xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย ครม.ถก 3 ข้อสำคัญ เน้นปราบโกงสั่งทำการบ้านเข้ม ชี้ คสช.ลดเป็นองค์กร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ แจง ครม. ถก 3 ข้อสำคัญ รับทราบนโยบายเตรียมแถลง แจงแนวทางตั้งเลขาฯ - ที่ปรึกษา รับมอบงานจาก คสช. “บิ๊กตู่” ย้ำยึดแนวทางพระราชดำริ สั่งเข้มปราบโกงแทรกทุกนโยบาย เล็งมอบการบ้านทุกกระทรวงให้ทำแอ็กชันแพลน รับนโยบายรัฐ จ่อเลิกอัยการศึกบางพื้นที่ แจง คสช. เริ่มลดเป็นองค์กร ดูแลความมั่นคง ออกคำสั่งไม่ได้ จ่อปรับ กก. ต่างๆ อยู่ในอำนาจรัฐ

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การประชุมครั้งนี้จะไม่ถือว่าเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ และจะไม่เรียกว่าเป็นการประชุมครั้งที่ 1 เนื่องจากเป็นการประชุมก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่ที่ต้องมาพบปะเพราะมีหัวข้อสำคัญ 3 เรื่องที่ต้องทราบก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน คือ 1. ซักซ้อมความเข้าใจวิธีทำงาน รวมทั้งเตรียมตัวปฏิบัติภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่าน เลขาธิการ ครม. ได้ชี้แจงแนวทางที่ ครม. จะเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วยรัฐมนตรี 2. นายกฯต้องการให้หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายของคสช. มารายงานผลการปฏิบัติงานในช่วง 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา เพราะรัฐมนตรีต้องรับช่วงไปทำต่อ ซึ่งนายกฯได้สั่งการตอนท้ายว่าสิ่งที่หัวหน้าแต่ละฝ่ายของ คสช. สรุปเป็นการประมวลงานของ คสช. เป็นอย่างดี น่าจะพิจารณาพิมพ์เป็นรูปเล่มแจกจ่ายไปตามกระทรวงให้รับทราบเพื่อจะได้สานต่อได้ถูกต้อง

และ 3. ครม. รับทราบว่าได้ยกร่างนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย. แล้วเสร็จแล้ว ซึ่งนายกฯลงมากำกับด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด และร่างนโยบายดังกล่าวมาจาก 5 แหล่ง คือ 1. นายกฯให้ทำนโยบายยึดหลักตามแนวพระราชดำริ คือ เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา จะเห็นได้ชัดว่าแทรกซึมไปในนโยบายทุกข้อ 2. ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นเรื่องความมีเหตุ มีผล มีภูมิคุ้มกัน จะสะท้อนให้เห็นในนโยบายเกือบทุกข้อ 3. มาจากแผนพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 4. มาจากนโยบาย คสช. เช่น โรดแมป 3 ระยะ หลักค่านิยม 12 ประการ 5. มาจากปัญหาของประเทศและความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะในช่วง 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา ว่า คนส่วนใหญ่ต้องการอะไร เรียกร้อง อยากเห็นอะไร

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายกฯได้เน้นเป็นพิเศษและได้ให้ใส่นโยบายด้วยว่าปัญหาอย่างหนึ่งของประชาชน คือ การที่อยู่ไปโดยไม่รู้ไม่เห็นว่าใครจะทำอะไรบ้าง เป็นเจ้าของประเทศ แต่ไม่รู้ทิศทางประเทศจะไปอย่างไร นโยบายต้องตอบคำถามที่ค้างคาใจของประชาชนให้ได้ เช่น ต้องเกิดความชัดเจนว่าที่อยู่จะถูกเวนคืนหรือไม่ รวมทั้งเรื่องใหญ่ๆ อื่นๆ ที่ประชาชนควรมีสิทธิจะรู้คำตอบ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่ 3 ข้อ คือ 1. การบริหารราชการแผ่นดิน 2. การปฏิรูปประเทศ 3. สร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ฉะนั้น นโยบายที่จะแถลงจึงครอบคลุมหน้าที่ 3 ข้อนี้ และหน้าที่แต่ละข้อจะแตกเป็นเรื่องย่อยหลายข้อ สำหรับหน้าที่แรกคือการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายที่จะแถลงจะครอบคลุมปัญหาต่างๆของประเทศ 11 ด้าน อาทิ เศรษฐกิจ การศึกษา การทะนุบำรุงศาสนา การดูแลศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเตรียมตัวเข้าสู่อาเซียน และการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นต้น

