xs
xsm
sm
md
lg

ค้านคสช.ลากตั้งท้องถิ่น อปท.โวยขัดหลักกระจายอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศ ฉบับที่ 85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นการชั่วคราว โดยให้งดจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารที่ครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง และให้มีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ และความสามารถเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น
ซึ่งต้องจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รับราชการหรือเคยรับราชการในเขตจังหวัดในระดับตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป (อย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภา) หรือเป็นบุคคลในเขตจังหวัดนั้น และดำรงตำแหน่งประธาน หรือหัวหน้าองค์กรภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ที่จดทะเบียนไว้กับส่วนราชการ หรือมีหนังสือรับรองจากส่วนราชการ และระหว่างไม่มีผู้บริหารท้องถิ่น ให้ปลัดอปท. ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามรายละเอียดแนบท้าย
นอกจากนี้ยังปรับลดจำนวนสมาชิกสภา โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 10 คน (จากเดิมหมู่บ้านละ 2 คน) สภาชิกสภาเทศบาลทุกประเภท 12 คน (จากเดิมเทศบาลตำบล 12 คน เทศบาลเมือง 18 คน เทศบาลนคร 24 คน) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาที่มีอยู่ก่อนวันประกาศนี้มีผลใช้บังคับนั้น
วานนี้ (16 ก.ค.) นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนคร ในฐานะนายกสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสรรหาตามแนวทางของคสช. แทนนักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นตัวแทนของประชาชน ถือเป็นการขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจให้อปท. ขัดหลักการประชาธิปไตย หากมีการยุบ อบจ.ในอนาคต ก็จะมีปัญหาตามมาอีกมาก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความขัดแย้งของคนในชาติ และปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมือง เกิดจากนักการเมืองระดับชาติ ไม่ได้มาจากนักการเมืองท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน แก้ปัญหาให้กับประชาชน ตนเห็นว่า คสช.ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ดังนั้นการให้ข้าราชการมาบริหารงานท้องถิ่น จึงเป็นการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็ควรจัดการเลือกตั้งเหมือนเดิม
นายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการด้านกฎหมาย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวว่า อปท.ทั่วประเทศส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเลื่อนการเลือกตั้งไม่มีกำหนด เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกรรมาธิการบริหาร ส.ท.ท.จะเข้าพบผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางสรรหาของ คสช. ซึ่งต้องมีความชัดเจนทั้งเงื่อนไขและระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่
นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในฐานะนายกสมาคมอบต. แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นจากข้าราชการตามประกาศของ คสช.นั้น จะทำงานสนองนโยบายรัฐมากกว่าการทำงานเพื่อคนในท้องถิ่น และเชื่อว่าจะเพิ่มปัญหาให้ท้องถิ่นมากขึ้น จากเดิมที่มีระบบตัวแทนของภาคประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ผ่านทางการเลือกตั้ง
**กกต.ยอมรับการแก้ปัญหาชั่วคราว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ งดการเลือกตั้งสมาชิก และผู้บริหารสภาท้องถิ่น โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาสรรหาแทนว่า เชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะชั่วคราว ที่ยังไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะหากมีการเลือกตั้ง ก็จะมีกระบวนการหาเสียง การเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้ได้อำนาจการเมืองระดับท้องถิ่น จึงน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน จนกว่าธรรมนูญการปกครองจะร่างเสร็จ และให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเลือกตั้งทั้งระดับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาท้องถิ่น ไปพร้อมกัน
ส่วนข้อกำหนดที่ให้ สมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องเป็นข้าราชระดับ 8 หรือเทียบเท่านั้น เชื่อว่าจะสรรหาได้ไม่ยาก และคสช. คงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกลั่นกรองข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ เพราะกว่าที่ข้าราชการจะขึ้นมาถึงระดับดังกล่าวได้ จะต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ที่ยาวนาน แต่จะมีจุดอ่อนอยู่เรื่องกระบวนการคิด ที่อาจเป็นวิธีการคิดแบบราชการ เคยชินกับระเบียบแบบแผน และอาจไม่ได้สัมผัสกับทัศนคติของประชาชน ซึ่งจะแตกต่างจากฝ่ายการเมือง ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหามากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสรรหาสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เลขาธิการ กกต. จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ คณะกรรมการสรรหา และพร้อมใช้กลไกของกกต. ทำหน้าที่ทันที ส่วนกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นฝ่ายดำเนินการหลัก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นได้โดยตรง

** กฎอัยการศึกอุปสรรคเลือกตั้ง

นายถวิล ไพรสณฑ์ คณะทำงานกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เหตุผลที่คสช.ประกาศให้งดเว้นการเลือกตั้งเพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ รวมถึงการเลือกตั้ง ส.ก.และ ส.ข.ของกทม.ด้วย โดยให้มีการสรรหาแทน และมีการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นแตกต่างจากกฎหมายเดิม คือ ให้เทศบาลทุกแห่งมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 12 คน อบต.10 คน อบจ. ให้มีสมาชิกสภาจังหวัด กึ่งหนึ่งของจำนวนปัจจุบัน และยังระบุให้มีคณะกรรมการสรรหา คือ ในต่างจังหวัดเป็น ผู้ว่าฯ อัยการ ตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และคนที่จะมาทำงานท้องถิ่น จากการสรรหาดังกล่าวต้องเป็น หรือเคยเป็นข้าราชการซี 8 ขึ้นไป ส่วน ส.ก.กำหนดให้มีได้ 30 คน ใช้วิธีการคัดเลือกสองในสาม จะต้องเป็นข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป คือ อธิบดีหรือเทียบเท่า ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการสรรหา
ในฐานะที่ตนทำงานเรื่องท้องถิ่นมาโดยตลอด เคยมีการห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร ซึ่งในครั้งนี้ก็เขียนไว้ว่า ให้ดำเนินการดังกล่าวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ รอรัฐธรรมนูญใหม่ และจะมีการเลือกตั้งเหมือนเดิม โดยหากคิดตามแผนโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคสช. เชื่อว่า ท้องถิ่นคงมีการเลือกตั้งหลังการเลือกส.ส.
อย่างไรก็ตาม การสรรหาก็ถือว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน แต่ในสถานการณ์ที่คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีเวลาปีเศษที่จะไปสู่การเลือกตั้ง และมีท้องถิ่นอีกประมาณ 7 พันแห่ง ที่ไม่ต้องสรรหา ต้องสรรหาเพียงแค่ 200 กว่าตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นแม้จะไม่สอดคล้องกับหลักการระบอบประชาธิปไตย แต่ก็พอจะพิจารณาได้ว่า ในช่วงนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ ตนเข้าใจว่า คสช. วางเป้าหมายบางอย่างไว้ ก็คงดำเนินการตามที่มีเป้าหมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมรักษาผลประโยชน์ประชาชนได้ดีกว่าคนที่มาจากการสรรหา แต่ข้าราชการที่ได้รับการสรรหาเข้าไปทำหน้าที่ ก็ต้องอยู้ในกรอบของกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น