xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุ้มครองสิทธิฯ ลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันนิติวิทย์ และกรมคุก ในการแจ้งสิทธิ-คุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กรมคุ้มครองสิทธิฯ ลงนาม MOU ร่วมกับสถาบันนิติวิทย์ และกรมราชทัณฑ์ ในการแจ้งสิทธิ และการคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม

วันนี้ (16 ก.ค.) ที่อาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เมื่อเวลา 10.00 น. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดย พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การแจ้งสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544” ระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิฯ กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมราชทัณฑ์ โดยนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการลงนามในครั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภารกิจด้านการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพื่อเป็นการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อรองรับนโยบายเร่งด่วนของกรมในการขยายกลุ่มผู้รับบริการให้เกิดความทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ด้านผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่จะบูรนาการร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน โดยมี 2 กรณีคือ 1. ในส่วนของการรับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเหยื่อ ผู้ร้องทุกข์ หรือจำเลยในคดีอาญาสามารถมาร้องทุกข์ที่สถาบันนิติวิทย์ หรือจากหน่วยใดก็ตามก็เท่ากับร้องทุกข์ที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ซึ่งหลังจากนี้จะมีความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิฯประชาชน 4 หน่วยงาน คือ 1. กรมคุ้มครองสิทธิฯเป็นหน่วยงานหลัก 2. สถาบันนิติวิทย์ฯให้ความร่วมมือในด้านเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์ทราบ 3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรณีหากพบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใส่ความ ป.ป.ท.ก็จะเข้ามาดำเนินการเลยทันที และ 4. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน หรือสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่ม

ทั้งนี้ ทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมสืบสวนหาข้อเท็จจริงเช่นกรณีที่หาดราไว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราจะช่วยตรวจพิสูจน์สัญชาติคนที่มาอยู่ก่อน นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ทำสัญญากับกับสหประชาชาติในเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ซึ่งหลังจากนี้จะให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบ เมื่อรับผู้ต้องขังเข้ามา หากพบว่าถูกซ้อมให้แจ้งได้ทันที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเข้าไปดูแลตามกระบวนการพิสูจน์ทราบ และ 2. กรมคุ้มครองสิทธิฯมอบหมายให้สถาบันนิติฯ จัดอบรม และประสานแพทย์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะแพทย์นิติเวชให้มีความรู้ในเรื่องการซ้อมทรมาน จากนั้นให้ขึ้นทะเบียน ซึ่งหมายความว่าแพทย์จะมีค่าตอบแทนด้วย ในขณะเดียวกันให้แพทย์เหล่านี้รายงานโดยตรงมาที่กระทรวงยุติธรรมภายใต้ 4 หน่วยงาน และจากนี้ไปการคุ้มครองสิทธิจะไม่เน้นเพียงการจ่ายเงินเยียวยา แต่จะครอบคลุมมาตรฐานสากลของ UN ในเรื่องการห้ามซ้อมทรมานและห้ามอุ้มหาย ร่วมไปถึงการละเมิดสิทธิในประเทศไทยที่ทุกคดีจะมีการสานต่อ

“มันคงถึงเวลาสำหรับช่วงการปฏิรูปที่เราต้องแก้ให้ถึงต้นตอว่าอะไรทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กลับมาดำรงตำแหน่ง ผอ.สถาบันนิติฯ กว่า 3 อาทิตย์ มีกว่า 10 คดีใหญ่ที่มีการร้องเรียนมาที่สถาบันนิติฯเช่น กรณีผู้เสียหายเป็นโรคที่เกิดจากการได้รับสารพิษจากการทำเหมือง หรือกรณีผู้ที่ถูกมอมยาแล้วตรวจพบว่ามีสารพิษ แต่ปรากฏว่ามีการสับเปลี่ยนวัตถุพยาน





กำลังโหลดความคิดเห็น