ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความสุขของมวลมหาประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกซอกทุกมุม ที่อยู่ภายใต้อำนาจบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังท่วมท้น โดยผลการสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ที่ไปสอบถามความเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-25 ก.ค. 2557 เรื่อง “คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” เกี่ยวกับระดับความสุขของคนในชาติ ภายหลังครบรอบ 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดินของคสช. พบว่า ประชาชนร้อยละ 66.48 มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะการเมืองสงบ คนในชาติไม่แบ่งฝ่ายทะเลาะกัน ชาวนาได้เงินจำนำข้าว และมีการจัดระเบียบสังคม ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมา 27.94 สุขเท่าเดิมเพราะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ มีเพียงแค่ 4.94 เท่านั้นที่มีความสุขลดลง เพราะค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง เศรษฐกิจไม่ดี
ขณะที่ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ก็ออกมาทำนองเดียวกัน โดยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,689 คน ระหว่างวันที่ 22 - 26 ก.ค. 2557 เรื่อง "ผลการดำเนินงาน 2 เดือน ของ คสช." ในภาพรวมร้อยละ 72.94 เห็นว่า คสช. ยังสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ดี ไม่มีความขัดแย้งหรือการชุมนุมเคลื่อนไหว ร้อยละ 69.98 เห็นว่า จัดระเบียบสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่ร้อยละ 50.87 ระบุว่าการจัดระเบียบสังคมถึงจะดีแต่ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนบางส่วนด้วย
ทั้งนี้ ในภาพรวมประชาชนให้คะแนน คสช. เมื่อครั้งทำงานครบ 1 เดือน ที่ 8.82 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 และเมื่อครบ 2 เดือน ประชาชนให้ 8.87 คะแนน
นั่นเป็นประจักษ์พยานและหลักฐานที่แสดงชัดแจ้งว่า คสช.ทำให้คนไทยมีความสุขเหลือล้น และสุขเพิ่มยิ่งขึ้นเป็นลำดับ นับจาก คสช. เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ความสุขที่คสช.มอบให้ ทำเอาประชาชนถึงกับลืมปัญหาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจฝืดเคืองซบเซากันไปเลย ดังนั้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะฟื้นในเร็ววัน อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นตกใจอะไร และถึงแม้ว่าครัวเรือนจะมีปัญหาหนี้สินพุ่งกระฉูด และตามมาด้วยปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ประชาชนคนไทยก็ยังฟินกับความสุขสุดๆ ที่คสช.จัดแคมเปญรณรงค์มอบความสุขให้ทั่วทุกหัวเมือง โดยไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนใดๆ มีเพียงส่วนน้อยที่รู้สึกสุขน้อยลง เพราะปัญหาเศรษฐกิจดังผลสำรวจของนิด้าโพล
แต่ไม่ว่าจะออกแคมเปญคืนความสุขทุกข์ไม่มีก็หนีความจริงไม่พ้นวันยังค่ำ เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาและปัญหาการเมืองภายในประเทศของไทย ล้วนแต่เป็นส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ เวลานี้ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลของสถาบันการเงิน กำลังเบ่งบานเพิ่มขึ้น
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ทิศทางเอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มเอ็นพีแอลประเภทอื่นๆ แต่ปรับขึ้นเล็กน้อย ตามภาวการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ปัจจุบันเอ็นพีแอลเช่าซื้ออยู่ที่ 3% ซึ่งยังไม่น่าห่วง
เช่นเดียวกับนางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธปท. ที่ระบุว่า ธปท.ได้ส่งสัญญาณมาตลอดว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือนบางกลุ่ม มีความเปราะบางมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งแม้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่อาจทำให้การฟื้นตัวมีปัญหา เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง
ตัวเลขจากแบงก์เอกชนสะท้อนภาพให้ชัดขึ้น เช่น ธนาคารธนชาต ถือว่ามีพอร์สินเชื่อค่อนข้างมาก เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. มีการปล่อยสินเชื่อ 738,235 ล้านบาท ลดลง 1% จากสิ้นปีก่อน ตามการลดลงของสินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลง 3.06% ขณะที่หนี้เสีย 38,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3%จากสิ้นปีก่อน ทำให้เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 4.49% เป็น 4.61% จากเช่าซื้อเป็นหลัก
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปลายปีก่อนธนาคารวางแผนธุรกิจโดยคาดว่าปีนี้จีดีพีจะอยู่ระดับ 5% สินเชื่อน่าจะเติบโต 5-6% แต่เอาเข้าจริงตลาดกลับทรุด โดยเฉพาะเช่าซื้อ ซึ่งธนาคารทบทวนแล้วว่า สินเชื่อรายย่อยคงไม่เติบโต ปีนี้สินเชื่อรวมของธนาคารจะทรงตัวและจะพยายามประคองไม่ให้ติดลบ
ส่วนธนาคารเกียรตินาคิน ก็ไม่แตกต่างกัน โดยไตรมาส 2 สินเชื่อยังเติบโต 1.7% จากสิ้นปี 2556 เพราะมีการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่สนับสนุน แต่ลดลง 1.8% จากไตรมาสแรกของปีจากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และยอดขายรถครึ่งปีแรก ประกอบกับการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ขณะที่เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.6% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ที่ 3.8% จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 2.1% ณ สิ้นปี 2556 เป็น 2.6% และขาดทุนจากขายรถยึด 497 ล้านบาท
