“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ เรื่อง “ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ : แนวทางสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ” พบปัญหาใหญ่แท็กซี่คือการ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสาร อ้างไปส่งรถ แก๊สหมด อยู่นอกเส้นทาง และเลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ ขณะที่ปัญหาเรื่องอื่นๆ รองลงมา เช่น ขับรถไม่ถูกกฎจราจร ขับรถหวาดเสียว พูดจาหรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพกับผู้โดยสาร เป็นต้น
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ : แนวทางสู่การปฎิรูประบบขนส่งสาธารณะ”โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เมื่อวันที่ 15-20 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ รถแท็กซี่มิเตอร์ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยการกระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาในการใช้บริการรถแท็กซี่ การปรับอัตราค่าโดยสาร และแนวทางแก้ไขปัญหาในการให้บริการ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error:S.E.) ไม่เกิน 1.4
ทั้งนี้จากผลสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาที่พบจากการให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ พบว่า ผู้ที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.12 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสาร โดยชอบอ้างว่าไปส่งรถ/แก๊สหมด/อยู่นอกเส้นทาง เลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ เป็นต้น รองลงมาร้อยละ 12.72 ระบุว่า เป็นการขับรถไม่ถูกกฎจราจร ขับรถหวาดเสียว ขับปาดหน้า ขับผ่าไฟแดง จอดซ้อนคัน ร้อยละ 11.98 ระบุว่า คนขับพูดจาหรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพกับผู้โดยสาร หรือผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 10.09 ระบุว่า คนขับขาดความซื่อสัตย์สุจริต เช่น ทอนเงินไม่ครบ เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด พาผู้โดยสารไปอ้อมเส้นทางอื่น ออกนอกเส้นทาง ร้อยละ 6.32 ระบุว่า รถมีสภาพเก่า ไม่สะอาด ประตูชำรุด แอร์ไม่เย็น เข็มขัดนิรภัยชำรุด ร้อยละ 4.91 ระบุว่า คนขับชอบพูดเรื่องการเมือง ร้อยละ 4.75 ระบุว่าไม่เคยพบเจอปัญหาใดๆ ในการให้บริการ ร้อยละ 4.08 ระบุว่า ไม่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามป้าย จอดรถเลยป้าย จอดรอรับ-ส่งผู้โดยสารในเลนกลาง ร้อยละ 2.04 ระบุว่าคนขับรถใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ร้อยละ 2.00 ระบุว่า คนขับชอบถามเรื่องส่วนตัวผู้โดยสาร และร้อยละ 6.99 ระบุว่า อื่นๆ เช่น คนขับดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่ขณะขับรถ มีพฤติกรรมส่อเจตนาไปในทางก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง สภาพคนขับไม่พร้อม บัตรประจำตัวคนขับไม่ตรงกัน ไม่ชำนาญเส้นทาง พูดเรื่องส่วนตัว เปิดวิทยุเสียงดัง
และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณียอมจ่ายอัตราค่าโดยสารที่สูงขึ้น หากมีการบริการรถแท็กซี่พิเศษ (VIP) เช่น รถแท็กซี่เฉพาะผู้หญิง (Lady Taxi) หรือรถแท็กซี่ที่มีขนาดรถใหญ่ขึ้น คนขับแต่งกายและพูดจาสุภาพ สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ ไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่ว่าจะไปที่ไหนหรือช่วงเวลาใด และมีการให้บริการที่ดีขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.44 ระบุว่า ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 20.21 ไม่ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารที่สูงขึ้น ขณะที่ร้อยละ 1.35 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ ต้องทดลองใช้บริการก่อนว่าจะได้รับการบริการที่คุ้มค่ากับอัตราค่าโดยสารที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อสิ่งที่ต้องการให้พัฒนาในด้านการบริการของคนขับรถแท็กซี่ในด้านต่างๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.12 ระบุว่า การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร/ ไม่เลือกผู้โดยสาร ไม่เห็นแก่ตัว ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ความมีระเบียบวินัยในการขับรถ เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร ร้อยละ 16.98 ระบุว่า การพูดจาและพฤติกรรมที่สุภาพ กับทั้งผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 8.88 ระบุว่า การแต่งกายของคนขับที่ดูดี สะอาดสะอ้าน มีความพร้อมในการให้บริการ ร้อยละ 8.31 ระบุว่า มีความซื้อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร ร้อยละ 6.29 ระบุว่า การเอาใจใส่สภาพความพร้อมของรถที่ให้บริการ ร้อยละ 5.21 ระบุว่า การมีจิตสาธารณะในการให้การบริการ ร้อยละ 4.28 ระบุว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง ร้อยละ 4.22 ระบุว่า การจอดรับ-ส่ง ผู้โดยสารเฉพาะตามป้ายเลนในสุดเท่านั้น ร้อยละ 3.37 ระบุว่า ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อเจตนาไปทางการก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 3.07 ระบุว่า ละเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ขณะขับรถ ร้อยละ 0.99 ระบุว่า เนื่องจากขับคนแท็กซี่ที่บริการไม่ดี มีเป็นแค่บางส่วน/ เป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ในภาพรวมถือว่าดีอยู่แล้ว จึงยังไม่เห็นด้านที่ควรพัฒนา,และ ร้อยละ 2.02 อื่นๆ เช่น ความปลอดภัยของผู้โดยสาร การตรวจสอบประวัติของคนขับ ป้ายทะเบียนประจำตัวผู้ขับที่ไม่ตรงกัน ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง มีจุดเรียกบริการแท็กซี่โดยเฉพาะ การลดราคาเชื้อเพลิง รวมไปถึงทักษะการป้องกันตัวของคนขับที่เกิดจากการก่ออาชญากรรม
ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอแนะ หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.87 ระบุว่า ควรบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดอย่างจริงจังและเข้มงวด รองลงมาร้อยละ 19.83 ระบุว่าควรตรวจสอบประวัติและมีการคัดเลือกผู้ขับขี่อย่างเข้มงวด ร้อยละ 17.37 ระบุว่า ควรปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม มารยาท วินัยในการขับขี่และการให้บริการ ร้อยละ 14.32 ระบุว่า ควรมีการอบรมผู้ขับขี่ทุก 1-2 ปี ร้อยละ 14.05 ระบุว่า ควรกำหนดบทลงโทษการกระทำผิดของผู้ขับขี่รถบริการสาธารณะให้สูงกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลธรรมดา ร้อยละ 4.96 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถบริการสาธารณะต้องผ่านการอบรมการขับขี่รถสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 เดือน / 3-6 เดือน / ไปจนถึง 1 ปี ร้อยละ 4.61 ระบุว่า ควรกำหนดอายุของผู้ขับขี่ โดยมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (อายุผู้ขับเฉลี่ย 27.24 ปี) ร้อยละ 2.97 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ มาตรการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารและคนขับเช่น มีระบบ GPS ระบุตำแหน่งรถ การตรวจสอบประวัติคนขับ ป้ายประจำตัวผู้ขับที่ตรงกับคนขับ เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่ กำหนดระดับการศึกษาของผู้ที่จะขับรถแท็กซี่ ให้จบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น / เทียบเท่าขึ้นไป ควบคุมอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ ควรจัดระเบียบสีแท็กซี่ใหม่ มีจุดเรียกใช้บริการแท็กซี่โดยเฉพาะ และร้อยละ 2.03 ไม่มีข้อเสนอแนะ/ ไม่มีความคิดเห็น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com