xs
xsm
sm
md
lg

“น้องประยุทธ์”ชมพี่คนดี ปัดคุมเสียงทหาร ร้องผู้ตรวจฯตั้งสนช.ส่อผิดกม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ร่วมประชุมผู้บังคับกองพันทั่วประเทศครั้งแรกหลังยึดอำนาจ ขอบคุณกำลังพลทำงานหนัก ฝากคนควบเก้าอี้ สนช.อย่าให้กระทบงานหลัก เล็งตั้งสมาชิก คสช. เพิ่มให้ครบ 15 คน ส่วนที่รัฐสภายังคึกคัก สนช.แห่รายงานตัวครึ่งร้อย “อาศิส-ธวัชชัย” ยื่นหนังสือลาออก สื่อรุม “พล.ท.ปรีชา” น้องชาย หน.คสช. เจ้าตัวปัดเข้ามาคุมเสียงทหาร ยกพี่ชายเป็นคนดี กระหึ่มเสียงเชียร์ “ประยุทธ์” นั่งนายกฯเอง “สมชาย” เชื่อ "สุรชัย" หลีกทาง “พรเพชร” ทางสะดวกยึด ปธ.สนช. ด้าน “ศรีสุวรรณ” ขัดคอ คสช.ร้องผู้ตรวจฯตั้ง สนช.ส่อผิด กม. ส่วน “มาร์ค” ยังอิดออดส่งคนร่วม สปช.

วานนี้ (4 ส.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นประธานในการประชุมว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างผ่อนคลาย พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรู้สึกดีใจที่ได้พบปะกับผู้บังคับหน่วย ตลอดจนถึงผู้บังคับกองพัน ภายหลังจากที่กองทัพบกมีส่วนสนับสนุนการทำงานของ คสช. ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยหัวหน้า คสช.ได้กล่าวขอบคุณผู้บังคับหน่วย และกำลังพลทุกคนที่ได้ทำงานหนักในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้ฝากข้อห่วงใยไปให้กับกำลังพลที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ และดูแลประเทศชาติให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และยังคงต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป

กำชับคนควบ สนช.อย่าให้เสียงานหลัก

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบถึงการทำงานของ คสช. ตั้งแต่ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า การดำเนินการในระยะที่ 1 นั้น คสช.ได้เข้ามาขับเคลื่อนและบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าแผนการดำเนินการในระยะที่ 1 เรียบร้อย และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่มีองค์ประกอบในเรื่อง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า การทำงานในระยะที่ 2 ทาง คสช.จะเน้นดูแลในเรื่องงานด้านความมั่นคงเป็นหลัก และกองทัพบกยังมีความจำเป็นจะต้องสนับสนุนงานเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความราบรื่น โดยที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานรับผิดชอบใน 5 กลุ่มงาน กับ 1 กองกำลังรักษาความสงบเรียงร้อย ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ได้ปลดล็อคและขับเคลื่อนประเทศชาติ และเปรียบเสมือนการทำงานในฐานะรัฐบาล

“ทั้งนี้ในส่วนของผู้บังคับหน่วยที่ได้เข้าไปทำหน้าที่เป็น สนช.จะต้องมีความตั้งใจ เพราะ สนช.จะมีการประชุมสัปดาห์ละ 3-4 วัน จะต้องให้ความสำคัญ พร้อมทั้งศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ และจะต้องไม่กระทบกับงานหลักของกองทัพบก” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

เล็งถกตั้งบิ๊กเหล่าทัพเสริมทีม คสช.