นายกฯได้ให้แนวทางการทำงานว่าในปัญหาใหญ่ทั้งหมด 11 ด้าน ซึ่งแตกเป็นเรื่องย่อยๆ ให้แบ่งว่าอะไรเป็นเรื่องต้องทำเร่งด่วนเฉพาะหน้า หรือระยะแรกที่อาจต้องทำภายใน 1 เดือน หลังจากรัฐบาลเข้าทำงานแล้ว ระยะกลางคือเรื่องที่ทำต่อจากระยะแรกแต่ต้องพยายามให้เสร็จภายใน 1 ปี เพราะไม่ได้อยู่ 4 ปี เหมือนรัฐบาลปกติ และสุดท้ายคือระยะยาว ที่กว่าจะเห็นผลก็ประมาณ 5 - 10 ปีข้างหน้า อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องในอนาคตแต่รัฐบาลจะวางรากฐานเอาไว้ให้ โดยอาจจะจะเตรียมในเรื่องกฎหมายไว้ให้ ศึกษาโครงการ เลือกสถานที่ และทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลต่อไปมารับช่วงต่อ

“นายกฯได้ย้ำไว้ให้ในนโยบายด้วยว่า สิ่งที่ท่านเคยพูดมานั้นซึ่งอาจถือเป็นคำขวัญประจำรัฐบาลก็ได้ เพราะจะปรากฏในนโยบายทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องการทำก่อน ทำจริง ทำทันที โดยหวังผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน คำเหล่านี้จะปรากฏเป็นรูปธรรมในนโยบาย ทั้งเรื่องการสร้างรถไฟ การสร้างความปรองดอง การปฏิรูป จะต้องลงไปในข้อที่ว่าอะไรคิดก่อนทำก่อน และทำแล้วต้องทำให้จริง ทำทันที ซึ่งก็คือระยะเฉพาะหน้า และให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ ระยะกลาง ส่วนระยะยาวคืออย่างยั่งยืน” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนภารกิจที่สองของรัฐบาล คือ การปฏิรูป จะให้ความสำคัญกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะเป็นสถาปนิกหลักในการคิดว่าจะออกแบบประเทศอย่างไร รัฐบาลจะกำชับให้ข้าราชการทุกฝ่ายร่วมมืออย่างเต็มที่ จะประสานงานใกล้ชิดแต่ไม่แทรกแซง และรัฐบาลจะเปิดเวทีปฏิรูปเพิ่มขึ้น โดยเวทีปฏิรูป 250 คนจะเป็นทางการ แต่อย่าลืมว่ายังมีความอีกมากมายที่อาจไม่ได้อยู่ใน สปช. ทั้ง 250 คน ที่อาจมีความคิดดีๆ ในการเสนอความเห็นออกแบบประเทศ ต้องทำให้คนเหล่านี้มีเวทีมีพื้นที่สำหรับแสดงความเห็น เพราะจาก 7,300 กว่าคน จะมีเพียง 250 คนที่จะไปนั่งใน สปช. จะมีพวกเข้ารอบสุดท้าย 550 คน คนกลุ่มนี้รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีทีแสดงความเห็นได้ แม้จะไม่ได้เป็นสปช. ก็ตาม เช่น อาจประสานให้เป็นกรรมธิการ อนุกรรมาธิการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาของ สปช. คนกลุ่มนี้อาจมีข้อมูลดีๆ สำหรับเสนอแนะ ส่วนอีก 7,000 กว่าคนที่ตกไปรอบแรก รัฐบาลจะพิจารณาต่อไปว่าถ้าคนกลุ่มนี้ยังสมัครใจจะต้องมีเวทีให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องต่อไปที่รัฐบาลจะคิดต่อไป

