เลขาฯ กกต.ถก 14 หน่วยงานสอบคุณสมบัติบุคคลที่เสนอชื่อเป็น สปช. ที่ประชุมห่วงหลายประเด็นไม่มีข้อมูล-ระบุไม่ชัด คาดเปิดรับสมัคร 14 ส.ค. เสนอชื่อไม่น้อยกว่า 2 พันราย สอบแล้วชงต่อ คกก.สรรหา พร้อมหมายเหตุผู้มีปัญหา ประสานปลัด มท.แจ้ง สั่ง ผอ.เลือกตั้งทุก จว.แจ้งผู้ว่าฯ ลุยสรรหา พรุ่งนี้ประชุมซักซ้อม เผย หน่วยต่างๆ ร่วมมือพีอาร์ดี
วันนี้ (6 ส.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เป็นประธานการประชุมผู้แทน 14 หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เสนอชื่อเพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์เป็นต้น
โดยนายภุชงค์กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น สปช. คาดว่าคณะกรรมการสรรหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตั้งขึ้นจะกำหนดให้มีการเปิดรับการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรในวันที่ 14 ส.ค. โดยเมื่อมีการเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาแล้วทางสำนักงาน กกต.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาก็จะทยอยส่งรายชื่อบุคคลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบวันต่อวัน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบซึ่งสำนักงานได้จัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลให้หน่วยงานสามารถเข้ามาให้ข้อมูลได้ รวมทั้งสอบถามเป็นเอกสารด้วย คาดว่าจะมีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งในระดับคณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน และระดับจังหวัดไม่น้อยกว่า 2,000 รายชื่อ โดยเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จทางสำนักงาน กกต.ก็จะส่งรายชื่อพร้อมกับผลการตรวจสอบคุณสมบัติไปให้คณะกรรมการสรรหา หากพบว่าใครมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติก็จะระบุเป็นหมายเหตุ ข้อสังเกตไว้ แต่จะไม่มีการตัดรายชื่อใครออกทั้งสิ้น
นายภุชงค์ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ตนเองได้ประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลข้าราชการส่วนภูมิภาค คาดว่าคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดที่จะตั้งขึ้นนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา โดยได้แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบว่าทางสำนักงาน กกต.กลางได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดแล้วว่าให้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเตรียมดำเนินการในเรื่องการสรรหา อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 ส.ค. เวลา 13.00 น. ทางสำนักงาน กกต.กลางก็จะมีการประชุมคณะทำงานทั้งหมดของสำนักงานเพื่อซักซ้อมการปฏิบัติงานเนื่องจากหัวหน้าคณะ คสช.แจ้งว่าจะมีการเริ่มกระบวน (คิกออฟ) อสปช.ในวันที่ 14 ส.ค. ส่วนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์นั้นได้มีการประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคก็พร้อมให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่เพื่อที่จะได้องค์กรนิติบุคคลมาชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.จำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือกับผู้แทนหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งเป็น สปช.นั้น หน่วยงานเกี่ยวข้องได้นำเสนอปัญหาในการตรวจสอบเช่นกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เห็นว่าการที่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยสรรหา สปช.กำหนดคุณสมบัติผู้เป็น สปช.ว่าต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้น ตรวจสอบได้ยากเนื่องจากต้องดูสัญชาติบิดามารดาก่อนที่บุคคลดังกล่าวถือกำเนิด หรือกรณีต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เก็บข้อมูลไว้แต่ละส่งคำวินิจฉัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับทราบ จึงขึ้นอยู่หน่วยงานเช่น กกต. สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล ขณะเดียวกัน ในส่วนที่เป็นคำพิพากษาศาลอาญา สำนักงานศาลยุติธรรมจะไม่ได้เก็บข้อมูลในส่วนของความผิดในคดีอาญาเอาไว้ แต่จะเก็บข้อมูลเฉพาะในส่วนของศาลอุทธรณ์กลาง และศาลอุทธรณ์ที่พิจารณาเกี่ยวกับคดีเลือกตั้งท้องถิ่น
นอกจากนี้ ลักษณะต้องห้ามที่กำหนดว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายจากการทุจริตนั้น ศาลล้มละลายกลางก็ไมได้มีการแยกประเภทของการล้มละลายไว้ หากจะให้ทราบสาเหตุต้องกลับไปรื้อสำนวนมาพิจารณา หรือกรณีที่กำหนดคุณสมบัติว่าต้องไม่เคยถูกไล่ออก หรือปลดออกจากราชการนั้น ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะเก็บข้อมูลเฉพาะข้าราชการที่บรรจุตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนเท่านั้น ไม่รวมครู ตำรวจ เป็นต้น
ทางด้านเลขาธิการ กกต.เน้นย้ำว่า ในระยะเวลาที่จำกัดเข้าใจว่าไม่สามารถที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อครบทั้ง 100% แต่ขอให้ทำอย่างเต็มที่เพราะในแบบฟอร์มการเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเซ็นรับรองคุณสมบัติของตนเอง ดังนั้น หากพบภายหลังว่าไม่เป็นจริงผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบ รวมทั้ง สปช.มีอายุการทำงานกว่า 1 ปี หากภายหลังได้รับการแต่งตั้งแล้วพบขาดคุณสมบัติก็เป็นเรื่องที่ คสช.สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว