xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ชี้บอร์ด ปตท.ส่อดันแปรรูปรอบ 2 เตือน คสช.รู้ทัน ระวังต่อยอดระบอบแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รสนา” ชี้รายชื่อคณะกรรมการคุมรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบอร์ด ปตท. ส่อแววดันแปรรูป ปตท.รอบ 2 เตือน คสช.หากปล่อยให้แปรรูปโดยไม่แยกระบบท่อส่งก๊าซ-น้ำมัน ออกมาก่อน จะทำให้อำนาจจัดสรรทรัพยากรอยู่มือของกลุ่มทุนโดยสมบูรณ์ เท่ากับเป็นการช่วยต่อยอดให้ระบอบทักษิณกลับมายิ่งใหญ่อีก

วันนี้ (29 มิ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และแกนนำกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ระบุว่า เห็นรายชื่อซูเปอร์บอร์ด และบอร์ด ปตท.ที่ คสช.ตั้งเพื่อคุมรัฐวิสาหกิจ และคุม ปตท.เมื่อวันก่อนแล้วมองเห็นเค้าลางการแปรรูป ปตท.รอบ 2 คนที่ตั้งขึ้นมาส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่มีความเชื่อโน้มเอียงที่จะเห็นว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องความก้าวหน้า และช่วยกำจัดการล้วงลูกของนักการเมือง

วาทกรรมที่ว่ารัฐไม่ควรถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ ควรขายหุ้นออกไปให้เป็นเอกชน อย่างบริษัท ปตท.เป็นตัวอย่างรัฐวิสาหกิจที่ยังมีสภาพดีอยู่ แต่ถ้าปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูก ก็มีโอกาสจะเจ๊งเหมือนตัวอย่างของบริษัทการบินไทย

ฟังดูดีมีเหตุผล แต่เป็นเหตุผลชั้นเดียวที่ปิดบังตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังนักการเมืองอีกชั้น คือกลุ่มทุนพลังงาน โจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลไพรซ์ นิยามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ว่าคือ “การคอร์รัปชัน” (Privatization is bribarization) โดยกล่าวว่า

“การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) หมายความว่า พวกตนไม่จำต้องแค่ฉกฉวยกำไรจากรัฐวิสาหกิจเป็นรายปีอีกต่อไป เพียงแต่บอกขายรัฐวิสาหกิจให้ต่ำกว่าราคาตลาดเสีย พวกตนก็สามารถฉวยเอามูลค่าสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจก้อนโตเข้าตัว แทนที่จะทิ้งมันไว้ให้ผู้มาดำรงตำแหน่งคนต่อๆไปถลุง...” ( คำแปลของเกษียร เตชะพีระ จากมติชน 30 เม.ย.2547)

สิ่งที่ Joseph Stiglitz กล่าวนั้นเกิดขึ้นกับกรณีการแปรรูป ปตท.เมื่อปี 2544 เห็นได้ชัดเจนว่า การตีมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. เพื่อกำหนดราคาหุ้น เลือกใช้วิธีคิดมูลค่าทรัพย์สินของชาติตามมูลค่าบัญชี ซึ่งทรัพย์สิน ปตท.ที่ตัดค่าเสื่อมแล้วเหลือมูลค่าเพียง 100,873 ล้านบาท ประชาชนเคยลงทุนในการสร้างอุปกรณ์ สาธารณูปโภคด้วยภาษีมหาศาล เมื่อตัดค่าเสื่อมอุปกรณ์ที่ลงทุนในยุคแรกหมด ที่เหลือคือ กำไรที่รัฐจะสามารถกำหนดราคาพลังงานขายประชาชนในราคาย่อมเยาลงเพราะไม่มีต้นทุนอุปกรณ์ เหลือเพียงค่าบำรุงรักษา และค่าซ่อมแซมอุปกรณ์เท่านั้น

การแปรรูปตามมูลค่าบัญชีคือ การชุบมือเปิบ ตัดยอดเอามูลค่าสินทรัพย์ในราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง เอาไปแบ่งให้เอกชน 48% ด้วยเม็ดเงินเพียง 28,277 ล้านบาทเท่านั้น (ทั้งที่ตอนแรกรัฐบาลทักษิณ ได้โยนหินถามทางว่าจะแปรรูปเพียง 25% เท่านั้น)

