นายกฯ และหัวหน้า คสช.มอบนโยบายสรรหา สปช. ยันเดินตามแผนโรดแมปขั้นที่ 2 ชูวันประวัติศาสตร์เริ่มต้นการปฏิรูป รับงานยากสรรหาคนนั่ง สปช. ยันรอบ คสช.คัดไม่มีล็อกสเปกเพราะไม่รู้จักใคร พร้อมหาทางให้ผู้ไม่ถูกเลือกได้มีส่วนร่วมต่อ แนะละเอียด โปร่งใส เป็นธรรม หลากหลาย เน้นจัดระเบียบอะไรทำก่อน ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ และส่งต่อยั่งยืน
วันนี้ (4 ก.ย.) ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุมมอบแนวทางการดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน ข้าราชการระดับสูงเข้าร่วม
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวรายงานสรุปการเปิดรับเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. ระหว่างวันที่ 14 ส.ค. - 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า จากการที่มี พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ให้องค์กรนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้าน และในระดับจังหวัด ไม่เกิน 250 คนนั้น จากการเปิดรับการเสนอชื่อที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14 ส.ค. - 2 ก.ย.นั้น ขณะนี้มียอดผู้เสนอชื้อเข้ารับการสรรหาทั่วประเทศรวม 7,042 คน โดยแบ่งเป็นการเสนอชื่อจากนิติบุคคลจำนวน 4,262 คน และการสรรหาระดับจังหวัดจำนวน 2,780 คน โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เพราะต้องรอรายชื่อที่ส่งผ่านทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษที่ประทับตราไม่เกินวันที่ 2 ก.ย. คาดว่าจะสามารถสรุปยอดผู้เสนอรายชื่อทั้งหมดได้ในวันที่ 5 ก.ย.นี้
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอชื่อนั้น ทางสำนักงาน กกต.ได้ร่วมมือกับ 18 หน่วยงานราชการ ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามของผู้เสนอชื่อเป็น สปช. โดยตามขั้นตอนแล้วยังมีเวลาอีก 10 วันในการดำเนินการระหว่างวันที่ 3-12 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เมื่อสำนักงาน กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้นจะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 13-22 ก.ย. เพื่อให้คัดเลือกเหลือด้านละ 50 คน และจังหวัดละ 5 คน จากนั้นก็จะส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 250 คน ภายในวันที่ 23 ก.ย. - 2 ต.ค.นี้
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันที่ค่อนข้างตื่นเต้น เพราะว่าอยู่ท่ามกลางผู้ใหญ่มากมาย ก็คิดว่าจะพูดอะไรกันดี จะพูดสไตล์แบบตนเองหรือจะพูดแบบทางการ แต่คิดว่าตนเปลี่ยนตัวเองได้ไม่มากนัก ก็คงพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพื่อให้เห็นความตั้งใจและจริงใจในการปฏิรูป ถือว่าวันนี้ตนอยู่ท่ามกลางผู้มีเกียรติ และคนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยและดูแลประชาธิปไตยไทยให้ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยแบบสากลแต่สอดคล้องกับความเป็นไทยที่เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการรายงานของนายภุชงค์ ถือเป็นความสำเร็จของพวกเราทุกคน เป็นที่น่ายินดีที่มีคนเข้ารับการคัดสรรเป็นจำนวนมาก ตนขอขอบคุณทุกฝ่าย วันนี้เรากำลังเดินเข้าสู่โรดแม็พระยะที่ 2 คือการมีรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งครม.แล้ว เหลือเฉพาะการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งไม่ต้องกังวล เพราะถือเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้มีการทำงานร่วมกันในแต่ละกระทรวงตั้งแต่โรดแม็พระยะที่ 1 โดยใช้ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินปกติเป็นส่วนใหญ่ แต่บางอย่างต้องการความเร่งด้วยในการขับเคลื่อนจึงใช้อำนาจของคสช. อยากให้ทุกคนสบายใจว่าคสช.ไม่ได้มุ่งหวังมีอำนาจใดๆทั้งสิ้น แต่มุ่งหวังให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง วันนี้อาจจะมีการแต่งเครื่องแบบทหารมา ซึ่งบางคนบอกว่าไม่ควรแต่งเครื่องแบบ ตนก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะยังไม่เกษียณอายุราชการ เพราะขณะนี้ยังเป็นการบริหารราชการที่มีคสช.