xs
xsm
sm
md
lg

‘ปิยสวัสดิ์’ดันทุรังนั่งบอร์ดปตท.ลุยแปรรูปโรงกลั่น จับตาเตะหมูเข้าปากนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปิยสวัสดิ์” ควง “พรชัย-คุรุจิต” ตั้งโต๊ะแถลงยันนั่งบอร์ด ปตท.แน่ โอ่ไม่เคยทำชาติเสียหาย เย้ยเคยชินกับกลุ่มต่อต้าน ปิ๊งไอเดียขายหุ้นในโรงกลั่นลดข้อหาผูกขาด เล็งรื้อแผนลงทุน 5 ปี ฟุ้งพา ปตท.กลับมาเป็นที่รักของคนไทย-เลิกเป็นขุมทรัพย์นักการเมือง ด้านเครือข่ายด้านพลังงาน แต่งดำยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ค้านตั้งบอร์ด ปตท. “รสนา” แนะจับตาแปรรูป ปตท.รอบ 2 เตะหมูเข้าปากนายทุน ด้านคสช.สั่งโยกย้ายขรก.ล็อตใหญ่ 15 ราย "ปลัดคค.-ปลั ดก.ทรัพยากรฯ-อธิบดีสรรพากร-อธิบดีกรมการจัดหางาน"

วานนี้ (30 มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่โรงแรมสุโกศล นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ พร้อมด้วยนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงร่วมกัน กรณีที่ถูกกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มคัดค้านการเข้ารับตำแหน่งกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2557 นี้ว่า ที่ผ่านมาทั้ง 3 คนเป็นผู้ที่รับราชการด้านพลังงานมาโดยตลอด และไม่เคยสร้างความเสียหายต่อหน้าที่และประเทศชาติ หรือรับใช้ผลประโยชน์ให้นักการเมืองรายใด และการเข้ามาทำหน้าที่บอร์ด ปตท.จะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ใน ปตท.ให้ดีเช่นกัน ส่วนการกล่าวโทษต่างๆนั้นสามารถชี้แจงได้ แต่หากมีการให้ข้อมูลเป็นเท็จและหมิ่นประมาทก็จะฟ้องร้องทันที

“การคัดค้านจากบางกลุ่มไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำหน้าที่แต่อย่างใด ผมเข้ามาทำงานโดยไม่ได้วิ่งเต้นขอตำแหน่งจากใคร และไม่แปลกใจที่ถูกกลุ่มเดิม ๆ ต่อต้าน ผมว่าการสร้างความเข้าใจผิด ข้อมูลบิดเบือนทำได้ง่ายๆ และแพร่กระจายได้รวดเร็ว และคนอ่านสื่อออนไลน์ก็ชอบความสะใจเผยแพร่ข้อมูลต่อ ที่ผ่านมาก็ชินกับการคัดค้าน และก็ทำในสิ่งที่ถูกต้องมาโดยตลอด วันนี้ ปตท.เติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่คนไทยควรจะภาคภูมิใจ ขอยืนยันว่าจะทำให้ ปตท.กลับมาเป็นที่รักของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

วาดฝันทำตลาดน้ำมันให้เป็นธรรม

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวชี้แจงกรณีข้อกล่าวหาที่ว่ามีส่วนในการถ่ายโอนทรัพย์สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนทำให้รัฐเสียหายว่า ข้อเท็จจริงในทางตรงกันข้ามว่า รัฐได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวอย่างมาก เพราะบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (เอ็กโก) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ถือว่า เป็นผลงานที่ทำให้รัฐโดย กฟผ.สามารถระดมเงินมาขยายกิจการไฟฟ้าจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะผลักดันภายหลังเข้าทำหน้าที่บอร์ด ปตท.คือ การสร้างความเป็นธรรมให้กับตลาดน้ำมันโดยเฉพาะส่วนของการค้าส่งน้ำมัน โดยในส่วนของราคาพลังงาน ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการผูกขาดหรือ แข่งขันน้อย แต่ต้องการให้ตลาดค้าน้ำมันมีการแข่งขันมากขึ้น ราคาพลังงานต้องสะท้อนความต้องการและกำลังการผลิตจริง ดังนั้นจะผลักดันให้มีการลดส่วน ซึ่งขณะนี้ ปตท.ถูกมองว่าผูกขาด เพราะมีการถือหุ้นในโรงกลั่นทุกแห่ง ยกเว้นเอสโซ่ ทำให้ผูกขาดตลาดกว่า 50% ดังนั้นเห็นว่าจะต้องขายหุ้นที่ ปตท.ถือไว้ใน บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ออกทั้งหมด เพื่อทำให้ระบบมีการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้จะเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้าให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้าสู่การแข่งขันในระบบแท้จริง

