“สมชัย” เชื่อคำสั่ง คสช.ให้สรรหาสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นแทนเลือกตั้งแค่แก้ปัญหาระยะสั้น เบรกเคลื่อนไหวการเมืองจนกว่าจะมีธรรมนูญปกครอง รับให้ข้าราชการนั่งเก้าอี้พลางอาจมีปัญหากระบวนการคิดยึดติดรูปแบบราชการ
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 งดการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารสภาท้องถิ่น โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาสรรหาแทนว่า เชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะชั่วคราวที่ยังไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะหากมีการเลือกตั้งก็จะมีกระบวนการหาเสียง การเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้ได้อำนาจการเมืองระดับท้องถิ่น จึงน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันจนกว่าธรรมนูญการปกครองจะร่างเสร็จ และให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเลือกตั้งทั้งระดับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาท้องถิ่น ไปพร้อมกัน
ส่วนข้อกำหนดที่ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชระดับ 8 หรือเทียบเท่านั้น นายสมชัยกล่าวว่า เชื่อว่าจะสรรหาได้ไม่ยาก และ คสช.คงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกลั่นกรองข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ เพราะกว่าที่ข้าราชการจะขึ้นมาถึงระดับดังกล่าวได้จะต้องใช้ระยะในการปฏิบัติหน้าที่ที่ยาวนาน แต่จะมีจุดอ่อนอยู่เรื่องกระบวนการคิดที่อาจเป็นวิธีการคิดแบบราชการ เคยชินกับระเบียบแบบแผน และอาจไม่ได้สัมผัสกับทัศนคติของประชาชนซึ่งจะแตกต่างจากฝ่ายการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหามากกว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสรรหาสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เลขาธิการ กกต.จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา และพร้อมใช้กลไกของ กกต.ทำหน้าที่ทันที ส่วนกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นฝ่ายดำเนินการหลัก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นได้โดยตรง
ด้านนายถวิล ไพรสณฑ์ คณะทำงานกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เหตุผลที่ คสช.ประกาศให้งดเว้นการเลือกตั้งเพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ รวมถึงการเลือกตั้ง ส.ก.และ ส.ข.กทม.ด้วยโดยให้มีการสรรหาแทน และมีการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นแตกต่างจากกฎหมายเดิม คือให้เทศบาลทุกแห่งมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 12 คน อบต.10 คน อบจ.ให้มีสมาชิกสภาจังหวัดกึ่งหนึ่งของจำนวนปัจจุบัน และยังระบุให้มีคณะกรรมการสรรหา คือ ในต่างจังหวัดเป็นผู้ว่าฯ อัยการ ตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และคนที่จะมาทำงานท้องถิ่นจากการสรรหาดังกล่าวต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการซี 8 ขึ้นไป ส่วน ส.ก.กำหนดให้มีได้ 30 คน ใช้วิธีการคัดเลือกสองในสามจะต้องเป็นข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป คืออธิบดีหรือเทียบเท่า ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการสรรหา
นายถวิลกล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานเรื่องท้องถิ่นมาโดยตลอด เคยมีการห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารซึ่งในครั้งนี้ก็เขียนไว้ว่าให้ดำเนินการดังกล่าวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ รอรัฐธรรมนูญใหม่และจะมีการเลือกตั้งเหมือนเดิม โดยหากคิดตามแผนโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้า คสช.เชื่อว่า ท้องถิ่นคงมีการเลือกตั้งหลังการเลือก ส.ส. อย่างไรก็ตาม การสรรหาก็ถือว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน แต่ในสถานการณ์ที่ คสช.เป็นรัฐาธิปัตย์มีเวลาปีเศษที่จะไปสู่การเลือกตั้งและมีท้องถิ่นอีกประมาณ 7 พันแห่งที่ไม่ต้องสรรหา ต้องสรรหาเพียงแค่ 200 กว่าตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นแม้จะไม่สอดคล้องกับหลักการระบอบประชาธิปไตยแต่ก็พอจะพิจารณาได้ว่าในช่วงนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ ตนเข้าใจว่า คสช.วางเป้าหมายบางอย่างไว้ก็คงดำเนินการตามที่มีเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งย่อมรักษาผลประโยชน์ประชาชนได้ดีกว่าคนที่มาจากการสรรหา แต่ข้าราชการที่ได้รับการสรรหาเข้าไปทำหน้าที่ก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน