ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดูท่าทีแล้วเหมือนจะเป็นความตั้งใจอันแรงกล้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการปฏิรูประบบภาษี ที่สำคัญคือ การจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดิน ซึ่งหากทำสำเร็จรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับการจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเลยทีเดียว
ทว่านาทีนี้มือไม้ที่พล.อ.ประยุทธ์ ไว้วางใจให้ทำเรื่องนี้ คือ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชักออกอาการแปร่งๆ และพล.อ.ประยุทธ์ เองก็ลดความขึงขังลงเสียแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 ในส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บนฐานความคิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และหาแหล่ง รายได้จากภาษีใหม่ โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้ภายในหนึ่งปี
นโยบายดังกล่าว นับเป็นความกล้าหาญและอาจหาญอย่างมาก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าผู้ถือครองมรดก ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเอาไว้ในมือมากมายก่ายกองนั้น คือกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยที่อยู่บนยอดปิรามิดเพียงหยิบเดียวที่มีอำนาจมีอิทธิพล หาใช่ประชาชนทั่วไปหาเช้ากินค่ำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ที่เคยมีการผลักดันมายาวนานไม่ประสบความสำเร็จเสียที เพราะคนที่มีอำนาจมีเงินไม่ออกกฎหมายมาเพื่อทำให้ตนเองเสียประโยชน์อยู่แล้ว
คราวนี้ คสช. มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน และหัวหน้า คสช.ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาประชาคมว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมแน่ภายในหนึ่งปีจึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยร่างกฎหมายภาษีมรดกที่กรมสรรพากร นำเสนอและผ่านการพิจารณาของ คสช. ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2557 ที่ผ่านมาแล้วนั้น นายประสงค์ พูนธเนส อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า มีหลักการสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
1.เก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับมรดก 2.มรดกที่ถูกเก็บภาษี ต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หุ้น เงินฝากหรือพันธบัตร เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการลงทะเบียน เช่น เครื่องประดับ พระเครื่องและวัตถุโบราณ เป็นต้น จะไม่นำมาคำนวณในการเก็บภาษีมรดก 3.อัตราภาษีที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณานั้น จะจัดเก็บในอัตราสูงกว่า 5% แต่น้อยกว่า 30% ของราคาสินทรัพย์ และ 4.เก็บภาษีมรดกจะจัดเก็บจากสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ
กรมสรรพากร ได้ส่งร่างกฎหมายใหม่การจัดเก็บภาษีมรดกดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว และอยู่ระหว่างรอชี้แจงร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย หลังจากนั้น จะเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา หากครม.เห็นชอบจะเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
อธิบดีกรมสรรพากร อธิบายว่า กรมสรรพากรไม่ได้จัดเก็บภาษีมรดกเพื่อหวังผลรายได้เม็ดเงินภาษีแต่เป็นเรื่องความยุติธรรมในระบบภาษีมากกว่า เพราะคนทำงานแล้วมีรายได้ คือผู้ใช้ทรัพยากรของประเทศและเป็นผู้ที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาล แต่ผู้ที่รับมรดกคือ ผู้ที่ได้รับทรัพย์สินจากผู้เสียชีวิตทำให้มีฐานะร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น ก็ควรที่จะเสียภาษีให้แก่รัฐบาลเช่นกัน
นอกจากนั้น กรมสรรพากรยังคาดหวังว่าการเก็บภาษีมรดกยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะคนที่ร่ำรวยมีเงินมากแต่การใช้จ่ายน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ถือครอง ความมั่งคั่งที่สะสมไว้ไม่ได้นำมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เพราะต้องการเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน เงินจำนวนนี้หากนำออกมาใช้จ่ายจะช่วยทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