อย่างท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ทั้งระบบถูกตีมูลค่าเพียง 46,189 ล้านบาท โรงแยกก๊าซ 4 โรงถูกตีราคาเพียง 3,212 ล้านบาท ฯลฯ

ลำพังนักการเมืองอาชีพคิด และทำไม่ได้ขนาดนี้หรอก ถ้าไม่ใช่นักธุรกิจการเมืองอย่างทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นทั้งพ่อค้า และเป็นทั้งนายหน้าให้แก่กลุ่มทุนพลังงานระดับโลก

การแปรรูป ปตท.เมื่อปี 2544 คือ การเจาะเข้าสู่ระบบโครงสร้างพลังงานของประเทศโดยกลุ่มทุนการเมืองที่อาศัยอำนาจรัฐดำเนินการ ไม่ต่างจากสิ่งที่ ธีรยุทธ บุญมี แสดงปาฐกถา (ในงานธรรมศาสตร์ 80 ปี เมื่อวันที่28 มิถุนายน 2557 ) ว่า “วิกฤตประเทศไทยล้ำลึกเพราะอำนาจรัฐ อำนาจสาธารณะของประเทศถูกเจาะไชเป็นรูลึก กลุ่มทุน และนักการเมืองกลายเป็นตัวละครหลัก ที่มีทั้งฐานอำนาจ และการเงินมหาศาล เป็นที่มาของวิกฤตสังคมการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความกังวลเรื่องประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะการปล่อยให้พื้นที่อำนาจรัฐ ถูกใช้ประโยชน์เป็นของส่วนตัวซึ่งมักเรียกว่าเป็นการคอร์รัปชันทางนโยบาย หรือคอร์รัปชันแบบบูรณาการทั้งนักการเมือง ข้าราชการ เป็นการคอร์รัปชันแบบล้ำลึก โดยอาศัยอำนาจครบวงจร”

การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้สกัดกั้นการต่อสู้ของภาคประชาสังคมที่ต้องการตรวจสอบการแปรรูป ปตท.ที่ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล กล่าวคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มภาคประชาสังคมได้ทำการฟ้องคดีการแปรรูป ปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในปี 2548 แต่การรัฐประหารในครั้งนั้นเปิดโอกาสให้มีการออก “พ.ร.บ กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ 2550” ในสภา สนช.ซึ่งเป็นสภาเดียวในเวลาอันรวดเร็ว อย่างชนิดที่สภานิติบัญญัติในเวลาปกติไม่สามารถทำได้

ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินคดี ปตท. ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 หลังจาก พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานฉบับนี้มีผลเป็นกฎหมายในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 โดยถือเป็นการเยียวยาความเสียหายจากการแปรรูปที่ขัดกฎหมาย แต่เนื่องจากศาลเห็นว่าการแปรรูป ปตท.ได้ก่อนิติสัมพันธ์เป็นอันมาก หากเพิกถอนการแปรรูปก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่าการแปรรูป ปตท.ไปเป็นบริษัทเอกชน มหาชน ได้ทำให้ “ปตท.สิ้นสภาพจากการเป็นองคาพยพของรัฐ” จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ซึ่งคือ บรรดาทรัพย์สินที่ทำให้ ปตท.มีอำนาจผูกขาด ได้แก่ระบบท่อส่งก๊าซ และ ระบบท่อส่งน้ำมัน ฯลฯ รวมทั้งการสั่งให้ ปตท.ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป

การแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ เช่น ระบบท่อส่งก๊าซ ที่เป็นสาธารณสมบัติที่มีลักษณะผูกขาดนั้นเป็นทรัพย์สินเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ องค์กรที่เป็นเอกชนอย่าง ปตท.ไม่สามารถครอบครองได้ แต่รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ไม่ได้แบ่งแยกให้ครบถ้วนตามมติ ครม.ที่ให้สำนักตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนเสียก่อน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯ สตง.ในสมัยนั้นมีเอกสารระบุว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบ

แต่นักการเมือง และข้าราชการของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ต่างพร้อมใจกันไม่ทวงคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนประชาชนที่นำคดีฟ้องต่อศาลกลับกลายเป็นว่า ประชาชนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่มีอำนาจขอให้มีการบังคับคดี ส่วนเจ้าของทรัพย์แทนประชาชนคือ กระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ทำตามมติ ครม.รัฐบาล พล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์สิน

