xs
xsm
sm
md
lg

จับทาง คสช.หั่นทิ้งประชามติ ปิดจุดเสี่ยงร่าง รธน.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โภคิน พลกุล
รายงานการเมือง

ช่วงขวบเดือนแรกหลังรัฐประหาร เรียกได้ว่าไม่ต่างจากช่วงฮันนีมูน เพราะดูเหมือนว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำอะไรก็ดูดีไปเสียหมด

จึงไม่แปลกที่ผลโพลเกือบทุกสำนัก ยกให้ “บิ๊กตู่” ตัวลอยติดลมบน ขึ้นหึ้งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ชนิดนอนมา ไม่มีคู่แข่งคนไหนจะมาเบียดเสียดเข้าป้ายไปได้ และตามสายข่าววงในแทบทุกคนฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า “บิ๊กตู่” จะนั่งตำแหน่งนายกฯด้วยตัวเอง หลังจากเกษียณอายุราชการ และลงจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.ตามสูตร

แต่กว่าจะถึงวันปรับโหมดตัวเองจากนายทหารจอมเด็ดขาดไปสวมสูทหล่อเนี้ยบเข้าไปนั่งเก้าอี้ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล “บิ๊กตู่” ต้องเจอกับมรสุมอีกหลายระลอกที่จะถาโถมซัดเข้าใส่

ล่าสุดมีข่าวรั่ว-ข่าวหลุด ออกมาว่า “วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษา คสช.ด้านกฎหมาย ได้นำ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” ซึ่งผ่านการร่างจาก “หัวกะทิ” ในคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ซึ่งตั้งขึ้นมาปฏิบัติภารกิจเฉพาะ ให้ คสช.พิจารณาแล้ว โดยในทุกประเด็น คสช.เห็นชอบเกือบหมดไม่มีติดขัด-ไม่มีทักท้วง เพราะไว้ใจฝีไม้ลายมือของ “วิษณุ” ว่าสามารถอุดช่องโหว่ได้ทุกช่อง แถม คสช.ได้ตั้งชุดทำงานพิเศษขึ้นมา ตรวจสอบ “ธรรมนูญชั่วคราว” ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ด้วย ทำให้การตรวจทาน-ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ของธรรมนูญชั่วคราวแต่ละมาตราเป็นไปอย่างรอบคอบ

ทว่า คสช.ติดใจในประเด็นการ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งมีการระบุขั้นตอนอยู่ใน “ธรรมนูญชั่วคราว” ด้วย โดยกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอาไว้ 35 คน มาจากสภาปฏิรูป 20 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน และ คสช. 5 คน

ในความเป็นจริงแล้วสัดส่วนที่แบ่งออกมานั้น หากสังเคราะห์ถึงเนื้อในแล้วเรียกได้ว่ามาจาก คสช.ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ คสช.จะต้องชงชื่อสภาปฏิรูป ชงชื่อ สนช. ชงชื่อ ครม.เองด้วย

เรียกได้ว่างานนี้ “คนนอก” ที่ คสช. ไม่ได้รับเชิญห้ามเตะต้อง-ออกความเห็น “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยเด็ดขาด

งานช้างของ คสช.ในการ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการตั้งคนขึ้นมาดูแล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่ “บิ๊กตู่” เลือกใช้บริการ “เนติบริกร” จากค่าย “กฤษฎีกา”

แต่ประเด็นสำคัญที่ คสช.ต้องการให้ตัดออกจาก “ธรรมนูญชั่วคราว” คือ การกำหนดให้ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ต้องผ่านการทำ “ประชามติ” ด้วย ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คสช.จึงสั่งการให้ “วิษณุ” ไปปรับแก้ถ้อยคำเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก คสช.ต้องการที่จะนำ “ธรรมนูญชั่วคราว” มาบังคับใช้โดยเร็ว

เหตุผลที่ คสช.เลือกที่จะไม่ให้การทำ “ประชามติ” มีผลบังคับอยู่ใน “ธรรมนูญชั่วคราว” เพราะแม้กระบวนการ “ประชามติ” จะได้รับการยกให้เป็นกระบวนการในการแสวงหาทางออก หากมีความขัดแย้งในประเด็นสำคัญๆ แต่ต้องยอมรับว่า มีความเสี่ยงสูงหากเอาอนาคตไปแขวนไว้กับการออกเสียงประชามติ เพราะได้มีการวางบรรทัดฐานไว้แล้วว่า การออกเสียงประชามติจะต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ใช่เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งขณะนี้ประชากรไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง และออกเสียงประชามติมีอยู่ 45 ล้านเสียง เมื่อการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ที่ผ่านมา

เสียงข้างมากจะต้องได้ถึง 23 ล้านเสียง จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ดูได้จากช่วงปลายสมัยพรรคเพื่อไทยที่มีความพยายามในการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกสกัดไว้โดยศาลรัฐธรรมนูญที่ไล่ส่งให้ไปทำประชามติก่อนที่จะลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 แต่จนแล้วจนรอดพรรคเพื่อไทยที่คุยโวว่ามีฐานเสียงไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ ก็ไม่กล้าเดินหน้าชน เพราะติดล็อคเรื่องคะแนนเสียงประชามติที่ว่า ถึงขนาดดิ้นรนที่จะแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้รู้แล้วรู้รอด

และแทบไม่ต้องเดาหาก คสช.เลือกใช้การประชามติมาอยู่ในออปชันการร่างรัฐธรรนูญใหม่ด้วย ก็จะเข้าทาง “ขั้วอำนาจเก่า” ที่เตรียมเดิมเกมใต้ดินรณรงค์ให้ลิ่วล้อ “โหวตโน-โนโหวต” เตะตัดขา คสช.อย่างแน่นอน

หากสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติเข้าจริง มีหวังต้องพังกันทั้งขบวน

เป็นเหตุให้ คสช.เลือกที่จะ “เพลย์เซฟ” และสั่งให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติเสียใหม่ เพราะไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนที่อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

ผลดีของการตัดออกหรือปรับเปลี่ยนถ้อยคำใน “ธรรมนูญชั่วคราว” ทาง คสช.ได้ประเมินดูแล้วว่ามีได้มากกว่าเสีย แน่นอนว่าต้องเปิดช่องให้ “นักวิชาการ-คนเสื้อแดง” ออกมามีแอคชั่นแหกปากเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ก็รู้กันดีว่า หาได้น้อยคนที่จะอาจหาญมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ในยามนี้

อีกทางหนึ่ง คสช.ประเมินว่า หากปล่อยให้กำหนดการทำ “ประชามติ” ไว้ใน “ธรรมนูญชั่วคราว” เหมือนผูกเงื่อนตายเอาไว้ หากกระแสไม่เป็นไปในทางบวก แล้วจะไม่ทำ “ประชามติ” ก็ไม่ได้แล้ว เพราะถือเป็นกฎหมายไปแล้ว แต่หากไม่ระบุไว้ใน “ธรรมนูญชั่วคราว” แล้วรอเช็คกระแสดู โดยใช้ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” (กอ.รมน.) เข้าไปสำรวจความคิดเห็นแบบละเอียด

หากเรตติ้ง “บิ๊กตู่ - คสช.” ยังไม่ตก จะกลับลำมาทำ “ประชามติ” ได้ก็ไม่สาย ตรงกันข้าหากเรตติ้งตก ก็สามารถทำเนียนลืมการทำ “ประชามติ” ก็ยังง่ายดายเสียกว่า

นั่นเพราะ คสช.มีบทเรียนมาจากยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตัดสินใจยุบสภา เพราะคิดคำนวณแล้วว่ากระแส “ไม่เอาทักษิณ” พุ่งปรี๊ด แล้วคะแนนความนิยมพรรคประชาธิปัตย์ผนวกกับพรรคภูมิใจไทย สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่เอาเข้าจริงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งไม่กี่วัน คะแนนความนิยมของ “เพื่อไทย” ทิ้งขาด จน “เดอะมาร์ค” ต้องขอแรง “บิ๊กตู่” ออกมาจ้อหน้าจอทีวีให้เลือกคนดีมาแล้ว แต่ก็ยังแพ้แบบทิ้งขาดม้วนเดียวจบ

หรือหากจะกำหนดให้การออกเสียงประชามติ จะอาศัยเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งก็ตาม แต่ คสช.ย่อมไม่อยากประมาท เพราะหาก “แพ้โหวต” ขึ้นมา รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แทบที่จะไร้ความหมายไปเลย

เพราะอย่างการลงประชามติ “รัฐธรรมนูญ 50” เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ที่แม้ตะผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ก็ไม่งานหมูๆอย่างที่คิด ช่วงโค้งสุดท้ายรัฐบาลทหารยังต้องปูพรมรณรงค์ธงเขียวให้พรึ่บพรั่บทั่วเมืองไปหมด เมื่อระฆังหมดยกก็ได้รับชัยชนะ 14 ต่อ 10 ล้านเสียง แต่รัฐธรรมนูญก็ผูกติดมากับวาทกรรม “รับไปก่อน แก้ทีหลัง”

ฉะนั้นอยู่แบบเพลย์เซฟ เลือกเล่นในมุมที่ไม่เสี่ยงมากนัก “บิ๊กตู่ - คสช.” น่าจะปลอดภัยมากกว่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กำลังโหลดความคิดเห็น