xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ว่าด้วยเรื่อง “พระคึกฤทธิ์” กับวิวาทะ “ปาฏิโมกข์ 150-227 ข้อ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

กลายเป็นประเด็นร้อนที่พุทธศาสนิกชนต่างแสดงทัศนะและให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ถึงกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้หยิบเรื่องที่มีการร้องเรียน พระอธิการคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล หรือ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่เป็นเจ้าของวลีดัง “พุทธวจน” ตัดศีลปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์เหลือเพียง 150 ข้อ จากเดิมที่ตามพระธรรมวินัยกำหนดไว้ 227 ข้อ โดย พศ.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากแต่เคยเกิดปัญหามาแล้วก่อนหน้านี้ กระทั่ง “วัดหนองป่าพง” อันเป็นวัดต้นธารของพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่มีหลวงปู่ชาเป็นผู้มีก่อตั้ง ได้มีแถลงการณ์ออกมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2553ให้ตัดวัดนาป่าพง จ.ปทุมธานี ออกจากสาขาวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

และต้นเหตุก็สืบเนื่องจากพระอาจารย์คึกฤทธิ์กระทำสังฆกรรมทางวินัย โดยสวดปาฏิโมกข์แค่เพียง 150 ข้อ

ทั้งนี้ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ศึกษาและตีความ ยึดถือตามพระไตรปิฎกแปลภาษาไทยฉบับสยามรัฐอย่างเดียว ซึ่งพิมพ์ไว้ว่า “สิกขาบท 150 ถ้วน” จนมีที่มาของการตัดศีลเหลือ 150 ข้อ และมีการตีพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับใหม่ของตนขึ้นมาออกเผยแผ่แก่สังคม ในขณะที่คณะสงฆ์ไทยได้ยึดถือตามหลักคำสอนของ “พระวินัยปิฎก” 8 เล่ม และเป็นที่มาของการสวดศีลปาฏิโมกข์ 227 ข้อ

กระนั้นก็ตาม ภายหลังจากที่มีการร้องเรียนกรณีพระอาจารย์คึกฤทธิ์ตัดศีลเหลือ 150 ข้อจนกระทั่งกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก วันที่ 17 สิงหาคม 2557 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้ดำเนินการประสานเจ้าคณะอำเภอลำลูกกา ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที และได้เข้าพบพระอธิการคึกฤทธิ์ที่วัดนาป่าพง เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งทางพระอธิการคึกฤทธิ์ยอมรับว่ามีการตัดศีลของพระสงฆ์เหลือเพียง 150 ข้อจริง ทั้งยืนยันว่าเป็นการยึดคำสอนตามพระไตรปิฎก ไม่ได้แก้ไขอะไร

“เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลของพระสงฆ์ และมหาเถรสมาคม เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย จึงต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมมหาเถรฯ เพื่อขอให้ตั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในกรรมการมหาเถรฯ หรือพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถตามที่มหาเถรฯ เห็นสมควร มาพิจารณากรณีของพระอธิการคึกฤทธิ์ว่าจะถือว่ามีความผิดหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ในอดีตเคยเกิดกรณีที่คล้ายๆ กับกรณีนี้มาแล้ว เช่น กรณีของสำนักสันติอโศก ซึ่งทางมหาเถรฯ พิจารณาแล้วมีมติปกาสนียกรรม ซึ่งหมายความว่าตัดออกจากคณะสงฆ์ไทย” นายนพรัตน์กล่าว

ในขณะที่ทางพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้ชี้แจงว่า ยอมรับว่าตัดศีลของพระสงฆ์เหลือแค่ 150 ข้อ แต่รับพระวินัยทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ทั้งนี้บทบัญญัติคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากกว่า 2,400 ข้อ แยกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ คือ ส่วนแรก บัญญัติก่อนระบบปาฏิโมกข์ ประกอบด้วย จุลศล มัชฌิมศิล มหาศิล จำนวน 363 ข้อ ส่วนที่สองปาฏิโมกข์ อาทิพรหมจริยาสิกขา จำนวน 150 ข้อ และส่วนที่สาม อภิสมาจาริกสิกขา จำนวน 1,940 ข้อ ซึ่งพระสงฆ์จะต้องรักษาทั้งหมด