ในส่วนของการเพิ่มสมาชิก คสช.จากเดิม 8 คน ให้ครบจำนวน 15 คนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น พ.อ.หญิงศิริจันทร์เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะคัดเลือกผู้บังคับบัญชาระดับสูงในทุกเหล่าทัพ โดยจะหารือกันในที่ประชุม คสช.ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ เวลา 15.00 น. นอกจากนี้รายการคืนความสุขให้กับคนในชาติที่ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 20.15 น. หลังข่าวพระราชสำนัก จะเลื่อนมาออกอากาศทุกวันศุกร์ ในเวลา 17.00 น. โดยมีการพิจารณาตามความเหมาะสม โดยมีนัยยะอะไรทั้งสิ้น

“สาเหตุเลื่อนเวลาการออกอากาศรายการคืนความสุขให้กับคนในชาติเป็นความต้องการของหัวหน้า คสช.ที่ไม่อยากให้ดึกจนเกินไป และยังทำให้เป็นปัญหาในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่บางครั้งนำเสนอข่าวไม่ทัน ไม่ได้เกี่ยวว่าไปขัดจังหวะประชาชนในการดูละคร เป็นการปรับเวลาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการฟังการชี้แจงการทำงานของ คสช.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับข่าวว่าคอละครไม่พอใจ” พ.อ.หญิงศิริจันทร์ ระบุ

ย้ำค่านิยม 12 ประการให้ทุกคนปฏิบัติ

รองโฆษกกองทัพบก กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้ทุกหน่วยทหาร กำลังพล และครอบครัว ยึดถือและปฏิบัติตามหลักค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการที่หัวหน้า คสช. ประกาศไว้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามให้กับสังคมไทย นอกจากนี้ในทุกกิจกรรมที่หน่วยทหารของกองทัพบกเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น การฝึกอบรมในหน่วยทหาร การส่งทหารเป็นวิทยากร จะรณรงค์เสริมสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการ รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ และความเชื่อมโยงขององค์กรหลักที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทั้ง 5 องค์กร ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบในโอกาสที่เหมาะสม

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญ ผบ.ทบ. มีนโยบายให้หน่วยทหารจนถึงระดับกองพันสนับสนุนกำลังพลให้เป็นกำลังพลต้นแบบที่มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ และให้รณรงค์ขยายผลไปยังภาคส่วนต่างๆ ในโอกาสที่มีการจัดกิจกรรม การประชุมร่วมหรือการประสานสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ให้สอดแทรกค่านิยมหลัก 12 ประการ ไว้ในหลักสูตรทางทหาร เพื่อให้ผู้รับการศึกษานำไปประพฤติปฏิบัติ และเผยแพร่ต่อ รวมทั้งการใช้สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ในเครือกองทัพบกรณรงค์เผยแพร่ค่านิยมหลัก 12 ประการอย่างกว้างขวางด้วย

สนช.รายงานตัวแล้ว 191 ขาดอีก 7 คน

วันเดียวกัน ที่อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการรายงานตัววันที่ 4 ของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.ยังคงเป็นไปอย่างคึกคักมีผู้เข้ารายงานตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน รวม 51 คน อาทิ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ อดีต ผบ.ทร. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต ส.ว.สรรหา พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.สรรหาน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชาย แสวงการ อดีต ส.ว.สรรหา นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) นายสีมา สีมานันท์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยบุคคลที่สื่อมวลชนได้รับความสนใจมากที่สุดในการรายงานตัว คือ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้ามารายงานตัวในวันนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีผู้มารายงานตัวแล้วทั้งสิ้น 191 คนยังเหลืออีก 7 คนที่ยังไม่มารายงานตัว ในขณะที่อีก 2 คนได้ขอลาออกจาก สนช.เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติคือ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ทั้งนี้ทางสำนักงานวุฒิสภาจะเปิดให้รายงานตัวตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ในวันที่ 5 ส.ค.เป็นวันสุดท้าย ขณะที่มีรายงานว่า นายสม จาตุศรีพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา และคุณหญิงพรทิพย์ จาละเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเข้ามารายงานตัวในวันที่ 7 ส.ค. เนื่องจากขณะนี้ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ

“ธวัชชัย” รับสภาพยื่นหนังสือลาออก

เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการ สนช.เพื่อขอลาออกจากการดำรงตำแหน่ง สนช. โดยกล่าวว่า มายื่นหนังสือเพื่อแสดงเจตจำนงเพื่อลาออก เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ซึ่งในฐานะทหารก็ต้องมีวินัย มีกฎหมายก็ต้องทำตามกฎหมาย ส่วนจะเข้ามาเป็น สปช.หรือไม่ ขอดูอีกครั้งหนึ่ง แต่ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทาม

“ไม่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เป็น สนช. เพราะที่ผ่านมา ก็ทำงานให้กับบ้านเมืองมามากแล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ก็ยินดีจะทำ แต่สิ่งขัดใดที่ขัดกฎหมาย ก็จะไม่ทำ” พล.อ.ธวัชชัย กล่าว

จุฬาราชมนตรีขอบคุณและขอถอนตัว

ต่อมาเมื่อเวลา 12.30 น. นายปรีดา เชื้อผู้ดี ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี เป็นตัวแทนนายอาศิส เดินทางมายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง สนช. ถึง หัวหน้า คสช.ผ่าน นางนิภาพร ศรีสุวรรณ รองเลขาธิการวุฒิสภา โดยนายปรีดา กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีขอขอบคุณ คสช.ที่แต่งตั้งเป็น สนช. แต่เห็นว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดในการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ไม่ควรมีสถานะทางการเมืองเช่นเดียวกับผู้นำสูงสุดของศาสนาอื่น จึงได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว โดยมีความยินดีให้คำปรึกษา และประสานความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และภารกิจด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

นายปรีดา กล่าวด้วยว่า ข้อสงสัยที่ว่าการเสนอชื่อจุฬาราชมนตรีจะขัด พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ที่ห้ามจุฬาราชมนตรีดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น ต้องดูตามมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ระบุว่า กรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาบังคับใช้แก่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. สนช. สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจุฬาราชมนตรีจึงสามารถเป็น สนช.ได้ แต่การไม่รับตำแหน่ง สนช.เป็นเรื่องความเหมาะสมของการเป็นผู้นำสูงสุดศาสนาอิสลามเท่านั้น

“จุฬาราชมนตรีไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. เพราะไม่เคยมีการทาบทามมาก่อน เพิ่งมาทราบตอนที่มีการโปรดเกล้าฯรายชื่อลงมา ทั้งนี้การไม่รับตำแหน่ง สนช.เป็นเรื่องความเหมาะสมของการเป็นผู้นำสูงสุดศาสนาอิสลามเท่านั้น” นายปรีดา กล่าว

“น้องประยุทธ์” ยกพี่ชายเป็นคนดี

ในเวลา 15.00 น. พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวเป็น สนช.ถึงบุคคลที่มีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ตอบยาก แต่คุณสมบัติของนายกฯคงต้องบริหารราชการแผ่นดินโดยรวมได้ รวมทั้งโปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่มีประวัติเสื่อมเสีย เพราะคนเป็นนายกฯจะต้องบริหารกระทรวง ทบวง กรมต่างๆได้ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมหรือไม่นั้น คงต้องดูที่มติของที่ประชุม สนช.ก่อน เพราะทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน

“พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นคนดีคนหนึ่ง และต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกก็ทราบกันดีอยู่ในฐานะพี่ชาย และอีกส่วนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ที่ผ่านมาบริหารกองทัพได้เป็นอย่างดี” พล.ท.ปรีชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งทั้ง ผบ.ทบ. นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะถือว่าเป็นงานหนักหรือไม่ พล.ท.ปรีชา กล่าวว่า คงต้องดู เพราะสิ้นเดือน ก.ย.นี้ก็พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นใครเหมือนกัน

เมื่อถามต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับงานในส่วนใดเป็นพิเศษหรือไม่ พล.ท.ปรีชา กล่าวว่า มีแต่ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ อย่าทำอะไรให้เสียชื่อเสียงเกียรติยศศักดิ์ศรีของทหาร อย่าให้ใครมาว่าได้

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีความเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุม สนช.หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการที่ยังอยู่ในราชการ พล.ท.ปรีชา กล่าวว่า ทราบมาว่า สนช.จะมีการประชุมสัปดาห์ละ 3-4 วัน สมาชิกก็คงจะต้องมาร่วมประชุม และคนที่เป็นประธาน สนช.ก็ต้องกำชับสมาชิกให้มาร่วมประชุม

ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า การส่ง พล.ท.ปรีชาเข้ามาเป็น สนช.เพื่อคุมเสียงฝ่ายทหารนั้น พล.ท.ปรีชา กล่าวปฏิเสธว่า ตนไม่ได้เข้ามาคุมเสียง และที่ได้เข้ามาเป็น สนช. เพราะได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

ภาคเอกชนหนุน “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ

ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงการแนวทางการทำงานในฐานะตัวแทนภาคเอกชนว่า ในวันเดียวกันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการหารือถึงความร่วมมือเพื่อให้ได้ข้อมูลจากทุกภาคส่วน ว่าอะไรจะนำมาเสนอต่อ สนช. เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ขณะที่ในส่วนของประธาน สนช.คงจะมีการพูดคุยใน กกร.เช่นเดียวกันเพื่อรับฟังความเห็น โดยเป็นการมองในภาพรวม ส่วนกระแสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกฯนั้น ภาคเอกชนมองว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มีความตั้งใจดี 2-3 เดือนที่ผ่านมา ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหา ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เราก็เห็นด้วย

เชื่อ "สุรชัย" หลีกทาง “พรเพชร” นั่ง ปธ.สนช.

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สนช.กล่าวว่า ภารกิจแรกของการประชุม สนช. หลังจากที่มีการคัดเลือกประธาน และรองประธาน สนช.แล้ว วาระกฎหมายแรกที่จะต้องเร่งพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ส่วนจะมีกระบวนการถอดถอนบุคคลด้วยหรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่ประธานในที่ประชุม จะเป็นผู้บรรจุวาระ ทั้งนี้ในส่วนรายชื่อผู้เหมาะสมเป็นประธาน สนช.นั้น เชื่อว่าหากมีการเสนอชื่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ก็เชื่อว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ก็พร้อมจะหลีกทางให้ ขณะเดียวกันจะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ ไม่แข่งขันกันเอง ซึ่งยืนยันว่าอดีต ส.ว.ไม่ได้มีการล็อบบี้เพื่อเลือก นายสุรชัย เป็นประธานสนช. แต่อย่างใด

ส่วนความกังวลที่สัดส่วนของสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เป็นสายทหาร อาจจะเกิดความไม่คล่องตัวในกระบวนการทำงานนิติบัญญัตินั้น นายสมชายกล่าวว่า สนช.มาจากหลายภาคส่วน ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งอดีต สนช. ฝ่ายตุลาการ คณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีต ส.ว. ซึ่งจะไม่กระทบต่อการดำเนินงาน อีกทั้งโมเดลการทำงาน ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจนคือ เพื่อการปฏิรูป และแก้วิกฤติความขัดแย้ง

สำหรับการที่ สนช.ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายสมชายกล่าวว่า ส่วนตัวก็มองว่ามีความเหมาะสม เพราะ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นถึงผลงานการแก้ปัญหาบ้านเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญยังเป็นผู้ที่มีความพร้อมมากที่สุด