กรมสรรพากร ใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีมาแล้วในการผลักดันกฎหมายภาษีมรดกแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเพราะไปกระทบกับกลุ่มผู้มีอำนาจดังกล่าวข้างต้น และมีข้อโต้แย้งหักล้างทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งครั้งนี้ก็ต้องลุ้นว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ แม้ว่า คสช.จะพิจารณาเห็นชอบในหลักการสำคัญ 4 ข้อข้างต้น แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามนั้น
เอาเฉพาะประเด็นอัตราภาษีที่จัดเก็บ ข้อเสนอจากผลการศึกษาเดิมของกรมสรรพากรจะอยู่ในอัตรา 5-30% แบบขั้นบันใด แต่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าอัตราจัดเก็บที่กรมสรรพากรเสนอไปยัง คสช. และอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ เก็บภาษีจากกองมรดกในอัตราเดียวคือ 10% มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีมรดกที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
ถึงเวลาเอาจริง เรื่องนี้กลับยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนอะไรทั้งนั้น โดยแผนการปฏิรูปภาษีที่กรมสรรพากรเสนอต่อนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่ พิจารณาเห็นชอบในส่วนของภาษีมรดกนั้น นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ก็ระบุว่า "ขณะนี้การจัดเก็บภาษีมรดกกรมฯกำลังศึกษา และจัดทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอให้กับ รมว.คลังพิจารณา จึงยังระบุไม่ได้ว่าจะจัดเก็บในอัตราเท่าไร...." เป็นน้ำเสียงปร่าแปร่งไม่เหมือน ก่อนหน้านี้ตอนที่คสช.เห็นชอบในหลักการ
นายสมหมาย ภาษี ก็ออกมากล่าวถึงความไม่แน่นอนชัดเจนในเรื่องนี้ในท่วงทำนองเดียวกัน โดยระบุถึงแผนปฏิรูปภาษีในวันที่มอบนโยบายแก่ผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557 ว่า เรื่องนี้ คสช. ได้ดำเนินการมาล่วงหน้า โดยเฉพาะร่างภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่การจัดเก็บภาษีมรดก ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและมีความชัดเจน เพราะอย่าลืมว่าคนรวยหนีภาษีเก่งมาก เพราะส่วนใหญ่คนรวยจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องการเสียภาษีให้ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมรดกถ้าไม่รอบคอบ คนรวยก็จะหลบภาษีหมด เกิดผลทางลบตามมา
"ผมไม่คัดค้านเรื่องภาษีมรดก แต่ผมคิดว่าต้องให้เวลากับกระบวนการของร่างกฎหมายให้รอบคอบ ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นจากหลายฝ่าย" เขากล่าว
พร้อมกับอธิบายความด้วยว่า ต้องเข้าใจว่า ร่างภาษีมรดกที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ไม่ได้เก็บภาษีจากกองมรดก แต่เป็นการเก็บภาษีจากผู้รับ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ผู้รับบางรายอาจไม่มีเงินมาชำระภาษี บางกรณีอาจต้องขายทรัพย์สินมาเพื่อเสียภาษี ซึ่งเป็นห่วงสำหรับกรณีนี้ จึงอยากฟังเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินที่มีประสิทธิผลมากกว่าภาษีมรดก โดยเงินที่ได้ก็จะเข้ารัฐในทุกๆ ปี จึงต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้ดีๆ และอาจนำเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรี
"เรื่องภาษีต่างๆ นั้น ยังตอบความชัดเจนไม่ได้ จะแน่นอนเมื่อเข้าสภาฯไปแล้ว แต่ยืนยันหลักการว่า จะเก็บภาษีจากคนมีตังค์" นายสมหมาย ออกลีลาพลิ้ว และนั่นเหมือนจะส่งสัญญาณว่าการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินฯ กำลังจะเข้าอีหรอบเดิมคือถูกดองเค็มเช่นเคย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้าทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการวันแรก ก็ตอบคำถามนักข่าวทำเนียบรัฐบาล แบบมีลูกล่อลูกชนไม่ผูกมัดเหมือนเดิมเช่นกัน
เมื่อนักข่าวถามว่า “เงินภาษีมรดกเอาจริงเป็นรูปธรรมแน่?” นายกรัฐมนตรี ตอบว่า “พิจารณาอยู่ อย่าไปกังวล ...”
