xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สังคมอุดม “ปี๊บ” คลื่นใต้น้ำของ คสช.? แต่ต้องระวัง “โพเดียม” นะจ๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิโรจน์ อาลีที่หยิบ “ปี๊บ” มาใช้ในการต่อต้านการควบคุมการเสวนาทางวิชาการของ คสช.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ปี๊บ” ได้กลายเป็นภาชนะที่โด่งดังของสังคมไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากผลพวงของการที่ “ดร.สุกรี เจริญสุข” คณบดีวิทยาลัยดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลนำมาใส่หัวเพื่อเรียกร้องให้ “นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” ตัดสินใจเลิกควบ 2 เก้าอี้และให้เลือกทำงานในเก้าอี้ตัวใดตัวหนึ่งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล มีมติให้เลือกดำรงเพียงตำแหน่งเดียว

เพราะหลังจากนั้นมา “ปี๊บ” ก็ได้ถูกหยิบยืมมาใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านผู้มีอำนาจ และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง จนทำท่าว่าจะกลายเป็นของแสลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปเสียด้วย

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ไม่ใช่แค่ “ปี๊บ” เท่านั้น หากแต่ยังมีอีกวัตถุหนึ่งที่มาแรงไม่แพ้กันก็คือ “โพเดียม” ที่มาจากอารมณ์ขันซึ่งเกิดจากการหยอกล้อกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล จนกลายเป็นประโยคฮิตในโลกสังคมออนไลน์ว่า “เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดียมเลย”

นอกจากนี้ยังมีทำการ์ตูนล้อเลียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีด้วยประโยค “เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดียม” ออกมาให้ขำขันอีกต่างหาก


ที่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อคือมีการปรากฏกายของ “แฟนเพจ” ที่ใช้ชื่อว่า “เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดียม” ขึ้นในโลกออนไลน์ และมีผู้เข้ามากดไลค์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อตรวจสอบโดยละเอียดแล้วพบว่า มีคนหลงผิดเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะสุดท้ายกลายเป็นที่รวมพลของคนนิยมเสื้อแดงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ปี๊บ” มาก่อน

“โพเดียม” มาทีหลัง

“ปี๊บ” เป็นเรื่องซีเรียส

“โพเดียม” เป็นเรื่องขำขัน

แต่ “ปี๊บ” และ “โพเดียม” เป็นคนละเรื่องที่อาจเป็นเรื่องเดียวกันในภายภาคหน้า

ถ้าปี๊บกลายเป็นคลื่นใต้น้ำและขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ก็อาจจะต้องเจอกับโพเดียมจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นได้

กล่าวสำหรับปี๊บนั้น ถัดจากปี๊บของอาจารย์สุกรีที่มหาวิทยาลัยมหิดลก็ตามต่อด้วยปี๊บของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และปี๊บของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เริ่มจาก นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลุมปี๊บเป็นสัญลักษณ์เพื่อทวงถามจุดยืนจากนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับดูแลสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ หลังจากเสวนาห้องเรียนประชาธิปไตย บทที่ 2 ที่มธ. รังสิต โดนล้มไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมออกมาปกป้องให้อาจารย์มีสิทธิเสรีภาพในการให้ความรู้กับนักศึกษาตลอดจนเรียกร้องให้นายสมคิดเลือกดำรงตำแหน่งเพียงตำแหน่งเดียว ระหว่างอธิการบดีธรรมศาสตร์ หรือสนช.

ต่อมาศูนย์วิจัย และพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ประกาศจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “วันนี้คุณเอาปี๊บคลุมหัวแล้ว..หรือยัง???” ในวันที่ 24 กันยายน ก่อนที่ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่33 จะขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดงานเสวนาออกไป อย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์จะสงบ

ดังนั้น คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า “ปี๊บ” คือภาชนะที่เป็นสัญลักษณ์ของ “คลื่นใต้น้ำ” ที่ถูกนำมาใช้ในการต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความจริงต้องบอกว่า กระแสต่อต้านรัฐบาลมีมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ขณะนี้มีปี๊บมาเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2557 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร “ขอความร่วมมือ” และเชิญอาจารย์ นักศึกษา ที่จัดบรรยาย ‘ห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ’ ที่ห้องโถงชั้นล่าง อาคารบรรยายรวม 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เลิกกิจกรรมกลางคัน พร้อมเชิญตัวไปปรับทัศนคติตามระเบียบก่อนที่จะรับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาด้วยข้อตกลงร่วมกันว่าถ้าจะมีการจัดงานเสวนาวิชาการต้องส่งหัวข้อให้ทหารอนุมัติก่อน 

แน่นอน ไม่น่าแปลกใจอะไรกับความหวั่นวิตกของทหาร เพราะงานนี้มี 2 นักวิชาการสายเสื้อแดงเป็นตัวชูโรงคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       
  ภาพนายทหารใหญ่รวบนักวิชาการขาใหญ่ระดับ “บิ๊กเนม” เข้า สภ.คลองหลวง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในหมู่คณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทันควัน โดยคณาจารย์จำนวน 60 คน จาก 31 คณะ จาก 16 สถาบันทั่วประเทศได้แถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. หยุดการจำกัดเสรีภาพนักวิชาการและนักศึกษา
        
