xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

CSI : เกาะเต่า คดีปริศนาท้า คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองรายบนเกาะเต่า ดูท่าจะไม่จบเรื่องง่ายๆ ตราบใดที่คดีนี้ยังมีหลายเงื่อนงำที่ยังแก้ไม่จบ และประชาชนยังมีข้อสงสัยว่าจะเป็นการจับแพะ! แม้ตำรวจไทยจะออกมาบอกว่าสองแรงงานชาวพม่าคือผู้ร้ายตัวจริง แต่ยังมีเงื่อนงำหลายประการที่ทำให้คนสงสัยว่าอาจจะเป็นการจัดฉาก หรือเป็นการทำงานแบบ “สุกเอาเผากิน” ซึ่งอาจทำให้ผู้ร้ายตัวจริงลอยนวล

คดีนี้กลายเป็นคดีดังสะท้านโลกขึ้นมา เมื่อมีผู้พบศพของนายเดวิด มิลเลอร์ และนางสาวฮันนาห์ วิเทอริดจ์ ชาวอังกฤษ ในตอนเช้ามืดของวันที่ 15 ก.ย. 2557 ที่บริเวณหาดทรายรี เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งสองศพถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด โดยคนร้ายใช้อาวุธฟันเข้าที่ศีรษะและใบหน้าของนายเดวิด ก่อนที่จะนำศพไปทิ้งลงทะเล ส่วนศพของนางสาวฮันนาห์ มีร่องรอยถูกข่มขืนที่ช่องคลอดและทวารหนัก โดยพบอสุจิบุคคลอื่น 1 คนในช่องคลอด พบอสุจิและดีเอ็นเอของบุคคลอื่น 2 คน ในทวารหนัก สรุปสาเหตุการเสียชีวิตของทั้งคู่มาจากการใช้อาวุธที่ศีรษะและใบหน้า จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

พฤติกรรมที่ฆ่าเหยื่อแบบเหี้ยมโหดเช่นนี้ ทำให้ไม่ว่าใครก็ต่างตกตะลึงและเศร้าสลดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอังกฤษที่ต่างประโคมรายงานข่าวนี้อย่างครึกโครม เนื่องจากผู้เสียชีวิตทั้งคู่เป็นชาวอังกฤษ นักท่องเที่ยวที่หวังว่าจะมาใช้ชีวิตบนเกาะหาดสวรรค์แห่งนี้ แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นสุสานของชีวิต!

ล่าสุดแม้ตำรวจจะออกมาสรุปคดีว่าเกิดจากคนร้ายชาวพม่าสองราย คือ นายวิน ซอทูน อายุ 21 ปี และนายซอลิน อายุ 21 ปี แต่ก็ยังสร้างข้อสงสัยให้แก่ประชาชนและสายตาชาวโลกว่า คนร้ายที่จับได้อาจเป็น “แพะรับบาป” เพราะมีเงื่อนงำหลายประการที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม แอ่นอกป้องตำรวจสุดลิ่ม

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้เสียงส่วนใหญ่จะตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของตำรวจไทย แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแสดงท่าทีเชื่อมั่นต่อตำรวจไทย โดยพลเอกประยุทธ์ได้เคยออกมาปรามว่าอย่าเต้นตามสื่อต่างประเทศ แนะนำให้เกียรติตำรวจและรับไม่ได้ถ้าจะมีการดูถูกตำรวจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ของเรามีฝีมือหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ได้ตอบกลับด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า “ไม่มีมั้ง” ก่อนจะบอกว่าตำรวจทั้งประเทศมี 8 แสนกว่านาย ท่านบอกว่าตำรวจไม่ได้เรื่อง ตนถามว่าเขาจะมีกำลังใจทำงานหรือไม่ แล้วคดีอื่นๆ อีกเท่าไหร่ เฉพาะคดีนี้คดีเดียวตำรวจเสียหายทั้งกรมเลยหรือไม่ มันก็ไม่ใช่ ฉะนั้นพูดอะไรกันต้องระมัดระวังหน่อยให้เกียรติคนที่เขาทำงาน คนทำงานดีก็มีคนไม่ดีก็มีตนไม่ได้ปกป้องคนไม่ดี ถ้าเราไปทำให้องค์กรเสียหาย ต่อไปเขาจะทำงานหรือไม่ เรากำลังจะพัฒนาจะปฏิรูปตำรวจก็บอกว่าไม่สำเร็จอีก ก็มันดูถูกกันตั้งแต่วันแรก คนไทยด้วยกันดูถูกคนไทยด้วยกันแล้วมันจะทำอะไรสำเร็จ ตนขอถามหน่อย

