xs
xsm
sm
md
lg

อย่าท่องแบบศีลห้าถ้าคิดจะพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

หลังยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หัวหน้า คสช.พูดหลายครั้งว่าจะยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ หวังว่าเขาคงต่างกับผู้นำที่ผ่าน ๆ มาซึ่งมักผายลมทางปากมากกว่าจะแสดงความจริงใจ อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่า ถ้าจะใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ จะต้องปรับเปลี่ยนระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างไรจึงจะได้ระบบที่วางอยู่บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากผมไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหาร หากมีภูมิหลังทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงขอเสนอข้อคิดจากมุมมองของทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่

โดยทั่วไปคนไทยเรารับรู้กันอยู่แล้วว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมิได้จำกัดยู่แค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงด้านอื่นอีกด้วยและมีส่วนประกอบ 5 ด้านด้วยกัน นั่นคือ ด้านคุณธรรม ด้านความรู้ ด้านความมีเหตุผล ด้านความมีภูมิคุ้มกันและด้านความพอประมาณ จากมุมมองของด้านเศรษฐกิจ ส่วนประกอบเหล่านี้มีอยู่แล้วในแนวคิดเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยกเว้นเรื่องความพอประมาณเพียงด้านเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมองได้ว่า ในด้านเศรษฐกิจ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบตลาดเสรีที่มีการต่อยอดออกไปให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน

อนึ่ง ระบบตลาดเสรีมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์เนื่องจากมันวางอยู่บนฐานอันเป็นธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์เรา 2 ประการด้วยกัน นั่นคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เมื่อมีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็นำมาแลกเปลี่ยนกันและเราต้องการทำสิ่งนั้นอย่างเสรี ระบบเศรษฐกิจชนิดอื่นอยู่กับสังคมมนุษย์ได้ไม่นานเพราะขัดธรรมชาติของมนุษย์ ล่าสุดเป็นระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งอาศัยการบังคับเป็นหัวจักรขับเคลื่อน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องใช้ระบบตลาดเสรีต่อไป อย่างไรก็ดี ระบบตลาดเสรีเริ่มมีปัญหาหนักหนาสาหัสเมื่อทรัพยากรธรรมชาติของโลกร่อยหรอลงในขณะที่จำนวนคนบนผิวโลกเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งและส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้ใช้ทรัพยากร หรือบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การเดินสวนทางกันของปริมาณและการใช้ทรัพยากรนำไปสู่การแย่งชิงกันจนถึงขั้นการทำสงครามดังที่กำลังเกิดขึ้นในย่านตะวันนออกกลางและในแอฟริกา หลักเศรษฐกิจพอเพียงเสนอว่า มนุษย์เราจะแก้ปัญหาได้มากหากใช้ความพอประมาณเป็นฐานของการดำเนินชีวิต

การจะปรับเปลี่ยนระบบที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไปสู่ระบบที่อยู่บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียงเราอาจเริ่มที่ส่วนประกอบ 5 ด้านดังกล่าว ผมยกด้านคุณธรรมขึ้นมาเป็นอันดับแรกเพราะเห็นว่าด้านนี้มีความสำคัญที่สุดและการขาดคุณธรรมเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของการพัฒนาและกำลังสร้างปัญหาหนักหนาสาหัสในสังคมไทย

ทั้งที่คุณธรรมเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของระบบตลาดเสรี แต่มีน้อยคนที่จะตระหนักรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากด้วย ทั้งนี้คงเพราะหนังสือซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยึดถือว่าเป็นต้นคิดของระบบตลาดเสรีที่อะดัม สมิธ เขียนขึ้นชื่อ The Wealth of Nations นั้นได้ละเรื่องคุณธรรมไว้ในฐานที่เข้าใจเนื่องจากเขาได้อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ The Theory of Moral Sentiments แล้ว หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาก่อน The Wealth of Nations 17 ปี

การปรับเปลี่ยนด้านคุณธรรมคงทำได้สองทางด้วยกัน นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความสมัครใจและการให้รางวัล หรือการลงโทษจากสังคม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความสมัครใจให้เป็นไปตามครรลองของสังคมย่อมเป็นยอดปรารถนา ทว่าตอนนี้เมืองไทยมีแนวโน้มไปในทางตรงข้ามซึ่งเห็นได้จากเรื่องคอร์รัปชัน หรือความฉ้อฉลที่เพิ่มขึ้นจนภาคเอกชนบ่นว่าต้องจ่ายใต้โต๊ะถึง 30% ของราคาโครงการจึงจะได้งานของภาครัฐ การจ่ายใต้โต๊ะเป็นเพียงเรื่องเดียวเกี่ยวกับความฉ้อฉลซึ่งหมายถึงการกระทำทุกอย่างทั้งในด้านที่ผิดกฎหมายและในด้านที่ไม่เหมาะสมกับจารีตประเพณีของสังคมแต่ละแห่ง

ผมไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะแนะนำได้ว่ามาตรการอะไรจะใช้ลดความฉ้อฉลและเสริมสร้างคุณธรรมให้แข็งแกร่งขึ้นได้ แต่เชื่อว่าเราต้องทำให้ความฉ้อฉลลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเวลาอันสั้น เราจึงจะพัฒนาบ้านเมืองต่อไปได้ บางฝ่ายเสนอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูพาเยาวชนเข้าวัดของพุทธศาสนา แต่ผมมองว่าถ้าคนพาไปไม่เคยได้ทำตนให้เป็นต้นแบบที่ดีในขณะที่อยู่ในบ้าน ในโรงเรียนและในชุมชน การพาเยาวชนเข้าวัดจะเป็นการเพิ่มความสูญเปล่า