นางกนกรัตน์ สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการผู้ร่วมลงชื่อ กล่าวว่า การบังคับให้นักวิชาการต้องเซ็นเอกสารว่าจะยินยอมส่งหัวข้อการเสวนาทุกครั้งให้ทหารอนุมัติก่อนนั้น เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน งานวิชาการที่เนื้อหาถูกควบคุมนั้นไม่เรียกว่าเป็นงานวิชาการที่แท้จริง

“เราในฐานะนักวิชาการ ขอประณามการกระทำของทหารและตำรวจ ที่ใช้อำนาจคุกคามนักศึกษาและนักวิชาการถึงในพื้นที่มหาวิทยาลัย การกระทำดังกล่าวคุกคามสิทธิเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน และเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง ข้ออ้างที่ว่ากฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้น เป็นเพียงการประกาศว่าทหารและตำรวจมีอำนาจจะคุกคามได้ แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม” 

ขณะที่มีฟากฝั่งขาใหญ่บิ๊กทหารก็ออกมาปรามว่าเสรีภาพทางวิชาการมีได้แต่ขอให้ “อย่าล้ำเส้น” เสมือนประหนึ่งว่ารู้สึกมีความไม่มั่นคงในอำนาจหวาดระแวงว่าจะมีคลื่นใต้น้ำอยู่ตลอดเวลา 

“ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามทำให้ประเทศเดิน พยายามทำให้ประเทศนิ่ง แต่ทุกคนอ่านไม่ออกหรอกว่าคิดอย่างไร แต่ต้องอยู่ในระเบียบกฎหมาย ถ้าไม่อยู่ในกฎหมายก็ต้องพูดกัน เพราะขณะนี้เราต้องการความสงบ ความเรียบร้อย ความปรองดองของคนในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ 

ส่วนกรณี 60 นักวิชาการที่ลงชื่อในแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการระงับงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2557 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย ต้องเดินไปเช่นนั้น อย่าให้ล้ำเส้น อะไรทำ ตามกฎหมายได้ก็ทำ ส่วนการเรียกร้องให้เปิดพื้นที่แสดงความเห็นและจัดเสวนานั้น พล.อ.ประวิตร บอกว่า ให้ทำเรื่องไปที่ คสช. เพราะ คสช.จะเป็นผู้กำหนดว่าจะดำเนินการอย่างไร “ขอย้ำว่าทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย เพราะ คสช.ต้องการให้เกิดความสงบสุข และความปรองดอง แต่อะไรที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองคงไม่ได้” 

ไม่ใช่แต่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์เท่านั้นที่ออกมาปราม “อย่าล้ำเส้น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็ย้ำในทำนองเดียวกันว่า ถ้าจะจัดประชุมหรือสัมมนาให้ขอการอนุมัติเข้ามา เราจะพิจารณาดู “....ไม่ได้ทะเลาะกับใคร เขาเป็นถึงครู อาจารย์... ท่านบอกว่าพอห้ามอย่างนี้แล้วจะสอนเด็กนักเรียนอย่างไร มีเรื่องให้สอนตั้งเยอะใช่ไหม สอนเรื่องค่านิยม 12 ประการ สอนให้ทุกคนมีประชาธิปไตยที่ถูกต้องอย่างไร ไอ้นี่พูดตรงข้ามรัฐบาลหมดมันไม่ได้ หรือโจมตีคสช.มันใช่หรือไม่ กลุ่มที่ออกมาพูดทั้ง 60 คนก็รู้กันอยู่ ท่านเคลื่อนไหวทำนองนี้มาตลอดอยู่แล้ว" 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะกล่าวถึงตัวตนของ “ปี๊บ” ในสังคมไทย ก็ต้องบอกว่า มีเรื่องราวและความเป็นมาที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่าปี๊บเอาไว้ว่า “ภาชนะทำด้วยสังกะสีรูปสี่เหลี่ยมสำหรับบรรจุสิ่งของ”

นอกจากนี้ “ปี๊บ” ยังเป็นชื่อของ “น้ำตาล” ชนิดหนึ่ง ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีและนิยมใช้ในการประกอบอาหารคือ “น้ำตาลปี๊บ” เนื่องเพราะมีกลิ่นหอมและทำอาหารได้รสชาติ โดยเฉพาะ “น้ำพริก” และ “ขนม”

ขณะเดียวกันเรื่องของ “ปี๊บ” ยังไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของสมรรถภาพร่างกายของ “ผู้อาวุโส” ที่ต้องการโชว์ว่ายัง “ฟิตเปรี๊ยะ” ในเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น อายุ 70 ปีแล้ว ลุงยังเตะปี๊บดังอยู่นะ ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ในสังคมไทยมีการนำปี๊บมาใช้ในบริบทและความหมายในลักษณะของความอับอายอย่างแพร่หลาย เช่น นาย ก.ทำเรื่องอะไรที่น่าอับอาย ก็จะถูกไล่ให้ไปเอาปี๊บคลุมหัว เป็นต้น

