xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยฝันร้ายการเมือง หวังคสช.ฟันโกงข้าว-พลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร. เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานมาสเตอร์โพล ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่องสาธารณชนอยากเห็นอะไร และไม่อยากเห็นอะไรในอีก 1 ปีข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,158 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.–5ก.ค.57 ที่ผ่านมา พบว่า
ความคิดเห็นของประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยล้มเหลวในการพัฒนานั้น พบว่า ร้อยละ 82.4 ระบุ เป็นความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชน อันเป็นฝันร้ายของประชาชนที่ยังคงเหลืออยู่ ในขณะที่ร้อยละ 80.6 ระบุ ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ร้อยละ 78.3 ระบุความล้มเหลวด้านการศึกษา ร้อยละ 62.7 ระบุ ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 61.5 ระบุ ความไม่อยากยุ่งเกี่ยวเดือดร้อนของคนไทยกับปัญหาส่วนรวม ร้อยละ 59.3 ระบุ ความไม่มีวินัย ไม่รับผิดชอบ ไม่ทำเพื่อส่วนรวม และ ร้อยละ 7.9 ระบุอื่นๆ เช่น สังคมเสื่อม ผู้ใหญ่ในสังคมไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ซื้อสิทธิ ขายเสียง เป็นต้น
เมื่อถามถึงความอยากเห็นรัฐบาลที่โปร่งใส ประกาศโครงการลงทุนให้สาธารณชนรับทราบรายละเอียดแบบแกะรอยได้ว่า ใคร กลุ่มทุนใด ได้เม็ดเงินไปเท่าไหร่ พัฒนาถึงมือประชาชนแต่ละพื้นที่เท่าไหร่ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 อยากเห็น ในขณะที่เพียงร้อยละ 8.7 ไม่อยากเห็น
เมื่อถามถึง ความต้องการประเมินผลงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีผลต่อการโยกย้าย การจัดสรรงบประมาณ ให้คุณให้โทษโดยตรง เช่น หน่วยงานตำรวจ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงาน เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่อย่างแท้จริง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 ระบุ ต้องการ ในขณะที่ร้อยละ 10.8 ระบุ ไม่ต้องการ
ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่สาธารณชนอยากเห็น สิ่งที่ดีกว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 88.5 อยากเห็นเศรษฐกิจที่ดีกว่า โดยพบว่าแบบเดิมค่าครองชีพสูงเกินไป คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง ค่าใช้จ่ายค่าพลังงานเชื้อเพลิงสูงเกินไป ผู้บริโภคเสียเปรียบ ขาดที่พึ่ง สิทธิของผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครอง มีปัญหาการกระจายรายได้และทรัพยากร ทำให้คนมีหนี้สินนอกระบบ หน่วยงานของรัฐคอยช่วยเหลือกลุ่มนายทุนมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83.9 อยากเห็นการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิมคนไทยยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นถ้าตนเองได้ผลประโยชน์ แบบเดิมมีทุจริตคอรัปชั่นในทุกวงการ คนไทยไม่อยากเดือดร้อน นักการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้าสมรู้ร่วมคิดคอร์รัปชัน กฎหมายไม่รุนแรง สาวไม่ถึงต้นตอ เป็นต้น
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 อยากเห็นประชาธิปไตยที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิม มีการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างกว้างขวาง นักเลือกตั้งเข้ามาถอนทุนคืน มีแต่นักการเมืองและเครือญาติหน้าเดิมสืบทอดอำนาจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน นักการเมืองเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และประเทศชาติถดถอย เป็นต้น
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 อยากเห็น การศึกษาที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิม คุณภาพการศึกษาไทยมีหลายมาตรฐาน เด็กๆ ต้องเรียนพิเศษ พ่อแม่ไม่มีเวลาใกล้ชิดทำกิจกรรมครอบครัวกับลูกๆ แบบเดิมปิดกั้นโอกาสคนยากจน เด็กๆไม่สนใจประวัติศาสตร์ การศึกษาไม่ทำให้เด็กรักชาติรักแผ่นดิน เด็กเยาวชนเลิกเรียนกลางคัน เด็กไทยยกพวกตีกัน ปลูกฝังเด็กด้วยความรุนแรงด้วยการตบตีเด็ก ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น
ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.2 อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิม คนไทยไม่รู้จะพึ่งใคร ต้องวิ่งเต้น ต้องมีเส้นสาย ขาดที่พึ่งในกระบวนการยุติธรรม แบบเดิมคนไทยต้องใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย คนร้ายไม่กลัวความผิด มีการค้ายาเสพติดในเรือนจำ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อถามว่า อยากเห็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลุยปราบโกงเรื่องอะไร โดยตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.7 ระบุอยากเห็นคสช. ลุยปราบโกงจำนำข้าว รองลงมาหรือร้อยละ 81.5 ลุยปราบโกงธุรกิจพลังงาน ร้อยละ 78.7 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงสัมปทาน ทำถนน ซ่อมทาง สะพาน อาคารหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 68.9 อยากเห็นคสช. ลุยปราบโกงการก่อสร้างสถานีตำรวจ ร้อยละ 67.2 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงภาษี ร้อยละ 65.4 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงซื้อขายตำแหน่ง ร้อยละ 63.3 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงส่วยเทศกิจ รีดไถผู้ประกอบการ มาเฟียตลาดนัด และ ร้อยละ 62.8 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงข้อสอบ ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 96.6 ไม่อยากเห็นการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังกัน(Hate Speech)เพราะจะทำให้สังคมไทยแตกแยก ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายกลับมาอีก ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ เป็นแบบอย่างไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นการใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 95.8 ระบุถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปประเทศไทย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น ที่ระบุยังไม่ถึงเวลา

