ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในสัปดาห์นี้ (29ก.ค.) มีข่าว "ปรองดอง" ที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง หรือ คสช. คือข่าวปิดฉากมรดกเลือดตระกูล "ธรรมวัฒนะ " ที่มีการฟ้องร้องกันไปมา ยืดเยื้อยาวนานถึง 14 ปี 48 คดี
โดยนายเจษฎา ยวงทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา สามารถไกล่เกลี่ยคดี หมายเลขดำ อ.1628/2555ได้สำเร็จ
เป็นคดีที่ นายวิกรม ธรรมวัฒนะ บุตรชาย เทอดชัย หรือ ผู้ใหญ่แดง ธรรมวัฒนะ ที่เสียชีวิตแล้ว หนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง ดำเนินธุรกิจตลาดยิ่งเจริญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.คนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ , นางนฤมล มังกรพานิชย์ และ นายนรินทร์ วงศ์ไทย ทนายความ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน เบิกความเท็จ นำสืบ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ จากกรณี เมื่อวันที่ 3 พ.ค.55 น.ส.คนึงนิตย์ กับพวกเบิกความเท็จต่อศาลแพ่ง ในประเด็นสำคัญ ทำให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้นายวิกรม นำหุ้นพิพาทของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ไปลงคะแนนเสียงในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทำให้ นายวิกรม ได้รับความเสียหาย
เรื่องราวที่เป็นมหากาพย์ของความขัดแย้งในตระกูลธรรมวัฒนะ เกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ในมรดกของตระกูล คือ ตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มูลค่าหมื่นล้าน ย่านสะพานใหม่ ดอนเมือง ซึ่งก่อสร้างปลุกปั้น เติบโตมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของ สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้เป็นแม่
สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ยุคก่อนปี 2500 เป็นเพียงแม่ค้าพายเรือเร่ขายผักอยู่ตามริมคลองแถบลาดกระบัง เมื่อเริ่มเป็นสาวก็แต่งงานกับสามีคนแรก มีบุตรชาย ด้วยกัน 1 คน คือ นายเทอดชัย หรือ ที่รู้จักกันภายหลังในชื่อ"ผู้ใหญ่แดง" ซึ่งในช่วงนั้นชีวิตครอบครัวไม่ราบรื่นนัก ต่อมา สุวพีร์ได้แต่งงานใหม่กับ นายอาคม ฉัตรชัยยันต์ และมีลูกด้วยกันถึง 9 คน คือ ห้างทอง กุสุมา นพดล มัลลิกา คนึงนิตย์ นฤมล นัยนา ปริญญา และ นงนุช
หลังอยู่กินกับสามีคนที่สอง สุวพีร์ ก็ดิ้นรน ทำธุรกิจอีกหลายอย่าง อาทิ เปิดปั๊มน้ำมันเล็กๆ ที่ย่านบางขุนพรม รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าเปิดร้านอาหารชื่อศรีฟ้า ที่สี่แยกเกียกกาย ซึ่งเป็นย่านค่ายทหาร จึงได้รู้จักกับนายทหารอาวุโสหลายคน
ส่วนสามีได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ และธุรกิจด้านการบริการ เช่น โรงไฟฟ้า การประปาและสัมปทานเดินรถเมล์ ระหว่างสะพานใหม่-ลำลูกกา และด้วยความที่สุวพีร์ ต้องขึ้นลงเรือที่สะพานใหม่บ่อยครั้ง จึงเริ่มมองเห็นว่าที่ดินย่านสะพานใหม่ น่าจะไปได้ดีในอนาคต จึงไปกู้ยืม หาเงินมาซื้อที่ดินเพื่อทำตลาดสด แต่บังเอิญที่ดินที่ซื้อนั้น ติดกับรั้วของทหารอากาศ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับความปลอดภัยของหน่วยราชการ จึงทำให้การขออนุญาตสร้างตลาดสด ติดขัดจนเกือบต้องล้มเลิก
