xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมฯเสด็จเปิดประชุมสนช.วันนี้ โพลหนุนพรรคการเมืองร่วมสปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีหนังสือเชิญสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม 2557 ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พุทธศักราช 2557 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในเวลา 15.00 น.
สำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะมีขึ้นนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงอาศัยตามความใน มาตรา 5 มาตรา 22 และมาตรา 43 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2557
ทั้งนี้ สมาชิกสนช. จะรวมตัวกันที่อาคารรัฐสภา 2 ก่อนออกเดินทางโดยรถตู้ ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเวลา 13.30 น. วันนี้
นอกจากนี้ ยังได้มีการแจ้งข้อปฏิบัติของสื่อมวลชน ในการทำข่าวรัฐพิธีเปิดประชุมบริเวณด้านนอกของพระที่นั่งฯ โดยให้สื่อมวลชนแต่งกายด้วยชุดสากลนิยม และลงทะเบียนแลกบัตรรับปลอกแขนสื่อ พร้อมผ่านการตรวจสอบกล้องและอุปกรณ์ต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่กองรักษาการตำรวจรัฐสภา ที่บริเวณประตูทางเข้ารัฐสภา ซึ่งสื่อมวลชนจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และเมื่อใกล้เวลาเสด็จพระราชดำเนิน จะมีการเชิญสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ และหลังจากเสร็จสิ้นรัฐพิธี สามารถขอรับสำเนาพระราชดำรัสเปิดประชุม และรับภาพถ่ายภายในรัฐพิธีได้ ที่กลุ่มงานสื่อมวลชน ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2

** สนช.ถกงบฯ 58 วันที่ 15ก.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.00 น.วานนี้ (6ส.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ อาทิฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม คสช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ประชุมวอร์รูม พิจารณากลั่นกรอง ร่าง พ.ร.บ.จำนวน 43 ฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คสช. ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. พิจารณานำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นอันดับแรก ทันที่ที่มีการเปิดการประชุม สนช. โดยที่ประชุมวอร์รูม มีมติ เสนอหัวหน้า คสช. นำเสนอ สนช.เป็นอันดับแรกรวมจำนวน 10 ฉบับ จาก 43 ฉบับ ซึ่งฉบับแรกที่เสนอเข้าที่ประชุม สนช. ทันที คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่เบื้องต้น สนช.กำหนดจะมีการประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 58 ในวันที่ 15 ส.ค.นี้

** กกต.เตรียมพร้อมสรรหาสปช.

วานนี้ (6ส.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานการประชุมผู้แทน 14 หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ของบุคคลที่เสนอชื่อ เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ เป็นต้น
นายภุชงค์ กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น สปช. ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการสรรหา ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตั้งขึ้น จะกำหนดให้มีการเปิดรับการเสนอชื่อ จากองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ในวันที่ 14 ส.ค. โดยเมื่อมีการเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาแล้ว ทางสำนักงานกกต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา ก็จะทยอยส่งรายชื่อบุคคลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบวันต่อวัน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งสำนักงานได้จัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลให้หน่วยงานสามารถเข้ามาให้ข้อมูลได้ รวมทั้งสอบถามเป็นเอกสารด้วย
ทั้งนี้ คาดว่า จะมีผู้ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งในระดับคณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน และระดับจังหวัด ไม่น้อยกว่า 2,000 รายชื่อ โดยเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ ทางสำนักงานกกต. จะส่งรายชื่อ พร้อมกับผลการตรวจสอบคุณสมบัติไปให้คณะกรรมการสรรหา หากพบว่าใครมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ก็จะระบุเป็นหมายเหตุ ข้อสังเกตไว้ แต่จะไม่มีการตัดรายชื่อใครออกทั้งสิ้น
นายภุชงค์ ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ตนได้ประสานไปยัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ข้าราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดที่จะตั้งขึ้นนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา โดยได้แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทราบว่า ทางสำนักงาน กกต.กลาง ได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว ว่าให้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเตรียมดำเนินการในเรื่องการสรรหา
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ( 7 ส.ค.) เวลา 13.00 น. ทางสำนักงานกกต.กลาง จะมีกาประชุมคณะทำงานทั้งหมดของสำนักงาน เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติงาน เนื่องจากหัวหน้าคณะคสช. แจ้งว่าจะมีการเริ่มกระบวนสรรหา สปช. ในวันที่ 14 ส.ค. ส่วนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์นั้น ได้มีการประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค ก็พร้อมให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือกับผู้แทนหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสปช. นั้น หน่วยงานเกี่ยวข้องได้นำเสนอปัญหาในการตรวจสอบ เช่น กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า การที่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยสรรหาสปช. กำหนดคุณสมบัติผู้เป็น สปช.ว่าต้องมีสัญชาติไทย โดยการเกิดนั้น ตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากต้องดูสัญชาติบิดา มารดา ก่อนที่บุคคลดังกล่าวถือกำเนิด หรือกรณีต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เก็บข้อมูลไว้ แต่จะส่งคำวินิจฉัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้รับทราบ จึงขึ้นอยู่หน่วยงาน เช่น กกต. สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล
ขณะเดียวกัน ในส่วนที่เป็นคำพิพากษาศาลอาญา สำนักงานศาลยุติธรรม จะไม่ได้เก็บข้อมูลในส่วนของความผิดในคดีอาญาเอาไว้ แต่จะเก็บข้อมูลเฉพาะในส่วนของศาลอุทธรณ์กลาง และศาลอุทธรณ์ ที่พิจารณาเกี่ยวกับคดีเลือกตั้งท้องถิ่น
นอกจากนี้ลักษณะต้องห้าม ที่กำหนดว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายจากการทุจริตนั้น ศาลล้มละลายกลาง ก็ไมได้มีการแยกประเภทของการล้มละลายไว้ หากจะให้ทราบสาเหตุ ต้องกลับไปรื้อสำนวนมาพิจารณา หรือกรณีที่กำหนดคุณสมบัติว่า ต้องไม่เคยถูกไล่ออก หรือ ปลดออกจากราชการนั้น ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือน ก็จะเก็บข้อมูลเฉพาะข้าราชการที่บรรจุตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนเท่านั้น ไม่รวมครู ตำรวจ เป็นต้น ซึ่งทางด้านเลขาธิการ กกต. ก็ได้เน้นย้ำว่า ในระยะเวลาที่จำกัด เข้าใจว่าไม่สามารถที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อครบทั้ง 100 % แต่ขอให้ทำอย่างเต็มที่ เพราะในแบบฟอร์มการเสนอชื่อบุคคล ที่ได้รับการเสนอชื่อ จะต้องเซ็นรับรองคุณสมบัติของตนเอง ดังนั้น หากพบภายหลังว่าไม่เป็นจริง ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบ รวมทั้งสปช. มีอายุการทำงานกว่า 1 ปี หากภายหลังได้รับการแต่งตั้งแล้วพบขาดคุณสมบัติ ก็เป็นเรื่องที่ คสช. สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

