xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลปัดให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ยันดูแลเกษตรกรทุกกลุ่ม เตือนนักการเมือง สื่อ หยุดจุดชนวนขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาล ปฏิเสธเอาที่ดินของรัฐให้ต่างชาติเช้า 99 ปี ชี้เป็นการเข้าใจผิด ขณะเดียวกัน ยืนยันดูแลเกษตรกรทุกกลุ่ม ไม่แบ่งภาค เร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามลำดับ ติงนักการเมือง สื่อ หยุดใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาชน จุดชนวนความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ชื่นชมเกษตรกรปรับตัวขานรับนโยบายเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชฤดูแล้ง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีกระแสข่าวรัฐบาลจะเอาที่ดินของรัฐไปให้เอกชนและนักธุรกิจต่างชาติเช่า เป็นเวลา 99 ปี ทำให้เหมือนกับเป็นการเอาที่ดินไปขายให้ต่างชาติ ว่า รัฐบาลยังไม่พูดคุยในเรื่องนี้กันเลย และยังไม่ได้กำหนดนโยบายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ข่าวที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จะให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เช่าที่ที่มักกะสัน เพื่อเอาไปพัฒนาเป็นการบริหารสินทรัพย์ แต่กระทรวงการคลัง เห็นว่า การให้เช่าที่ดินในระยะเวลา 50 ปี ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อาจจะต้องมีระยะเวลาที่ยาวกว่านั้นแต่ด้วยข้อกฎหมาย กำหนดระยะเวลาการเช่าสูงสุดไว้แค่ 50 ปี จึงมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับต่างชาติเลย

ดังนั้น ในโลกของสังคมข่าวสารที่รวดเร็ว ต้องการให้ประชาชนติดตามรับฟังข้อมูลอย่างใกล้ชิด อย่าตื่นตระหนก วิพากษ์วิจารณ์ไปเกินเลยกว่าข้อเท็จจริงที่มีอยู่

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีความพยายามของนักการเมืองบางกลุ่มที่จะสร้างความเข้าใจผิด และจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นในสังคม ด้วยการใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาชนโดยการกล่าวหาว่า รัฐบาลช่วยเหลือดูแลประชาชนแบบไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกรณีการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรภาคใต้ แต่ละเลยไม่รับซื้อจากภาคอีสาน

“ท่านนายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเสมอภาค ลดความเกลียดชัง หยุดยั้งความขัดแย้ง มีมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยเหลือคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องเกษตรกร ข้าราชการ นักธุรกิจและประชาชนในเขตชุมชนเมือง เช่น โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับ ตำบล ๆ ละ 5 ล้าน การสนับสนุนเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านเกรด A และ B กองทุนละ 1 ลบ. และเพิ่มเติมให้อีกทุกกองทุน ๆ ละ 500,000 บาท เพื่อใช้จัดทำโครงสร้างที่สำคัญทางการเกษตรในชุมชน อาทิ ลานตากพืชผลทางการเกษตร การสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตร รองรับการรวมแปลงเกษตร เป็นแปลงใหญ่ ของพี่น้องเกษตรกร การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน คมนาคม ขนส่งทุกประเภท ทั้งในเขตชุมชนเมืองและเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็ง ฯลฯ ขณะเดียวกัน ต้องแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่มีการพูดคุยปรึกษาหารือกับตัวแทนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เข้าใจดี

“มาตรการรับซื้อยาง กก. ละ 45 บาทของรัฐบาล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตถือเป็นการช่วยเหลือชาวสวนยางทั่วประเทศในระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มรับซื้อในพื้นที่ภาคใต้ก่อนเพราะตรงกับช่วงฤดูกรีดยาง แต่ชาวสวนยางในภาคอีสานที่ปิดกรีดยางในขณะนี้ก็ยังสามารถเข้าร่วมโครงการได้เมื่อเปิดกรีดอีกครั้งกลางเดือน ก.พ. เพราะรัฐบาลจะรับซื้อไปจนถึง มี.ค. 59”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า คอลัมนิสต์ของ นสพ.บางฉบับ เช่น คอลัมน์ชะแว้ป นสพ.ไทยรัฐ ที่จงใจเขียนโจมตีรัฐบาล ว่า มีแต่โครงการเพื่อคนเมือง แต่ไม่มีโครงการเพื่อชาวนา โดยเฉพาะการสร้างระบบชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ก็ถือเป็นการแบ่งแยกประชาชนเช่นกัน และนำเสนอโดยขาดข้อมูลที่ถูกต้อง