**นิด้าโพลระบุคนรับได้ปฏิรูปใน1ปี

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง กรอบเวลาการปฏิรูปประเทศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง โดยถามถึงความคิดเห็นต่อกรอบระยะเวลา 12 เดือนในการปฏิรูปประเทศ และการจัดการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2558 ตามพิมพ์เขียวของคสช. พบว่า ร้อยละ 58.60 ระบุกรอบระยะเวลามีความเหมาะสม ขณะที่ร้อยละ 21.34 บอกว่ากรอบระยะเวลายาวและช้าเกินไป ร้อยละ 17.75 กรอบระยะเวลาสั้น และเร่งรีบเกินไป และร้อยละ 2.31 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่า คิดว่าหลังการปฏิรูปประเทศ และหลังการเลือกตั้งในปี 2558 สภาพการณ์การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ร้อยละ 35.91 สภาพการณ์การเมืองไทยจะดีขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 35.43 สภาพการณ์การเมืองไทยจะดีขึ้นมาก ร้อยละ 20.30 สภาพการณ์การเมืองไทยจะเหมือนเดิม ร้อยละ 4.62 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และร้อยละ 3.74 สภาพการณ์การเมืองไทยจะแย่ลง
และเมื่อถามว่า คิดว่าการปฏิรูปการเมืองของคสช. จะประสบความสำเร็จในด้านใดมากที่สุด ร้อยละ 43.55 การแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันของนักการเมือง และข้าราชการ ร้อยละ 24.68 การแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางการเมือง ร้อยละ 9.08 การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนักการเมือง เช่น การไม่มีจริยธรรม การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ร้อยละ 6.38 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.78 การแก้ไขปัญหาการเข้าครอบงำพรรคการเมืองของกลุ่มทุน ร้อยละ 3.66 การแก้ไขปัญหาการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ร้อยละ 3.66 การแก้ไขปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจสาธารณะ ร้อยละ 1.59 การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ร้อยละ 1.35 การแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. และ ร้อยละ 1.27 ไม่สามารถแก้ไขได้

**ดุสิตโพลชี้คนมีความสุขมากขึ้น

ด้านสวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชน หลังจากที่คสช. เข้ามาบริหารจัดการประเทศ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อที่จะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตัวประชาชนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และที่ทำงาน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลตอบสนองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ทั้งนี้ ความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,091 คน ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค.57 สรุปผลได้ ดังนี้
1. สิ่งที่ “ตัวประชาชนเอง”คิดว่าเปลี่ยนแปลงไปหลังจากมี คสช. คือ อันดับ 1 รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่เห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย ปัญหาหลายอย่างได้รับการแก้ไข 88.52% อันดับ 2 สามารถเดินทางได้ตามปกติและสะดวกมากขึ้น 81.96% อันดับ 3การดำรงชีวิตประจำวันเข้าสู่สภาวะปกติ สามารถไปทำงาน ไปเรียน ได้เหมือนเดิม 68.04% อันดับ 4 สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารจากคสช. มากขึ้น64.12%
2. สิ่งที่ “ครอบครัว”เปลี่ยนแปลงไป หลังจากมี คสช. คือ อันดับ 1 บรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว 93.53% อันดับ 2 มีเวลาพบปะ ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เลิกเรียน เลิกงานตามปกติ 79.41% อันดับ 3 ได้รับการดูแลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้การประกอบอาชีพ การทำมาหากินสะดวกขึ้น 72.55% อันดับ 4 ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พูดคุยเรื่องบ้านเมืองมากขึ้น 63.14%
3. สิ่งที่“เพื่อน/ญาติ/เพื่อนร่วมงาน”เปลี่ยนแปลงไป หลังจากมี คสช. คือ อันดับ 1 มีความสุข ไม่เครียดกับสถานการณ์บ้านเมือง ได้พบปะสังสรรค์กัน 90.20% อันดับ 2 เปิดใจรับฟังกันมากขึ้น เริ่มปรับมุมมอง ความคิดเห็นเข้าหากัน 84.71% อันดับ 3 คำนึงถึงส่วนรวมมากขึ้น รักชาติบ้านเมือง สามัคคีกัน 68.43% อันดับ 4 กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะการชุมนุม ต่อต้านน้อยลง 62.55%
4. สิ่งที่ “สถานที่ทำงาน / สถานที่เรียน”เปลี่ยนแปลงไป หลังจากมี คสช. คือ อันดับ 1 ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์มากขึ้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน 92.35% อันดับ 2 ชีวิตการทำงาน การเรียน เข้าสู่สภาวะปกติ 83.73% อันดับ 3มีข้อมูลข่าวสารจาก คสช. มาเผยแพร่ ติดประกาศให้รับรู้ และมีการเปิดเพลงคืนความสุข 66.47% อันดับ 4 รู้สึกถึงความปลอดภัย มีทหารคอยดูแลตามจุดต่าง ๆ 64.31%
กำลังโหลดความคิดเห็น