คำตอบของพลเอกประยุทธ์ก็คงสะท้อนให้เห็นแล้วว่ามีความเชื่อมั่นต่อตำรวจไทยอย่างยิ่ง ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีท่าทีเชื่อมั่นในตำรวจไทยเช่นกัน โดยระบุว่าตำรวจดำเนินการตามข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งทาง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานผลให้ทราบทุกขั้นตอน ขอให้มั่นใจการทำหน้าที่ของตำรวจว่าจะไม่มีการจับแพะแน่นอน และเชื่อว่าประชาชนจะไม่สับสน

ต่างชาติไม่เชื่อมั่น

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ แต่ท่าทีของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลพม่า สื่อนอก และประชาชนต่างกลับเห็นต่างออกไปอย่างชัดเจน

เช่น โจ แจ็คสัน (Joe Jackson) อดีตตำรวจระดับสูงของสกอตแลนด์ชื่อดังที่ผ่านการทำคดีด้านฆาตกรรมมาอย่างโชกโชนให้สัมภาษณ์ถึงคดีสังหารนักท่องเที่ยวอังกฤษ 2 คนบนเกาะเต่าว่า “แนวทางที่ตำรวจไทยในการสืบสวนนั้นเกินความคาดหมาย มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเกือบทุกจุดในแนวทางการวิเคราะห์” สร้างความขายขี้หน้าให้แก่ตำรวจไทยในสายตาประชาคมโลกเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนท่าทีของสื่อพม่าก็มีการตีข่าวว่า ทางการพม่ายังข้องใจกรณี 2 หนุ่มพม่าฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า ด้านแรงงานบางส่วนก็ไม่เชื่อว่าเพื่อนร่วมชาติจะเป็นฆาตกร ทำให้รัฐบาลพม่าจับตาการสืบสวนคดีของตำรวจไทยว่าแรงงานพม่าที่ตำรวจจับกุมมานั้นแท้จริงแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ โดยมีการเตรียมหารือประเด็นนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังมีการขอพบกับสองผู้ต้องสงสัย เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง

ในขณะที่ท่าทีจากรัฐบาลอังกฤษ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษออกมาระบุว่าหวังว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะจัดการกับคดีนี้อย่างละเอียดรอบคอบ โปร่งใสและยุติธรรม

คดีนี้ตำรวจอ้างว่าผลตรวจตัวอย่างดีเอ็นเอจากศพของนางสาวฮันนาห์ พิสูจน์ว่าชายพม่าทั้ง 2 คนเป็นคนลงมือฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ แต่หนังสือพิมพ์เทเลกราฟกลับอ้างรายงานของหนังสือพิมพ์ข่าวสดที่ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องไม่ปกตินักที่ผลตรวจดีเอ็นเอจะพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องสงสัยได้ภายในเวลาแค่ 24 ชั่วโมงหลังการจับกุม เนื่องจากปกติแล้วขั้นตอนการตรวจลักษณะนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง

นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์เทเลกราฟยังตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อวันจันทร์(6ต.ค.) มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้กล่าวสนับสนุนการสืบสวนของตำรวจไทยแต่อย่างไร ทั้งยังรายงานว่ามีประชาชนมากกว่า 229,000 คนเข้าร่วมกลุ่มสนทนาหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆต่อแนวทางการสืบสวนคดีเกาะเต่าของตำรวจ และมีประชาชนอีกมากกว่า 39,000 คนร่วมลงนามทางออนไลน์เรียกร้องรัฐบาลอังกฤษลงมือสืบสวนด้วยตนเอง เรื่องนี้จึงอาจสะท้อนให้เห็นว่าต่างชาติ “ไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของตำรวจไทย” จนประชาชนอังกฤษถึงกับต้องกดดันให้รัฐบาลอังกฤษต้องมาสืบสวนคดีนี้อย่างใกล้ชิด

