ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การถกเถียงเกี่ยวกับทรัพยากรพลังงานในสังคมไทยมีมาหลายปีแล้วและได้ทวีความเข้มข้นในเชิงเนื้อหาและกลุ่มที่เข้าร่วมเวทีมากขึ้นในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าในท่ามกลางประเด็นที่หลากหลายแก่นของเรื่องหรือปมปัญหาหลักคือโครงสร้างอำนาจและความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรพลังงาน อันที่จริงประเด็นทั้งสองเป็นปมปัญหาของสังคมไทยไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องทรัพยากรพลังงานเท่านั้น หากแต่เป็นปมปัญหาอีกหลายเรื่องของสังคมไทย
ในอดีตผู้คนในสังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่าทรัพยากรพลังงานของเรามีน้อย ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ การตอกย้ำเช่นนี้ดำเนินการโดยรัฐต่อเนื่องหลายสิบปี จวบจนกระทั่งมีการขุดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และมีการชูธงว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล ผู้คนในสังคมไทยก็เริ่มรับรู้ว่าประเทศของเราก็มีทรัพยากรพลังงานเหมือนกัน
อย่างไรก็ตามสำหรับทรัพยากรพลังงานอีกประเภทหนึ่งซึ่งคือน้ำมัน เรายังคงถูกทำให้เชื่ออย่างงมงายว่า ประเทศไทยมีน้ำมันอยู่จำนวนน้อยมาก แถมคุณภาพน้ำมันไทยก็ไม่ดีอีก เราไม่สามารถกลั่นน้ำมันที่ขุดจากประเทศไทยได้ จึงต้องส่งออกไปกลั่นต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเชฟรอน อันเป็นเจ้าของสัมปทานน้ำมันหลายแหล่งในประเทศไทย
ผมไปเจอข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศไทยจากหลายแหล่ง เห็นแล้วฉงนเป็นอัน มาก และกลายเป็นปริศนาที่จะต้องแกะรอยและวิเคราะห์ดูว่ามีความเป็นไปได้อะไรที่ซ่อนเร้นอยู่บ้าง
ข้อมูลแหล่งแรกมาจากรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยในปี 2555 มีการผลิตน้ำมันดิบได้ภายในประเทศทั้งปีจำนวน 52.3 ล้านบาร์เรล หรือ 4.358 ล้านบาร์เรลต่อเดือน หรือประมาณ 145,277 บาร์เรลต่อวัน
แต่ข้อมูลจากหน่วยงานต่างประเทศอย่าง BP Statistical Review of World Energy ปี 2012 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกลับแตกต่างออกไป โดยรายงานว่าไทยผลิตน้ำมันดิบได้ 345,130 บาร์เรลต่อวัน
และเมื่อดูข้อมูลอีกหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อ U.S. Energy Information Administration (EIA) กลับรายงานอีกตัวเลขหนึ่ง โดยระบุว่าประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้ 238,600 บาร์เรลต่อวัน
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรายงานจากต่างประเทศทั้งสองแหล่งกับรายงานของกรมพลังงานเชื้อเพลิงจะเห็นว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ปรากฏอยู่ในรายงานของต่างประเทศสูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ปรากฏในรายงาน ของกรมพลังงานเชื้อเพลิง
โดยในรายงานของ BP ปริมาณน้ำมันดิบต่อวันที่ประเทศไทยได้สูงกว่ารายงานของกรมพลังงานเชื้อเพลิงถึงประมาณ 2.376 เท่า ส่วนรายงานของ U.S. EIA ก็สูงกว่ากรมพลังงานเชื้อเพลิงถึง 1.642 เท่า ส่วนของใครถูกของใครผิด ผมไม่อาจทราบได้
จากข้อมูลปี 2555 ที่ผมหยิบยกมาเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างให้ดูมีนัยอะไรบ้าง
กรณีแรก คิดอย่างบริสุทธิ์ใสซื่อว่า หน่วยงานทั้งสามคงจะใช้แหล่งข้อมูลขั้นต้นในการอ้างอิงต่างกัน หน่วยงานต่างประเทศอาจมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงมากหน่อย ส่วนกรมพลังงานเชื้อเพลิงอาจมีแหล่งอ้างอิงน้อยหน่อย ต่างก็บันทึกข้อมูลตามที่ตนเองสามารถเข้าถึงอย่างบริสุทธิ์ใจ เรียกได้ว่าเป็นความคลาดเคลื่อนจากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลไม่เท่ากัน หน่วยงานต่างประเทศอาจมีพลังอำนาจในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากหน่อย แต่กรมพลังงานเชื้อเพลิงไทยอาจเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้น้อยหน่อย
กรณีที่สอง บริษัทขุดเจาะน้ำมันปกปิดปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้จริงต่อกรมพลังงานเชื้อเพลิง โดยแจ้งต่อกรมพลังงานเชื้อเพลิงน้อยกว่าที่ผลิตได้จริง แต่พวกเขาไม่อาจปกปิดตัวเลขที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานของรัฐในประเทศของตนเองได้ จึงทำให้ตัวเลขที่ปรากฏในรายงานต่างกัน หากเป็นแบบกรณีที่สอง ก็แปลว่ากรมพลังงานเชื้อเพลิงไทยถูกหลอก และเราลองคิดในแง่ดีก่อนว่า ข้าราชระดับสูงของกรมนี้มีความซื่อสัตย์ ไม่มีนอกมีในอย่างใดกับปริมาณน้ำมันที่ขาดหายไป เพียงแต่ว่าอาจไม่ทันเกมของบริษัทขุดเจาะ น้ำมันข้ามชาติ
กรณีที่สาม สมคบปกปิดเพื่อฉ้อฉล สำหรับในกรณีนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทขุดเจาะน้ำมัน สมรู้ร่วมคิดกับข้าราชการกรมพลังงานเชื้อเพลิงบางคน บางกลุ่ม โดยอาจมีนักการเมืองหรือผู้ทรงอิทธิพลอื่นๆในสังคมให้การสนับสนุน ร่วมกันทำให้ปริมาณน้ำมันดิบขาดหายไปเพื่อให้กลุ่มตนเองได้รับ ผลประโยชน์
หากรายงานของต่างประเทศเป็นจริงก็ย่อมแสดงว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ประเทศไทยขุดเจาะได้ หายไป จากระบบรายงานข้อมูลที่เป็นทางการของประเทศไทย คำถามคือ น้ำมันดิบเหล่านี้หายไปไหน ใคร ได้รับประโยชน์จากปริมาณน้ำมันดิบที่หายไปบ้าง
นอกจากเรื่องปริมาณน้ำมันดิบที่ขาดหายไปแล้ว วาทกรรมอีกชุดหนึ่งที่กลุ่มผูกขาดอำนาจ ทรัพยากร พลังงานชอบใช้เพื่อสร้างมายาคติแก่คนในสังคมไทยคือ การอ้างว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันดิบ ได้น้อย และเป็นแหล่งที่มีการขุดเจาะยาก
ดังนั้นการอ้างว่ามีแหล่งน้ำมันดิบน้อยแฝงนัยทางการเมืองคือ เป็นการสร้างความชอบธรรมสำหรับการขายน้ำมันสำเร็จรูปราคาแพงแก่ประชาชน พวกเขาใช้ตรรกะว่าเมื่อประเทศไทยมีแหล่งพลังงานน้ำมัน น้อย แต่การใช้ในประเทศมีมาก จึงต้องซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศมาในราคาแพง เป็นเหตุให้ต้องขายใน ราคาแพง การอ้างเช่นนี้เป็นการพยายามลดภาพของการเอารัดเอาเปรียบประชาชนของบริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
อันที่จริงปัจจัยที่ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปแพงราคาแพงนั้น นอกจากเรื่องต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบแล้ว เรื่องต้นทุนการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ของบริษัท การให้เงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สูงลิ่ว รวมทั้งความต้องการกำไรสูงสุดเพื่อจ่ายแก่ผู้ถือหุ้น ล้วนแล้วมีผลทำให้น้ำมันราคาแพงทั้งสิ้น
สำหรับการอ้างว่าแหล่งน้ำมันของไทยกำหลังจะหมด เป็นวาทกรรมที่มุ่งหวังให้ผู้คนในสังคมเกิด ความตระหนกและมีความเข้าใจผิด เพราะที่จะหมดนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่แหล่งน้ำมันแต่เป็นอายุของ สัมปทาน ที่ให้แก่บริษัทต่างชาติต่างหาก
ส่วนการอ้างว่าแหล่งน้ำมันไทยเป็นแหล่งที่ขุดเจาะยาก บริษัทน้ำมันต้องลงทุนการสำรวจขุดเจาะในประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ กลุ่มอำนาจผูกขาดพลังงานไทยต้องการสื่อความหมายว่า ประเทศไทยยังต้องคงระบบสัมปทานเอาไว้และต้องคิดค่าสัมปทานในอัตราต่ำ รวมทั้งไม่ควรใช้ระบบแบ่งปัน ผลประโยชน์ที่ประเทศเกือบทั่วโลกใช้กัน โดยพวกเขาข่มขู่คนไทยว่า จะไม่มีบริษัทต่างชาติมาสำรวจขุดเจาะแหล่งน้ำมันในประเทศไทย หากใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์
วาทกรรมทั้งหลายที่กลุ่มผูกขาดพลังงานงานไทยสร้างขึ้นมาล้วนแล้วแต่เป็นวาทกรรมที่มีเป้าหมายเพี่อสนองความโลภและกำไรสูงสุด เพื่อให้บริษัทต่างชาติได้รับผลประโยชน์มากและพวกตนก็ได้รับเศษเนื้อเป็นส่วนแบ่ง และเพื่อปกปิดความฉ้อฉลและความไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร
การปฏิรูปพลังงานที่จะสร้างประโยชน์แก่ประชาชนจึงต้องเปิดเผยมายาคติจากวาทกรรมเหล่านี้ให้ได้ก่อน สำหรับการคิดปฏิรูปมุ่งไปในอนาคตโดยที่ยังตกอยู่ในม่านมายาและอคติ แทนที่จะช่วยแก้ปัญหากลับจะทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนและยากที่จะแก้ไขมากยิ่งขึ้น