แต่สุวพีร์ ก็ดิ้นรนต่อสู้ และได้เข้าไปขออนุญาตกับ จอมพลฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น และก็ไม่ผิดหวัง ตลาดสดยิ่งเจริญ จึงเปิดทำการเมื่อ วันที่ 11 สิงหาคม 2498
ในช่วงแรก ตลาดยิ่งเจริญ ยังไม่เป็นที่รู้จัก สุวพีร์ จึงเปิดให้พ่อค้า แม่ค้า ขายฟรี รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ต้องใช้เงินจำนวนมาก ต้องขาดทุน เป็นหนี้ แต่สุวพีร์ ก็พยายามรักษาเอาไว้ จนในที่สุดเมื่อมีคนรู้จักมากขึ้น รายได้จากค่าเช่าแผงค้า ก็เริ่มไหลมาเทมาเป็นจำนวนมหาศาล สุวพีร์ นำรายได้เหล่านั้นไปซื้อที่ดินย่านดอนเมือง ลามไปถึงปทุมธานี ฉะเชิงเทรา กลายเป็นมหาเศรษฐี ที่มีทรัพย์สมบัติ ทั้งอสังหาริมทรัพย์และเงินสดมากถึงกว่าหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
และจากการที่มีทรัพย์สมบัติมหาศาลนี่เอง จึงเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมในตระกูลธรรมวัฒนะ หลายชีวิตต้องสังเวยไปกับการแย่งชิง ผลประโยชน์ และการล้างแค้น
เริ่มจาก นายอาคม ฉัตรชัยยันต์ สามี คนที่สองของ สุวพีร์ ถูกลอบยิงเสียชีวิต ในปี 2509 ตำรวจตสันนิษฐานว่า เป็นการขัดผลประโยชน์ กิจการโรงฆ่าสัตว์
ในปี 2522 ขณะที่สุวพีร์ เดินทางกลับมาจากศาล ได้ถูกลอบยิง บาดเจ็บสาหัสจนกลายเป็นอัมพาต ต้องนั่งรถเข็น และต้องหอบสังขาร หนีไปรักษาตัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยมอบหมายให้ น.ส.กุสุมา ลูกสาว คนที่ 3 ดูแลผลประโยชน์ของตระกูลทั้งหมด
ผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี คือเช้าวันที่ 30 กันยายน 2525 น.ส.กุสุมา ก็ได้กลายเป็นศพที่ 2 เมื่อถูกลอบยิงเข้าที่ศีรษะ ในระยะเผาขนระหว่างเดินตรวจตลาดยิ่งเจริญ ในครั้งนี้ตำรวจจับมือปืนได้ ซึ่งผู้สังหารได้ซัดทอดว่า นายบวร ธรรมวัฒนะ ผู้เป็นอา และ หลานสาวอีก 2 คน เป็นผู้บงการฆ่า เพราะต้องการฮุบมรดก ซึ่งภายหลังศาลฎีกา ตัดสินยกฟ้อง
เดือนมีนาคม 2526 สุวพีร์ ตัดสินใจเดินทางกลับจากต่างประเทศ เพื่อมาดูแลกิจการด้วยตนเองอีกครั้ง ในช่วงนั้นคนในตลาดยิ่งเจริญ จะเห็นสุวพีร์ นั่งรถเข็นมาตรวจตลาดเป็นประจำ กระทั่ง ปี 2531 ก็ล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
ขณะที่ สุวพีร์ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ก็จัดการทำพินัยกรรมเอาไว้เสร็จเรียบร้อย แต่ขณะนั้น นัยนา บุตรสาวคนที่ 8 ได้แอบหนีไปแต่งงานกับ พ.ต.ต.สมาน ตามประกอบ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตระกูลธรรมวัฒนะ ทำให้สุวพีร์ โกรธมาก ถึงขนาดประกาศตัดนัยนา จากกองมรดก
สุวพีร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2533 โดยชีวิตได้พยายามใช้ปากกาเขียนหนังสือใส่กระดาษให้ลูกๆไว้ว่า "รักสามัคคี" ก่อนที่จะสิ้นใจ และเมื่อมีการเปิดพินัยกรรม ปรากฏว่า ได้มีการแบ่งสมบัติให้ลูกๆ ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ นัยนา ที่ถูกประกาศตัดขาดจากกองมรดกก็ได้รับส่วนแบ่งเช่นกัน
ว่ากันว่า รายละเอียดที่สุวพีร์ ระบุในพินัยกรรมที่เขียนขึ้นเมื่อ 15มีนาคม 2531 นี่เอง ที่เป็นเงื่อนปมสำคัญ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม ในหมู่พี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะ
โดยพินันกรรมในข้อ 3 ระบุว่า " ห้ามโอนตลาดยิ่งเจริญ ให้บุคคลอื่นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของผู้ถือหุ้น ถ้ามีผู้ใดละเมิดข้อห้าม ให้ตกเป็นของผู้ถือหุ้นที่ไม่ละเมิดข้อห้าม โอนตามส่วนเฉลี่ย เว้นแต่ผู้ถือหุ้นคนใดจะขายหุ้น จะต้องขายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นทายาทด้วยกันเท่านั้น ในราคาตลาด " โดยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ต้องรอให้การเสียชีวิตของสุวพีร์ ครบ 20 ปีแล้ว ทายาทจึงจะสามารถแบ่งทรัพย์สินออกเป็น ส่วนๆได้
ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้ง 9 ประกอบไปด้วย 1. เทอดชัย 2. ห้างทอง 3. นพดล 4. มัลลิการ์ 5. คนึงนิตย์ 6. นฤมล 7. นัยนา 8. ปริญญา 9.นงนุช ต่อมาผู้ถื่อหุ้นทั้ง 9 ได้ตั้งเป็น บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง เพื่อดำเนินธุรกิจตลาดยิ่งเจริญ
แต่หลังจาก นัยนา รับมรดกได้ไม่ถึงเดือน มัลลิการ์ บุตรสาวคนที่ 5 ก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า มีคนพบนัยนา กลายเป็นศพ ที่ จ.กาญจนบุรี สภาพถูกล็อกด้วยกุญแจมือทั้งสองข้าง มีบาดแผลจากการถูกฟัน และยิงอย่างทารุณ
เมื่อนัยนาเสียชีวิต เทอดชัย ธรรมวัฒนะ หรือ ผู้ใหญ่แดง พี่ชายต่างบิดาของตระกูลธรรมวัฒนะ ก็พาทายาททุกคน เปิดแถลงข่าว เคลียร์ความบริสุทธิ์ของตน พร้อมโยงประเด็นว่า คนใกล้ชิดนัยนา น่าจะรู้เห็นเบื้องหลังการฆาตกรรมครั้งนี้ แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ปีเศษ ผู้ใหญ่แดง ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ขณะเดินทางไปซื้อขายที่ดินที่ จ.หนองคาย
ต่อมาปี 2540 พ.ต.ท.สมาน ตามประกอบ สามีของ นัยนา ก็ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ ที่ จ.นครราชสีมา แต่รอดตายมาได้หวุดหวิด
และที่เป็นข่าวครึกโครมที่สุดก็คือกรณีการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ ห้างทอง ธรรมวัฒนะ พี่ชายคนโต เมื่อเช้าตรู่ วันที่ 6 กันยายน 2542 ภายในบ้านพักของตัวเอง ที่ย่านสะพานใหม่ ดอนเมือง พร้อมกับจดหมายปริศนา
"ถึงน้องๆ ทุกคน สัง จิ๋ม นิด หน่อย ริน น้อย เรื่องทั้งหมดขอให้ยุติเสียเถิด อะไรที่ผิดพลาด ก็ขอให้อภัยต่อกัน พี่น้องควรรักกันไว้ทุกคนบอบช้ำมามาก ขอให้หันหน้าเข้าหากัน คดีความต่างๆ ควรยุติได้แล้ว ฝากน้องเดียร์ด้วย เพราะเบื่อเหลือเกินแล้ว มีภาระอะไร ก็กรุณาแก้ไขให้ด้วย โดยให้รู้รักสามัคคี ขอให้ลดทิฐิมานะลง หันกลับไปดีกันอย่างเดิม" รัก - จาก ห้างทอง
ปริศนาการตายของห้างทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ พุ่งเป้าตรงไปที่ทรัพย์สมบัติกองโต และความขัดแย้งของพี่น้อง ที่สำคัญคือ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่า ห้างทองไม่ได้ฆ่าตัวตาย เนื่องจากคืนวันที่ 5 กันยายน เกือบทั้งคืน ห้างทอง หารือปัญหาภายในครอบครัวอยู่กับ นพดล ผู้เป็นน้องชาย ทำให้ นพดล ตกเป็นผู้ต้องหา ว่าเป็นผู้สังหารพี่ชายตนเอง มีการต่อสู่คดีกันอยู่หลายปี ศพของห้างทอง ถูกผ่าพิสูจน์ เพื่อหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หลายครั้ง กว่าจะได้ทำการฌาปนกิจ
จนกระทั่ง วันที่ 1 กันยายน 2553 ศาลอุทธรณ์ พิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้อง นพดล เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ระหว่างนั้น ในบรรดาพี่น้องก็เกิดความบาดหมางกันอย่างรุนแรง ซึ่งมูลเหตุก็มาจากเรื่องการจัดการมรดกในส่วนของห้างทอง โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายห้างทอง จะมี ปริญญา คนึงนิตย์ และนฤมล ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมี นพดล มัลลิการ์ และ ฐานิยา