ปรากฏการณ์ CSI LA จับพิรุธดังกระหึ่มโลกโซเชียลฯ

ส่วนสังคมออนไลน์ ในเพจเฟซบุ๊ก “ CSI LA” ก็กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา มีการแชร์ข้อความของเพจนี้มากมายในโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุว่าคนร้ายอาจเป็นแพะไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริง พร้อมระบุรายละเอียดว่าพยานหลักฐานที่ออกมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ตรงความเป็นจริง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ทั้งนี้แอดมินเพจชื่อดังนี้ได้วิเคราะห์ว่า

“กลุ่มคนที่ข่มขืนฮันนาห์ทำงานกันเป็นทีม ผมคิดว่ากลุ่มผู้ชายที่เล่นกีตาร์ น่าจะเป็นทั้งคนชี้เป้าเเละส่งสัญญาณให้บุคคลที่ทำการข่มขืนให้รู้ว่ามีคนเดินผ่านมาแล้วจะเห็นหรือเปล่า เเละอาจจะทำให้คนไม่ได้ยินเสียงเหยื่อร้องด้วย นายฌอนน่าจะเป็นหนึ่งในนั้น ผมเชื่อว่าฮันนาห์โดนมอมยามาก่อนเเล้วถึงไม่ได้มีการขัดขืน พวกเขาไม่ได้คิดที่จะฆ่าเธอ เเต่เดวิดเข้ามาเห็น จึงมีการต่อสู้กันเเละถูกฆ่าตายในที่สุด คุณคิดว่าอย่างไร?”

ทั้งยังตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่มีการตรวจสอบว่าฮันนาห์โดนมอมยาหรือเปล่าจากเจ้าหน้าที่ ก่อนจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ศพเดวิดไม่มีเสื้อผ้าว่า

“ผมว่าคนร้ายที่ทำให้เดวิดตายหรือคนที่มาช่วยน่าจะมีความรู้ทางด้านนิติเวช เพราะการถอดเสื้อผ้าเดวิด เเล้วเอาเขาไปทิ้งในน้ำทะเลทำให้ไม่สามารถตรวจดีเอ็นเอของคนร้ายได้”

“..วิเคราะห์สาเหตุการตายของเดวิด เดวิดเห็นฮันนาห์ถูกรุมโทรมเลยเข้าไปช่วย เพราะเขาคิดว่าเขาสูงใหญ่กว่านักข่มขืน เดวิดสูง 190 ซม. คนร้ายจึงใช้วิธีหมาหมู่กับเดวิด โดยที่หนึ่งในคนร้ายใช้มีดชกซึ่งอาจเป็นมีดที่มีด้ามจับพิเศษ ตัวมีดไม่ยาว มีด้ามรูปตัว T วิธีใช้ คือ "กำด้ามไว้" เหมือนกำหมัด “อาจจะไม่ได้หวังฆ่าเดวิด เเต่บังเอิญต่อยพลาดไปโดนเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นจุดทำให้เสียเลือด จนถึงแก่ความตายได้ นั่นคือ หลอดเลือดแดง บริเวณขมับ..

“..สาเหตุที่กางเกงเดวิดไม่มีคราบเลือด เป็นเพราะว่าเขาโดนต่อยส่วนมากที่หัว เเละถูกน็อกลงกับพื้นครับ คนร้ายต้องเป็นคนสูงอย่างน้อย 178 ได้ ถึงจะต่อยหัวคนที่สูง 190 ซม.อย่างเดวิดได้ อาจจะเป็นพวกนักเลงคุมบาร์ที่เข้ามาช่วยกลุ่มข่มขืน..