“ ที่นำมาสวดมาฏโมกข์เพียง 150 ข้อนั้น ก็ไม่ได้ตัดส่วนที่เหลือออกไป พุทธศาสนิกชนเข้าใจว่าการสวดปาฏิโมกข์ต้อง 227 ข้อ ศีลที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ไว้ ในหนังสือพุทธวจนที่แปลเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ไม่ได้ตัดคำสอนของพระพุทธองค์ และก็ไม่มีใครไปตัดคำสอนของพระพุทธองค์ได้ ซึ่งจะต้องรักษาไว้ทั้งหมดมากกว่า 2,400 ข้อ เรื่องนี้ต้องขอความเป็นธรรมไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งถ้าทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเรียกไปสอบถามหรือสอบสวนก็ยินดี”พระอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบาย

ด้านพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการ มส.ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ภายหลังจากที่มีกระแสร้องเรียนออกมานั้น ส่วนตัวแล้วอยากให้ความรู้พุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับศีลปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ว่าโดยศีลที่สวดปาฏิโมกข์อยู่มีด้วยกัน 2 อย่าง คือ สิขาบทที่เป็น “พุทธบัญญัติ” และ “อภิสมาจาร” บัญญัติ หรือความประพฤติของภิกษุสงฆ์ ซึ่งพระมหาเถระที่เป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลกว่า 500 รูป อาทิ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอุบาลี ได้สังคายนาแล้ว โดยพระสงฆ์ต้องปฏิบัติตามพุทธบัญญัติอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง คือ อภิสมาจาริกบัญญัติ หรืออภิสมาจาร รวมเป็น

“พระธรรมวินัย” 227 ข้อ

“ส่วนการที่มีการตัดศีลปาฏิโมกข์เหลือเพียง 150 ข้อ ขัดต่อหลักปฏิบัติที่พระอรหันต์ได้สังคายนาถือสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานหรือหลังปรินิพพาน ศีลปาฏิโมกข์เหล่านี้ก็ยังมีอยู่ พระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ที่มีความรู้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา พอมาถึงพระสงฆ์รุ่นปัจจุบันก็ควรยึดหลักปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา หากจะไปตัดออกหรือละทิ้งอภิสมาจารให้เหลือ 150 ข้อนั้น เป็นไปไม่ได้ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปถึงจะเหมาะสม”

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20สิงหาคม มหาเถรสมาคมก็ได้มีมติออกมาแล้วว่า กรณีการตัดศีลเหลือ 150 ข้อนั้น มหาเถรฯไม่เอาผิด แต่การสวดปาฏิโมกข์ตามหลักแท้จริงโดยยึดถือตามพระวินัยปิฏกมติมหาเถรฯยืนยันว่าสงฆ์ควรสวดศีลปาฏิโมกข์จำนวน 227 ข้อ
การที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวอ้างถึงที่มาของศีลปาฏิโมกข์เพียง 150 ข้อ มหาเถรฯ พิจารณาแล้วว่า ศีลในพระสูตรจะต่างจากในพระวินัยปิฎก ที่มีการกำหนดไว้ 227 ข้อ ดังนั้นมหาเถรฯ จึงมีมติจะทำคำอธิบายที่มาที่ไปของศีล 227 ข้อ ให้ชัดเจน โดยมอบหมายเจ้าคณะปกครอง จ.ปทุมธานี ให้ไปชี้แนะและอธิบายให้พระอาจารย์คึกฤทธิ์รับทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข โดยที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ต้องเข้ามาชี้แจงที่ประชุมมหาเถรฯ แต่อย่างใด พร้อมทั้งออกประกาศมหาเถรฯ ให้คณะสงฆ์ไทยทั่วประเทศ ยึดศีลปาฏิโมกข์ 227 ข้อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ เพื่อเป็นบรรทัดฐานความเข้าใจที่ตรงกันด้วย