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก่อนหน้านี้ คสช. ได้มอบให้กองทัพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม ทำไปก่อนแล้ว และรัฐบาลจะรับลูกมาทำต่อไป แล้วปัญหาใหญ่ของการสร้างความปรองดอง คือ การขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจรายได้ การอำนวยความยุติธรรมที่เขารู้สึกอยู่ว่าสองมาตรฐาน รัฐบาลจะพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เรื่องหนึ่งที่นายกฯได้ให้แก้ไขก่อนส่งร่างนโยบายไปพิมพ์ในเย็นวันเดียวกันนี้คือ หัวข้อทุกเรื่องไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าเศรษฐกิจ การศึกษา ความมั่นคง ให้แทรกเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเข้าไปให้หมดทุกเรื่อง ให้แทรกเรื่องการปฏิรูปการสร้างความเปลี่ยนแปลงเข้าไปทุกเรื่อง และให้แทรกการเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่แทรกเข้าไปอยู่ในหัวข้อ

นายวิษณุ กล่าวว่า หลังจากการแถลงนโยบายในวันที่ 12 ก.ย. แล้ว นายกฯได้กำชับว่าสัปดาห์หน้าจะให้ประชุมกับฝ่ายประจำ ปลัดกระทรวง อธิบดี ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ เพื่อให้แต่กระทรวงเข้าใจนโยบายแต่ละข้อ และให้ทำแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า แอ็กชันแพลน ไม่ใช่มีแต่แอ็กชันแพลน ว่านโยบายหน้านี้ ข้อนี้เกี่ยวกับกระทรวงใด และกระทรวงนั้นจะทำอะไร จะทำอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าใด จะเกิดผลสำเร็จในเวลาเท่าใด กระทรวงต้องทำแบบนี้ ให้ครอบคลุมเวลา 1 ปี จะใช้เป็นข้อมูลติดตามการ ตรวจราชการ สิ้นปีประมวลผลงานเป็นรายงานประจำปีเสนอต่อสภา นอกจากนี้ การประชุมครม.ครั้งหน้าจะประชุมเพื่อแบ่งงานรองนายกฯ

นายวิษณุ กล่าวว่า เราจะต้องปฏิรูปกฎเกณฑ์กติกา เช่น เรื่องการเมือง การค้า ระบบข้าราชการ เพื่อจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ใสสะอาด ซึ่งเรื่องระบบข้าราชการจะต้องมีความคล่องตัว ลดขั้นตอนการอนุญาตการอนุมัติต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว โดยหยิบการจัดอันดับของต่างประเทศ ที่จัดระดับความเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อของประเทศไทย เพราะติดขัดเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องเอามาแก้ไขให้ได้ทั้งหมดภายในเวลา 1 ปี ซึ่งรัฐบาลจะย้ำว่าในการทำงานนั้นมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลา ที่แตกต่างจากรัฐบาลก่อน เพราะรัฐบาลเข้ามาหลังจากที่ คสช. ได้วางหลักไว้แล้วหลายเดือน

