หัวหน้าทีมสืบสวนคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษ เผย “ประยุทธ์” สั่งทำเอกสารภาษาอังกฤษไว้เตรียมแจงข้อสงสัย ไม่พูดเรื่องตบรางวัล ขณะที่ รมว.กต.ยันคดีจบลงด้วยดี จ่อจัดเกาะเต่าโมเดลเพิ่มตำรวจชุมชน ไฟส่องสว่าง จวกสื่อนอกไม่ให้เกียรติ ด้านปลัด กต.ระบุนายกฯ พร้อมแจงหากถูกซักตอนเยือนพม่า คาดคุย “เต็งเส่ง” เน้นเรื่องทวาย พบภาคเอกชน แย้มประชุมอาเซมมีผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เตรียมพบ ส่วนสวิสรอคอนเฟิร์ม
วันนี้ (7 ต.ค.) ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี ในช่วงบ่าย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รรท.รอง ผบช.น. หัวหน้าคณะสืบสวนสอบสวนคดีฆาตรกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เดินทางเข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมในการเดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการเน้นย้ำให้มีการจัดทำเอกสารเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมไว้เป็นข้อมูล หากมีการสอบถามหรือเกิดกรณีข้อสงสัยในคดีดังกล่าวจะได้มีความพร้อมในการชี้แจง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับด้วยว่าหากมีการสอบถาม ในการชี้แจงจะต้องอธิบายถึงคดีที่เกิดขึ้นในภาพรวมของผู้ต้องหา โดยจะต้องไม่ระบุว่าเป็นชาวพม่า แต่ให้ใช้ว่าเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาก่อเหตุ
พล.ต.ต.สุวัฒน์กล่าวว่า ตนมารายงานความคืบหน้าของคดีที่เกาะเต่า และมีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดทำเอกสารของคดีทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมไว้ให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงหากมีการสอบถามจากรัฐบาลพม่าทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจในการทำงาน แต่ยังไม่มีการพูดถึงรางวัลให้กับผู้ปฏิบัติงานในคดีดังกล่าว เพราะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การจับกุมผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าว่า จริงๆ มันไม่มีปัญหาอะไร เพราะ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ลงไปดูตั้งแต่ต้น และในช่วงบ่ายวันนี้ (7 ต.ค.) ได้แถลงและเชิญทูตอังกฤษมารับฟังด้วย โดยยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งผู้ต้องหาคือชาวต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ส่วนเรื่องผลกระทบกับเพื่อนบ้านยังไม่มีผลกระทบอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และกฎกติกา
เมื่อถามว่า สังคมมองว่าการทำงานของตำรวจ ทัศนคติเป็นไปทางด้านลบ มีการยืนยันไหมว่าคดีไม่มีการจับแพะ ยืนยันได้หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับ ผบ.ตร. ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอน ตรงนี้มีการติดตามงาน เพราะคดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญ แล้วเราก็จับได้ คดีจบลงด้วยดี เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ต้องถูกดำเนินคดี ในด้านมาตรฐานการที่จะทำให้มีความปลอดภัย ซึ่ง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้แนวทางการปฏิบัติแต่ละจุด ต่อไปก็จะทำเกาะเต่าโมเดล ก็จะมีตำรวจ ตำรวจชุมชน เพิ่มไฟสว่าง ซึ่งน่าจะออกคำสั่งไปแล้ว
ถามต่อว่า อังกฤษยังติดใจเรื่องคดีหรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ ก็ต้องให้ทางสื่อช่วยด้วย เวลาเกิดเหตุแล้วทางเราพลาด มันออกชัดเจนเกินไป เวลาเกิดเหตุแล้วออกรายงานละเอียดเป็นชิ้นเป็นอันมากเกินไปมันก็จะกลายเป็นการไม่ให้เกียรติ ซึ่งทางเราก็ได้มีการทำความเข้าใจ จริงๆ ถ้าสงสัยเรื่องคดีก็ไปถามกับทางตำรวจได้
ขณะที่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการเดินทางไปเยือนพม่าของนายกรัฐมนตรี ระหว่าวันที่ 9-10 ต.ค. นอกจากจะมีการหารือร่วมกันของสองประเทศแล้วหากมีการสอบถามถึงคดีเกาะเต่า ที่ผู้ต้องหาเป็นชาวพม่านั้น ทางฝ่ายรัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะชี้แจงในทุกกรณี เราสามารถอธิบายได้ทั้งหมดถึงความเป็นมาต่างๆ รวมทั้งกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดำเนินการอย่างเต็มที่จากข้อมูลและพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และเบื้องต้นทางสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ ได้มีการติดต่อมายังกระทรวงการต่างประเทศแล้ว เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกระบวนการการดำเนินคดี รวมถึงการช่วยเหลือเบื้องต้น ต่อผู้ต้องหา ซึ่งถือเป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้นทางกงศุล หากมีกรณีคนถูกจับในต่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ได้มีการตั้งข้อสังเกตใดๆ เกี่ยวกับการทำคดีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สำหรับกำหนดการเดินทางนายกรัฐมนตรี จะเดินทางออกจาก กทม.ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 ในเวลา 14.15 น. เมื่อเดินทางถึงจะมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ตามด้วยการหารือกลุ่มเล็กกับพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และการหารือเต็มคณะของสองรัฐบาล ก่อนที่จะมีงานเลี้ยงต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยการหารือจะเป็นประเด็นในภาพรวมทั้งเรื่องการคมนาคม การเชื่อมโยงต่างๆ เรื่องชายแดนรวมทั้งเขตเศรษฐกิจทวาย ส่วนในวันที่ 10 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปกรุงย่างกุ้ง เพื่อพบกับภาคเอกชนของไทย โดยจะมีการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ว่าต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนในด้านใดบ้าง และคงอยากรับทราบผลการหารือระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาร์
นายสีหศักดิ์เปิดเผยด้วยว่า ในส่วนการเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียยุโรป (อาเซม) ระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค.ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ขณะนี้ในส่วนของผู้นำประเทศที่จะพบปะกับนายกรัฐมนตรีไทยมีความชัดเจนแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนประเทศในแถบยุโรปนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการดูช่วงเวลาที่ตรงกัน ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศแสดงความจำนงที่จะพบปะกับผู้นำประเทศไทย เช่น สวิตเซอร์แลนด์