xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : เรื่อง การปฏิรูปการเมืองของไทย ตอน รัฐธรรมนูญของใคร

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

สืบเนื่องจากการนำเสนอบทความต่างๆ ของผู้เขียนในหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ได้ปรากฏว่า มีผู้อ่านหลายท่านต้องการให้ผู้เขียนจัดระเบียบบทความของผู้เขียนให้เป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการสืบค้น ดังนั้นผู้เขียนจึงขอใช้ชื่อบทความหลักว่า แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย และขอจัดแบ่งกลุ่มของบทความย่อยๆ ตามหัวข้อเรื่อง ดังนี้ (1) ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจโดยทั่วไป (2) ว่าด้วยเรื่องการเมืองไทยและการปฏิรูปการเมือง (3) ว่าด้วยเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน (4) ว่าด้วยเรื่องความเป็นไปในสังคมไทย (5) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ ในโลก (6) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะใช้ชื่อเดิมของบทความว่า มีอะไรบ้างที่ควรทำ What should be done (7) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (8) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา และ(9) เป็นเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา

2. ตอนรัฐธรรมนูญของใคร : รัฐธรรมนูญของประชาชน

เนื่องจากในโลกของเรามีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด (Scarcity) ซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด (Unlimited Demands) ซึ่งความไม่สอดคล้องกันระหว่างทรัพยากรกับความต้องการของมนุษย์ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนหรือกลุ่มคนที่ต้องการจะมีหรือได้ในสิ่งเดียวกัน และในที่สุดก็อาจมีการต่อสู้กันกับกลุ่มอื่นเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ เพราะถ้าได้อำนาจรัฐก็จะทำให้มีความชอบธรรมที่จะครอบครองหรือบริโภคสิ่งที่ตนหรือกลุ่มของตนต้องการ

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องวางหลักเกณฑ์ในการจัดสรรหรือแบ่งปันทรัพยากร (Resource Allocation) ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญที่จะทำให้ทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข ก็คือ กฎระเบียบต่างๆ และกฎหมายที่มีความเป็นธรรม เพราะกฎหมายจะเป็นเครื่องมือ (ของกระบวนการยุติธรรม) ในการรักษาความยุติธรรมในสังคมนั่นเอง และกฎหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่เพียงจะเป็นสิ่งที่ชี้ถึงความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงรูปแบบการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบันและในอนาคตอีกด้วย

สำหรับในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต้องถือเป็นโอกาสดีที่เราคนไทยจะมีส่วนในการกำหนดแนวทางหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องหรือตรงกับความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ โดยผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ถูกใจหรือไม่ตรงตามความต้องการของคนไทยทุกกลุ่ม แต่ผู้เขียนก็หวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงจะมีกรอบหรือแนวทางหลักในการปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังได้จัดทำโดยคนไทย เป็นของคนไทย และเพื่อคนไทยทุกคนอีกด้วย ที่สำคัญก็คือเราไม่ควรลอกเลียนแบบรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นในทุกๆ เรื่อง แต่เราอาจเลือกใช้เฉพาะในส่วนที่ดีงาม เป็นประโยชน์ และเหมาะสมกับสังคมไทยเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ผู้เขียนจึงขอนำเสนอหลักการสำคัญบางประการให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำไปพิจารณาเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดังนี้

2.1 ประการแรก คือ รัฐธรรมนูญนี้จะต้องยึดหลักการดำรงอยู่ของชาติเป็นสำคัญ นั่นก็คือ ความมั่นคงของชาติไทยต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด (National Security Comes First.) และควรระบุถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของคนไทยทุกคนที่จะต้องต่อสู้กับภัยคุกคามทุกรูปแบบเพื่อปกป้องชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราในทุกโอกาส

2.2 ประการที่สอง คือ หลักการว่าด้วยความเป็นไทย (Thainess) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรยึดมั่นในการดำรงรักษาความเป็นไทย คือ จะต้องสืบทอดและดำรงรักษาจารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติไทย เพื่อให้คนไทยรุ่นลูกรุ่นหลานสืบสานต่อไป เพราะถ้าไม่มีการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติแล้ว ความเป็นชาติไทยก็ย่อมจะสูญสลายไป