“ส่วนกรณีที่จะมีการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีนั้นก็คงจะต้องมาดูว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการลงทุนต่างประเทศก็คงจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งแต่ขณะนี้ยังไม่ได้ทำงานจึงยังไม่สามารถระบุได้” นายปิยสวัสดิ์ ระบุ

ฟุ้งไม่ให้ ปตท.เป็นขุมทรัพย์นักการเมือง

สำหรับการบริหารจัดการท่อก๊าซนั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ปตท.ควรจัดตั้งบริษัทเพื่อแยกการบริหารจัดการท่อก๊าซออกมาต่างหากจาก ปตท. และเปิดโอกาสให้บริษัทรายอื่นเข้ามาแข่งขันใช้บริการท่อร่วมกัน ส่งผลให้ราคาก๊าซมีการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกันการผลักดันให้ ปตท.มีธรรมาภิบาลปราศจากการแทรกแซงจากการเมืองในกิจการที่รัฐถือหุ้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาโดยกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่จะมีบทบาทในการวางหลักเกณฑ์คัดเลือกคนที่โปร่งใสเข้ามาทำงาน ทำให้นักการเมืองไม่เข้ามาหาประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจได้

ด้าน นายคุรุจิต กล่าวเสริมว่า หลักการทำงานของตนคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้เติบโตอย่างมั่นคง ดังนั้นการเป็นบอร์ด ปตท.จะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ซึ่งล่าสุดเพื่อไม่เกิดข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อน ตนได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด มีผลวันที่ 1 ก.ค.57

“สำหรับปตท.นั้นที่ผ่านมาเติบโตภายใต้ร่มเงาของรัฐ แต่ต่อไปนี้จะต้องเติบโต อย่างแข็งแกร่งเหมือนบริษัทน้ำมันแห่งชาติในสหภาพยุโรป โดยสัดส่วนถือ หุ้นถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะนอกจากกระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่ยังมี ประชาชนจำนวนมากหลักล้านคนถือหุ้นด้วย ผ่านกองทุนต่างๆ” นายคุรุจิต กล่าว

“พรชัย”เครื่องร้อนผุดนโยบายอื้อ

เช่นเดียวกับ นายพรชัย ที่กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานในช่วงชีวิตข้าราชการก่อนจะเกษียณอายุในปี 2555 ตนไม่เคยทำให้อาชีพข้าราชการเสียหาย เพราะยึดแนวทางมาโดยตลอด ว่า หากถูกสั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตนจะไม่ทำ ส่วนการเข้ารับตำแหน่งบอร์ด ปตท.ครั้งนี้ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญมาให้ช่วยประชาชน ตนจึงตอบรับ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หลังเข้ารับตำแหน่งจะเสนอให้มีการแถลงข่าวหลังประชุมบอร์ด ปตท.ทุกครั้ง เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ และป้องกันการถูกโจมตีว่าปกปิดข้อมูล

นายพรชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายการทำงานขององค์กร จะแบ่งงานโดยแยกงานนโยบายออก มา ซึ่งจะเป็นไปตามการทำงานของภาครัฐ เพราะ ปตท.ไม่มีอำนาจในการ กำหนดราคา ที่ผ่านมากำไรปตท.มาจากธุรกิจอื่น ที่ไม่ใช่น้ำมัน อาทิ กาแฟอเมซอน ขณะที่ธุรกิจน้ำมันกกำไรน้อยมาก สำหรับข้อกังวลเรื่องการถือหุ้น ใน โรงกลั่นนั้น เห็นด้วยที่ ปตท.ควรขายหุ้นที่ถือใน บมจ.บางจาก เพราะที่มาที่ไป ของการเข้าไปถือหุ้นของ ปตท.เนื่องจากในอดีตสถานะการเงินของบางจากค่อนข้างแย่ จึงขอให้ปตท.เข้าไปช่วยพยุงกิจการ แต่ปัจจุบันบางจากมีกำไร แล้ว ปตท.ก็ควรจะขายหุ้นดังกล่าวทิ้ง เช่นเดียวกับ กรณีของบริษัท SPRC ที่เชลล์ขายหุ้นให้ ปตท.เพื่อพยุงกิจการเช่นกัน

กลุ่มต้านแต่งดำจี้ “ประยุทธ์” ทบทวน

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กองบัญชาการกองทัพบก กลุ่มสภาธรรมาภิบาล สภาปฏิรูปพลังงานไทย สมาพันธ์รถเมล์กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทย นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่าย ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดดำ พร้อมกับนำพวงหรีดมาวาง และยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ นายพรชัย และนายคุรุจิต เป็นบอร์ด ปตท.ชุดใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ทางกลุ่มมีความเป็นห่วงภาพลักษณ์ของ คสช.ในการแต่งตั้ง เนื่องจากมองว่าบุคคลทั้ง 3 คนปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่โปร่งใสและได้นำพลังงานของประเทศ ทั้งปิโตรเคมีและโรงกลั่นไปเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน อีกทั้งกลุ่มของนายปิยสวัสดิ์ เคยออกมาเคลื่อนไหว ให้ขาย ปตท. เป็นของเอกชนซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามความรู้สึกของคนไทย

พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวต่อว่า ในอดีตนายปิยสวัสดิ์เคยแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ให้เอกชนถือครองได้มากที่สุดถึง 30 แปลง เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และลดค่าสัมปทานลงจากเดิม 90% เหลือเพียง 30% ขณะที่นายพรชัยและนายคุรุจิตเคยถ่ายโอนทรัพย์สินของ กฟผ.เพื่อนำไปแปรรูปเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอ็กโกและราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าบริษัทอื่น นับเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ อีกทั้งกรณีดังกล่าวยังส่งผลให้ กฟผ.ผลักภาระให้ประชาชนในรูปแบบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าฐาน (เอฟที) อย่างต่อเนื่อง

ฮึ่มไม่ยกเลิกคำสั่งปลุกระดมต่อเนื่อง

พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นบอร์ด ปตท. และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งเอาเปรียบประชาชน โดยให้ประชาชนอุ้มราคาการนำเข้าก๊าซหุงต้มเพื่อมาชดเชยการแย่งใช้ก๊าซหุงต้มที่นำไปผลิตเม็ดพลาสติก โดยจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่อุตสาหกรรมอื่นต้องจ่าย 12 บาท/กก. ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มมามาในช่วงหลายปีนี้ หลังกลุ่มปิโตรเคมีเข้ามาแย่งใช้จากภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม

“ดังนั้นจึงคัดค้านบอร์ด ปตท.ทั้ง 4 ท่าน เพราะไม่มีความเหมาะสม และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาและทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดดังกล่าว เพื่อให้ได้คนดีมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพราะเราไม่สามารถยอมรับบุคคลดังกล่าวได้ เว้นแต่หาก คสช.จะมีเหตุผลที่เพียงพอเราก็พร้อมที่จะรับฟัง หาก คสช.ยังคงยืนยันในคำสั่งดังกล่าวทางกลุ่มก็จะนัดรวมตัวประชาชนที่มีแนวคิดเหมือนกันออกมาต่อต้านต่อไป” พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าว

ชง 3 กูรูร่วมบอร์ด-ขอคำตอบ 4 ก.ค.

พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวด้วยว่า หาก คสช.แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาก็จะทำให้สังคมที่เป็นเสื้อแดง และคนกลางๆส่วนใหญ่ของประเทศมองเห็นถึงเป้าหมายในการยึดอำนาจการปกครองครั้งนี้ทำเพื่อสมบัติผลัดกันชม ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ทั้งนี้อยากให้ คสช.ฟังเสียงประชาชน ที่เสนอตัวแทนอย่าง นายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และนายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจและนักวิชาการอิสระ เข้ามาดำรงตำแหน่งบอร์ด ปตท. เนื่องจากบุคคลเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านพลังงาน และเป็นคนดี จึงควรแต่งตั้งมาช่วยแก้ไขปัญหา แต่หาก คสช.ปฏิเสธเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีข้อเสียหายก็ควรชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ

“หลังจากนี้จะรอฟังคำตอบคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค.นี้ หาก คสช.ยังคงยืนยันในคำสั่งดังกล่าวทางกลุ่มก็จะจับตาดูว่ากรรมการเหล่านี้จะทำอะไรต่อไป รวมทั้งจะนัดรวมตัวประชาชนที่มีแนวคิดเหมือนกันออกมาต่อต้านต่อไป โดยเฉพาะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนเต็มตัว ที่ผ่านมามักอ้างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อไม่ให้การเมืองแทรกแซง ซึ่งความจริงแล้วต้องแก้ปัญหาการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ที่ภาคประชาชนต้องสามารถเข้ามาตรวจสอบได้มากกว่า” พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าว

ปชป.จี้คืนท่อส่งก๊าซให้คนไทย

ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ นายปิยสวัสดิ์ ที่จะทำงานในตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.พูดให้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับท่อส่งก๊าซ ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักที่ทำให้ ปตท.ผูกขาดตลาดพลังงานทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว และระบบท่อที่ติดตั้งได้ เพราะใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดินจากประชาชนสมัยที่หุ้น ปตท. ยังเป็นของรัฐทั้งหมด แปรรูปขาย ปตท. สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเรารู้ว่าท่อก๊าซเป็นสมบัติชาติ ขายไม่ได้ จนสุดท้ายศาลมีคำตัดสินให้ ปตท.คืนสิ่งที่ใช้อำนาจมหาชน โดยตนเข้าใจว่าหมายถึง การคืนท่อทั้งระบบ แต่รัฐบาลยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นายปิยสวัสดิ์ เป็น รมว.พลังงาน ก็ตีความคำพิพากษาว่า ท่อคืนหลวงได้เฉพาะท่อบนบก ที่ได้โดยการเวนคืน ไม่รวมท่อที่ผ่านที่เช่า ปตท. และท่อในน้ำ โดยแจ้งต่อศาลในเวลาต่อมาว่า ได้ปฏิบัติการตามคำสั่งศาลแล้ว ศาลก็รับทราบตามนั้น

“ขณะนี้ท่อของหลวงบนบกที่ใช้อำนาจมหาชนเวนคืนมา ปตท.ได้เช่ากลับไป ทำให้ ปตท.เป็นผู้จัดการท่อทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาด แล้วอย่างนี้ใครกล้าจะสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่ม เพราะท่อส่งเป็นของ ปตท. คนคำนวณต้นทุนคือ ปตท. จึงขอให้นายปิยะสวัสดิ์ พูดเรื่องท่อให้ชัด อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตอยู่ข้างหน้า ไม่มีใครถูกหรือผิดตลอด นายปิยสวัสดิ์มีเครือข่ายมาก ข้าราชการให้ความเคารพ ถ้าท่านอยากทำ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้โอกาสหนที่สองมาถึงแล้ว” นายอรรถวิชช์ ระบุ