“ท่านนายกฯ และรัฐบาลวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ครอบคลุมการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรมและการรักษาระบบนิเวศ ไม่ใช่เพิ่มพื้นที่ชลประทานเพียงอย่างเดียว เพราะมีข้อจำกัดด้านระดับความสูงของพื้นที่ และแต่ละพื้นที่มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากน้ำน้อยแตกต่างกัน เช่น ข้าว ผลไม้ ฯลฯ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน แต่สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายไปทุกพื้นที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม ปลูกพืชหลักพืชเสริมให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ เพิ่มเติมด้วยการเลี้ยงสัตว์ ปลูกฝังนิสัยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้กับประชาชนควบคู่กันไปรัฐบาลขอให้นักการเมืองหยุดใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาชนเพื่อสร้างคะแนนนิยมเหมือนที่ผ่านมา และขอวิงวอนสื่อมวลชนและพี่น้องเกษตรกรโปรดใช้วิจารณญาน ไม่ตกเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งทั้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หรือประชาชนด้วยกันเอง โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งเกษตรกรที่เดือดร้อน และจะทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วงในระยะยาว”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมพี่น้องเกษตรกรที่มีความเข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศ และให้ความร่วมมือกับนโยบายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชในหน้าแล้งจากข้าวนาปรัง ไปสู่พืชใช้น้ำน้อย และการเลี้ยงปศุสัตว์แทน

“จากข้อมูลการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า พี่น้องเกษตรกรให้ความร่วมมือต่อนโยบายของรัฐบาล มากขึ้นกว่าในอดีต เกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว บางส่วนเลือกการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น สัตว์ปีก หรือเลี้ยงปลาในกระชัง รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล หลายโครงการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากแบบประชารัฐ และชดเชยการสูญเสียรายได้ เช่น การจ้างงานขุดลอกคลองชลประทานในชุมชน ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 40,000 ราย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประทศข้อมูล ณ เดือนมกราคมประมาณ 4 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ ในปี 57/58 และจาก 15 ล้านไร่ ในปี 56/57 หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา ก็จะพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2559 มี 2.91 ล้านไร่ ลดลงจาก 4.84 ล้านไร่ ในปี 57/58 และ 7.99 ล้านไร่ ในปี 56/57

อย่างไรก็ตาม มีพี่น้องเกษตรกรบางรายที่ยินดีจะรับความเสี่ยง และยังคงยืนยันจะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ซึ่งพี่น้องเกษตรกรเหล่านี้เข้าใจดีว่าหากเกิดความเสียหายจะไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะมิใช่ความเสียหายจากภัยพิบัติ และเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลแล้วว่าบางพื้นที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนน้ำได้จริง ๆ เพราะเป็นพื้นที่สูงไม่คุ้มต่อการผันน้ำ หรือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากกรมชลประทานพบว่า ใน ปี 54/55 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการปล่อยระบายออกถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม. ด้วยความกังวลของรัฐบาลในสมัยนั้นว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำซ้อน โดยมิได้คิดเผื่อว่าหากเกิดฝนตกน้อยจะเป็นอย่างไร ยิ่งเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดออกมา ทำให้มีพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำมากทั่วประเทศเพิ่มอย่างมาก เป็น 15 ล้านไร่ ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องณ เวลาที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ในปี 57/58 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนเหลือเพียง 6,777 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับภาวะอากาศที่แห้งแล้งฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นทุนน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ในปี 58/59 เรามีน้ำต้นทุน 4,247 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแม้นไม่มาก แต่รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกหน่วยและกองทัพ เพื่อดูแลให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ว และคาดการณ์ว่า ด้วยแผนการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เราจะมีน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง 1,590 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งรัฐบาลจะเดินหน้าแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในรูปแบบประชารัฐ ร่วมมือกันทั้งประชาชนและรัฐบาล ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 12 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อมิให้ประเทศไทยเกิดความขาดแคลนน้ำ หรือต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตน้ำกินน้ำใช้อีกในอนาคต เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกษตรกรไทยทุกคนบนแผ่นดินไทย”


กำลังโหลดความคิดเห็น