สำหรับในปัจจุบัน นอกจากการใช้ปี๊บเป็นสื่อสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มนักวิชาการที่ต่อต้านการรัฐประหารแล้ว ก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่น่าอับอายและไม่เกินเลยไปนักที่จะมีคนไล่ให้ไปใช้ปี๊บคลุมหัว

กรณีฆาตกรรม 2 ฝรั่งชาวอังกฤษที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมะงุมมะงาหราก็ถือเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องใช้ปี๊บคลุมหัว เพราะใช้เวลาในการสืบสวนและสอบสวนนานมาก

หรือกรณีของช่อง 3 กับ กสทช.ก็ต้องเอาปี๊บคลุมหัวเช่นกัน เพราะฝ่ายหนึ่งก็หน้าไม่อายยึดถือแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจอยู่ในมือแต่ก็ไม่มีปัญญาที่จะจัดการให้เสร็จเรียบร้อย ปล่อยให้เรื่องคาราคาซังมาเนิ่นนาน

กรณีโคตรไมโครโฟนราคาแพงระยับในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ผู้รับผิดชอบต้องใช้ปี๊บคลุมหัว เพราะถูกจับได้ไล่ทันว่า ซื้อในราคาแพงเกินจริง

หรือโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานี รับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์” ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่เปิดให้บริการ แอร์พอร์ตลิ้งต้องประสบกับการขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ รถเสียซ้ำซาก เพราะไม่มีอะไหล่สำรอง ส่วนสภาพรางที่ไม่ได้รับการซ่อมบำรุง ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่สร้างความอับอายให้กับคนไทยในสายตาของชาวโลก

แม้แต่ในวงการกีฬาระดับโลกก็มีเรื่องปี๊บเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ของ 2 ยอดทีมแห่งประเทศอังกฤษคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล ที่ทำให้แฟนฟุตบอลชาวไทยของทั้ง 2 ทีมต่างจิกกัดกันยกใหญ่และลามปามไปเกี่ยวพันกับเรื่องปี๊บกับเขาด้วยเหมือนกัน ฯลฯ

เรียกว่า วันนี้ประเทศไทยตกอยู่ใน “สังคมอุดมปี๊บ” อย่างแท้จริง

กระนั้นก็ดี ไม่เพียงแค่ “ปี๊บ” เท่านั้นที่โด่งดัง แต่ยังมีอีกหนึ่งวัตถุที่มาแรงไม่แพ้กัน เผลอๆ จะมาแรงแซงทางโค้งเสียด้วยซ้ำไป นั่นก็คือ “โพเดียม”

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมครม.นัดที่ 2 อย่างเป็นทางการ ซึ่งภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีการโยกย้ายข้าราชการ, การเตรียมเดินทางเยือนต่างประเทศ รวมถึงประเด็นเรื่องคดีฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า เรียกได้ว่า ถามและตอบกันอย่างเพลิดเพลินในทุกประเด็นที่เป็นข่าว

กระทั่งมาถึงคำถามเด็ดสะระตี่ เมื่อผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวหนึ่งถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า “คิดจะเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง บ้างไหม ?”

พล.อ.ประยุทธ์ก็ตอบว่า “ไม่เอาหล่ะ ชะตาชีวิต ชะตาบ้านเมืองมีอยู่แล้ว แล้วแต่ฟ้าดิน พระสยามเทวาธิราช”

นักข่าวอีกคนหนึ่งก็ถามในลักษณะแซวหรือหยอกล้อเล่นๆ ว่า “จะเป็นแต่นายกฯ จากการรัฐประหารอย่างเดียวเหรอคะ?”

พล.อ.ประยุทธ์ก็ตอบแบบขำๆ กลับไปว่า “เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดียมเลย!...พอแล้ว”

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยิ้มน้อยๆ พร้อมโบกมือให้ผู้สื่อข่าว ก่อนที่จะกลับขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไป

วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็พาดหัวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเอิกเกริก อาทิ

มติชนรายวันพาดหัวตัวไม้ใหญ่ที่สุดในหน้าว่า “มุขบิ๊กตู่หยอกสื่อทำเนียบ ทุ่มโพเดียว โดนถามนั่งนายกฯ ปว.อีก”

ไทยโพสต์พาดหัวว่า “ทำดีต้องเด็ดขาด 4 เดือนประยุทธ์เป็นทุกข์ ทุ่มโพเดียมหยอกนักข่าว”

ASTVผู้จัดการรายวันพาดหัวข่าวว่า “ตู่หยอกสื่อขู่ทุ่มโพเดียม ถามเรื่องรัฐประหาร”เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถ้าใครเคลื่อนไหวโดยใช้ “ปี๊บ” เป็นสัญลักษณ์ ก็ขอให้ระวัง “โพเดียม” จาก พล.อ.ประยุทธ์ให้ดีด้วยก็แล้วกัน....เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนนะจะบอกให้


กำลังโหลดความคิดเห็น