xs
xsm
sm
md
lg

"สุเทพ"ไขก๊อกพ้นกรรมการปตท. เครือข่ายพลังงานจี้ปฏิรูป คุมเข้มงบกองทุน7พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“สุเทพ” อดีตปลัดพลังงาน ลาออกกรรมการ ปตท. เครือข่ายพลังงานยื่นหนังสือขอให้เดินหน้าปฏิรูปพลังงาน ห้ามข้าราชการเป็นกรรมการในบริษัทเอกชน ขอให้แก้มติให้ปิโตรเคมีจ่ายเงินกองทุนเท่ากับอุตสาหกรรม ตั้งกรรมการสอบการใช้เงินกองทุนน้ำมันย้อนหลัง 5 ปี ยี้ "ปิยสวัสดิ์" ตรวจสอบการลงทุนต่างประเทศของ ปตท. ชี้ไม่เหมาะสม บอร์ดกองทุนอนุรักษ์พลังงานสั่งตั้งอนุกรรมการ ดูแลการใช้งบปีละ 7 พันล้านให้โปร่งใส่ พร้อมเร่งสอบ 23 โครงการ วงเงิน 1.03 หมื่นล้าน เผยสั่งยุติโครงการติดตั้งโซลาร์บนอาคารรัฐ 1.8 พันล้านแล้ว เหตุทำไม่ทัน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ปตท. เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2557 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ นายสุเทพ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานในยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และถูกโยกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งฉบับที่ 79/2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นกรรมการ ปตท. คนที่ 8 ที่ลาออกต่อจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร , นายอรรถพล ใหญ่สว่าง , นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ , นายทศพร ศิริสัมพันธ์ , นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว , นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ และนายอินสอน บัวเขียว ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้

***เครือข่ายประชาชนบี้ปฏิรูปพลังงาน

พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายพลังงานภาคประชาชน กล่าวหลังการเดินทางมายื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีนายปรีชา ขวัญเมือง หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี มารับหนังสือแทน วานนี้ (2ก.ค.) ว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้มาแสดงจุดยืนของการปฏิรูปพลังงานที่ต้องการขจัดผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความโปร่งใส
โดยยึดหลักสากล และตามรัฐธรรมนูญ โดยข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนห้ามนั่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ซึ่ง คสช. ต้องยกเลิกกฏหมายที่เอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชน เช่น การยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 30 ก.ย.2554 ที่ให้ปิโตรเคมีจ่ายกองทุนน้ำมันเพียง 1 บาท โดยให้ออกมติใหม่จ่ายเท่ากับภาคอุตสาหกรรมที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ให้ยกเลิกการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยการนำเข้าแอลพีจีในต้นทุนเทียม ขอให้ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนน้ำมันย้อนหลัง 5 ปี และยกเลิกการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ ต้องการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดเจาะจากหลุม โดยมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ให้โรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งแสดงหลักฐานการนำเข้า การซื้อ-ขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั้งปริมาณและราคา รวมทั้งสัญญาซื้อขายอย่างโปร่งใส เป็นต้น และในระยะต่อไป ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุจริต ไม่เอาอดีตคนเคยทำมิชอบมาตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบใหม่ และแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

“กรณีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่เข้ามาเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. แล้วระบุว่าจะมีการตรวจสอบการลงทุนต่างประเทศของ ปตท. เราไม่เห็นด้วย เพราะคนเหล่านี้มีประวัติไม่โปร่งใส เราไม่มีความเชื่อถือ เราเห็นว่าควรจะเป็นคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา “พท.พญ.กมลพรรณกล่าว

***ตั้งอนุกรรมการดูแลใช้งบ7พันล้าน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ที่มีพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีตนเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณา เสนอแนวทางหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินในแต่ละปี และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณกองทุนที่มีนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อกลั่นกรองเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละปีงบกองทุนฯ จะมีประมาณ 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่มีตนเป็นประธาน จะเข้าไปดูแลโครงการที่ได้รับอนุมัติปี 2556-2557 ตามที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เข้าไปตรวจสอบการใช้เงินกองทุนฯ และให้มีการทบทวนโครงการที่มีมูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งมีประมาณ 23 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.03 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นให้ยกเลิก 10 โครงการย่อย ดำเนินการต่อ 9 โครงการ 5 โครงการทบทวน และอาจเสนอโครงการใหม่แทน โดยล่าสุดที่ประชุมกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้แจ้งขอยุติโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคานำร่องในอาคารภาครัฐส่วนภูมิภาค วงเงิน 1,847 ล้านบาท เนื่องจากดำเนินการไม่ทันกับเวลาที่กำหนดไว้ ส่วนโครงการอื่นๆ ที่เหลือคงจะต้องมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับกรอบที่กำหนดไว้สำหรับการคัดเลือกโครงการที่จะสามารถจัดสรรงบประมาณกองทุนฯ สนับสนุนทั้งใหม่และเก่าจะอยู่บนพื้นที่ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ต้องมีการอนุรักษ์พลังงาน 2.ต้องก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน 3.ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวตกรรมด้านการประหยัดพลังงาน 4.ผลที่ได้รับมีความคุ้มค่า 5.มีการพัฒนาด้านบุคคลากร

"โครงการใหม่ที่จะต้องดำเนินการปี 2558 ทางรองปลัดกระทรวงพลังงานก็คงจะต้องไปเร่งจัดทำ ซึ่งจะพยายามจะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้ทันกับงบประมาณ อย่างไรก็ตาม กรณีโครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์นั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณา”นายอารีพงศ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น