ส่วนเงื่อนเวลารัฐบาลนี้มีเวลาทำงาน 1 ปี อาจบวกหรือลบขึ้นอยู่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลรู้เวลาเข้ามาทำงานวันนี้ เมื่อไหร่พ้นไป ไม่ใช่อยู่ 4 ปี เหมือนรัฐบาลก่อน นโยบายจึงเขียนเพื่อที่จะให้ทำงานได้ใน 1 ปี ยกเว้นสิ่งที่วางรากฐาน ส่วนเป้าหมายเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการปฏิรูป เรื่องไม่ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเป้าหมายที่จะต้องเดินไปถึงจุดนั้นให้ได้ และเป็นคำตอบสุดท้ายเพื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลหน้า และหวังว่าสิ่งรัฐบาลใหม่ที่จะมาจะสามารถรับช่วงงานทั้งหมดไปทำได้ และเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นภาระกับประชาชน และไม่ถึงขนาดประกาศนโยบายว่าจะทำอะไรที่เป็นประชาธิปไตย เชื่อว่าถ้าปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปวิธีทำงานของข้าราชการ ถ้าได้ขจัดคอร์รัปชัน ถ้าได้ดูแลเรื่องการปกครองภูมิภาค ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และได้ปฏิรูปการเมืองเท่าที่ทำได้ ทั้งหมดจะเป็นคำตอบของระบอบประชาธิปไตยในตัวของมันเอง

นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดถึงปัญหาภาคใต้ แต่พูดถึงอะไรที่เป็นระยะเร่งด่วนซึ่งต้องเสร็จเร็วที่สุด ส่วนเรื่องที่จะต้องใช้ระยะเวลาเพราะต้องรอกฎหมาย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายรัฐบาลก็ไม่มีเครื่องมือส่วนนี้คือระยะกลางและทั้งหมดเสร็จภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ระยะยาวรัฐบาลไม่ควรแถลงอะไรเลย เพราะตัวไม่ได้อยู่ยาว แต่เนื่องจากต้องวางรากฐานไว้ให้ก็แตะไว้หน่อย แล้วทิ้งให้รัฐบาลอื่นมาต่อ

นายวิษณุ กล่าวถึงเรื่องการยกเลิกกฎอัยการว่า นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ในโอกาสแรกที่จะทำได้ ซึ่งจะเป็นตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมิติการท่องเที่ยวก็มีเรื่องอื่นด้วย ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาเตรียมข้อมูลอยู่ หลังจากวันที่ 12 ก.ย. เป็นระยะเวลาที่พิจารณาได้ทั้งนั้น

นายวิษณุ ยังกล่าวว่า ตนได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม. ว่า การเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ ครม. เข้ารับหน้าที่โดยสมบูรณ์ เงินเดือนประจำตำแหน่งได้เริ่มจ่าย ต้องมีการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเริ่มลดเพดานลงมาเป็นระดับองค์กรหนึ่ง ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่เหมือนรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น จะออกประกาศหรือคำสั่งอะไรไม่ได้อีก ยกเว้นใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือจัดระเบียบภายใน คสช. เอง นอกเหนือจากนั้นทั้งหมดต้องผลักมาอยู่ที่รัฐบาล คสช. อยู่เพื่อทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาล หรือรัฐบาลขอความเห็นไป และ 2. ดูแลเรื่องความมั่นคง ส่วนกรณีจะเรียกบุคคลมารายงานตัวต้องทำตามกฎอัยการศึก

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ คสช. แต่งตั้งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า มีหลายชุดที่จะผ่อนมาที่รัฐบาลแล้วรื้อโครงสร้างใหม่เพื่อปรับให้เป็นโครงสร้างรัฐบาลแทน โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปในดูข้อกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วคณะกรรมการเหล่านี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เขียนให้อยู่ต่อไปได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการ แต่จะให้ปรับมาอยู่ในโครงสร้างฝ่ายบริหาร เช่น อะไรที่เขียนว่า หัวหน้า คสช. เป็นประธาน และรองหัวหน้า คสช. เป็นรองประธาน ให้ปรับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานแทน ส่วนกรณีซูเปอร์บอร์ดเป็นการตั้งโดยไม่ได้อาศัยกฎหมายตัวใด แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจตรางาน หากให้ยังคงอยู่ก็สามารถอยู่ต่อได้






กำลังโหลดความคิดเห็น