ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความสุขของคนไทยอาจจะดูแพงไปหน่อยไหม? เพราะชั่วระยะเวลาเพียง 3 เดือนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน มีการเซ็นอนุมัติอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและแก้ไขปัญหาที่ค้างคา รวมวงเงินกว่า 3.68 แสนล้าน เม็ดเงินดังกล่าวถึงแม้จะตกสู่มือเกษตรกรชาวนาชาวไร่มากสุดกว่าแสนล้าน แต่ที่ขาดไม่ได้ต้องมีติดปลายนวมด้วยเสมอก็คืองบจัดซื้ออาวุธผูกพันข้ามปี
แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรม จะว่าไปช่วง 3 เดือน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นั่งหัวโต๊ะประชุมบริหารราชการแผ่นดินรวม 12 ครั้ง ภารกิจส่วนใหญ่เป็นการสะสางปัญหาที่คั่งค้าง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเสียมากกว่าและงบประมาณที่อนุมัติอัดฉีดลงไปก็เพื่อการนี้ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้านั้นเรียกว่าอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียขาก็คงไม่ผิดนัก
ทั้งนี้ จากรายงานที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ thaigov.go.th ของทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า หลังคสช. ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 มีการประชุม คสช.เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและอนุมัติงบประมาณทั้งรายการปกติในปี 2557 การอนุมัติงบค้างจ่ายต่อเนื่องมาจากปี 2556 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบผูกพันข้ามปี และการปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ รวม 38 รายการ วงเงิน 368,133.95 ล้านบาท
ภายใต้เม็ดเงินดังกล่าวก้อนใหญ่ที่สุดเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาชาวไร่ โดยอนุมัติงบเพื่อจ่ายหนี้ค้างชำระแก่ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวสูงถึง 92,431 ล้านบาท และอนุมัติงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรปี 2555-2557 วงเงิน 5,498.9 ล้านบาท อนุมัติงบช่วยชาวสวนยาง วงเงิน 12,000 ล้านบาท และอนุมัติงบเพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราระยะสั้น วงเงิน 6,160 ล้านบาท
การอนุมัติตามกรอบงบประมาณเดิมของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อการปรับปรุงปรับทัศนียภาพและอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาล จำนวน 252 ล้านบาท อนุมัติงบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อมสำหรับปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401 ล้านบาท อนุมัติงบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สร้างโรงพัก 5,898 ล้านบาท อนุมัติงบเพื่อซื้ออาวุธ เป็นงบผูกพัน รวม 2,588 ล้านบาท (ผูกพัน 4 ปี) อนุมัติงบเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำให้ทันสิ้นปีงบประมาณ 2557 และกันไว้ใช้ในปี 2558 วงเงิน 17,000 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติงบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) สร้างระบบระบายน้ำ วงเงิน 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ คสช.ยังได้อนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณปี 2558 จำนวน 82,403 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อชำระคืนดอกเบี้ย และเงินต้นจากแหล่งเงินกู้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้มาให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการใช้ดอกเบี้ยในส่วนเงินที่กู้ยืม ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการรับจำนำ 92,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยอีกกว่า 2,200 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวในปี 2557
ส่วนโครงการประชานิยมที่ตกทอดมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ คสช.ได้อนุมัติงบเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 26,000 ล้านบาท (มีเงินทุนสะสม 34,000 ล้านบาท) อนุมัติปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ โดยสั่งยุติกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน หรือเอสเอ็มแอล แล้วโยกงบ 5,700 ล้านบาท ไปรวมกับการสั่งยุติกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน ซึ่งมีงบประมาณ 1,225 ล้านบาท รวมเป็น 6,925 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทน
ขณะเดียวกัน คสช.ยังอนุมัติงบประมาณ 8,500 ล้านบาท ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสนับสนุนงานพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งหัวหน้า คสช. สั่งห้ามนำเงินส่วนนี้ให้บุคลากรท้องถิ่นนำไปใช้ศึกษาดูงานเป็นอันขาด และอนุมัติงบประมาณ 18,000 ล้านบาท ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ไปปรับปรุงงานทั้งระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลน เป็นต้น
คสช. ยังเผยแพร่รายงานผลการปฏิบัติงานของคสช. ในโอกาสครบรอบ 3 เดือน ในทุกด้าน ทั้งงานความมั่นคง เศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม และกิจการพิเศษ ในช่วงเปลี่ยนผ่านโรดแมปจากระยะที่ 1 การแก้ปัญหาเร่งด่วน และขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องที่ติดขัดและเป็นปัญหา เข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 คือ การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การสรรหานายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติในกรอบเวลา 1 ปี โดยหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังได้ระบุถึงการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนรัฐสภาทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งการที่ สนช. มีมติเอกฉันท์ 191 เสียง เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 ที่ คสช.กำหนด ก่อนที่จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ควบคู่กับกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อมาทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จำนวน 250 คน โดยกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จไม่เกิน วันที่ 2 ต.ค.นี้
ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช. ได้มีการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาจำนวน 50 คน โดยกำหนดให้สมาชิก สนช. เสนอแปรญัตติภายใน 7 วัน และต้องจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ก.ย. เพื่อนำเข้าสู่การประชุมวาระ 2 ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ โดยคาดว่า จะประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2557
จากการดำเนินการตามโรดแมปดังกล่าว ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 เพิ่มจากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 0.9 และตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจไทยโตขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สรุปผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนก.ค. 2557 จำนวน1,147 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.4 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2556 การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทำให้มีการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5-2.5 ในปีนี้เป็นร้อยละ 3.5-4.5 ในปีหน้า
ฝันหวานกันล่วงหน้าได้เลยว่า นอกจากจะมีความสุขตามที่คสช.มอบให้ทุกค่ำเช้าแล้ว ปีหน้าเตรียมกระเป๋าตุงกันได้เลย