อยู่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า พระองค์ท่านทรงมีพระชนมมายุมากแล้วการถวายสัตย์ปฏิญาณตนยังไม่เรียบร้อย สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องทำคือการถวายพระพรให้พระองค์ท่านทรงแข็งแรงและอยู่เป็นสิ่งขวัญให้พวกเราได้อย่างยาวนาน เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องทำเพื่อแผ่นดินแห่งพระมหากษัตริย์แผ่นดินนี้ขึ้นมาให้ทัดเทียมนานาประเทศ วันนี้อยู่ในโรดแม็พระยะที่ 2 ต้องทำให้บ้านเมืองเกิดความเรียบร้อย เราจะมาสร้างประวัติศาสตร์กัน เพราะการปฏิรูปประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 22 พ.ค. ที่ผ่านเป็นประวัติศาสตร์ทั้งสิ้นว่าเราจะทำอะไรให้แผ่นดินนี้ ที่ผ่านมาทุกกระทรวงได้ทำงานด้วยดีเสมอมา เพื่อเตรียมการปรองกดองสมานฉันท์นำไปสู่การปฏิรูป รวมถึง 3-4 เดือนที่ผ่านมาบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ทุกคนทราบดีว่าเราต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ต่อเนื่อง เพื่อรักษาสถานภาพในขณะนี้ให้ได้ที่ประชาชนทุกคนและทุกฝ่ายมีความพอใจ อาจจะกระทบกระเทือนบางฝ่ายบ้าง ซึ่งต้องดูแลต่อไปโดยเป็นหน้าที่ของครม.ใหม่ที่ต้องดูแลให้เป็นรูปธรรมไม่ให้เป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
“วันนี้เราได้ทำงานตามโรดแม็พที่วางไว้ ผมได้กำหนดตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมาก็คิดและปรึกษาที่ปรึกษาที่มีหลายคณะว่าจะทำอะไรและอย่างไรต่อไป ผมอ่านสิ่งพิมพ์และโฆษณา อ่านแล้วก็ปวดหัว เพราะมีคนละทางสองทาง เราจะทำให้ทุกอย่างเข้าไปอยู่ในกรอบว่าทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาได้โดยไม่มีการชี้นำ เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่การจัดตั้งสปช. ขอขอบคุณสื่อทุกแขนงที่ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์การสมัครสปช. เป็นไปได้ด้วยดี จากนั้นเราจะคัดเลือกคนอย่างไรให้คน 8,000-9,000 คน เหลือ250 คน ท่ามกลางความสนใจและความกดดันต่างๆที่เกิดขึ้น วันนี้มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่มีผลกระทบและมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปฏิรูปเข้ามาสมัครทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้อยากให้คณะกรรมการคัดสรรทุกคนพิจารณาให้เป็นธรรมว่าทำอย่างไรจะปฏิรูปได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งต่อไป แต่ละคณะมียอดที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่าประชาชนสนใจกลุ่มใดมากกว่า แสดงว่าเรื่องนั้นคือปัญหาสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นงานที่ยากที่จะคัดคนเหล่านี้เข้ามาให้เหมาะสม ทั้งนี้ผมจะหาโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะร่วมมมือกับเราได้อย่างไร จำเป็นต้องนำเข้าเข้ามาด้วย การคัดสรรจากวันนี้เป็นต้นไป เราจะนำมาพิจารณาและเสนอให้คสช. พิจารณาอีกครั้งโดยเร็ว ” หัวหน้าคสช. กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คณะกรรมการคัดสรร 11 คณะยังมีหัวข้อย่อยอีกเพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป เช่นการทุจริตและให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารราชการทั้งในส่วนการเมือง ข้าราชการ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นขอให้ดำเนินการให้ดี วันนี้คัดเลือกมาโดยมีเวลาจำกัด ต้องดำเนินการด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ในส่วนผู้สมัครแต่ละด้านจะถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดสรรให้เหลือด้านละ 50 คน ในจำนวน 11 ด้าน จะได้ 550 คน จากนั้นคสช.ก็จะตั้งคณะกรรมการของคสช.คัดเลือกให้เหลือ 173 คน และในส่วนของตัวแทนจังหวัด จังหวัดละ 77 คน ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงว่าจะล็อคสเปค เพราะไม่รู้จักใครสักคน ถือว่าเป็นโอกาสให้ทุกเคนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามขอฝากคณะกรรมการสรรหาแต่ละด้าน และคสช. คัดเลือกด้วยความละเอียด รอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณภาพ มุ่งมั่น เสียสละอย่างแท้จริง เพื่อเข้ามาเป็นสนช.ที่ต้องทำงานเพื่อให้ประเทศไทยมีการปฏิรูปโดยมีผลสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นอนาคตและประชาธิปไตยที่เหมาะสม และปฏิรูปประเทศไทยด้านต่างๆมีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความผาสุกอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนอกจากนี้สปช.นั้น ทางคสช.ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งจึงได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยในช่วงที่ระยะที่ 1 มีสำนักงานปฏิรูป ที่ผ่านมามีการถกแถลงและได้ข้อสรุปมาเป็นหนังสือ ซึ่งข้อสรุปจากหนังสือดังกล่าวไม่ได้เป็นการชี้นำ แต่เป็นแนวทางส่วนหนึ่งในการที่จะคิดต่อหรือคิดใหม่ และไม่ได้เป็นการตีกรอบให้สปช. ทั้งนี้ตนจะมอบให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปศึกษา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อตั้งสปช.แล้ว กระบวนการต่อไปจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกเป็นสปช.เข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ เพราะฉะนั้นในช่วงระยะที่ 2 ตนจะให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมทำงานควบคู่ไปกับสปช. เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนส่งมาให้ ต่อจากนั้นจะส่งให้เลขาธิการรัฐสภา เพื่อส่งไปให้สปช. ให้ได้คลอบคลุมทุกเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้ในส่วนภูมิภาคได้สั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ระดับภาค หรือระดับจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมเป็นผู้รวบรวมความคิดเห็น เพื่อให้ควบคู่ไปพร้อมกับสปช. ด้วย
“สิ่งที่เราต้องเข้าใจตรงกัน ผมไม่ใช่นักวิชาการ ผมจะพูดในข้อเท็จจริงที่ประสบมาจากเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ เราต้องเข้าใจตรงกันว่าการปฏิรูป คือการที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้าได้อย่างไร และต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง คือปรับปรุงสิ่งที่ยังบกพร่องอยู่ให้ดีขึ้น ไม่ให้มีปัญหาขึ้นในอนาคต ส่วนการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยทำ หรือจะทำขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นต้องปฏิรูปให้คลอบคลุม ในเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ทั้งการบริหาร กฎหมายกฎกระทรวง เราทำได้อยู่แล้วตามกลไกปรับปรุงไม่ให้มีปัญหา แต่สิ่งที่จะปฏิรูปนั้นต้องแยกออกไป เพื่อจะไม่ให้มีปัญหาในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนอยากให้แนวทางไว้อย่างแรกจากการปฏิรูป 11 ด้าน ที่จะแตกออกเป็น ร้อยเรื่องนั้นจะให้มาทำทั้งหมดก็ไม่ได้ เพรามีระยะเวลาจำกัด เพราะปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปที่บีบรัดเข้ามา ดังนั้นทางเราต้องไปกำหนดให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือการจัดระเบียบการปฏิรูปให้ได้ว่าจะทำอะไรก่อนแล้วก็ทำทันทีให้มีผลสัมฤทธิ์ และอะไรที่จะส่งต่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืนเช่น ปฏิรูปการศึกษา และมีอีกมากมาย จนกระทั่งการปรับปรุงโครงสร้างสังคมต่างๆ
“วันนี้หลายคนบอกว่าการปฏิรูป การเลือกตั้งที่บอกๆว่าต้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนทำนั้น ผมอยากบอกว่าแล้วทำได้หรือไม่ ซึ่งเห็นว่าบอกมาหลายรัฐบาลแล้ว ไม่ว่าตอนไหนก็แล้วแต่ อะไรที่ทำก่อน หรือทำหลัง พอเราจัดให้ทำ ก็บอกว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งมันก็ไม่เป็นธรรมกับผม ซึ่งผมถือว่า การทำก่อนทำจริง และมีผลสัมฤทธิ์ โดยจะมีตัวชี้วัดในทุกวันนี้เป็นการให้คะแนนรายบุคคล แต่ปัจจุบันนี้จะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ผมได้ให้แนวทางไปแล้ว แต่ไม่ทราบหลักการจะผิดหรือถูก แต่ผมคิดว่าจะต้องเป็นผลชี้วัดของทุกกระทรวง และทุกหน่วยงาน ที่ไม่ใช้นำมาเพื่อชี้วัดตัวบุคคล” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลที่ส่งให้นั้นตนไม่ได้ทิ้งของใครเลย ทั้งที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ พรรคการเมือง ฝ่ายความขัดแย้ง ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน จนเกิดความเข้าใจ นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ประเวศ วะสี ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และท่านอื่นๆ อีกมาก ซึ่งทุกคนมีความคิดที่ตรงกัน และ เป็นประโยชน์ แต่ก็มีบางอย่างไม่ตรงกัน จึงต้องหาจุดที่จะจูนให้ตรงกัน โดยไม่มีอัตตา ตัวตน ทั้งสิ้น ซึ่งตนเคยบอกไว้ ถ้าหากคิดถึงแต่ตัวเอง ทำอะไรเพื่อใคร ก็จะไม่มีวันจบ ทั้งนี้อยากให้คิดไปข้างหน้า และก็ระวังหกล้ม แต่อย่ามาใช้คำที่สื่อเอาไปลงว่าผูกเชือกรองเท้าผ้าใบแล้วเดินเลย ซึ่งใครจะบ้าที่ไปทำอย่างนั้น เป็นการแปรเจตนาของตนผิด