2.3 ประการที่สาม คือ หลักการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค (Rights, Liberty & Equality) รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องยึดหลักการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน และจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล รวมทั้งให้โอกาสแก่คนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก

2.4 ประการที่สี่ คือ หลักการแบ่งแยก (Separation of Power) ความเป็นอิสระของแต่ละอำนาจ (Independence) และการถ่วงดุลอำนาจ (Balance of Power) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลระหว่างอำนาจต่างๆ โดยจะต้องไม่ขัดกับจารีตประเพณีของไทย และควรสอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

2.5 ประการที่ห้า คือ หลักการว่าด้วยจริยธรรมในทางการเมืองการปกครอง (Code of Ethics) รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ ความมีคุณธรรม มีความโปร่งใส (Transparency) สามารถตรวจสอบได้ ยึดหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วม และต้องระบุถึงความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Accountability) ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองและข้าราชการประจำ ไว้ด้วย

2.6 ประการที่หก คือ หลักการว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (Political Participation) รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีการกระจายอำนาจ(Decentralization)ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับของการปกครอง

2.7 ประการที่เจ็ด คือ หลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (Examination) ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรระบุบทบัญญัติในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับ เพื่อแสดงถึงผลการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ และของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้สาธารณชนได้รับรู้ และควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษสำหรับการกระทำความผิดจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องหรือได้ก่อให้เกิดความเสียร้ายแรงต่างๆ ไว้ด้วย

2.8 ประการที่แปด คือ หลักของความยืดหยุ่น (Flexibility) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรเปิดกว้างให้มีการศึกษาและวิเคราะห์ได้อย่างเสรี และสามารถปรับแก้ได้ในบางกรณี เพื่อให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอยู่ตลอดเวลา

2.9 ประการที่เก้า คือ หลักของความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ (Continuing) สำหรับหลักการในข้อนี้ ผู้เขียนขอนำข้อความบางตอนจากบทความเรื่อง ทำไมต้องปฏิรูปประเทศไทย ตอนที่ 3 เรื่องปฏิรูปไตก๊ก ที่กล่าวถึงเหตุผลที่จะต้องมีหลักความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ไว้ดังนี้

“หลักการข้อนี้มาจากเหตุผลที่ว่าแม้แต่ระบบร่างกายของคนเรายังทำงานอย่างต่อเนื่อง ระบบของประเทศซึ่งได้แก่ ระบบการพิจารณาออกกฎหมาย, ระบบการบริหารราชการ, ระบบการพิจารณาคดีความต่างๆ และระบบการตรวจสอบของรัฐก็ควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้บางครั้งการทำงานของระบบเหล่านี้อาจล่าช้าแต่ก็ไม่ควรหยุดเพราะจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการที่จำเป็นจากรัฐ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า ควรยกเลิกการยุบสภา และอำนาจการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเสียเพื่อให้การทำงานของสภาฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ต้องสะดุดหยุดลง สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีลาออก หรือถูกถอดออก หรือต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยที่ไม่ได้เป็นไปตามวาระที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไปก่อน..........................”1

3. บทสรุป

นอกจากหลักการสำคัญ 9 ประการ ที่กล่าวมาข้างต้น การเปิดโอกาสให้คนไทยทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ (ซึ่งควรมีความรู้และประสบการณ์ในด้านใดด้านหนึ่งมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีขึ้นไป) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และร่วมกันจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติในด้านที่แต่ละคนมีความถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญ ก็น่าเชื่อได้ว่า รัฐธรรมนูญในอนาคตจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เพียงจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและให้ความเป็นธรรมแก่คนไทยทุกคนเท่านั้น แต่ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นของคนไทยและเพื่อคนไทยทุกคนอีกด้วย

ท้ายบทความ : เรื่องขอแสดงความยินดี

ในโอกาสที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีนั้น ผู้เขียนขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ท่านที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ด้วยความจริงใจ ซึ่งมีหลายท่านที่ผู้เขียนได้รู้จักมานานหลายปีทั้งในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ในฐานะเพื่อนและน้องที่ร่วมงานกันมา และในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์และลูกศิษย์ในอดีตซึ่งยังคงติดตามอ่านบทความของผู้เขียนอยู่นั้น ผู้เขียนต้องขอยืนยันกับท่านผู้อ่านทุกท่านที่รู้สึกเป็นห่วงได้สบายใจว่า หลายๆ ท่านในทั้งสององค์กร (ต้องขออนุญาตไม่ระบุชื่อ) เป็นผู้ที่มีความรักชาติ รักสถาบัน มีความรู้มีความสามารถ และเป็นคนดีที่ไว้ใจได้

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นต่อท่านทั้งหลายที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีทุกท่านว่า ประเทศไทยของเราเปรียบได้กับเรือที่มีรูรั่วอยู่เต็มลำเรือและอยู่ในสภาพที่กำลังจะจมน้ำมาเป็นเวลานาน การที่ท่านทั้งหลายได้เข้ามารับอาสาอุดรูรั่วของเรือและกู้เรือให้ลอยขึ้นเป็นปกติ จึงเป็นเรื่องที่ทั้งยากและท้าทายมากที่สุด (เพราะท่านได้กำหนดเวลาในการปฏิบัติภารกิจนี้ไว้ค่อนข้างจำกัดประมาณ 1-2 ปี) เมื่อท่านทั้งหลายกู้เรือได้แล้ว ต่อจากนั้นท่านก็จะต้องซ่อมแซมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์การเดินเรือ เพื่อให้เรือ “ประเทศไทย” แล่นไปสู่เป้าหมาย คือ ความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้าและความสงบสุขของสังคม ความกินดีอยู่ดีของประชาชน และการดำรงรักษาความเป็นชาติไทยของเราในสังคมโลกสืบไป

ในส่วนของประชาชนนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นผู้โดยสารของเรือ “ประเทศไทย” ก็ย่อมจะดีใจที่เห็นท่านทั้งหลายเปรียบเสมือนเป็นกัปตันเรือและลูกเรือที่สามารถอุดรูรั่วของเรือไว้ได้ส่วนหนึ่งแม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้รู้สึกมีความหวังว่า เรือประเทศไทย คงจะไม่จมแล้ว อย่างน้อยก็ขอให้รอดชีวิตก่อน และเมื่อรอดชีวิตแล้ว ประชาชนหรือผู้โดยสารเรือส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกเชื่อมั่นและมุ่งหวังต่อไปว่า กัปตันเรือและลูกเรือชุดนี้จะต้องปกป้องภัยต่างๆ และพาพวกเขาไปสู่ดินแดนใหม่ที่มีความสงบสุขและมีการกินดีอยู่ดีกว่าที่เคยเป็นมา

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายตระหนักดีว่า ในโลกนี้ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง คือ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ทุกสิ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังเช่นชีวิตของเราก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้มีโอกาส (ซึ่งคงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง) ที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ก็ขอให้ท่านทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างเต็มกำลังด้วยความซื่อสัตย์เพื่อขับเคลื่อน เรือประเทศไทยและประชาชนที่เป็นลูกเรือทุกคน ให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ และมุ่งสู่ดินแดนแห่งความเจริญก้าวหน้าและสงบสุข ดังที่คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นลูกเรือ2 ตั้งความหวังไว้

1ดัดแปลงจาก ทำไมต้องปฏิรูปประเทศไทย ตอนที่ 3 : อิคคิวซังกับอาบาโม เรื่องการปฏิรูปไตก๊ก - วีระศักดิ์ นาทะสิริ

2อาจจะมีบางส่วนที่ไม่ใช่คนไทยเพราะยังตกเป็นทาสทางความคิดของต่างชาติ บางพวกที่ไม่ชอบทหารมาตั้งแต่เกิด บางพวกเป็นพวกชอบค้านหัวชนฝา และมีบางพวกที่สูญเสียประโยชน์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น