สุราษฎร์ธานี - อัยการจังหวัดเกาะสมุย รับสำนวนคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษแล้ว เผยสำนวนครบพร้อมส่งฟ้องได้เลย ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าพบ 2 ผู้ต้องชาวพม่าในเรือนจำเกาะสมุย พร้อมให้ความเป็นธรรม เผยผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริง ขณะที่รัฐบาลพม่าส่งรองเอกอัครราชทูตลงพื้นที่เกาะเต่าเก็บข้อมูลทั้งจากตำรวจ และผู้ต้องหาสรุปเสนอรัฐบาลต่อไป ระบุพอใจการทำงานของตำรวจไทยระดับหนึ่ง พร้อมตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาด้วย
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (7 ต.ค.) นายไพบูลย์ อาชวานันทคุณ อัยการจังหวัดเกาะสมุย ได้มารับเอกสารสำนวนคดีจาก พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รอง ผบช.ภ.8 โดยได้นำสำนวนคดี 2 แรงงานพม่าฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี
นายไพบูลย์ อาชวานันทคุณ อัยการจังหวัดเกาะสมุย กล่าวว่า ภายหลังจากรับสำนวนคดีแล้ว ทางสำนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย ได้ทำการตรวจความถูกต้องแล้ว สำนวนมีความเรียบร้อย และครบถ้วนในส่วนพยานหลักฐาน นอกจากนี้ ยังมีแผ่นชาร์ตแสดงแผนผังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยรูปถ่ายของผู้ต้องหามาอธิบายถึงพฤติกรรมของคนร้ายในการก่อเหตุ สำหรับคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และต่างประเทศ สำหรับสำนวนนี้อัยการจังวัดเกาะสมุยจะได้นำส่งต่อไปยังศาลจังหวัดเกาะสมุย เพื่อทำการฟ้อง 2 ผู้ต้องหาชาวพม่าในคดีนี้ พร้อมกับขอสืบพยานแวดล้อมล่วงหน้า เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย พร้อมกับทำหนังสือแจ้งสิทธิไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิตผ่านสถานทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ให้ได้รับทราบ
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ อาชวานันทคุณ อัยการจังหวัดเกาะสมุย ยังได้กล่าวเตือนที่ผ่านมาว่า มีผู้ที่นำภาพของ น.ส.ฮานาห์ ที่นอนเสียชีวิตโพสต์ในเฟซบุ๊ก และทางไลน์นั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขอให้เลิกกระทำ เพราะนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ที่เสียชีวิตอีกด้วย
กรรมการสิทธิรุดพบผู้ต้องหา
วันเดียวกันนี้ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อนุกรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง พร้อมด้วย นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไซไซ ตัวแทนจากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และปรึกษากฎหมายฝ่ายต่างประเทศ ได้เข้าพบ นายไพบูลย์ อาชวานันทคุณ อัยการจังหวัดเกาะสมุย เพื่อติดตามสำนวนคดีนี้ ซึ่งอัยการจังหวัดเกาะสมุยได้ชี้แจงถึงขั้นตอนว่า เรื่องนี้เป็นเรืองสำคัญระดับประเทศ ทางอัยการสูงสุดได้ให้ความสำคัญ โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูสำนวนของการฟ้อง 2 แรงงานพม่าโดยเฉพาะ ซึ่ง น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า การเดินทางมาติดตามสำนวนในครั้งนี้เพื่อต้องการดูขั้นตอนการทำงานของตำรวจ และอัยการว่ามีความคืบหน้าแค่ไหน ซึ่งรู้สึกสบายใจที่เอกสารและหลักฐานที่อยู่ในสำนวนเป็นไปตามระเบียบในการฟ้องร้องในครั้งนี้
ในเวลาต่อมา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะที่เดินทางมาขอเข้าเยี่ยม นายเวพิว หรือวิน อายุ 21 ปี นายซอ ลิน หรือโซเรน อายุ 21ปี สัญชาติพม่า ชาวยะไข่ 2 ผู้ต้องหาที่ก่อเหตุฆ่าน.ส.ฮานาห์ และนายเดวิด บริเวณหาดทรายรี ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 มาฝากขังยังศาลจังหวัดเกาะสมุย และได้ส่งตัวต่อมายังเรือนจำอำเภอเกาะสมุยเป็นผู้ดูแล
ภายหลังจากที่ได้เข้าเยี่ยม 2 ผู้ต้องหาแล้ว นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีตัวแทนจากสถานทูตพม่าได้เข้ามาเยี่ยมผู้ต้องหาทั้ง 2 ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับ 2 ผู้ต้องหามีสีหน้าที่ปลงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้ง 2 คนได้ยอมรับว่าเป็นผู้ที่ได้ก่อเหตุจริง