“...จากการสังเกตภาพของเดวิด ผมสันนิษฐานว่าคนร้ายที่ทำร้ายเดวิด น่าจะใช้มีดชก (Mini Pal Push Knife) ไม่ใช่จอบ คนร้ายน่าจะถนัดมือซ้าย เพราะบาดเเผลอยู่ทางด้านขวาของเดวิดทั้งหมด คนร้ายอาจจะมีความชำนาญในการใช้อาวุธตัวนี้ด้วย เดวิดอาจจะหมดสติจากการเสียเลือดเพราะพิษบาดเเผล เเต่คนร้ายนำร่างของเขาไปกดน้ำให้เขาหมดอากาศหายใจ..”

นี่เป็นหนึ่งในความคิดเห็นของแอดมินจากเพจ CSI LA ที่ทำให้กระแสสังคมสนใจข้อสันนิษฐานนี้เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อมีเสียงกังขาในคดีนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมายืนยันว่าตำรวจจับกุมคนร้ายตัวจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการจับแพะ

ในขณะที่พล.ต.อ.สมยศ ออกมาระบุว่าทันทีที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยหลายระดับ โดยเริ่มตั้งแต่บุคคลที่อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุในระยะ 100 เมตร และมีการขยายวงออกไปเรื่อยๆ สำหรับเบาะแสที่นำไปสู่การจับกุมตัวคนร้ายที่ได้มาจากการสอบปากคำนายเมา แรงงานชาวพม่า ที่ให้การรับสารภาพว่า ได้ไปเล่นกีตาร์ และดื่มสุรากับเพื่อนชาวพม่าในที่เกิดเหตุจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้ได้ตั้งแต่วันแรก แต่เนื่องจากมีตัวอย่างดีเอ็นเอมากถึง 200 คน จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปด้วยความล่าช้า ส่วนการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่รอบเกาะ ตำรวจต้องใช้เวลาดูกล้องวงจรในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ รวม 12 ชั่วโมง โดยมีกล้องวงจรปิดไม่ต่ำกว่า 300 ตัว ทำให้กระบวนการตรวจสอบต้องใช้ความรอบคอบ และแม่นยำ

เรียกว่าแม้จะมีผลงานจับคนร้ายได้แล้ว งานนี้ แต่ประชาชนยังตั้งข้อสงสัยต่อวิธีการทำงานของตำรวจกันครึกโครม ทำให้พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร ถึงกับต้องมานั่งแถลงข่าวชี้แจงประเด็นข้อสงสัยทีละข้อต่อประชาชน

ส่วน พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ อดีต ผบก.จว.สุราษฎร์ธานี ยังออกมาช่วยยืนยันอีกแรงว่าคนร้ายไม่ใช่แพะรับบาปแน่นอน โดยกล่าวว่าในวันเกิดเหตุตนในฐานะผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีในขณะนั้น ได้เดินลงพื้นที่เกิดเหตุตรวจสอบที่เกิดเหตุและทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตทั้งคู่ ก่อนที่จะมอบให้ญาตินำกลับไปโดยมีการลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ซึ่งก็คือทรัพย์สินของ น.ส.ฮันนาห์ ประกอบด้วย ไอแพดยี่ห้อแอปเปิล สีชา 1 เครื่อง ไอโฟน 5 สีดำ 1 เครื่อง และทรัพย์สินอย่างอื่นอีกหลายรายการ ในส่วนของนายเดวิด มิลเลอร์ ประกอบด้วย กีตาร์ 1 ตัว กระเป๋าเดินทางส่วนใหญ่ เป็นเสื้อ กระเป๋าใส่สตางค์ และเงินสดจำนวนหนึ่ง ส่วนโทรศัพท์ไอโฟนที่ใช้ซิมของโลด้าโฟนประเทศอังกฤษ และแว่นตากันแดดของเดวิด ได้หายไปด้วย จากการตรวจสอบได้รับการยืนยันจากประเทศอังกฤษว่าโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวเป็นของนายเดวิดจริง

