคัญคือการปกป้องสิทธิ์จะเกิดขึ้น อย่างเราดูเรื่องชาวนา เขาก็ยังไม่ค่อยรู้การปกป้องสิทธิ์ ผมก็คิดว่าจะทำยังไง อ้อ เราต้องมาสร้างตั้งแต่รุ่นเด็กๆ เลย นี่คือการปกป้องสิทธิ์ขั้นต้นๆ เพราะว่าถ้าใครมาแซงคิว เราก็จะไม่ให้แซง เวลาโตขึ้นมา ก็จะรู้การปกป้องสิทธิ์ในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

• พูดมาถึงตรงนี้ จะมีมหากาพย์โกงการศึกษา ตามมาอีกชุดหรือเปล่า
(ยิ้ม) เราคงไม่ได้ไปไกลขนาดนั้นครับ มันเป็นเพียงแนวคิดเชิงสร้างสรรค์มากกว่า แนวคิดที่เราอยากจะเปลี่ยน ผมกล้าใช้คำว่าเปลี่ยนประเทศเลยนะ แม้แต่เรื่องภาษาอังกฤษ บังเอิญว่าผมได้ไปดูงานที่สิงคโปร์ เราก็ยอมรับว่าคนไทยเรียนภาษาอังกฤษเยอะมาก แต่ยังพูดไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ คนที่พูดได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกของคนที่มีโอกาส เช่น ได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ตั้งแต่เด็ก หรือพ่อแม่ส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก แล้วทำไมสิงคโปร์เขาเคลมว่าคนของเขาพูดได้สองภาษาทุกคน เราจึงไปดูงาน ก็ไปพบว่าเขาสอนภาษาที่สองตั้งแต่อนุบาล โดยใช้เจ้าของภาษาสอน สอนวันละสองชั่วโมง เราก็มานั่งคิดว่าถ้าเราต้องปฏิรูปการสอนภาษาในบ้านเราบ้าง รัฐต้องลงทุนตรงนี้ เพราะเราเสียโอกาสมาเยอะพอแล้ว เราแพ้สิงคโปร์ เพราะเราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ถ้าคนไทยพูดภาษาอังกฤษได้ ผมว่าเซ็นเตอร์ใหญ่ๆ ของโลกในย่านนี้ก็ต้องมาอยู่ที่เมืองไทย

ในความคิดของผม จะใช้ครูอินเตอร์หรือครูไทยก็ได้ แต่ภาษาต้องดีพอที่จะสามารถพูดอังกฤษกับเด็กได้ทั้งวัน เด็กอนุบาลควรจะได้เรียนภาษาอังกฤษกับคนที่มีทักษะหรือมีความชำนาญเรื่องภาษาวันละสองชั่วโมง ยิ่งได้แบบเนทีฟ สปีกเกอร์ หรือเป็นเจ้าของภาษาเลยยิ่งดี ซึ่งรัฐก็ต้องยอมลงทุนนะ เพราะผมเชื่อว่าผลลัพธ์ออกมาจะดีแน่นอน ตอนนี้ยังทำไม่ได้ ผมก็เริ่มจากการคุยในพรรคว่าเอารายได้จากการขายหนังสือเล่มนี้ไปลงทุนก่อน ที่บ้านต่างจังหวัด แล้วต้องเป็นโรงเรียนวัดด้วยนะ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กด้อยโอกาส ถ้าคุณให้โอกาสเขา เขาทำได้

• ปีหน้า เออีซีจะมาแล้ว คุณหมอประเมินไว้อย่างไรบ้าง
เราสู้ประเทศอื่นเขาไม่ได้นะ เพราะเราไม่ได้เตรียมอะไรเลยนี่ ผมดูงบประมาณที่ตั้งขึ้นมา ก็มีแต่ว่าไปศึกษาดูงานเออีซีของส่วนราชการ แต่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมของประชาชนเลย

• สุดท้ายดูเหมือนว่าสองสิ่งที่คุณหมอทำมาจะเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากการศึกษาดี เราคงไม่ต้องมานั่งเขียนมหากาพย์การโกงอะไรแบบนี้
ผมว่ามันถูกเชื่อมโยงโดยบังเอิญนะ คือเรามาตกผลึกเรื่องพวกนี้ตอนที่เราไปคลุกคลีกับพี่น้องชาวนา มันเกิดคำถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมถูกหลอก ไม่ทันเค้า ผมก็จึงคิดว่ารัฐต้องลงทุนเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือต้องปฏิรูปประเทศใหม่เลย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เราไม่มองรุ่นเราแล้ว เพราะรุ่นเราอายุมากแล้ว ถ้ารัฐที่ดี มีการปูพื้นเรื่องการศึกษาดีๆ คนรุ่นนี้โตขึ้นมา ถึงตอนนั้น ต่อให้ใครเข้ามาเป็นผู้นำหรือรัฐบาล กรอบในการเดินมันก็จะตรงกัน ผมว่าประเทศน่าจะเปลี่ยนไปเยอะ

• ทั้งหมดที่พูดมา ไม่ใช่การหว่านล้อมเพื่อหาเสียงใช่ไหมครับ?
ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าหาเสียง มันจะเป็นสิ่งที่ลอยลม จับต้องไม่ได้ ผมเรียกร้องรัฐบาล หรือแม้แต่ท่านประยุทธ์ ให้มาอ่านหนังสือเล่มนี้บทที่สิบเอ็ด ที่ผมเสนอไป

• เพราะอะไร ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ และเน้นว่าเป็นบทที่สิบเอ็ดด้วย
เราเสนอแนวคิดไปสองอย่าง คือหนึ่ง แนวทางระยะสั้น มีเงินให้กับชาวนา ให้เขาประคับประคองตัวเองไปได้ สอง ระยะยาว แทนที่จะให้ขายข้าวเปลือกทั้งหมด ก็ให้เขาเอามาสีเป็นข้าวสารแล้วแพ็กใส่ถุงอย่างที่บอกไป ชาวนาก็จะมีรายได้ ซึ่งเราก็บอกรัฐบาลชุดนี้แล้วนะ น่าจะทำได้เลย ไม่ต้องรอ ถ้าเราต้องการให้ชาวนายืนด้วยตัวเองได้

• แล้วสำหรับประชาชนทั่วไป จะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากหนังสือเล่มนี้
คงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด และเหนืออื่นใดคือป้องกันการบิดเบือนจากพวกอวิชชาทั้งหลายในภายภาคหน้า ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะอย่างเร็วๆ นี้ ก็เริ่มมีคนพูดอีกแล้วว่า จำนำข้าวดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ให้โหวตกันไปเลยว่าชาวนาชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ การทำทุจริตผิดกฏหมายกับการโหวตหาเสียงข้างมาก มันเป็นคนละเรื่องกัน คืออย่างนี้ ถ้าคุณทำอะไรผิดแล้วแบ่งกัน ไอ้พวกที่ได้ผลประโยชน์เขาก็ชอบ เขาก็โหวตให้คุณอีก การโหวตจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดความถูกต้อง แต่พวกนี้เขาอาจจะมั่นใจว่าเขาสามารถคอนโทรลฐานเสียงของเขาได้และเอาคะแนนเสียงเป็นตัวชี้วัดความถูกต้อง ซึ่งผมมองว่ามันไม่ใช่...

เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช
กำลังโหลดความคิดเห็น