กลุ่มทิสโก้ มีเงินให้สินเชื่อรวม 280,276 ล้านบาท ลดลง 4% จากสิ้นปีก่อน เป็นการลดลงของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อลดลง 4.45% เอ็นพีแอลอยู่ที่ 6,365 ล้านบาท หรือ 2.27% ต่อสินเชื่อรวมจากสิ้นปี 2556 ที่มี 1.7% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2555 ที่มี 1.25% ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ และโครงการรถคันแรกที่ทำให้ราคารถมือสองปรับลดลง
นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารไม่หวังเติบโตมากนัก แต่จะเน้นคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น และอาจเห็นสินเชื่อทั้งปีติดลบ 2-3% จากเป้าเดิมตั้งไว้ที่ 10% โดยมุ่งเน้นสินเชื่อรายย่อย และปรับปรุงเพื่อรอจังหวะการเติบโตอีกครั้งปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
นั่นเป็นภาพสะท้อนสถานะทางการเงินและหนี้สินของกลุ่มประชาชนคนชั้นกลางผ่านทางแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์และเกิดปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลตามมา แต่ถ้าหากจะดูภาพสะท้อนของประชาชนคนทั่วไปก็ต้องดูเอ็นพีแอลเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์ ที่พุ่งสูงขึ้นดังที่ นายประพล พรประภา กรรมการ บริษัท ฐิติกร ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ที่บอกว่า ธุรกิจเช่าซื้อปัจจุบันแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.6% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้ และเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวัง
“แนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ผมเห็นทิศทางนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาการเมือง แม้ตอนนี้ปัญหาต่างๆ จะคลี่คลาย แต่ผมยังไม่เห็นการฟื้นตัว สิ่งที่เราเห็น คือการผ่อนเงินของลูกค้าบางกลุ่มมีปัญหา โดยเฉพาะลูกค้าที่ทำงาน ลูกค้ากลุ่มเกษตรกร นอกจากนั้นแล้ว การปล่อยสินเชื่อรถใหม่ครึ่งปีแรกหดตัวลงชัดเจน โดยรถจักรยานยนต์ยอดขายลดลง 20% จากปีก่อน ส่วนตลาดรถยนต์หดตัวรุนแรงถึง 40% ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการรถยนต์คันแรกที่ดึงกำลังซื้อไปก่อนหน้านี้”นายประพลให้ข้อมูล
อาจจะด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูยังไม่แรงไม่พอจึงทำให้เศรษฐกิจยังโงหัวไม่ขึ้น โดยเฉพาะภาคการลงทุนของรัฐที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่มีปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง คสช.จึงสั่งปลดล็อกพันธนาการการลงทุนให้ทะลุทะลวงอย่างเร่งด่วน และการตัดสินใจที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งใหญ่ก็คือ คำสั่งปลดล็อกการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเปิดช่องให้อนุมัติแบบรวดเร็วทันใจให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน
เรื่องนี้ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานบอร์ด ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา รองประธานบอร์ด ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาอีไอเอโครงการสำคัญที่ค้างอยู่ 24 เรื่อง โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติอีไอเอดังกล่าวทั้งหมด
โครงการสำคัญๆ ที่ได้รับอนุมัติอีไอเอในวันดังกล่าว ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ 2 สาย ได้แก่ สายจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร และสายลพบุรี-ปากน้ำโพ 143 กิโลเมตร, มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด, ถนนเชื่อมมรดกโลกสายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย, โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เมื่ออีไอเอผ่านการอนุมัติแล้ว หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมสามารถขออนุมัติก่อสร้างได้ทันที
ในที่ประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมในวันดังกล่าว ยังรวมทั้งการอนุมัติโครงการเหมืองแร่ 3 แห่ง ได้แก่ เหมืองแร่โดโลไมต์ เหมืองแร่หินอุตสาหกรรม และเหมืองชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนของ บมจ.ปูน ซิเมนต์ไทย โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านฉาง จ.ระยอง, โครงการปรับปรุงท่าเรือสงขลาของกรมธนารักษ์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนบางปะกง ชุดที่ 5 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติให้ปรับปรุงคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) จำนวน 9 ชุดใหม่ เนื่องจากครบวาระ โดยคณะกรรมการ คชก. ทั้ง 9 ชุดที่จะปรับเปลี่ยนใหม่ ได้แก่ 1.ชุดพิจารณาผู้มีสิทธิ์ขอรับใบอนุญาตทำอีไอเอ 2.ชุดพิจารณาอีไอเอด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ 3.ด้านพัฒนาปิโตรเลียมและระบบขนส่งทางท่อ 4.ด้านอุตสาหกรรม กลั่นน้ำมัน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและแยกหรือแปรงสภาพก๊าซธรรมชาติ 5.ชุดด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุน 6.ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน 7.ด้าน โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 8.ด้านโครงสร้าง พื้นฐานและอื่น ๆ และ 9.ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ส่วนกรอบเวลาการพิจารณาโครงการกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาบอร์ดสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ที่เพิ่มขนาดพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (ดีโป) ที่มีนบุรีใหม่ สายสีแดง (ตลิ่งชันศาลายา) ระยะทาง 14 กิโลเมตร สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศิริราช) 6 กิโลเมตร สายสีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) 10 กิโลเมตร รวมถึงรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คชก. ได้แก่ สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมภายในเดือน ส.ค.นี้ นอกจากนั้นมี สายมาบกะเบา-จิระ, นครปฐมหัวหิน, สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น
เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าติดตามอย่างยิ่งครับ ถ้ามองเพ่งไปในข่าวจะเห็นว่าไม่ใช่แค่เร่งเวลาอนุมัติให้เร็วขึ้น แต่ยังเปลี่ยนคณะกรรมการผู้ชำนาญการยกชุดทั้ง 9 ชุดด้วย
“จริงๆ แล้วเรื่องเร็วหรือช้าผมไม่ติดใจ แต่ขอให้ (1) คณะกรรมการเป็นที่น่าเชื่อถือ มาจากทุกภาคส่วน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (รวมถึงข้าราชการที่มาเป็นกรรมการและให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานตนเองด้วย) (2) มีการลงสำรวจพื้นที่จริงมิใช่นั่งตรวจรายงานในห้องประชุมเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา (3) เมื่อใช้เวลา 45 วันแล้วต้องสามารถบอกได้ว่าบางโครงการไหนไม่ควรดำเนินการต่อ มิใช่ให้กลับไปแก้ จนผ่านเหมือนที่ผ่านมา และ(4) คสช. ควรเร่งจัดระเบียบระบบการติดตามผลกระทบหลังจากดำเนินโครงการด้วย เพราะปัจจุบันโครงการจำนวนมากไม่ทำตามมาตรการที่ระบุไว้ในรายงานEIA แต่สผ. หรือกระทรวงทรัพย์ฯ ก็ไม่ได้มีอำนาจและการดำเนินการอย่างจริงจัง
“เรื่องนี้คงเป็นเรื่องพิสูจน์ความจริงใจของคสช. ได้ดีมากเรื่องหนึ่ง เพราะตอนนี้ผู้คนกำลังสงสัยว่า (ย้ำว่าสงสัย ไม่ใช่กล่าวหา) คสช. กำลังร่วมมือกับข้าราชการและกลุ่มทุน เพื่อมิให้การเข้าควบคุมอำนาจนั้น "เสียของ" แต่ประชาชนกำลังเสียสิทธิของตนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครเห็นหัว” เดชรัตตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายเอาไว้อย่างน่าสนใจ
ล้อมกรอบ//
คสช.ไฟเขียวโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วน 1.08 แสนล้าน
ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 ได้เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2558-2565) โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน 5 แผนงาน พร้อมกับอนุมัติหลักการดำเนินโครงการเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2557-2558 วงเงินรวมประมาณ 1.08 แสนล้านบาท โดยได้ตั้งคณะทำงานร่วมสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นประธาน เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนภายใน 30 วัน
การพัฒนาโครงการที่สำคัญระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปี 57-58 คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ซึ่งเป็นรางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ระยะทางรวม 887 กม. วงเงิน 127,472 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 63 โดยเส้นทางที่จะเริ่มดำเนินการได้ก่อน คือ
1. ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007 ล้านบาท (58-61) เนื่องจากผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว รอกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินเท่านั้น
2.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,293 ล้านบาท (58-61) อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอขออนุมัติ EIA
3. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,038 ล้านบาท (58-61)
4. มาบกะเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,855 (59-63) 5. ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,842 (59-63) 6.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 9,437 ล้านบาท (59-63)
ส่วนเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย วงเงินรวม 1.13 หมื่นล้านบาท รอคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบความโปร่งใสและการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้าประกวดราคาแบบอี-ออกชัน ซึ่งมีผู้รับเหมา 6 ราย ประกอบด้วย 1. ITD 2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5. บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เสนอราคาแข่งขัน
นอกจากนี้ คสช.ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ในอนาคต โดยใช้ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standgard Gauge) รถไฟขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ความเร็ว 160 กม./ชม. โดยในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการ 2 โครงการ คือ 1.หนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท (58-64)
2.เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท (58-64)
โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิมมาศึกษาทบทวนเพื่อต่อยอดการออกแบบให้สัมพันธ์กับแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงจากจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย ขนส่งได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้า กำหนดค่าโดยสารได้ต่ำ มีประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า ใช้เงินลงทุนต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูงเฉลี่ย 30% เพราะใช้ระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าต่ำกว่า รวมถึงค่าก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 350-400 ล้านบาท/กม. ขณะที่รถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ 550-600 ล้านบาท/กม. มีความเร็วมากกว่า 200 กม./ชม. ทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่งสินค้า