กกต.ปล่อยผี พท. ยก 3 คำร้องรวดทั้งความเป็น รมต.ของ “วิเชษฐ์” - อดีตนายกฯ ปูและ ส.ส.แก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ และการตั้ง ศรส. พร้อมยกคำร้อง “หญิงเป็ด” ขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ว.
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอให้ยุติเรื่องกรณีที่เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 56 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นเรื่องขอให้ กกต.ตรวจสอบและยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวจากกรณีปกปิดการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากไม่แจ้งให้ ป.ป.ช.ว่าภรรยาถือหุ้นใน 2 กิจการบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5 ที่กฎหมายกำหนด และนายวิเชษฐ์ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งว่าประสงค์ว่าจะรับหรือไม่รับผลประโยชน์จากหุ้นดังกล่าวร่วมกันหรือไม่
โดยก่อน กกต.มติดังกล่าว คณะกรรมการไต่สวนได้มีการดำเนินการตรวจสอบคำร้องดังกล่าวและในเดือน พ.ย.ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่ต่อมามีปัญหาการชุมนุมทำการไต่สวนล่าช้าเพราะสำนักงานถูกปิดล้อม อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของที่ประชุม กกต.ในวันที่ 25 มิ.ย. 57 เห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 180 ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการยุบสภา และมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 จึงมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์สิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุให้ กกต.ต้องพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวอีก เพราะความผิดดังกล่าวไมได้มีเรื่องของการต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพียงแค่ตำแหน่งรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเท่านั้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ยังมีมติยกคำร้องกรณีนายเศวต ทินกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 และ พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพานิช ขอให้ กกต.ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. กระทำการเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ เข้าข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 102 (6) เป็นเหตุให้สมาชิกสภาพการเป็น ส.ส., ส.ว.สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ โดยทีป่ระชุมเห็นว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดในเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดจนต้องนำไปสู่การถอดถอน
นายภุชงค์กล่าวว่า กรณีที่นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อจูงใจ สัญญาว่าจะให้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตน หรือละเว้นการลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จากการที่ออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) และมีการออกประกาศของ ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผู้อำนวย ศรส. กกต.มีมติไม่รับเป็นเรื่องร้องคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในขณะนั้น ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ส่วนกรณีนางลีนา จังจรรจา อดีตผู้สมัคร ส.ว. กรุงเทพมหานคร ยื่นร้องคัดค้านคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีต ส.ว.ว่าเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กกต.มีมติให้ยกคำร้อง เพราะในชั้นของการสมัคร กกต.ประจำกรุงเทพมหานครได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติกรณีดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งได้รับการแจ้งว่าไม่ปรากฏคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของคุณหญิงจารุวรรณตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด โดย ป.ป.ช.มีข้อสังเกตว่าคุณหญิงจารุวรรณเคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่คดียังไม่สิ้นสุด จึงไม่ถือว่าคุณหญิงจารุวรรณมีคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร
เลขาธิการ กกต.ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.มีผลบังคับใช้ต่อไปโดยห้ามเพียงการเลือกตั้งและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ทาง กกต.จึงเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวให้อำนาจ กกต.ในการตรวจสอบการรับสมัคร ส.ส.และ ส.ว.ว่ามีบุคคลที่รู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติต้องห้ามแต่ยังมายื่นสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งจะถือว่าเป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จกับเจ้าหน้าที่ มีความผิดตามกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา 139 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และหากพบว่าพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำเหล่านี้ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ก็มีความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรค กกต.จึงจะมีดำเนินการตรวจสอบผู้สมัคร ส.ว.และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อจาก 53 พรรคการเมือง โดยเป็นผู้สมัครทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 1,174 คน