ส่วนคำถามที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ขณะนี้อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดให้ละเอียดจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้แสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสังคม เพราะทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตกเป็นจำเลยของสังคมออนไลน์ไปแล้ว ส่วนบาดแผลของผู้เสียชีวิตที่มีข่าวว่ามีบาดแผลคล้ายมีดนั้นผู้ต้องหาทั้ง 2 กล่าวว่า ไม่ได้ใช้มีด ใช้เพียงสันของจอบตีเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนจะได้ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เพราะผู้ต้องหาทั้ง 2 ยอมรับว่าวันก่อเหตุได้ดื่มทั้งเบียร์ และไวน์ เป็นไปได้ว่าผู้ต้องหาอาจจะอยู่ในอาการมึนเมาจึงอาจจำเหตุการณ์ได้ไม่หมด
ซึ่งต้องเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย และจากการมาดูในพื้นที่เพื่อดูว่าผู้ต้องหาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดูแลคดีนี้หรือไม่ พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยามยามทำให้ครบถ้วนกระบวนการยุติธรรม แต่ผู้ต้องหาทั้ง 2 ไม่รู้มีทนายความมาพูดคุยด้วย ในเรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงในส่วนของทนายความที่จะเข้ามาดูแลคดีนี้ นอกจากนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 2 ติดใจในส่วนของล่ามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้นั้นเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 2 เป็นชาวยะไข่ และกลัวว่าจะไม่ได้รับควสมยุติธรรม คณะกรรมการจะได้นำเรื่องนี้แจ้งแก่ตำรวจเพื่อปรับเปลี่ยน และการลงมาในครั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้มาชี้ว่าใครเป็นฝ่ายผิด หรือถูก แต่มาเพื่อฟังความของทั้ง 2 ฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ต้องหา เพราะเป็นห่วงเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงได้ลงมาติดตามเรื่องนี้ด้วยตนเอง
รัฐบาลพม่าส่งรองทูตลงพื้นที่พบผู้ต้องหา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน นายตอง เอ รองเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางลงลงพื้นที่เกาะเต่า เพื่อตรวจาสอบจุดที่เกิดเหตุฆ่า 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษ ที่บริเวณหาดทรายรี โดยมี พ.ต.อ.ไพศาล สังข์เทพ ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำไปดูที่จุดเกิดเหตุ พร้อมทั้งอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจุดแรกไปที่ขอนไม้บนชายหาดที่พบก้นบุหรี่ จากนั้นได้ไปบริเวณจุดที่พบศพนักท่องเที่ยวทั้ง 2 รายที่บริเวณโขดหินซึ่งอยู่ห่างจากขอนไม้ประมาณ 30 เมตร ถัดมาเป็นจุดที่พบจอบเปื้อนเลือดใต้ต้นสน หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังรานเอซีทู ซึ่งเป็นร้านที่ 2 ผู้ต้องหาทำงาน และไปต่อที่ร้านเอซีบาร์ ร้านที่ผู้ตายได้เข้าไปนั่งดื่มก่อนที่จะเกิดเหตุ จากนั้นรองเอกอัครราชทูตได้พบปะผู้นำชุมชนที่บริเวณที่ทำการกำนันตำบลเกาะเต่า โดยได้พูดคุยกันประมาณ 20 นาที
โดยนายตอง เอ ได้พูดกับผู้นำชุมชน ว่า การลงมาดูพื้นที่ที่เกิดเหตุในวันนี้เพราะมีกระแสข่าวในโซเชีลยมีเดียเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ การลงมาพื้นที่วันนี้ ได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งก็พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับหนึ่ง การลงมาวันนี้ไม่ได้มาแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่มาขอข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อนำกลับไปสรุปข้อคิดเห็นที่ได้จากการพบปะกับผู้ต้องหาทั้ง 2 รายเมื่อวานนี้ และข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนี้ ไปประมวลทั้งหมด สรุปส่งไปยังรัฐบาลพม่าพิจารณาต่อไป ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เชื่อทั้งหมดว่าผู้ต้องหาจะทำความผิดจริงหรือไม่ ได้กระทำความผิดจริง ในเบื้องต้นได้ตั้งทนายความประจำสถานทูตพม่าเป็นทนายความชั่วคราวให้แก่ 2 ผู้ต้องหาแล้ว