การห้าม ปตท.ใช้อำนาจรัฐ แต่การที่มีผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพลังงาน มาเป็นบอร์ด ปตท.จึงเป็นผู้มาใช้อำนาจรัฐแทน ปตท. เห็นได้ว่าการทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ของข้าราชการเหล่านี้ ทำให้นโยบายพลังงานของกระทรวงพลังงาน ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้ ปตท.ทำกำไรมากขึ้น และผู้บริหารเหล่านั้นจะได้รับโบนัสที่เชื่อมโยงกับผลกำไรของ ปตท. จึงไม่แปลกที่ข้าราชการเหล่านั้นที่เข้าไปเป็นบอร์ด ปตท.ในโควตาของรัฐที่ถือหุ้น 51% แต่ไม่เคยกำหนดราคาก๊าซที่ ปตท.ผูกขาดขายให้ กฟผ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ให้มีราคาถูกกว่า หรืออย่างน้อยถัวเฉลี่ยราคาให้เท่ากับที่ขายให้บริษัทลูกในเครือของ ปตท.

กล่าวคือ กฟผ.ต้องซื้อก๊าซในราคา Pool Gas (ก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG นำเข้าที่มีราคาแพงมารวมกัน) ที่แพงกว่าราคา Gulf Gas (ก๊าซจากอ่าวไทย) ที่มีราคาถูกกว่า และ ปตท.จะขายก๊าซจากอ่าวไทยให้แก่บริษัทปิโตรเคมีในเครือของตัวเองก่อน เพื่อให้บริษัทลูกของตัวเองมีกำไรสูง แต่ผลักให้ กฟผ.ไปใช้ก๊าซนำเข้าที่มีราคาแพง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.แพงขึ้น และในที่สุดก็ผลักมาเป็นภาระของผู้ใช้ไฟคือ ประชาชนทุกคน

ข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่เป็นบอร์ด ปตท. เมื่อเปลี่ยนหมวกมาทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการก็ยังใช้อำนาจในการชงมติ กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) และมติ ครม. ให้จัดสรรก๊าซ LPG ให้ปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทเอกชนในเครือ ปตท.ใช้ก่อนในราคาถูก และผลักประชาชนทุกกลุ่มไปใช้ก๊าซ LPG ในราคาตลาดโลก โดยช่วงที่ขึ้นราคาโดยตรงไม่ได้ ก็ใช้วิธีเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาอยู่ในกองทุนน้ำมัน และจ่ายชดเชยราคาก๊าซ LPG นำเข้าให้แก่ ปตท.เพียงเจ้าเดียว เป็นการอำพรางกำไรให้แก่ ปตท.

การอ้าง พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ว่าจะเป็นกฎหมายที่มากำกับราคาพลังงานอย่างเป็นธรรมนั้น แต่ปรากฏว่า มาตรา 3 ถูกเขียนล็อกไว้ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ใช้อำนาจดูแลได้เฉพาะการคิดค่าผ่านท่อเพื่อไปคิดราคาค่าไฟฟ้าเท่านั้น กกพ.ไม่มีอำนาจกำกับราคาพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งราคาก๊าซ และราคาน้ำมัน จึงเป็นการออกแบบคณะกรรมการ กกพ.ให้มีหน้าที่จำกัด เป็นการอำพรางอีกชั้นหนึ่งว่ามีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว แต่ความจริงแล้วคณะกรรมการ กกพ.ตกอยู่ภายใต้การกำกับของข้าราชการ และนักการเมืองในกระทรวงพลังงาน ที่ถูกกำกับด้วยบอร์ด ปตท. อีกชั้นหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า กกพ.ต้องปฏิบัติตามคู่มือราคาก๊าซที่ชงโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ที่ให้ ปตท.สามารถนำท่อก๊าซทั้งระบบที่ยังไม่คืนให้รัฐตามคำพิพากษา ไปตีราคาทรัพย์สินใหม่ โดยให้บริษัทต่างชาติ 2 บริษัท ตีมูลค่าท่อก๊าซ จากที่เคยเอาไปแปรรูปตามมูลค่าบัญชีในราคา 46,189 ล้านบาท กลายเป็นมีมูลค่าตลาดถึง 120,000 ล้านบาท และ กกพ.อนุมัติให้ ปตท. สามารถคิดค่าผ่านท่อจากประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ ปตท. มีกำไรขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท จากทรัพย์สินเดิมของประชาชน ทั้งที่ค่าผ่านท่อในแต่ละปีทำรายได้ให้ ปตท.ถึงปีละ 20,000 ล้านบาททุกปี แต่ถูกตีมูลค่าทรัพย์สินตอนแปรรูปเพียง 46,000 ล้านบาท

