xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปประเทศ ต้องไม่ใช่เป็นเพียงการทอนตังค์ระหว่างกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิรูปการเมือง พูดกันอย่างกำปั้นทุบดินแล้วก็คือจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นเพียงพิธีกรรมที่บดบังสารัตถะสำคัญที่สุดที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลง

“การทอนตังค์ระหว่างผู้มีอำนาจ”

คำเท่ ๆ นี้ไม่ใช่ของผมหรอกครับ แต่เป็นของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยพูดเอาไว้ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สมัยยังออกอากาศอยู่ช่อง 9 เมื่อ 10 ปีก่อนโน้น หรือย้อนไปไกลกว่านั้นก็คือพูดหลายครั้งในการประชุมข่าวและวงสนทนายามเช้าที่บ้านพระอาทิตย์กับพวกเรา

“แต่ละรัฐธรรมนูญที่ร่างกันขึ้นมานั้น ก็คือ...การทอนตังค์ระหว่างผู้มีอำนาจ”

นี่คือประโยคที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุลพูดไว้ต่อวสาธารณะตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2547 ในวาระวันรัฐธรรมนูญพอดี

“ผมจะอุปมาอุปไมยให้ฟัง ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ราคาพืชผลทางเกษตรในประเทศไทย ถูกตกลงโดยคน 4 - 5 คนบนโต๊ะไพ่นกกระจอกแถว ๆ ถนนเสือป่า พ่อค้าพืชผลรายใหญ่และนายธนาคารผู้ยิ่งใหญ่เขาจะตีไพ่นกกระจอกกัน แล้วเขาจะบอกว่าข้าวปีนี้ราคาเท่าไหร่ดี ... ก็เหมือนกับผู้มีอำนาจในแต่ละกลุ่มโดยผ่านสายงานแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอะไร ตัวเองบ้าง พรรคการเมืองบ้าง ส่งคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคบ้าง เป็นรัฐมนตรีบ้าง เป็นกรรมการบริหารพรรคบ้าง แล้วถ้ามีนโยบายอะไรก็ตามที่วางไปปั๊บและพวกเขาได้ประโยชน์หมด เขาจะโอเคกันหมด นั่นคือลักษณะการทอนเงินซึ่งกันและกัน เพื่อให้กลุ่มของเขาได้มีอำนาจ ถึงกลุ่มเขาไม่ได้ เขาไม่ถือ ให้กลุ่มตรงข้ามมี แล้ววันหนึ่งเขาก็สามารถกลับมาอีก ก็คือสมบัติผลัดกันชม...ในนามของประชาชน”

จะเห็นได้ว่าคำ “สมบัติผลัดกันชม” นั้นท่านผู้นี้ใช้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาใช้มาพูดในช่วงนี้

นี่คือลักษณะร่วมของการเปลี่ยนแปลงแทบทุกครั้ง

ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงในรูปแบบไหน

ก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับล้วนเป็น “การทอนเงิน(ระหว่างกลุ่มอำนาจ)” คือภาพสะท้อนของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสังคม ในแต่ละยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นจะมองเห็นภาพรวมชนิดป่าทั้งป่า ไม่ใช่แค่ต้นไม้ 2- 3 ต้นหรือใบไม้กำมือเดียว ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 16 ฉบับได้ดี ก็มีแต่จะต้องเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจการเมืองไทยทั้งระบบในรอบกว่า 100 ปีที่ผ่านมาที่มีการสร้างระบบกฎหมายสมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทย โดยยึดถือการปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ. 2435 เป็นหลักไมล์สำคัญ เพราะนอกจากเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบกฎหมายในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกด้านครั้งสำคัญที่ส่งผลสะท้อนสะเทือนมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามมาอีกหลายครั้งที่อาจจะแยกกล่าวถึงได้ อาทิ ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475, รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490, 14 ตุลาคม 2516 แต่โดยสารัตถะแล้ว เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจการเมืองที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนและส่งต่อกันเข้าไปควบคุมโครงสร้างระบบราชการของสังคมไทยที่เริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2435 ทั้งนั้น

จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวมศูนย์อำนาจที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2435 เมื่อโครงสร้างของระบบราชการไม่ได้เปลี่ยนไป และกลับทวีความเข้มแข็งขึ้นมาโดยตลอดในรอบ 100 ปี แม้ทุกวันนี้ในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเราจะมีรูปแบบประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีมาครอบทับ

ประเทศไทยไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นจริงเลย อย่างน้อยก็ในความหมายที่เรารับรูปแบบมาจากตะวันตก มีแต่การเลือกตั้ง มีแต่โครงสร้างองค์กรรัฐชื่อเหมือน ๆ กับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่เรารับเข้ามา เป็นอย่างนี้มานานแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยไทย หากจะนับจากปี 2475 อันเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองอะไรมากมายนัก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของโครงสร้างการเมืองไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435 ที่ก่อตั้งกลไกการปกครองสมัยใหม่ และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ในสมัยนั้นมีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม อีกทั้งยังได้สลายอำนาจของขุนนาง และสร้างรูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย พร้อม ๆ ไปกับการปฏิรูปสังคมในทุก ๆ ด้าน ถือว่าเป็นการปฏิวัติหรือปฏิรูปอย่างแท้จริงของการเมืองไทย โดยมีมูลเหตุสำคัญจากการป้องกันภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม โดยมหาอำนาจตะวันตก

การปรับตัวของโครงสร้าง เป็นการลอกเลียนแบบจากการปกครองอาณานิคมของประเทศตะวันตก ที่ตอบสนองอย่างดีกับระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการปกครองแบบบังคับบัญชาควบคุมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงลงสู่ระดับล่าง และเป็นการปกครองแบบใช้กลไกและเครื่องมือรัฐมาควบคุมประชาชนให้ทำตาม ในช่วงแรก ๆ ยังไม่เป็นปัญหาอะไรมากมายนัก กลับสร้างความเจริญด้วยซ้ำ

เพราะผู้ปกครองยังยึดถือการปกครองโดยมี “ทศพิธราชธรรม” เป็นหลัก

แต่เมื่อสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาส่วนใหญ่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองการปกครอง โดยนำโครงสร้างรูปแบบทางการเมืองใหม่มาสวมครอบทับลงไปบนโครงสร้างพื้นฐานระบอบเดิม อันได้แก่โครงสร้างอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์

กลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นการเปลี่ยนอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์มาสู่กลุ่มขุนนาง และต่อมาก็เป็นการเปลี่ยนถ่ายจากขุนนางพลเรือนไปสู่ขุนนางทหารในการรัฐประหารหลายครั้ง

เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักการเมืองพลเรือนจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ใจความหลักก็ยังเป็นการเปลี่ยนหน้า เปลี่ยนชุด ของชนชั้นปกครอง ที่ขึ้นมาสวมทับบนโครงสร้างเดิมของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5

ความหมายของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็คือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “พ่อค้า” หรือ “ทุน” เข้ามาสู่การเมืองได้มากขึ้น

แทนที่พวกเขาจะจ่ายส่วนเกินทางเศรษฐกิจให้ขุนนางทหารเพื่ออภิสิทธิ์ในการทำมาหากิน พวกเขาก็หันมาจ่ายนักการเมืองอาชีพแทน หรือไม่ก็เดินเข้ามาสู่การเมืองเสียเอง

การเปลี่ยนผู้กุมอำนาจจากทหารเป็นนักการเมือง-พรรคการเมือง ไม่ได้มีความหมายใหม่อะไรเลย นอกจากการเปลี่ยนให้คนกลุ่มใหม่ขึ้นมาครองอำนาจการเมือง แทนที่จะเป็นนายพลนายพัน ก็เป็นนักการเมืองและพรรคการเมือง

แต่คนกลุ่มใหม่ที่ขึ้นนั้นก็ยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมไทยอยู่ดี

และคนกลุ่มใหม่ที่ขึ้นนั้น ก็คงยังทำมาหากินด้วยอภิสิทธิ์อยู่ดี แต่เป็นอภิสิทธิ์ที่แนบเนียนขึ้น แยบยลขึ้น และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น

จนมามีวิวัฒนาการสูงสุดในยุคที่เรียกว่าระบอบทักษิณ


เมื่อทหารกลับมาอีกในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องถอยหลังอะไร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องก้าวหน้าด้วยเช่นกัน มันอยู่ที่ว่าการออกแบบโครงสร้างอำนาจใหม่ในระยะ 1 ปีจากนี้ไปจะสามารถหลุดพ้นจากวงจรเดิม ๆ ได้หรือไม่

อย่าให้การปฏิรูปประเทศกลายเป็นเพียงการทอนตังค์ระหว่างกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุนอีกครั้ง !
กำลังโหลดความคิดเห็น