xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ขวัญเสีย คสช.สั่งเบรกเลือกตั้งท้องถิ่น คาดหวังสลายขั้วการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พนักงาน กกต. ขวัญเสีย วิจารณ์แซดกลัวถูกยุบ - เปลี่ยนองค์อำนาจ หลังประกาศ คสช. สั่งงดเลือกตั้งท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นสรรหาแทน เชื่อ คสช. หวังตัดแขนขาพรรคการเมืองใหญ่ ให้เข้าสืบทอดอำนาจยากขึ้น หากมี รธน. - กม. ใหม่ แล้วจัดเลือกตั้ง

วันนี้ (16 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 85 และ 86/2557 ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไว้เป็นการชั่วคราว และให้ใช้การสรรหาแทนนั้น ทำให้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันนี้ บรรดาข้าราชการพนักงานการเลือกตั้ง ต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ประกาศ คสช. ที่ออกมา โดยแสดงความกังวล ถือเป็นการส่งสัญญาณของ คสช. หรือไม่ว่าต่อไปอาจจะมีการเสนอยุบ กกต. หรือเปลี่ยนตัวองค์อำนาจของ กกต. หรือไม่ รวมทั้งเชื่อว่าจะไม่มีการเลือกท้องถิ่น ไปจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ซึ่ง กกต. ด้านบริหารเลือกตั้ง ก็ได้เสนอให้ที่ประชุม กกต. ได้รับทราบถึงประกาศ คสช. ดังกล่าวแล้ว โดยทางสำนักงานฯ ยังเห็นว่า ในกรณีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง และการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นที่ค้างอยู่อีกกว่า 200 สำนวน กกต. ยังสามารถพิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จได้ และหากเห็นว่าสมควรต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะประสานไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการสรรหาแทน ตามประกาศ คสช. ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ถึง 31 ธ.ค. นี้ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ครบวาระและกำลังจะครบวาระทั้งหมด 255 แห่ง โดยแบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 2 แห่ง เทศบาลเมือง 8 แห่ง เทศบาลตำบลจำนวน 157 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 86 แห่ง และกรุงเทพมหานครอีก 1 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ที่คณะทำงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) เป็นหัวหน้าคณะ ได้เชิญเลขาธิการ กกต. และเจ้าหน้าที่ด้านการเลือกตั้ง ไปหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น แม้ กกต. จะนำเสนอว่ากรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบวาระแล้วไม่มีการจัดการเลือกตั้งนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องงบพัฒนาท้องถิ่น เพราะไม่มีสภามาพิจารณา แต่ทางคณะทำงานของ คสช. ก็ได้มีความเห็นต่อ กกต. ว่า น่าจะชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นไปก่อน เพราะหากเลือกตั้งก็จะได้ผู้บริหารที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองระดับชาติอีก รวมถึงหากมีรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดที่มาของสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นใหม่ ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นชุดใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงอาจจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

จึงทำให้ประกาศ คสช. ที่ออกมาในกรณีดังกล่าวมีการวิเคราะห์กันเพิ่มเติม โดยเชื่อว่าเป็นความต้องการของ คสช. ที่จะสลายขั้วการเมือง เพราะสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นก็ตามเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ หากไม่มีการเลือกตั้งนักการเมือง และพรรคการเมืองก็จะหมดเวทีเล่น ขณะเดียวกัน การกำหนดให้คณะกรรมการสรรหามาจากผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวมถึงผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องเป็นข้าราชการ หรืออดีตข้าราชการไม่น้อยกว่าระดับ 8 ขึ้นไปนั้น ก็เป็นการดึงพรรคข้าราชการให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนก่อนการกระจายอำนาจ และมองว่าทำให้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ก็ยากที่ฐานการเมืองของพรรคการเมืองใหญ่ชุดเก่าจะกลับเข้ามาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น