เมื่อห้างทอง ตายลง ปริญญา น้องชายคนรองสุดท้องก็ได้เจรจาขอซื้อหุ้นตลาดยิ่งเจริญ จากกลุ่มนพดล และมัลลิการ์ ในปี 2543 ซึ่งกว่าจะตกลงราคากันได้ ล่วงเข้าปี 2545 โดยนพดล ยินยอมขายหุ้น ให้มูลค่า 875 ล้านบาท
ทำให้ ตลาดยิ่งเจริญ อาณาจักรของตระกูลธรรมวัฒนะ ย่านสะพานใหม่ ประกอบด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นในสัดส่วน ปริญญา 26% นฤมล 26% คนึงนิตย์ 26% ที่เหลือเป็นของทายาทของ ห้างทอง ซึ่งมี แทนทอง และ จังหวัด กับ ทายาทของ ผู้ใหญ่แดง คือ วิกรม และ วิราช ในสัดส่วนเท่าๆ กัน
ตลาดยิ่งเจริญ ในความดูแลของ ปริญญา ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อแข่งขันกับบรรดาโมเดิร์นเทรดข้ามชาติ หรือ ไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ตลาด ที่มีถึง 20,000 ตารางเมตร และแผงขายของ1,500 แผง ประกอบกับการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ตลาดยิ่งเจริญ ยังครองความยิ่งใหญ่อยู่ได้
แต่กระนั้น ปัญหาภายในของกลุ่มทายาทธรรมวัฒนะ ใช่ว่าจะคลี่คลายไปได้หมด ยังคงมีเรื่องราวฟ้องร้อง เป็นคดีความกันอยู่มากมาย แม้จะไม่ถึงขั้นเอาชีวิตกันก็ตาม โดยหลังจาก ห้างทอง เสียชีวิต ทั้งสองฝ่ายมีการฟ้องร้องกันทั้งที่ ศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลแขวงพระนครเหนือและ อื่นๆ รวม 48 คดี มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันมาแล้วถึง 6 ครั้ง
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 57 ผลการไกล่เกลี่ยคดีความของคนในตระกูล ถึงได้บรรลุความสำเร็จ โดยในวันนั้น พี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะ ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ปริญญา ธรรมวัฒนะ นฤมล มังกรพานิชย์ กับ คนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ เดินทางมาทำสัญญาประนอมข้อพิพาทกันที่ศาลอาญา โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้จับมือกัน พร้อมให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
โดย นฤมล กล่าวขอขอบคุณศาล ที่ช่วยไกล่เกลี่ยคดีจนสามารถตกลงกันได้ และขอให้คดีของครอบครัวตระกูลธรรมวัฒนะ เป็นตัวอย่าง เมื่อพี่น้องมีปัญหา ต้องหันหน้าคุยกัน และหาทางแก้ไข เพื่อให้ความบอบช้ำ และความเสียหายเบาบางลง
ขณะที่ ปริญญา ก็ได้ขอบคุณศาล ที่แนะนำให้ครอบครัวมาไกล่เกลี่ยคดีกัน จนได้ข้อตกลงที่กันดีทั้งสองฝ่ายนอกจากนี้ ปริญญายังบอกว่า ได้ขายหุ้น และกิจการทั้งหมดที่ตลาดยิ่งเจริญ ให้กับนฤมล หลังจากนี้ แนวทางการบริหารธุรกิจตลาดยิ่งเจริญ จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ นฤมล และ คนึงนิตย์ จะเป็นผู้บริหารต่อไป
ถึงวันนี้ กฎเหล็กที่ สุวพีร์ กำหนดไว้ในพินัยกรรม ห้ามขายหุ้นตลาดยิ่งเจริญให้คนนอก จนกว่าจะครบ 20 ปีหลังการตาย นั้น ได้ปลดล็อกแล้ว ตลาดยิ่งเจริญ จะยังเป็นของตระกูลธรรมวัฒนะ หรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต
มหากาพย์ มรดกเลือดตระกูลธรรมวัฒนะ อาจปิดฉากลงได้ แต่ จะก่อเกิด "ตำนานเลือดตลาดยิ่งเจริญหมื่นล้าน" ในบทต่อไปหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบได้