ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปิดฉาก “การมโน” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับความหวังที่จะเห็น “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้างระบอบทักษิณให้สิ้นซาก เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า งานนี้ คุณสมชายเลือกที่จะ “ปรองดอง” จริงๆ
ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เป็นบทสรุปหรือการกล่าวหาที่เร็วเกินไปหรือไม่?
คำตอบก็คือมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น และมิได้เป็นบทสรุปที่ใจเร็วด่วนได้ประการใด ซึ่งก็มิได้ถือว่า คสช.กระทำสิ่งที่ผิดแต่ประการใด เพียงแต่ที่ผ่านมา สังคมถูกทำให้เชื่อไปแนวทางที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น
ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา คสช.ไม่ได้เคยเอื้อนเอ่ยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้เล็ดลอดออกมาจากปากเลย เหตุผลของการรัฐประหารครั้งนี้มีเพียงแค่ หนึ่ง-เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้ และสอง-เพื่อระงับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน
ตลอดระยะเวลา 2 เดือนเศษๆ ที่ผ่านมา คสช.ปฏิบัติภารกิจมากมายจนแทบไม่อาจสาธยายออกมาเป็นคำพูดได้ ทว่า แต่ละภารกิจที่ คสช.ทำก็มิได้เคยล้วงลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหาให้ได้เห็นแม้แต่เรื่องเดียว ประหนึ่งต้องการ “ตัดตอน” อยู่เพียงแค่ระดับมือปฏิบัติการเท่านั้น ใช่หรือไม่
และเมื่อมาถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะได้เห็นเป้าประสงค์ของการรัฐประหารครั้งนี้ในทุกซอกมุม ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่าน “ข้อชวนกังขา 2 ข้อ” ด้วยกัน
ข้อชวนกังขาแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ระหว่างการจัดงาน “มหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ” ที่ทุ่งพระสุเมรุ ท้องสนามหลวง โดยมีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์และคนเสื้อแดงเข้าร่วมคับคั่ง
จากนั้นข้อชวนกังขาที่สองก็ตามมาในวันเดียวกันเมื่อสังคมได้เห็นรายละเอียดของ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557”
กล่าวสำหรับข้อชวนกังขาแรกกับงานที่ทุ่งพระเมรุนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า คสช.ซึ่งงานนี้แม่งานคือ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหมได้หย่อนบัตรเชื้อเชิญขั้วขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายเสื้อแดงคือ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ทั้งฝ่ายเสื้อฟ้าคือ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) และตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมอยู่บนเวทีเดียวกัน
ประหนึ่งต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า บัดเดี๋ยวนี้ คสช.ได้สยบทั้งสองกลุ่มเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และนับจากนี้เป็นต้นไปทั้งสองฝ่ายจะปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียว ข้อขัดแย้งหรือข้อบาดหมางที่เคยดำรงอยู่ในอดีตได้ถูกบำบัดปัดเป่าให้จบลง
คสช.ทำให้เชื่อว่า ต่อไปนี้จะไม่มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย เป็นคนเสื้อแดง เป็นพรรคเพื่อไทย เป็นระบอบทักษิณ เป็น กปปส. เป็นพรรคประชาธิปัตย์ จะมีก็แต่คนไทยที่ใจเป็นหนึ่งเดียว
งานนี้ ตัวละครเอกของทั้ง 2 ฝ่ายปรากฏตัวทั้งบนเวทีและภายในงานอย่างคับคั่ง เท่าที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ก็อย่างเช่น นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือคุณหญิงกัลยา โสภณพนิชแห่งพรรคประชาธิปัตย์ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ใหญ่คนดังแห่งเวที กปปส. นายยงยุทธ ติยะไพรัช แห่งพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
เรียกว่าเป็นบรรยากาศที่ “สุข สดชื่นและสมหวัง” กันไปตามๆ กัน
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นานนักคือเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งออกรายการ“คืนความสุขให้คนในชาติ” ซึ่งเป็นรายการประจำทุกวันศุกร์ของบิ๊กตู่ โดยเนื้อความตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ระบุชัดเจนว่า “ผู้ที่ยังอยู่ต่างประเทศก็กลับมาเถอะ เราก็จะให้ความเป็นธรรม เราจะต่อสู้กันไปทำไม ถ้าเรากลับมาร่วมมือกัน ผมคิดว่าคนไทยต้องให้อภัยกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกรุณากลับมา เราจะขัดแย้งกันต่อไปไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีในวันข้างหน้า”
ชัดเจนโดยไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม เพราะที่อยู่ต่างประเทศในความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นใครไม่ได้นอกจากนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.จึงไฟเขียวให้ “น้องปู-นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมลูกชาย และเครือญาติโขยงใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นางสาวพิณทองทา ชินวัตร พ่วงท้ายด้วยอ้ายปึ้ง-นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลเดินทางไปร่วมฉลองวันคล้ายวันเกิดของ “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คงต้องชม พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยหลังจากเกิดการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายกันมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี
มีนักวิชาการและใครหลายคนมองสิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งนั่งอยู่กลางห้องหัวใจของ คสช. โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในงานมหากรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติที่ทุ่งพระสุเมรุว่า “นี่ไม่ใช่การซูเอี๋ยหรือออมชอมกันระหว่าง คสช.กับระบอบทักษิณ แต่เป็นการประกาศศักดาอีกรูปแบบหนึ่งของ คสช.เหนือขุมพลังต่างๆในบ้านเมืองนี้ในตอนนี้ต่างหาก”
ถามว่า ตรรกะนี้มีความเป็นไปได้หรือ
ก็ต้องตอบว่า เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว
ข้อชวนกังขาที่สองที่บ่งชี้ว่า บ้านเมืองกำลังเดินไปสู่ความสมานฉันท์และปรองดองสมใจ คสช.ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพราะเป็นสิ่งที่มาเติมเต็มบรรยากาศแห่งความปรองดองได้เป็นอย่างดี
“ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนลุกลามไปสู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กําลังและอาวุธสงครามเข้าทําร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดํารงชีวิตของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อํานาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล นับเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
“แม้รัฐจะแก้ไขปัญหาด้วยกลไกและมาตรการทางกฎหมาย เช่น นํากฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะต่าง ๆมาบังคับใช้ ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี เช่น องค์กรธุรกิจภาคเอกชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กองทัพ และวุฒิสภา ได้พยายามประสานให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสําเร็จ กลับจะเกิดข้อขัดแย้งใหม่ในทางกฎหมายและการเมือง เป็นวังวนแห่งปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น ในขณะที่ความขัดแย้งได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นจลาจลได้ทุกขณะซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความสะดวกสบายของประชาชนผู้สุจริตกระทบต่อการทํามาหากินและภาวะหนี้สินของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศการป้องกันปัญหาจากภัยธรรมชาติ ความเชื่อถือในอํานาจรัฐ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติทั้งยังเปิดช่องให้มีการก่ออาชญากรรมและความไม่สงบอื่นเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการทําลายความมั่นคงของชาติและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
“คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจําเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอํานาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗”
คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบอกให้รู้ว่า คณะคสช.ไม่ได้มองปัญหาของบ้านเมืองอยู่ที่ระบอบทักษิณอย่างที่บางฝ่ายมโนไปเอง แต่มองว่า คนในประเทศ 2กลุ่มมีปัญหาขัดแย้งกัน จนการบริหารประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองสามัคคีกัน
ทุกเนื้อความไม่มีข้อไหนบ่งบอกว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นต้นตอของปัญหาการละเมิดกฎหมาย การล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว ฯลฯ แม้แต่กระผีกเดียว
และหากมองพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนก็จะพบด้วยว่า คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุด้วยว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะ “ได้พยายามประสานให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสําเร็จ”
ที่สำคัญคือเมื่อพินิจพิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งทำคลอดออกมาสดๆ ร้อนๆ แล้วนำไปเชื่อมโยงกับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ต่างประเทศให้กลับมา ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึงกล่าวเช่นนั้น
มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจของ คสช.มีเหนือทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการเลยทีเดียว
นี่เป็นสมการการเมืองที่น่าสนใจ เพราะบังเอิญอย่างร้ายกาจเมื่อไปสอดรับการปล่อยข่าวของแกนนำพรรคเพื่อไทยผ่านสื่อหลายฉบับและมีข้อมูลที่ไม่อาจนิ่งเฉยเลยผ่านได้
หนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ตีพิมพ์ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 รายงานไว้ตรงกันว่า “ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อการยึดอำนาจ 22 พ.ค.57 กลับนิ่งผิดปกติ คงเป็นผลมาจากการเจรจาและต่อรองอะไรบางอย่าง จึงไม่มีความเคลื่อนไหว ลึกๆ ท่านคงอยากให้เกิดการ Set Zero หรือกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำได้โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ก็ต้องดูว่าผู้ยึดอำนาจจะกล้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายหรือไม่ หัวหน้า คสช.ยืนยันตลอดอยากให้ประเทศกลับสู่ความสงบ เดินหน้าไปได้ การจะทำได้ต้องเริ่มจากการให้อภัย ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสามัคคี ไม่หวาดระแวงซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้าหากันร่วมพัฒนาชาติไทย เหมือนการออกคำสั่ง 66/23 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถ้าทำได้ครั้งนี้ ทหารสลายความขัดแย้งทุกสีเสื้อทุกฝ่ายได้ จะกลายเป็นฮีโร่ของชาติ”
ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงข้างต้น คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า นี่คือการ Set Zero ประเทศไทยให้มาเริ่มต้นกันใหม่ และประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังจะมีความสุขกันอีกครั้งด้วยฝีมือของ “คสช.”
จบป่ะ....
แหม...งานนี้อดคิดถึง “พระสุเทพ ปภากโร” อดีตเลขาธิการ กปปส.เสียจริงๆ ให้ดิ้นตาย