ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรับลูก คสช.เร่งหารือหน่วยงานเอสเอ็มอี จัดทำแผนบูรณาการยกเครื่องเต็มสูบ เน้นเข้าถึงแหล่งทุน หาตลาดเพิ่ม พร้อมแข่งขันต่างชาติ เผยหลัง คสช.บริหารประเทศธุรกิจเอสเอ็มอีส่งสัญญาณดีขึ้นจากการบริโภคในประเทศเติบโต
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่า ที่ประชุมกำหนดให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากเห็นว่าเอสเอ็มอีคือฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันมีวิสาหกิจมากถึง 2,763,997 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหมด มีส่วนในการจ้างงานกว่า 11,414702 คน หรือร้อยละ 81 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด
ทั้งนี้ หากเทียบสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศเป็นจีดีพีเอสเอ็มอีมูลค่าถึง 4,454,939 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ โดยเกี่ยวข้องกับการส่งออกร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (1,761,818 ล้านบาท) และเป็นการนำเข้าร้อยละ 31 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด (2,369,222 ล้านบาท) ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีจึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อร่วมกันดำเนินการอย่างมีเอกภาพทั้งวิธีการและงบประมาณสนับสนุน
นายวิฑูรย์กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีตอนนี้มีหลายหน่วยงานดำเนินการ จึงเห็นสมควรบูรณาการการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วและตรงประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการ และเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเงินหมุนเวียน การลงทุนเพื่อขยายกิจการ การตลาดเพื่อหาช่องทางใหม่ๆ และการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านต่างๆ เป็นต้น
โดยจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็น 4 กลุ่ม คือ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคเกษตร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาถึงโครงสร้างและวิธีการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตาม ภายหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ สถานการณ์เอสเอ็มอีเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชน ตัวเลขประมาณการเอสเอ็มอีของ สสว. ไตรมาส 2/2557 มีโอกาสเป็นบวก การส่งออกของเอสเอ็มอีในช่วง 5 เดือนแรกปี 2557 มีมูลค่า 757,526 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 ทางด้านการนำเข้ามีมูลค่า 865,816 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงว่ามีการใช้ของภายในประเทศมากขึ้น และแนวโน้มในครึ่งปีหลังการส่งออกและการนำเข้า การจัดตั้งกิจการใหม่ และการยกเลิกกิจการ น่าจะมีทิศทางในเชิงบวกจากการที่เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ขยายตัว ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่คลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *