xs
xsm
sm
md
lg

“5 ภาคีองค์กรสิทธิ” ออกแถลงการณ์จี้ร่าง รธน.ต้องเป็นประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วมแท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 5 องค์กรภาคีจัดงาน “สัปดาห์สิทธิมนุษยชน คุณ (ฆ่า) ค่าประชาธิปไตย/สิทธิมนุษยชน” ที่ ม.ทักษิณ ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้ง และสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อ คสช. และรัฐบาล
 
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ร่วมกับองค์กรภาคี ประกอบด้วย หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดงาน “สัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 คุณ (ฆ่า) ค่าประชาธิปไตย/ สิทธิมนุษยชน” ระหว่างวันที่  13-16 ต.ค.2558 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ
 


 
โดยในช่วงบ้ายวันนี้ (16 ต.ค.) ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ ทุกองค์กรได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง “เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้ง สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำ และกำหนดทิศทางในการบริหารประเทศอย่างขว้างขวาง ในส่วนของกระบวนการนิติบัญญัติ การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรคำนึงถึงหลักนิติรัฐ และความพอสมควรแก่เหตุ 
 
“พร้อมกันนี้ ต้องเปิดโอกาสให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างจริงจัง และขอให้ทบทวนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น และจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง” รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
 

 
สำหรับแถลงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จัดการเลือกตั้ง และสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน” มีเนื้อหาดังนี้
 
ประเทศไทยกำลังเผชิญต่อยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ จากการขาดเสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาความแตกแยกทางขั้วความคิดทางการเมืองที่สะสมเรื้อรังมายาวนาน ภายหลังการปฏิวัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นองค์กรเพื่อเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย และกิจการต่างๆของรัฐไปจนกว่าประเทศไทยจะมีเสถียรภาพทางการเมือง โดยได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้นอีกครั้ง
 
ผลสืบเนื่องจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งบังคับใช้ในขณะนั้น โดยมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อบังคับใช้ในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึก มีการออกประกาศ และคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง มีการนำศาลทหารเข้ามาพิจารณาความผิดต่อพลเรือน ซึ่งได้แสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ หรือการกระทำการอื่นใด ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีแบบศาลทหาร เป็นกระบวนการพิจาณาคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่า เป็นการกระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 116 โดยการพิจารณาตัดสินในคดีดังกล่าวจำเลยจะไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง เป็นการตัดสินที่เด็ดขาดเพียงชั้นศาลเดียว คำพิพากษาของศาลทหารถือเป็นที่สุด การให้อำนาจแก่ศาลทหารในการเข้ามาพิจารณาความผิดทางอาญาของพลเมืองภายใต้การดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง
 
นอกจากนี้ การออกประกาศ และคำสั่งดังกล่าวในหลายๆ คำสั่ง รวมถึงการนำมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาบังคับใช้นั้น ถือเป็นการใช้อำนาจในการบริหารกิจการของรัฐที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ ที่จะต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ มีความพอสมควรแก่เหตุในการบังคับใช้อำนาจ และสามารถตรวจสอบได้ ภายหลังจากที่ได้มีการปฏิวัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ลักษณะและการบังคับใช้คำสั่งต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนในหลายๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมสาธารณะ สิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในชุมชนของตน
 
ด้านกระบวนการนิติบัญญัติ เนื่องจากเป็นการดำเนินกิจการของรัฐภายใต้การปฏิวัติรัฐประหาร การออกกฎหมายโดยสภาเดียว ปรากฏว่า มีพิจารณาเพื่อการออกกฎหมายมาบังคับใช้เป็นจำนวนมาก จากการติดตามการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน พบว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่จำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย รวมถึงบางกรณีจำเป็นที่จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ แต่กลับไม่ได้มีการจัดทำกระบวนการในลักษณะดังกล่าวอย่างจริงจัง เช่น การออกกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า การให้สัมปทานเหมืองแร่และแหล่งหิน แผนแม่บทป่าไม้ การจัดการชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น
 
เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เนื้อหาบางประการในกฎหมายหลายฉบับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ มากกว่าการมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ในขณะเดียวกัน สิทธิที่จะไม่ถูกซ้อมทรมาน และกระทำการที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหาย การคุ้มครองนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น ยังไม่ได้รับการแก้ไข และพิจารณาให้มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานทางสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันได้มีการตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่แล้ว แต่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วม และยังคงเป็นข้อกังขาอยู่ว่า แนวทางในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะรับรอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความสอดคล้องต่อพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่
 
ด้านสถาบันการศึกษา มีการจำกัดเสรีภาพทางด้านการแสดงความเห็นทางวิชาการ ทำให้ทางมหาวิทยาลัยออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบที่จำกัด นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปลายปี 2558 นี้ เมื่อมีการเปิดเคลื่อนย้ายเสรีทางการค้าการลงทุน การเคลื่อนย้ายของแรงงาน และประชากรระหว่างประเทศสมาชิก การเปิดเสรีทางด้านการศึกษา และสิ่งที่รัฐภาคีต้องรับมือร่วมกันนั่นคือ การมีมาตรการคุ้มครอง และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน
 

 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้าย ขอเรียกร้องรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนี้
 
1.ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำ และกำหนดทิศทางในการบริหารประเทศอย่างขว้างขวาง และจริงจัง  
 
2.ในส่วนของกระบวนการนิติบัญญัติ การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรคำนึงถึงหลักนิติรัฐ และความพอสมควรแก่เหตุ โดยเปิดโอกาสให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างจริงจัง และขอให้ทบทวนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น
 
3.จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ได้ลงท้ายด้วยข้อความ ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ 16 ต.ค.2558
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น