ขณะเดียวกันหลังผู้ต้องหาถูกจับได้ให้การรับสารภาพว่าได้หยิบเอาของทั้งสองสิ่งไปด้วย และทางเจ้าหน้าที่ได้ติดตามยึดกลับมาได้ทั้งหมดตามคำรับสารภาพ ประกอบกับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าไม่ได้จับแพะอย่างเด็ดขาด

“เจ๊ปอง” ดรามาออกทะเล ลากโยง “ศึกสีเสื้อ”

มาถึงวันนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเห็นแล้วว่าคดีบนเกาะเต่าไม่ใช่คดีเล็กๆ หากแต่ยังพันพันไปถึงเรื่องระดับชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีฆาตกรรมธรรมดาๆ หนำซ้ำตอนนี้ดูว่าเรื่องราวก็เริ่ม “ลงทะเล” ไปเรื่อยๆ เพราะจากคดีฆาตกรรม ก็ยังมีคนโยงให้เข้ากับเรื่องการเมืองจนได้

โดย น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก หรือ “เจ๊ปอง” ได้ออกมาเขียนเฟซบุ๊กถล่มแอดมินเพจ “CSI LA” ซึ่งโด่งดังมาจากการวิเคราะห์คดีเกาะเต่าได้อย่างน่าสนใจ จนกลายเป็นกระแสทอลก์ออฟเดอะทาวน์ว่าเป็น “ติ่งทักษิณ” เพราะแอดมินคนดังกล่าวเคยโพสต์ว่า กปปส. - เชียร์ บก.ลายจุด โดยซัดว่าไร้วิจารณญาณ ชื่นชมระบอบทักษิณ แสดงว่าสิ่งที่วิเคราะห์คดีเกาะเต่าก็ไร้ความน่าเชื่อถือ พร้อมยังท้าทำคดีโกงจำนำข้าวด้วย ทำให้แอดมินเพจ CSI LA ต้องออกมาตอบโต้ว่าตัวเอง “ไร้สี”

ขณะที่บรรดา “ติ่งเจ๊ปอง” ก็ออกมาดาหน้าถล่ม CSI LA กันยกใหญ่ กลายเป็นเรื่องสีไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วประเด็นเรื่อง “มีสี” หรือ “ไม่มีสี” อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เรื่องคนร้าย “เป็นแพะ” หรือ “ไม่เป็นแพะ” ต่างหากเล่า ที่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญมากกว่า

หมอพรทิพย์ฉะซ้ำตำรวจ

คดีนี้แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะออกมายืนยันว่าทำงานอย่างถูกต้องและโปร่งใส แต่ดูว่าจะสวนทางกับฝ่ายนิติเวชอย่างสิ้นเชิง เพราะพญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาฉะตำรวจว่าไม่มีการให้แพทย์นิติเวชร่วมเก็บพยานหลักฐานทันทีหลังเกิดเหตุ จึงอาจทำให้ได้ผลคลาดเคลื่อนได้

ทั้งนี้คุณหมอพรทิพย์ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงคดีบนเกาะเต่าว่าพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องมีความรู้ แต่จุดอ่อนคือตำรวจไม่เข้าใจว่ากรณีนี้ต้องมีแพทย์นิติเวช เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน เลยไม่ได้ติดตามแพทย์นิติเวชจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ให้มาดำเนินการ ขณะเดียวกัน ผู้ที่เข้ามาในที่เกิดเหตุต้องรับข้อมูลจากแพทย์ก่อน โดยแพทย์จะหาสาเหตุการเสียชีวิต เพราะจุดเกิดเหตุอาจไม่ได้มีเพียงจุดเดียว โดยเฉพาะคดีนี้ไม่ได้มีการดำเนินการในทันที จึงอาจทำให้ได้ประเด็นต่างๆ ไม่ครบถ้วน

อีกทั้งแนวทางการสืบสวนสอบสวนของคดีนี้ยังคงใช้ระบบเดิม คือ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ อยู่ที่พนักงานสอบสวนเท่านั้น รวมทั้งพนักงานสอบสวนยังเป็นผู้รวบรวมการทำงานทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นเพราะพนักงานสอบสวนมองว่าเมื่อพยานหลักฐานมีเพียงพอก็สามารถสรุปสำนวนคดีได้ แต่คุณหมอพรทิพย์มองว่ากฎหมายยังต้องมีการแก้ไข โดยเฉพาะคดีลักษณะนี้ ที่ต้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำ หรือเข้าไปดูในส่วนใดที่ยังไม่มีความชัดเจน ก่อนสรุปสำนวนส่งฟ้อง