“การกระทำของพระคึกฤทธิ์ไม่ถือว่าผิด ท่านไม่มีเจตนาบิดเบือน เนื่องจากท่านอ่านหนังสือคนละเล่มกัน ซึ่งอาจจะยังมีเนื้อหาไม่ครบถ้วน และในที่ประชุมมหาเถรฯ มีการกล่าวกันว่า ที่ผ่านมาการสวดปาฏิโมกข์ก็มีไม่ถึง 150 ข้อ จนกระทั่งสุดท้ายมีการเพิ่มเติมจนถึง 227 ข้อ แต่พระคึกฤทธิ์นำหลักในพระสูตร 150 ข้อเท่านั้นมาเผยแผ่ ขณะที่คณะสงฆ์ไทยจะยึดจากพระวินัยปิฎก 8 เล่ม โดยเฉพาะเล่มที่ 2 กับเล่มที่ 8 สรุปชัดเจนว่า ศีลปาฏิโมกข์มี 227 ข้อ ส่วนการสวดศีลปาฏิโมกข์ไม่ถึง 227 ข้อจะมีความผิดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ โดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 กำหนดให้มหาเถรฯ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รักษาระเบียบและพระธรรมวินัย ตลอดจนคำสอนทุกอย่างไว้ หากมีการฝ่าฝืนจะต้องพิจารณาตามมูลเหตุที่เกิดขึ้นว่ามีเจตนาอย่างไร ถึงจะพิจารณาการกำหนดลงโทษ”

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะดำเนินไปเช่นไร

### ล้อมกรอบ ###

เส้นทางธรรม “อาจารย์คึกฤทธิ์”
จากนร.เตรียมทหารสู่ร่มกาสาวพัตร์

กล่าวสำหรับประวัติของพระอาจารย์คึกฤทธิ์นับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยก่อนที่ท่านจะตัดสินใจบวช ท่านก็เป็นปุถุชนที่มีความรู้ความสามารถในด้านการทหารและการเมืองการปกครอง และนี่ก็คือประวัติของพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจครองผ้าไตรจีวร

พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2506 ที่โรงเรียนพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ

จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน รุ่นที่ 5 กรุงเทพฯ จากนั้นสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 22 และจบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 33

ในขณะรับราชการชั้นยศ ร้อยโท สามารถสอบชิงทุนกองทัพบกได้ไปศึกษาต่อที่ ฟอร์ดเบญจามิน แฮริสัน สหรัฐอเมริกา และสำเร็จปริญญาโท สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ (ภาคนอกเวลาราชการ รุ่นที่ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ย้อนกลับไปในระหว่างที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์เรียนอยู่เตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ตอนปิดเทอม โยมแม่ได้เคยพาท่านไปบวชกับหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่วัดหนองป่าพงเป็นเวลา 1 เดือน จึงเริ่มมีการศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำให้ตั้งใจเริ่มฝึกหัดรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด และท่านก็กลับไปยังวัดหนองป่าพงในทุกช่วงเวลาปิดเทอม กระทั่งได้มีโอกาสออกบวชอีกครั้งในตอนปิดเทอมชั้นปีที่ 4 ของนายร้อยจปร. และครั้งนี้ได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อหลวงพ่อชาว่า จะใช้ชีวิตฆราวาสอีกเพียง 10 ปี แล้วขอให้มีเหตุปัจจัยผลักดันให้ได้ครองเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต

หลังจากตั้งอธิษฐานกับหลวงพ่อชา ก็ได้ใช้ชีวิตเช่นปุถุชนทั่วไป เรื่อยมาจนกระทั่งครบ 10 ปี ตอนนั้นหลวงพ่อชาได้มรณภาพ พระอาจารย์คึกฤทธิ์รู้สึกเบื่อหน่ายทางโลก ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ค่อยเห็นประโยชน์จากการใช้ชีวิตเป็นฆราวาส แต่ด้วยความรู้สึกหลังจากที่ปฏิบัติธรรมมาตลอด 14 ปี นับตั้งแต่เจอหลวงพ่อชา ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้เข้ามาบวชอีกครั้ง

ครั้งนี้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ที่สำนักสงฆ์บุญญาวาส จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง มีพระอาจารย์ตั๋น (พระอาจารย์อัครเดช ถิรจิตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส หลังจากบวชได้ระยะหนึ่ง ในระหว่างออกธุดงด์ร่วมกับพระเถระอีก 2 รูป ท่านได้มาบำเพ็ญภาวนา พำนักอยู่ยังผืนนาอันเป็นของโยมแม่ท่านยกถวาย ณ.บริเวณลำลูกกา คลองสิบ จังหวัดปทุมธานี โดยในปี พ.ศ. 2545 หรือ 8ปีต่อมาหลังจากที่ท่านได้บำเพ็ญภาวนาสถานที่แห่งนี้ ได้จัดตั้งขึ้นทะเบียนเป็นวัดนาป่าพงจนถึงปัจจุบัน

กำลังโหลดความคิดเห็น