“บิ๊กเข้” เชื่อ “บิ๊กตู่” ไม่ยุ่งตั้ง ผบ.ทร.คนใหม่

ที่กรมอู่ทหารเรือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช.กล่าวถึงการเลือกบุคคลเข้ามารับตำแหน่ง ผบ.ทร.คนใหม่ภายหลัง พล.ร.อ.ณรงค์เกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ว่า มีรายชื่ออยู่ในใจแล้ว ซึ่งคิดว่าภายในเดือน ก.ย.คงจะทราบ ส่วนหลักการในการเลือกผู้นำนั้นจะต้องมีคุณลักษณะมีภาวะผู้นำ มีความรู้ความสามารถ และมีจริยธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนตัดสินใจในการเลือก ผบ.ทร.คนใหม่หรือไม่ พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.คงให้เกียรติกับทางกองทัพเรือ และคงไม่น่าเข้ามาก้าวก่ายแต่อย่างใด

เมื่อถามว่ามีโอกาสจะไปรับตำแหน่งใน ครม.ภายหลังเกษียณอายุราชการหรือไม่ พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบ เนื่องจากยังไม่ได้มีการประสานงานมายังตน อีกทั้งยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ตนคิดว่ามีความเหมาะสม เพราะเสียงจากหลายฝ่ายต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกัน และเท่าที่ได้ทำงานร่วมกับ หัวหน้า คสช.มานั้น พบว่ามีความสามารถสูง จึงเหมาะสมที่จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ศรีสุวรรณ” ร้องผู้ตรวจฯตั้ง สนช.ขัด กม.

อีกด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าการแต่งตั้ง สนช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประกาศแต่งตั้ง สนช.ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า การถวายคำแนะนำเพื่อทรงแต่งตั้ง สนช.ให้คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความหลากหลายของบุคคล จากกลุ่มต่างๆ ในภาครัฐ เอกชน สังคม วิชาการ วิชาชีพ และภาคอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่ตามประกาศแต่งตั้งดังกล่าวพบว่า ไม่มีความหลากหลายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กลับโน้มเอียงหรือมุ่งเน้นไปแต่เฉพาะกลุ่มบุคคลที่เป็นข้าราชการทหาร และตำรวจ ทั้งในและนอกประจำการ ที่มีจำนวนมากเกินกึ่งหนึ่งของ สนช.ทั้งหมด ที่แต่งตั้งในคราวเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นการกระจุกตัวของกลุ่มคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังถือว่าหลากหลายกว่า สนช.

“การเอากลุ่มคนเพียงบางกลุ่มบางพวก ซึ่งเป็นเครือญาติ พี่น้อง อดีตผู้บังคับบัญชา และมิตรสหายมาทำหน้าที่ และได้รับผลตอบแทน สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนที่เกินกว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการปกติ จึงเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น สนช. ลำดับที่ 82 พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา ซึ่งเป็นเครือญาติของผู้มีอำนาจเสนอแต่งตั้ง สนช. นอกจากนี้ยังมี สนช. ลำดับที่ 87 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ลำดับที่ 141 พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน และยังเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บังคังบัญชาของผู้มีอำนาจเสนอแต่งตั้งสนช. อีกด้วย"

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตาม มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกอบ พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าการแต่งตั้ง สนช.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 7 และมาตรา 8 หรือไม่ พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.ไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหาย หรือการกระทำใดๆของ สนช. ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยจะกลายเป็นโมฆะ

"ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งพิจารณาเพื่อเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพราะเกรงว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะ สนช. ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคำร้องดังกล่าว อาจดึงเรื่องให้เกิดความล่าช้า หรือช่วยเหลือด้วยการหาเหตุที่ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ" นายศรีสุวรรณ กล่าว

“มาร์ค” อิดออดส่งคนร่วม สปช.