พญ.พรทิพย์ยังกล่าวอีกว่า ขั้นตอนที่หายไปคือการจำลองเหตุการณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนทางนิติวิทยาศาสตร์ การไม่มีขั้นตอนนี้จึงเป็นประเด็นข้อกังขาทางโซเชียลมีเดีย เพราะมีเพียงการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเท่านั้น นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอต้องเก็บให้ถูกวิธี ถูกขั้นตอน โดยการตรวจพิสูจน์สามารถทราบผลได้ใน 24 ชั่วโมง โดยคดีต่างๆ มักเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ 2 ส่วน ทั้งจากพยานหลักฐานและจากบุคคล นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากวัตถุพยานหลักฐานยังขึ้นอยู่กับสภาพความเสื่อม ความเสียหายที่ประกอบ เช่น อุณหภูมิ สารเคมี ระยะเวลา รังสี เชื้อโรค ฯลฯ นอกจากนี้ การตรวจดีเอ็นเอของ นายวรพันธ์ ตู้วิเชียร อดีตผู้ใหญ่บ้านเกาะเต่า ก็ไม่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของ นายวรท ตู้วิเชียร บุตรชายได้

ทั้งยังบอกว่า ภาพรวมคดีนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำคดีอาชญากรรม เพราะของเดิมไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนได้ โดยเฉพาะงานนิติวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องแยกออกจากอำนาจตำรวจ

เมื่อขั้นตอนการปฏิบัติงานของตำรวจสอบสวนไม่ถูกต้องในแนวทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์การทำงานของตำรวจไทยให้แย่ยิ่งขึ้น หนำซ้ำยังสร้างความกังขาให้แก่ประชาชนว่า ผู้ร้ายที่จับได้เป็นตัวจริงหรือเป็นแพะกันแน่?

ไม่นับรวมกรณีอื่นๆ อีกที่ประชาชนยังกังขาสงสัย เช่น คนร้ายมีกี่คน? จับคนร้ายได้ครบไหม? ดีเอ็นเอที่อยู่บนตัวผู้เคราะห์ร้ายเป็นของใครกันแน่? มาเฟียบนเกาะเต่าอยู่เบื้องหลังของคดีนี้หรือเปล่า? ลูกชายอดีตผู้ใหญ่บ้านมีส่วนพัวพันคดีไหม? ตำรวจไทยกำลังปกปิดผู้ร้ายตัวจริงหรือไม่? ภาพในวงจรปิดเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? ภาพในกล้องวงจรปิดที่หายไปคือภาพอะไร? ผู้ตายไปมีเรื่องกับผู้มีอิทธิพลบนท้องถิ่นจริงหรือเปล่า? นายฌอน เพื่อนผู้ตาย มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ฯลฯ คำถามเหล่านี้ยังคาใจประชาชน และกำลังรอพิสูจน์ความจริงอยู่


แล้วท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังร้อนแรง ในช่วงปลายสัปดาห์นี้เอง เจ้าหน้าที่จากสถานทูตพม่า อ่อง เมียว ตันท์ ทำหน้าที่ในฐานะทนายความผู้ต้องหา ยังได้แถลงถอนคำรับสารภาพของสองผู้ต้องสงสัยวัย 21 ปีชาวพม่าอย่างเป็นทางการ โดยอ่อง เมียว ตันท์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ 7Day ของพม่า โดยอ้างคำพูดของผู้ต้องสงสัยทั้งสองระบุว่า “พวกเขาบอกกับผมว่าในคืนนั้นอยู่ที่ชายหาด ทั้งดื่มและร้องเพลง พวกเขาบอกว่าไม่ได้ทำ และตำรวจไทยทำร้ายพวกเขาจนกระทั่งต้องยอมรับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำ พวกเขาร้องขอรัฐบาลพม่าเข้าตรวจสอบคดีนี้และค้นหาความจริง พวกเขาดูแล้วน่าเวทนามาก ร่างกายถลอกปอกเปิกไปหมด”

ข่าวนี้กลายเป็นกระแสครึกโครม ทั้งสื่อไทยและสื่อนอกพากันตีข่าวกันพรึ่บ เรียกว่าไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ แต่ก็ทำให้ตำรวจไทยเสียชื่อไปแล้วอย่างสิ้นเชิง...

