xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฝันเก็บภาษีคนรวย ช่วยคนจนได้จริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัญญาณจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รัวกลองโหมโรงเรื่อง “การปฏิรูปภาษี”มาชูธงขับเคลื่อนหวังให้เป็นผลงานผูกโบว์เขียว ด้วยการผลักดันภาษีที่ว่ากันว่าไม่เคยเกิดได้ในภาวะปกติ จึงต้องอาศัยอำนาจพิเศษจากคณะรัฐประหาร ที่เข้ามาควบคุมอำนาจ

โดยมี 3 เรื่องที่อยู่ในความสนใจขณะนี้คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก และ การโอนภาษีช่วยคนจน

หลักคิดที่มีการหยิบยกเอาภาษีสามประเภทนี้มาตั้งต้นเป็นก้าวแรกในการปรับปรุงระบบภาษี คือ ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมีทั้งเก็บเพิ่มจากคนรวย และกระจายรายได้ไปให้คนจน

กระทรวงการคลัง ระบุถึงเหตุผลในการเสนอ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”ไว้ว่า จะช่วยสร้างความเป็นธรรม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และจะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับรัฐกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีจากเดิม คือ ภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งทำรายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท แต่ในระบบใหม่ จะทำให้มีรายได้มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือ มีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบภาษีราว 2 หมื่นล้านบาท

ส่วนภาษีมรดกที่จะมีการเรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 10 % ของมูลค่ามรดกนั้น จะเพิ่มรายได้ให้รัฐไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
 
ขณะที่มาตรการที่ตั้งชื่อไว้อย่างสวยหรูว่า “เงินโอน แก้จน คนขยัน”นั้น จะทำให้รัฐต้องใช้เงินไปแจกให้ประชาชนที่มีรายได้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี หักกลบลบหนี้กันแล้ว 3 นโยบายด้านภาษีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำให้รัฐมีรายได้ใหม่เข้าคลัง แต่อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า มีแต่ “เจ๊ากับเจ๊ง”

เพราะถ้าบวกตัวเลขรายได้ที่จะเพิ่มจากภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างกับภาษีมรดกแล้ว จะมีรายได้เพิ่มประมาณ 45,000 ล้านบาท แต่เงินเพิ่มในส่วนนี้ยังไม่เพียงพอต่อการนำกลับไปจ่ายให้ประชาชนที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ยื่นแบบต่อสรรพากรเพื่อเข้าสู่ระบบฐานภาษีมากขึ้นที่คาดการณ์ไว้ว่าอาจต้องใช้ถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท

จึงมีคำถามว่า ภาษีสามประเภทนี้คือ มาตรการช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ ซึ่งหากพิจารณาหลักคิดของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับ ภาษีมรดก ก็พออธิบายได้ว่า เป็นการเรียกเก็บจากคนรวย เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในภาครัฐ และกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินแทนที่จะปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า
 
แต่มาตรการ เงินโอน แก้จน คนขยัน นั้น มองยังไงก็ไม่เข้าหลักการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นนโยบายประชานิยม ที่ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพการผลิต และไม่มีหลักประกันว่า การโอนเงินดังกล่าวจะตรงตามกลุ่มเป้าหมาย คือให้คนขยันที่มีงานทำ เพราะขาดกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจนว่า จะแยกแยะอย่างไร หากคนที่ยื่นแบบภาษีเป็นคนขี้เกียจไม่ทำงาน แต่เข้าโครงการนี้เพื่อรับเงินฟรีปีละ 6 พันล้านบาท กินแรงหยาดเหงื่อเพื่อนร่วมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีคำถามด้วยว่าการชูหลักคิดดังกล่าวได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่ เพราะการคิดแต่ว่าจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นความคิดแบบมิติเดียว เนื่องจากมีอาชีพที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี เช่น ชาวนาซึ่งมีจำนวนประมาณ 3.5 ล้านรายทั่วประเทศ หากคนเหล่านี้จะเข้าร่วมในมาตรการนี้ จะกลายเป็นผู้มีสิทธิพิเศษที่จะมีแต่โอกาสรับจากรัฐบาลโดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐเลยใช่หรือไม่ (ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม)

เพราะกระทรวงการคลัง คาดหวังว่าเมื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้าสู่ระบบฐานภาษีได้แล้ว ในอนาคต รัฐมีโอกาสจัดเก็บรายได้มากขึ้นจากคนที่อยู่ในระบบซึ่งอาจมีรายได้มากขึ้นในอนาคต แต่สำหรับชาวนา ไม่ว่าเขาจะมีรายได้เท่าไหร่ก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นผลที่จะเกิดจากรายได้เพิ่มในคนกลุ่มนี้จึงติดลบ เนื่องจากมีแต่รัฐเท่านั้นที่ต้องจ่ายให้กับชาวนาที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์การเสียภาษี ส่วนชาวนาที่มีรายได้อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีก็ได้รับการยกเว้นในการเสียภาษีอยู่แล้ว