ทางด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันว่า เราก็ให้ความร่วมมือกับบ้านเมือง เมื่อมีคำสั่งไม่ให้เคลื่อนไหว เราก็ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ แต่เรามีความรับผิดชอบต่อพรรค ยังต้องดูแลกิจการของพรรค ทำความเข้าใจกับกติกาปัจจุบัน ซึ่งตนได้ขอพบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อชี้แจงเรื่องข้อห้ามที่อาจมีปัญหา อาทิ การห้ามรับสมาชิก แต่ประชาชนเดินมาสมัคร ทำให้ปฏิบัติยาก หรือกรณีระงับการจัดเงินอุดหนุนกองทุนพัฒนาการเมือง แต่ทางพรรคยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ ทั้งค่าอาคารสถานที่ บุคลากรพรรค หรือค่าน้ำค่าไฟ เมื่อเงินอุดหนุนถูกระงับ ก็ต้องพึ่งเงินบริจาค ก็ยังมีการห้ามรับเงินบริจาคด้วย จึงจะไปหารือกับ กกต.ว่า พรรคจะทำอย่างไร

“ผมทราบดีว่า แม้วันนี้เราไม่มีสถานะ แต่ประชาชนไม่คิดอย่างนั้น ยังหวังให้เราเป็นตัวแทนในการดูแลทุกข์ สุข แต่มั่นใจว่า พวกเราคงไม่ละเลยในการดูแลประชาชน โดยไม่ใช่การเคลื่อนไหวกับมวลชนที่จะเป็นปัญหาความมั่นคง อุดมการณ์พรรคประกาศชัด ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่สามารถประชุมได้ หัวหน้าพรรคก็จะตัดสินใจบนอุดมการณ์ของพรรค เพื่อเป็นหลักประกันให้กับทุกคน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกระบวนการสรรหา สปช.ที่มีประกาศ คสช.ให้อำนาจหัวหน้าพรรคเสนอชื่อไปให้กรรมการสรรหา 2 รายชื่อนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราบอกมาตลอดว่า สนับสนุนการปฏิรูป และให้ความร่วมมือกับ คสช.ในการให้ข้อมูลทั้งด้วยวาจา และพร้อมส่งเอกสารให้ เนื่องจากประชาชนอยากให้คนที่ไม่ใช่นักการเมืองเข้าไปปฏิรูป เราไม่มีปัญหากับใคร และยินดีร่วมมือกับการปฏิรูป แต่คิดว่าบทบาทของเรา ควรให้การแสดงความคิดเห็นในฐานะภาคส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น จะได้ไม่เกิดปัญหาให้ลำบากใจ

“อย่าลืมว่า พรรคการเมืองมีถึง 72 พรรค ถ้าพรรคละ 2 คน ก็เท่ากับ 144 คน หากให้มีสมาชิกสภาปฏิรูปถึง 144 คนมาจากพรรคการเมือง ก็คงจะยุ่งน่าดู เราจึงยึดตามแนวทางนี้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

'ดร.อมร'แนะบุคลากรยุติธรรมมีความจำเป็น

วานนี้ (4 ส.ค.) บรรยากาศในงานเสวนาทางวิชาการ เพื่อเป็นเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบอายุ 84 ปี ของ ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภายใต้หัวข้อที่ตั้งไว้ว่า "ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ สถาปนิกสังคมไทย" ที่อาคารบุญชนะ อัตถากร ชั้น 4 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

โดย ศ.ดร.อมร ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ การปฏิรูปสถาบันการเมืองของไทย ว่า รัฐสมัยใหม่คือการมีรัฐธรรมนูญ มีปรัชญากฎหมาย และวิธีคิดทางกฎหมาย ถ้าไม่มีวิธีคิด ก็สร้างกฎหมายที่ดีไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาที่ยากที่สุด สำหรับการแก้ไข ทั้งปัญหาของสถาบันการเมือง กระบวนการยุติธรรม

" การย้ายบุคคลที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากนั้น ยังไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในการแก้ไขกระบวนการยุติธรรม เพราะจะทำให้คดีที่เคยทำค้างไว้และคดีที่เคยศึกษาไว้ต้องล่าช้า เนื่องจากบุคคลที่ถูกเปลี่ยนเข้ามา ต้องเริ่มต้นดำเนินการใหม่".
กำลังโหลดความคิดเห็น