ไม่เพียงแต่สื่อไทยตามเกาะคดีนี้ ทั้งสื่ออังกฤษและสื่อพม่าต่างก็จับจ้องคดีนี้เป็นพิเศษ เพราะชาติหนึ่งก็เสียพลเรือนของตัวเองไป อีกชาติหนึ่งก็ถูกกล่าวว่าพลเรือนตัวเองเป็นผู้ร้าย คดีนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการวัด “ศักดิ์ศรี” ของตำรวจไทยว่าจะทำงานโปร่งใส เอาจริงเอาจัง และจับคนร้าย “ตัวจริง” ได้หรือไม่

ฆาตกรรมปริศนาท้า คสช.

คดีนี้นอกจากจะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของตำรวจไทยแล้ว ยังถือเป็นเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” ของตำรวจและ “ความมั่นคง” ของประเทศไทยด้วย เพราะตราบใดที่คดีนี้ยังสะสางข้อสงสัยต่างๆ ไม่ได้ ความน่าเชื่อถือของตำรวจก็จะยิ่งน้อยลง ประเทศไทยจะถูกมองว่า “ไร้น้ำยา” กลายเป็นส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดีไม่ดีอาจจะถูกต่างชาติโจมตีว่าขนาดคดีเล็กๆ ยังแก้ไม่ได้ แล้วเรื่องใหญ่ๆ กว่านี้ล่ะจะทำได้หรือเปล่า?

คดีบนเกาะเต่าจึงสะท้อนให้เห็นการทำงานของรัฐบาลไทย กล่าวคือ หากตำรวจไทยทำงาน “ไม่เข้าเป้า” ทำงานโดยขาดความน่าเชี่อถือ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือ คสช.ไปโดยปริยาย เพราะการทำงานของตำรวจก็ถือเป็นผลงานของรัฐบาลไทย เมื่อไหรที่ตำรวจมีชื่อเสียงเหม็นเน่า เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะเสียชื่อไปด้วยว่า “ไม่มีน้ำยา” และ“คุมตำรวจไม่อยู่”

นี่เองจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ออกมาสนับสนุนตำรวจและมีท่าทีเชื่อมั่นในตำรวจเสมอมา เพราะตอนนี้ศักดิ์ศรีตำรวจไทยก็เท่ากับศักดิ์ศรีของ คสช. แต่พล.อ.ประยุทธ์อาจลืมไปว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การ “สร้างภาพ” หากคือการสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้แก่ประชาชนและนานาชาติต่างหากที่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของไทยและพม่า ที่นับว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะกลายเป็นว่าพม่ามองว่าตำรวจไทยจับให้พลเรือนของเขาเป็นแพะรับบาป

เรื่องจึงกลายเป็น “การบ้าน” ของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้รัฐบาลพม่าพอใจกับการคลี่คลายคดีบนเกาะเต่า

ดังนั้นการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะได้มีการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฉบับ ณ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นนโยบายการเชื่อมความสัมพันธ์ในรูปแบบเมืองพี่เมืองน้องนั้น เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องมีเรื่องการจับกุม 2 ชาวพม่าในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษรวมอยู่ด้วย

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ศักดิ์ศรีของตำรวจไทย และศักดิ์ศรีของประเทศชาติจะสามารถกอบกู้คืนมาได้หรือไม่ งานนี้ต้องรอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้พิสูจน์! ....เพราะคดีนี้สั่นสะเทือนไปถึงความมั่นคงของ คสช. และเชื่อว่าจะไม่จบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น