ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความคืบหน้าเรื่องปรับเงินเดือน หรือโบนัส กลายเป็นเรื่องที่ข้าราชการไทย ติดตามมากที่สุดไปแล้ว หากในรัฐบาลปกติก็จะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม เอาใจข้าราชการ
แต่เฉพาะในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ใหญ่ใน คสช.ก็หวังที่จะใช้เป็นการกระตุ้นแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างคราวการประชุมบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงต้นๆ หัวหน้า คสช.สั่งการให้ไปดูว่า จะปรับฐานอัตราเงินเดือนทั้งระบบ เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 8 ของฐานอัตราเงินเดือนเดิม และกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้แก่ชั้นผู้น้อย โดยไม่ปรับเพิ่มเงินเดือน ได้หรือไม่
จากเดิมกำหนดกรอบเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 1,500 บาท โดยเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท แต่ไม่สูงกว่า 12,285 บาท ปรับเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท โดยเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท หรือไม่สูงกว่า 13,285 บาท
มีความคืบหน้าว่า ขณะนี้ “กรมบัญชีกลาง” ก็ยังคำนวณตัวเลขร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า 1 ตุลาคม 2557 นี้จะมีการปรับขึ้นทันหรือไม่ นี้ก็เข้าเดือนกันยายนแล้ว อีกไม่กี่วันก็สิ้นเดือน เพราะหาก คสช.หรือ ครม.ชุดใหม่ พิจารณาแล้ว ก็ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการจะนานไหมก็ต้องจับตาดู
แต่ที่แน่ๆแว่วว่า “สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)” ได้พิจารณาได้ข้อสรุป 4 แนวทาง คือ 1)ปรับฐานอัตราเงินเดือนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 8% ของฐานเดิม 2)กำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พชค.) ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยไม่ปรับเพิ่มเงินเดือน จากเดิมกำหนดกรอบ พชค. 1,500 บาท รวมเงินเดือนแล้วไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท แต่ไม่สูงกว่า 12,285 บาท ปรับเป็น พชค. 2,000 บาท เมื่อรวมกับเงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท หรือไม่สูงกว่า 13,285 บาท 3)ยกฐานอัตราเงินเดือน และเพิ่มเพดานอัตราเงินเดือนให้เหมาะสม 4)ปรับปรุงเงินตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำการ และค่าตอบแทนอื่น
ขณะที่“กรมบัญชีกลาง”ก็เตรียมเสนอคสช.หรือรัฐบาลชุดใหม่แล้ว โดยจะปรับให้กลุ่มที่มีรายได้น้อยก่อน ด้วยวิธีปรับเงิน พชค. ข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภท และทหารกองประจำการ ใช้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 2,300 ล้านบาท หรือเดือนละ 190 ล้านบาท
มีข้อมูลว่า เฉพาะทหารกองประจำการ ที่มี 2.5 แสนนาย ก็จะใช้เกณฑ์เดียวกันกับ พชค. แต่ทหารจะเรียกเบี้ยเลี้ยงประจำการ เฉพาะส่วนนี้ใช้งบฯเพิ่ม 1,170 ล้านบาท/ปี หรือเดือนละ 97 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ใน 2,300 ล้านบาท
ส่วนการปรับฐานเงินเดือนทั้งระบบ 8% อาจไม่ปรับครั้งเดียว ทำเป็นช่วงเวลา หลายบัญชี แล้วค่อยปรับทีละบัญชีตามความเหมาะสม เช่น ปรับตามบัญชี ก. ก่อน เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นค่อยปรับใช้บัญชี ข. และ ค. ตามลำดับ
แต่หากปรับเงินเดือน 8% (2 ขั้น) ประเมินว่าต้องใช้งบฯเพิ่ม 3,800 ล้านบาท/เดือน หรือ 45,600 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้มีส่วนการปรับเงินบำนาญแก่ผู้รับเบี้ยหวัด บำนาญ จะใช้งบฯเพิ่มเดือนละ 700-800 ล้านบาท
ข่าวเงินเดือนนี้ มีอีกข่าวที่สอดรับกัน มีประเด็นว่า กรรมาธิการงบประมาณ 2558 ได้รับคำสั่งจากคสช.ให้ปรับลดงบประมาณ จากทุกส่วนราชการ 400 แห่ง เพื่อนำงบที่ได้ อาจจะประมาณ 4 หมื่นล้านบาท นำไปใช้ในการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทุกระดับขั้น รวมไปถึง ข้าราชการบำนาญ ทหาร ตำรวจ ในปีงบประมาณ 2558นี้
แต่หากลดงบประมาณได้อย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ ได้ในวันที่ 1 เมษายน 2558 แต่ข่าวว่า ทางคสช.อยากให้ตัดงบให้ได้ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อขึ้นเงินเดือนทันทีในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการ พร้อมทั้งเป็นการต้อนรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