เมื่อนักข่าวถามอีกว่า “สิ้นปีนี้ต้องเห็นเป็นรูปธรรมหรือไม่” นายกฯ กล่าวว่า “ไม่รู้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คสช. ... แต่ประเด็นสำคัญให้ความยุติธรรมทุกคน เขามีข้อยกเว้นเยอะไม่ต้องกลัว”
กล่าวสำหรับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทรวงการคลัง ต้องการนำมาใช้แทนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งล้าสมัย จัดเก็บได้น้อยและเหลื่อมล้ำนั้น เสนอให้มีฐานภาษีจัดเก็บจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยมีอัตราภาษีที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาไม่เกินเพดาน ประกอบด้วย
1.กรณีที่ใช้ประโยชน์ทั่วไป ลักษณะเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี 2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ประกอบการเชิงพาณิชย์ ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.1% ของฐานภาษี และ 3.ที่ดินเพื่อการเกษตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี โดยให้อำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นตราข้อบังคับกำหนดอัตราภาษีสูงกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแต่ไม่เกินที่กำหนดในพ.ร.บ.ทั้งกำหนดให้ลดหย่อนภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหรือประกอบเกษตรกรรม
ประเด็นที่สำคัญอยู่ตรงที่ที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์หรือทิ้งไว้ว่างเปล่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวในทุก 3 ปีแต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน
แน่นอน ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะส่งผลสะเทือนต่อแลนด์ลอร์ดเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย และอาจทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกอยู่ในสภาพทำคลอดไม่ได้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เพราะอำนาจและอิทธิพลของกลุ่มตระกูลแลนด์ลอร์ด ต้องถือว่าไม่ธรรมดา
“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับตีพิมพ์วันที่ 18 มิ.ย. 2557 เปิดเผยโฉมหน้ากลุ่มแลนด์ลอร์ดเมืองไทย จากผลศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่วิจัยและเก็บข้อมูลการถือครองเอกสารสิทธิจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน พบว่า กลุ่มทุนตระกูลดังถือครองที่ดินแปลงใหญ่น้อยกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะกรุงเทพฯ หัวเมืองหลัก และเมืองท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจศึกษาได้ยกตัวอย่างผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ทั้งประเทศเอาไว้ให้เห็นดังต่อไปนี้
1)ตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือครองกว่า 6.3 แสนไร่ ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่างๆ โดยหนึ่งในที่ดินแปลงใหญ่ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดี ครอบครองกรรมสิทธิ์ อาทิ ที่ดินใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี รวม 1.2 หมื่นไร่ ที่ดินใน อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 1.5 หมื่นไร่
2)ตระกูลเจียรวนนท์ ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจการเกษตรครบวงจร ในนามกลุ่มซีพี ธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม บมจ.ซี.พี.แลนด์ และกลุ่มแมกโนเลียส์ ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ โดยแปลงใหญ่อยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1 หมื่นไร่
3)บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ ถือครองที่ดิน 4.44 หมื่นไร่
4)บมจ.ไออาร์พีซี ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ มีที่ดินรวมประมาณ 1.7 หมื่นไร่ แปลงใหญ่อยู่ที่อ.จะนะ จ.สงขลา
5)ตระกูลมาลีนนท์ กลุ่มทุนธุรกิจสื่อสาร ถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่
6)นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี มีที่ดินในมือประมาณ 1 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 1 พันไร่
7)วิชัย พูลวรลักษณ์ อดีตผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เครืออีจีวี ซึ่งที่ผ่านมาเบนเข็มมารุกธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม "วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้" ครอบครองอยู่ประมาณ 7-8 พันไร่
8)ตระกูลจุฬางกูร อาณาจักรซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่วงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีที่ดินทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5-6 พันไร่ อาทิ สนามกอล์ฟซัมมิทฯ ที่บางนาและเชียงใหม่ ที่ดิน 100 ไร่ในจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ
และ 9)ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ผู้ก่อตั้งโบนันซ่า มีที่ดินในเขาใหญ่ รวม 5 พันไร่
ส่วนในกลุ่มนักการเมือง จากผลการศึกษา พบว่า นายอำนาจ คลังผา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถือครอง 2,030 ไร่, นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย 2,000 ไร่, นายเสนาะ เทียนทอง และนางอุไรวรรณ เทียนทอง 1,900 ไร่, นายอนุชา บูรพชัยศรี 1,284 ไร่, นายอดิศักดิ์ โภคสกุลนานนท์ 1,197 ไร่ นายทศพร เทพบุตร 1,095 ไร่, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี 1,095 ไร่, นายสุชน ชามพูนท 1,060 ไร่, นายชัย ชิดชอบ และภรรยา 854 ไร่, นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ 755 ไร่ ฯลฯ
ผลวิจัยระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีผู้ครอบครองที่ดินรวม 1.59 ล้านรายเศษ แบ่งเป็นในนามบุคคลธรรมดา 15.68 ล้านราย และนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ อีก 2.12 แสนราย ส่วนถ้าจำแนกตามปริมาณการถือครองที่ดิน (ณ ปี 2555) มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยมีผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ 1-10 ตารางวา รวม 2.85 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของทั้งหมด ในจำนวนนี้แบ่งเป็นในนามบุคคลธรรมดา 2.84 แสนรายและนิติบุคคล 1.9 พันราย
ขณะที่ผู้ที่ถือครองที่ดินเกินกว่า 1 พันไร่ขึ้นไป มีจำนวนรวม 837 ราย คิดเป็น 0.01% ในจำนวนนี้แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 359 ราย และนิติบุคคล 478 ราย สะท้อนถึงการถือครองที่ดินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม ส่วนกลุ่มใหญ่คือผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่กว่า 1-5 ไร่ มีจำนวน 3.48 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 21.9% ในจำนวนนี้แบ่งเป็นถือในนามบุคคลธรรมดา 3.43 ล้านราย และในรูปแบบนิติบุคคล 5.09 หมื่นราย
ถามว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะแก้ปัญหาที่ดินกระจุกตัวในมือเศรษฐีได้หรือไม่ นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน องค์กรพัฒนาเอกชน ฟันธงเลยว่า โครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บสำหรับที่ดินรกร้างไม่ใช้ประโยชน์อัตรา 0.5% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าทุก 3 ปีเพดานสูงสุดไม่เกิน 2% ถือว่าต่ำไป ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะอัตราภาษีที่เก็บยังต่ำกว่าราคาที่ดินที่ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-6% ต้องเก็บให้สูงขึ้นกว่านี้หรือใช้การจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า
ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะให้สัญญาประชาคมต่อประชาชนที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และมีเสียงสนับสนุนล้นหลาม แต่การผลักดันกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้ เพราะต้องยอมรับว่าการเมืองไทยอยู่ในมือของคนรวย ถ้าออกเป็นกฎหมาย จะมีผลกระทบต่อ ส.ส. นายทุนพรรค เจ้าขุนมูลนายที่ร่ำรวย ซึ่งล้วนมีอิทธิพล ต่อกันทั้งสิ้น จึงไม่มีรัฐบาลใดกล้าทำ และเมื่อ สนช.ส่วนใหญ่เป็นคนที่ร่ำรวย ตรงจุดนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ก็อาจเป็นไปได้หากคนใน สนช.คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมเสียสละ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 50-60 ครอบครัว
เรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างยิ่ง ไม่ใช่ทำเพราะให้รัฐได้เงินเพิ่ม แต่ควรทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม จะมีการปฏิรูปที่ดิน คนที่มีที่ดินมากก็เริ่มคิดว่าเป็นภาระ และคิดที่จะขาย ที่ดินก็มีราคาถูกลง เป็นกลไกให้เกิดการกระจายกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และจากที่ดินว่างเปล่า ก็จะมีการใช้ทำประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และเงินภาษีที่ได้รัฐก็นำไปจัดทำสวัสดิการแก่ประชาชน
วันนี้ขอแค่ได้เริ่มนับหนึ่งก็ถือว่าดีแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยมีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลที่มี ส.ส. แต่เริ่มได้ที่มี คสช. เพราะมีอำนาจ ที่ต้องใช้ในทางที่ถูกให้เกิดประโยชน์ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มองว่าขณะนี้มีความเป็นไปได้ 50-50 เพราะขึ้นอยู่กับ สนช.ด้วย
สัญญาประชาคมที่พล.อ.ประยุทธ์ ให้คำมั่น จะเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่าหรือไม่ อีกไม่เกินหนึ่งปีคงได้เห็นกัน