“รสนา”คาดส่อดันแปรรูป ปตท.รอบ 2

ก่อนหน้านี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และแกนนำกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ระบุว่า เห็นรายชื่อซูเปอร์บอร์ด และบอร์ด ปตท.ที่ คสช.ตั้งเพื่อคุมรัฐวิสาหกิจ และคุม ปตท.เมื่อวันก่อนแล้วมองเห็นเค้าลางการแปรรูป ปตท.รอบ 2 คนที่ตั้งขึ้นมาส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่มีความเชื่อโน้มเอียงที่จะเห็นว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องความก้าวหน้า และช่วยกำจัดการล้วงลูกของนักการเมือง วาทกรรมที่ว่ารัฐไม่ควรถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ ควรขายหุ้นออกไปให้เป็นเอกชน อย่างบริษัท ปตท.เป็นตัวอย่างรัฐวิสาหกิจที่ยังมีสภาพดีอยู่ แต่ถ้าปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูก ก็มีโอกาสจะเจ๊งเหมือนตัวอย่างของบริษัทการบินไทย ฟังดูดีมีเหตุผล แต่เป็นเหตุผลชั้นเดียวที่ปิดบังตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังนักการเมืองอีกชั้น คือกลุ่มทุนพลังงาน

น.ส.รสนา ระบุอีกว่า การแปรรูปตามมูลค่าบัญชีคือการชุบมือเปิบ ตัดยอดเอามูลค่าสินทรัพย์ในราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง เอาไปแบ่งให้เอกชนร้อยละ 48 ด้วยเม็ดเงินเพียง 28,277 ล้านบาทเท่านั้น (ทั้งที่ตอนแรกรัฐบาลทักษิณได้โยนหินถามทางว่าจะแปรรูปเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น) อย่างท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ทั้งระบบถูกตีมูลค่าเพียง 46,189 ล้านบาท โรงแยกก๊าซ 4 โรงถูกตีราคาเพียง 3,212ล้านบาท ฯลฯ
“ลำพังนักการเมืองอาชีพคิดและทำไม่ได้ขนาดนี้หรอก ถ้าไม่ใช่นักธุรกิจการเมืองอย่างทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นทั้งพ่อค้า และเป็นทั้งนายหน้าให้กับกลุ่มทุนพลังงานระดับโลก” น.ส.รสนา กล่าว

อ้างคำ “ธีรยุทธ” ชี้คอร์รัปชั่นแบบล้ำลึก

น.ส.รสนายังได้อ้างถึงคำกล่าวปาฐกถาของ นายธีรยุทธ บุญมี ในงานธรรมศาสตร์ 80 ปี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.57 ด้วยว่า "วิกฤติประเทศไทยล้ำลึกเพราะอำนาจรัฐ อำนาจสาธารณะของประเทศถูกเจาะไชเป็นรูลึก กลุ่มทุนและนักการเมืองกลายเป็นตัวละครหลัก ที่มีทั้งฐานอำนาจ และการเงินมหาศาล เป็นที่มาของวิกฤติสังคมการเมืองไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความกังวลเรื่องประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะการปล่อยให้พื้นที่อำนาจรัฐ ถูกใช้ประโยชน์เป็นของส่วนตัวซึ่งมักเรียกว่าเป็นการคอรัปชั่นทางนโยบาย หรือคอร์รัปชั่นแบบบูรณาการทั้งนักการเมือง ข้าราชการ เป็นการคอร์รัปชั่นแบบล้ำลึก โดยอาศัยอำนาจครบวงจร"

ก่อนที่จะบรรยายต่อไปว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้สกัดกั้นการต่อสู้ของภาคประชาสังคมที่ต้องการตรวจสอบการแปรรูป ปตท.ที่ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล กล่าวคือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มภาคประชาสังคมได้ทำการฟ้องคดีการแปรรูป ปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในปี 2548 แต่การรัฐประหารในครั้งนั้นเปิดโอกาสให้มีการออก พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ 2550ในสภา สนช.ซึ่งเป็นสภาเดียวในเวลาอันรวดเร็ว อย่างชนิดที่สภานิติบัญญัติในเวลาปกติ ไม่สามารถทำได้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินคดี ปตท. ในวันที่ 14 ธ.ค.50 หลังจาก พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานฉบับนี้มีผลเป็นกฎหมายในวันที่ 11 ธ.ค.50 โดยถือเป็นการเยียวยาความเสียหาย จากการแปรรูปที่ขัดกฎหมาย แต่เนื่องจากศาลเห็นว่าการแปรรูป ปตท.ได้ก่อนิติสัมพันธ์เป็นอันมาก หากเพิกถอนการแปรรูปก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ

ขรก.นั่งบอร์ดทับซ้อนผลประโยชน์

น.ส.รสนา กล่าวต่อไปว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าการแปรรูป ปตท.ไปเป็นบริษัทเอกชน มหาชน ได้ทำให้ "ปตท.สิ้นสภาพจากการเป็นองคาพยพของรัฐ" จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ซึ่งคือบรรดาทรัพย์สินที่ทำให้ ปตท.มีอำนาจผูกขาด ได้แก่ระบบท่อส่งก๊าซ และระบบท่อส่งน้ำมันฯลฯ รวมทั้งการสั่งให้ ปตท.ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป การแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติเช่นระบบท่อส่งก๊าซ ที่เป็นสาธารณสมบัติที่มีลักษณะผูกขาดนั้นเป็นทรัพย์สินเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ องค์กรที่เป็นเอกชนอย่าง ปตท.ไม่สามารถครอบครองได้ แต่รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ไม่ได้แบ่งแยกให้ครบถ้วนตามมติ ครม.ที่ให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนเสียก่อน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯ สตง.ในสมัยนั้นมีเอกสารระบุว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบ

น.ส.รสนา เล่าต่อไปอีกว่า แต่นักการเมืองและข้าราชการของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังต่างพร้อมใจกันไม่ทวงคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนประชาชนที่นำคดีฟ้องต่อศาลกลับกลายเป็นว่า ประชาชนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่มีอำนาจขอให้มีการบังคับคดี ส่วนเจ้าของทรัพย์แทนประชาชนคือกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานก็ไม่ทำตามมติ ครม.รัฐบาล พล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์สิน

“การห้าม ปตท.ใช้อำนาจรัฐ แต่การที่มีผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพลังงานมาเป็นบอร์ด ปตท.จึงเป็นผู้มาใช้อำนาจรัฐแทน ปตท. เห็นได้ว่าการทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ของข้าราชการเหล่านี้ ทำให้นโยบายพลังงานของกระทรวงพลังงานล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้ ปตท.ทำกำไรมากขึ้น และผู้บริหารเหล่านั้นจะได้รับโบนัสที่เชื่อมโยงกับผลกำไรของ ปตท. จึงไม่แปลกที่ข้าราชการเหล่านั้นที่เข้าไปเป็นบอร์ด ปตท.ในโควต้าของรัฐที่ถือหุ้น 51% แต่ไม่เคยกำหนดราคาก๊าซที่ ปตท.ผูกขาดขายให้ กฟผ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ให้มีราคาถูกกว่าหรืออย่างน้อยถัวเฉลี่ยราคาให้เท่ากับที่ขายให้บริษัทลูกในเครือของ ปตท.” น.ส.รสนา ระบุ

เตือนแปรรูป ปตท.ปลุกผีระบอบทักษิณ

น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า หลังจากกลุ่มทุนพลังงานได้กุมกลไกการผูกขาดผ่าน ปตท.ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็เริ่มมีการโยนหินถามทางเรื่องจะให้รัฐขายหุ้น ปตท. ออกไปสัก 2% เพื่อให้ ปตท.เป็นเอกชนอย่างสมบูรณ์ การโยนหินถามทางนี้เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ 2550 มาตรา84 (11) ได้ระบุไว้ว่า "การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้โครงสร้าง หรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้" ทำให้ความปรารถนาของกลุ่มทุนพลังงานไม่อาจบรรลุผลได้ในเวลานั้น