แต่ที่แน่ๆ ข่าวว่า ข้าราชการชั้นผู้น้อยจะได้ปรับก่อน เพราะตอนปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท กลุ่มที่ต่ำกว่าปริญญาตรีไม่ได้ปรับ พชค.ด้วย
กลับมาดูการประชุม คสช. ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงิน ๆทองๆข้าราชการ ก่อนจะปรับเปลี่ยนไปเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 1”ในวันที่ 9 กันยายนนี้ ตามโรดแมปของนายกรัฐมนตรีที่ว่าเอาไว้
ช่วงต้นๆ คสช.ได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องการเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) ให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท ปรับให้ได้รับ ชคบ.เพิ่มเป็น 9,000 บาท/เดือน มีผู้อยู่ในข่ายได้รับ ชคบ.เพิ่ม 70,000 คน ใช้งบฯเพิ่ม 151 ล้านบาท มีผลตั้งแต่ 10 ก.ค. 2557 ,มีการเพิ่มกำหนดอัตราค่าครองชีพชั่วคราวตุลาการศาลปกครองทุกระดับ 380ล้านบาท ให้เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม นี้
มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในส่วนของงบกลางจำนวน 180 ล้านบาท เพื่อชดเชยเป็นเงินเดือนแรกบรรจุให้กับ “ข้าราชการทหารชั้นผู้น้อยของกองบัญชาการกองทัพไทย” ที่บรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารก่อนวันที่ 1 ม.ค.56 ให้สอดคล้องกับบัญชีเงินเดือนใหม่ของข้าราชการพลเรือนตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 จำนวน 9,231 คน แบ่งเป็นระดับชั้นสัญญาบัตร1,586 คน และระดับชั้นประทวน 7,645 คน
เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลังมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม ปีงบประมาณ2556 - 2561 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและจูงใจให้ทหารที่จะออกจากราชการ งบประมาณ1,982 ล้านบาท
หลายวันก่อน คสช. ก็เห็นชอบ ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวและเงินช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 5 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 โดยระยะเวลาการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ปรับใหม่ เป็น อัตราขั้นต่ำ 8,610 บาท และอัตราขั้นสูง 12,285 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป อัตราขั้นต่ำ 9,000 บาท อัตราขั้นสูง 12,285 บาทเช่นเดิม
นอกจากมติ คสช. แล้ว ตอนนี้ เห็นว่า คสช. สั่งการให้ สคร. ไป รื้อเกณฑ์โบนัส-เงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ มีการคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2558 โดยจะมีการให้โอกาสรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนอาจจะได้รับโบนัสกับเขาด้วย
เรื่องเงินเดือนนี้ เห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เตรียมข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มที่อัตราเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาทไว้แล้ว แต่ติดอยู่ที่กลุ่มลูกจ้างที่ต้องจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณ เรื่องนี้ถึงสำนักงบประมาณแล้ว
ขณะที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำกับโดยกระทรวงมหาดไทย ข่าวว่า มีออกระเบียบว่าด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ใหม่ มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
มีการแจ้งประกาศ ต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) เพื่อนปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้าง พนักงานจ้างของ อปท. แล้ว
เมื่อได้ก็ต้องมีเสีย โดยเฉพาะเรื่อง “การเบิกจ่ายเงินโบนัสของ อปท.ให้ทันเบิกจ่ายปีงบฯ 57” เชื่อว่าจะยังคาราคาซังไปอีกนาน แม้จะมีการเรียกร้องมาหลายครั้งแล้ว ตามแผนเพจ “ปลัดเชื้อ ฮั่นจินดา” ระบุตอนหนึ่งว่า
“เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำลังดูรายละเอียดการปรับเปลี่ยนการเสนอให้เงินโบนัสให้เป็นเงินรายจ่ายอื่นๆ ในงบประมาณปี 57 โดยให้นำการจ่ายเงินโบนัสของปี 55/56 มาจ่ายรวมในงบปี 57 พร้อมกัน อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย จะว่ายังไง ต่อวิธีการแก้ปัญหาการเบิกจ่ายเงินโบนัส”
เรื่องนี้ฟันธงเลยว่า คงรอรัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่ ที่จะมากำกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อพิจารณา ขอตอนแทนเลยว่า น่าจะแห้ว!!