ในขณะที่ชาวนายังได้รับการดูแลจากรัฐมากกว่าอาชีพอื่นๆ ในการกำหนดนโยบายอุดหนุนซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแผนที่จะใช้เงินอุดหนุนชาวนาประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ชัดเจนว่า จะทำผ่านมาตรการใด และมีความพยายามที่จะอธิบายว่า มาตรการโอนเงินแก้จนคนขยัน กับการอุดหนุนชาวนา ไม่ใช่โครงการประชานิยม ซึ่งถือว่าเป็นตรรกกะที่ผิดเพี้ยนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการโอนเงินให้คนจน ที่ระบุว่าไม่ถือว่าเป็นประชานิยม เนื่องจากไม่ได้ใช้งบประมาณนั้น นับเป็นวิธีคิดแบบศรีธนญชัย ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรนำมาใช้ เนื่องจากในความเป็นจริงภาษีที่เก็บได้ จะต้องส่งเข้าคลังเพื่อจัดเป็นเงินงบประมาณ การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะหักเงินจากกรมสรรพากร มาแจกจ่ายให้ประชาชนก่อนส่งคลัง ไม่สามารถบิดเบือนได้ว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินแผ่นดิน เพราะถ้าไม่ต้องนำไปจ่ายในส่วนนี้ เราก็จะมีงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท 

วิธีคิดเช่นนี้จึงไม่แตกต่างจากแนวทางที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยพยายามจะทำแต่ไม่สำเร็จ คือ การออกกฎหมายเงินกู้สองล้านล้าน เพื่อใช้เงินนอกงบประมาณโดยไม่ส่งเข้าคลัง จึงอ้างว่า “เงินกู้”ไม่ใช่ “เงินแผ่นดิน”สุดท้ายไปไม่รอด เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า “เงินกู้” เป็นเงินแผนดิน และการนำเงินนอกระบบงบประมาณมาใช้ นอกจากจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังกระทบต่อกรอบวินัยการคลังอีกด้วย

ส่วนที่อ้างว่า การอุดหนุนชาวนาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะทำไม่ใช่ประชานิยม เพราะเป็นการนำเงินนอกงบประมาณจากสถาบันการเงินของรัฐมาใช้จ่ายนั้น ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วโครงการประกันรายได้ที่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ราวปีละ 6 หมื่นล้านบาทล่ะ ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงเรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยม ทั้งที่หลักคิดเดียวกัน คือ การช่วยเหลือเรื่องรายได้ให้เกษตรกรที่พิจารณาให้เฉพาะชาวนารายย่อยเท่านั้น ไม่ใช่การอุดหนุนเป็นการทั่วไปแบบเหมารวม ที่ชาวนารวยได้ประโยชน์ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องตั้งสติ เพื่อเป็นหลักให้สังคม ไม่ใช่ฉกฉวยจากสถานการณ์ที่คนเบื่อหน่ายนักการเมือง มาโยนบาปทั้งหมดให้กับนักการเมืองโดยไม่แยกแยะความแตกต่าง และอย่าปฏิเสธความจริงที่ว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการรัฐประหาร ก็ต้องการ “ความนิยม”จากประชาชนเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการออกนโยบายบังคับให้ กสทช. จ่ายเงินให้อาร์เอส กว่า 300 ล้านบาท แลกกับการเอาใจแฟนบอล ให้ได้ดูบอลโลก
 
ไม่เช่นนั้นคงไม่ออกคำสั่ง คสช. ห้ามทวงหนี้ชาวนา
 
ไม่เช่นนั้นคงไม่ออกนโยบายขึ้นเงินเดือนให้ข้าร้าชการชั้นผู้น้อย ซึ่งจะทำให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ ในขณะนี้นโยบายที่กำหนดมานั้นมีแต่รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยไม่มีมาตรการใดที่จะแสดงให้เห็นถึงการหารายได้เพิ่ม และในขณะที่ปากบอกว่า จะลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม แต่กลับคงนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30 เป็น 20 % ทำให้รัฐเสียรายได้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินที่หายไปกลับเข้ากระเป๋าคนรวย ทำให้คนรวยมีเงินเพิ่มขึ้นทันที 10 % ไม่ได้มีส่วนใดทอนคืนกลับมาสู่สังคม

ตรงกันข้ามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแผนที่จะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เป็น 8-10 % ในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ และยังมีนโยบายปรับราคาแก๊สหุงต้ม ขนส่ง เอ็นจีวี และ ดีเซล ที่จะส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย
 
จึงอยากเตือนบรรดากองเชียร์ที่ตะเบ็งเสียงชื่นชมว่า อย่ามองอะไรแค่ด้านเดียว แต่ต้องดูพฤติกรรมและนโยบายทั้งระบบจึงจะบอกได้ว่า ประเทศไทยมาถูกทางจริงหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น