น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า การรัฐประหารปี 2557 นี้อาจจะกลายเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มทุนพลังงานจะสามารถใช้ช่องทางพิเศษ ในเวลาพิเศษ ในการเจรจาต่อรองกับ คสช. เพื่อจะได้แปรรูปบริษัท ปตท.อีกครั้งให้เป็นเอกชน 100% เสียที ด้วยการสร้างวาทกรรมอำพรางว่า "อย่าปล่อยให้นักการเมืองมาล้วงลูก" โดยที่แสร้งหลงลืมไปว่ากิจการพลังงานแห่งชาตินั้นเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะนำไปเปรียบเทียบกับกิจการการบินไทยไม่ได้ เพราะหากวาทกรรมล้วงตับประชาชนเช่นนั้นได้ผล ในไม่ช้าก็จะหันมาแปรรูป กฟผ.ดังที่รัฐบาลทักษิณเคยพยายามมาแล้ว

“ถ้าสามารถแปรรูป ปตท.ให้เป็นเอกชน 100% สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อกำไรสูงสุดของเอกชน ก็จะอยู่มือของกลุ่มทุนโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องหาวิธีอำพราง หรืออาศัยข้าราชการกระทรวงพลังงาน ในการชงมติเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนอีกต่อไป เป็นการหนีการตรวจสอบจากข้อมูลของวุฒิสภา ที่ผนวกกับภาคประชาสังคมที่เริ่มตื่นตัว และทำให้สังคมตั้งคำถามว่า เหตุใดตัวแทนของรัฐ 51% ใน ปตท.จึงชงแต่มติที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์” น.ส.รสนา ระบุ

น.ส.รสนา ขยายความต่อด้วยว่า การต่อสู้กับระบอบทักษิณ คือ การต่อสู้กับระบอบทุนที่ครอบงำรัฐ ที่มีจุดมุ่งหมายในการครอบงำ ผูกขาด และกินรวบทรัพยากรในประเทศไทย เป็นการคอร์รัปชั่นที่กินลึกและพลังงานคือกล่องดวงใจของระบอบทักษิณ หาก คสช.ปล่อยให้มีการแปรรูป ปตท.ก็เท่ากับกำลังช่วยต่อยอดให้แก่ระบอบทักษิณที่จะกลับมาใหม่หลังยุค คสช.ไม่ว่าจะโดยรู้เท่า หรือไม่รู้เท่าทันเกมของกลุ่มทุนพลังงานที่มุ่งแสวงหากำไรให้ผู้ถือหุ้น หรือให้เอกชนรายใหญ่ก็ตาม และนั่นจะเป็นการสร้างความแตกร้าวให้แก่สังคมไทยรอบที่ 2 หลังจากที่ระบอบทักษิณได้กระทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึกในหมู่ประชาชนจนกลายเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาแล้ว

โยกย้ายขรก.ล็อตใหญ่

ในช่วงค่ำวานนี้(30 มิ.ย.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกประกาศ และคำสั่ง เกี่ยวข้องกับการรักษาการประธานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติโครงใหม่ หรือทำธุรกรรมวงเงินเกิน 100 ล้านบาท รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

นอกจากนั้น คสช. ยังมีคำสั่งเพิ่มตำแหน่ง ในสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รวมถึงแต่งตั้งข้าราชการ มีตำแหน่งสำคัญ ๆ ให้ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค พ้นจากปลัดกระทรวงคมนาคมและให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นปลัดกระทรวงคมนาคมแทน และให้นายพีรพัฒน์ พรสิริเลิศกิจ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน

นายโชติ ตราชู พ้นจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ และให้นางมิ่งขวัญ วิชายารังสฤษดิ์ เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเกษมสันต์ จิณณวังโส พ้นจากผู้ตรวจการกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นรองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯแทน

นายประวิทย์ เคียงผล พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน และให้นายสุเมธ มโหสถ เป็นอธิบดีกรมการจัดหางาน
นายสุทธิชัย สังขมณี พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ให้นายประสงค์ พูนธเนศ พ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมาดำรงตำแห่งอธิบดีกรมสรรพากร และให้นายกุลิศ สมบัติศิริ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

นายจตุพร บรุษพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ให้นางภาวิณี ปุณณกันต์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ให้นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากร.
กำลังโหลดความคิดเห็น