ปตท.สผ.ลั่นครึ่งปีหลังนี้มียอดขายปิโตรเลียมโตกว่า 10% หนุนทั้งปียอดขายแตะ 3.18 แสนบาร์เรล/วัน หวั่นน้ำมันดิบร่วงฉุดกระทบกำไรบ้าง พร้อมหนุนแบงก์ชาติ คลัง และกรมสรรพากรเร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษี ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริหารเงิน(Treasury Center) กระตุ้นเศรษฐกิจ เหตุไทยเก็บภาษีสูงทำให้เอกชนหนีไปที่สิงคโปร์แทน ลั่นปี 63 ปตท.สผ.วางเป้าหมายจะทำ Inhouse Bank รองรับยอดขายโตขึ้นเท่าตัว
นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า รายได้บริษัทฯ ในครึ่งปีหลังนี้จะโตมากกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 1.28 แสนล้านบาท เนื่องจากรับรู้ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมใหม่เข้ามาในแหล่งซอติก้าที่พม่า และแหล่งมอนทาราที่ออสเตรเลียก็มีการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ทำให้ครึ่งปีหลังนี้ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมโตขึ้นกว่า 10% มาอยู่ที่ 3.3 แสนบาร์เรล/วัน ส่งผลให้ปีนี้บริษัทฯ มียอดขายปิโตรเลียมอยู่ที่ระดับ 3.17-3.18 แสนบาร์เรล/วัน เติบโตขึ้นจากปีก่อน 9-10%
สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิในไตรมาส 3 นี้ แต่รายได้จะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสัดส่วนยอดขายน้ำมันอยู่ที่ระดับ 30% และ 70% เป็นยอดขายก๊าซฯที่ราคาทรงตัว
นางสาวเพ็ญจันทร์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดที่เคยมีมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนซื้อกิจการ (M&A) ที่จะเข้ามาในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยอดขายปิโตรเลียมระดับ 6 แสนบาร์เรล/วันในปี 2563 โดยบริษัทมีความสามารถในการกู้เงินได้เพิ่มอีก 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อัตราหนี้ต่อทุนอยู่ระดับไม่เกิน 0.5 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.3 เท่า โดยมีหนี้สินรวม 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าบริษัทมีแผนชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากไม่มีความจำเป็นใช้เงินเพื่อลงทุนโครงการใหม่ ก็อาจไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้ใหม่เพิ่มเติม
ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ยังคงที่ 5 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในปัจจุบันเพื่อรักษาระดับการผลิตเอาไว้ หากรัฐมีแผนจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ปตท.สผ.ก็จะยื่นขอสัมปทานอย่างแน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.สผ.ได้รับมอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการเงินสกุลต่างประเทศให้กับกลุ่มบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นครอบคลุมเฉพาะเรื่องการบริหารสภาพคล่องสกุลเงินต่างประเทศ โดยนำระบบการบริหารจัดการเงินสดอัตโนมัติ (Automated Cash Pooling) ของธนาคารมาใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินมากขึ้น โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท.เป็นรายครั้ง
เนื่องจาก ปตท.สผ.มีบริษัทย่อยมาก โดยมีการลงทุนถึง 43 โครงการ โดยแต่ละโครงการมีการใช้เงินแตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งสกุลเงินบาท และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ บางโครงการก็มีกระแสเงินสดเข้ามา บางโครงการก็มีผลขาดทุน แต่เมื่อนำมารวมเป็นระบบการบริหารจัดการเงินสดอัตโนมัติก็ทำให้บริษัทบริหารเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม (Transaction Cost) และลดต้นทุนการกู้ยืมเงิน คาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนได้ปีละ 60 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ธปท.ได้เปิดให้บริษัทเอกชนมาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงินมานานนับ 10 ปี แต่ก็ไม่มีบริษัทใดมายื่นขอ เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่มีการจัดเก็บอยู่ 15% และภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% แต่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายรายไปตั้งศูนย์บริหารเงินที่ประเทศสิงคโปร์แทน เนื่องจากไม่มีการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บเพียง 10%
นางสาวเพ็ญจันทร์กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ธปท.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร เพื่อปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการท่องเที่ยวและอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีทำให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้ง Treasury Center ในไทย
ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีเป้าหมายพัฒนาระบบร่วมบริหาร Payment Factory ในปี 2558-2559 และมีแผนพัฒนาเป็นรูปแบบธนาคารที่บริหารกันเองระหว่างบริษัทลูก (Inhouse Bank) ในปี 2563 เพื่อรองรับอัตราการเติบโตของยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2563
ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีเงินหมุนเวียนสกุลบาทวันละ 5 พันล้านบาท และสกุลดอลลาร์สหรัฐ 100 ล้านเหรียญ/วัน