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารในปี 2549 ทำให้รัฐ และประชาชนสูญเสีย ปตท.ไปครึ่งหนึ่ง และ 48% ของหุ้นที่รัฐ และประชาชนเสียไป ได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนบ้าง นอกเหนือจากกำไรอันมหาศาลของเอกชนผู้ถือหุ้น 48% และราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้น ก่อความเดือดร้อนให้แก่ค่าครองชีพของประชาชน โดยรัฐที่ถือหุ้น 51% นอกจากมีรายได้ไม่คุ้มเสียแล้ว ก็ยังไม่สามารถคุ้มครองค่าครองชีพ และผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศได้เลย

หลังจากกลุ่มทุนพลังงานได้กุมกลไกการผูกขาดผ่าน ปตท.ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็เริ่มมีการโยนหินถามทางเรื่องจะให้รัฐขายหุ้น ปตท. ออกไปสัก 2% เพื่อให้ ปตท.เป็นเอกชนอย่างสมบูรณ์ การโยนหินถามทางนี้เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล น.ส ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ 2550 มาตรา 84 (11) ได้ระบุไว้ว่า “การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้โครงสร้าง หรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้” ทำให้ความปรารถนาของกลุ่มทุนพลังงานไม่อาจบรรลุผลได้ในเวลานั้น

การรัฐประหารปี 2557 นี้อาจจะกลายเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มทุนพลังงานจะสามารถใช้ช่องทางพิเศษ ในเวลาพิเศษ ในการเจรจาต่อรองกับ คสช. เพื่อจะได้แปรรูปบริษัท ปตท.อีกครั้งให้เป็นเอกชน 100% เสียที ด้วยการสร้าง วาทกรรมอำพรางว่า “อย่าปล่อยให้นักการเมืองมาล้วงลูก”

โดยที่แสร้งหลงลืมไปว่า กิจการพลังงานแห่งชาตินั้นเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะนำไปเปรียบเทียบกับกิจการการบินไทยไม่ได้ เพราะหากวาทกรรมล้วงตับประชาชนเช่นนั้นได้ผล ในไม่ช้าก็จะหันมาแปรรูป กฟผ.ดังที่รัฐบาลทักษิณเคยพยายามมาแล้ว

ถ้าสามารถแปรรูปบริษัท ปตท.ให้เป็นเอกชน 100% สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อกำไรสูงสุดของเอกชน ก็จะอยู่มือของกลุ่มทุนโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องหาวิธีอำพราง หรืออาศัยข้าราชการกระทรวงพลังงาน ในการชงมติเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนอีกต่อไป เป็นการหนีการตรวจสอบจากข้อมูลของวุฒิสภา ที่ผนวกกับภาคประชาสังคมที่เริ่มตื่นตัว และทำให้สังคมตั้งคำถามว่า เหตุใดตัวแทนของรัฐ 51% ในบริษัท ปตท.จึงชงแต่มติที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์?

การต่อสู้กับระบอบทักษิณ คือ การต่อสู้กับระบอบทุนที่ครอบงำรัฐ ที่มีจุดมุ่งหมายในการครอบงำ ผูกขาด และกินรวบทรัพยากรในประเทศไทย เป็นการคอร์รัปชันที่กินลึก และ “พลังงานคือกล่องดวงใจของทักษิณ ชินวัตร”

หาก คสช.ปล่อยให้มีการแปรรูปบริษัท ปตท.รอบ 2 โดยไม่แยกทรัพย์สินผูกขาดออกมาเสียก่อน คสช. ก็กำลังช่วยต่อยอดให้แก่ระบอบทักษิณที่จะกลับมาใหม่หลังยุค คสช.ไม่ว่าจะโดยรู้เท่า หรือไม่รู้เท่าทันเกมของกลุ่มทุนพลังงานที่มุ่งแสวงหากำไรให้ผู้ถือหุ้น หรือให้เอกชนรายใหญ่ก็ตาม และนั่นจะเป็นการสร้างความแตกร้าวให้แก่สังคมไทยรอบที่ 2 หลังจากที่ทักษิณ ชินวัตร ได้กระทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึกในหมู่ประชาชนจนกลายเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น