** โพลหนุนพรรคการเมืองร่วม สปช.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "การมีส่วนร่วมใน สปช. ของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4–5 ส.ค.57 จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,251 ตัวอย่าง ดังนี้
ความคิดเห็นของประชาชน ต่อการเสนอชื่อสมาชิกของพรรคการเมืองหลักของประเทศ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.00 ระบุว่า ควรเสนอชื่อ เพราะ สมาชิกของพรรคการเมือง มีประสบการณ์ทำงานและทราบถึงปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ควรเข้ามาช่วยกันแก้ไขและปฏิรูปประเทศ
ขณะที่ร้อยละ 40.61 ระบุว่า ไม่ควรเสนอชื่อ เพราะ ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากเข้ามาก็จะเกิดความขัดแย้งกัน สภาปฏิรูปควรมีความเป็นกลาง ควรให้นักวิชาการ หรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เข้ามาจะดีกว่า และ ร้อยละ 12.39 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

**ไม่เอาตัวแทนกปปส.-พธม.-นปช.

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ของแกนนำ หรือกลุ่มแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พบว่า ประชาชนร้อยละ 38.13 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแสดงจุดยืน หรือสิ่งที่ต้องการ ทำให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย และเกิดการโต้แย้งกันจากหลายๆ ฝ่าย จนนำไปสู่แนวทางในการปฏิรูปประเทศ และหากมีโอกาส ทำงานร่วมกัน อาจทำให้เกิดความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ร้อยละ 52.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ เข้ามา ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความขัดแย้งกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาก็ทะเลาะกันอีก ทำให้เกิดความวุ่นวายที่ไม่จบสิ้น และร้อยละ 9.43 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ

**ชทพ.ยันไม่เข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยถึงการที่พรรคไม่เข้าร่วม หรือเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น เป็นเพราะนักการเมือง พรรคการเมือง รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น นักการเมืองถูกตราหน้าเป็นจำเลยของสังคม นักการเมืองถูกประณามว่า เป็นต้นตอ และสาเหตุของปัญหาภายในประเทศ
ดังนั้น พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นเรื่องของนักวิชาการ และบุคลากรจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่ไม่ใช่นักการเมือง กระบวนการปฏิรูปรวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะได้ปลอดจากการชี้นำทางการเมือง หากมีนักการเมืองเข้ามาอยู่ในสภาปฏิรูปฯ สังคมอาจเกิดการตั้งข้อสงสัย และทำให้เกิดข้อครหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง
ทั้งนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา มีความยินดี และพร้อมให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะข้อมูลต่างๆ ส่วนรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นแบบไหนนั้น ถือเป็นเรื่องของอนาคต ที่ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น