เมื่อพูดถึงเรื่องต้นแบบ เราคงต้องมองต่อไปถึงการทำงานของ คสช. และผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในด้านการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในนามของการปฏิรูปประเทศด้วย หากสมาชิกในคณะบุคคลเหล่านี้มีความฉ้อฉล หรือแม้แต่มีภาพที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่าฉ้อฉล การปรับเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่จะไม่มีโอกาสสำเร็จ

นอกจากนั้น ผมมองว่าวัดนั่นแหละเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญของปัญหาเนื่องจากมีความฉ้อฉลจนเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัด วัดส่วนใหญ่มุ่งไปที่การก่อสร้างทางวัตถุ การแข่งขันกันสร้างอาคารและพระพุทธรูปให้ใหญ่เข้าไว้มิใช่ทางแห่งธรรมะ พระส่วนใหญ่ไม่แตกฉานในพระไตรปิฎกหากรู้เพียงด้านการทำพิธีกรรม ซ้ำร้ายจำนวนมากยังทำผิดพระวินัยและใช้ศาสนาเป็นแหล่งทำมาหากิน ผมมองว่าถึงเวลาที่ฝ่ายพุทธศาสนาจะต้องสังคายนากันครั้งใหญ่ในทุกด้าน งานนี้ใหญ่มากและจะถูกต่อต้าน แต่ควรจะเริ่มทำกันจากวันนี้เป็นต้นไป

บางฝ่ายได้เสนอให้ลงโทษนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิตและยึดทรัพย์ นอกจากนั้น ยังต้องการให้เร่งตันสินคดีเกี่ยวกับด้านนี้และคดีจะต้องไม่มีกำหนดหมดอายุความ ข้อเสนอเหล่านี้มีความสำคัญเร่งด่วน คสช.ควรสั่งให้หยิบยกขึ้นมาทำจนเห็นผลในขณะที่ตนยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในกำมือ

เนื่องจาก คสช.คงอยู่ต่อไปอีกไม่นาน สิ่งที่ คสช.ทำได้คงเป็นการปูฐานในบางด้านให้แก่รัฐบาลต่อไป หาก คสช.ประสบความสำเร็จในด้านการกวาดล้างกลุ่มต่างๆ ที่กระทำความฉ้อฉลและในด้านการออกกฏเหล็กที่จะป้องกันมิให้คนฉ้อฉลชนะการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป เศรษฐกิจพอเพียงจะได้ส่วนประกอบสำคัญของฐานทางด้านคุณธรรม ในช่วงเวลาเดือนกว่าที่ คสช. เข้ามาคุมอำนาจ งานทางด้านกวาดล้างดูจะคืบหน้าเป็นอย่างดี แต่ยังไม่มีอะไรบ่งชี้เกี่ยวกับงานทางด้านออกกฎเหล็กสำหรับปิดกั้นคนฉ้อฉลซึ่งหากทำไม่ได้เมืองไทยจะไม่มีทางหลุดพ้นจากวังวนของวงจรอุบาทว์และสุดท้ายก็จะกลายเป็นชาติล้มเหลว

เนื่องจากทหารเป็นแกนนำของ คสช. หลัง คสช.ยุติการทำงาน ทหารในฐานะฟันเฟืองสำคัญของชาติยังอยู่ต่อไป ฉะนั้น จึงขอย้ำเน้นสองงานที่ทหารควรทำได้แก่ เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่สังคมโดยเฉพาะในด้านการรักษาระเบียบวินัย และปูฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ทหารเกณฑ์ นั่นคือ หลังจากปลูกฝังระเบียบวินัยและฝึกการใช้อาวุธให้ทหารเกณฑ์เสร็จแล้ว นายทหารควรปูฐานทางด้านการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกเขาก่อนปลดประจำการ แน่ละ จะทำเช่นนั้นได้ นายทหารต้องแตกฉานในด้านแนวคิดและเชี่ยวชาญในด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

สำหรับทางด้านความรู้อันเป็นเรื่องครอบจักรวาล ในยุคนี้ฐานที่เป็นข่าวสารข้อมูลขยายออกไปอย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยีใหม่ๆ เอื้อให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้อย่างกว้างขวางและฉับพลัน การเข้าถึงได้ง่ายเช่นนั้นมีข้อดี แต่มักมีปัญหาแฝงมาด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข่าวสารข้อมูลกับเยาวชนซึ่งจะต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากพวกเขายังขาดวุฒิภาวะที่จะแยกแยะและสร้างภูมิปัญญาขึ้นมาเองได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น แต่ในช่วงนี้ แนวคิดและการจัดการศึกษาของไทยดูจะสับสนวุ่นวายจนจับต้นชนปลายไม่ถูก คสช.จะเริ่มงานทางด้านนี้อย่างไรคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดี ขอฝากข้อคิดไว้สองอย่างดังนี้คือ การศึกษาส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นในสถาบัน หากเกิดขึ้นในบ้านและในสังคมรอบด้านของเยาวชน และปริญญาอาจมิใช่ตัวชี้วัดภูมิปัญญาและความสามารถในการประกอบสัมมาชีพและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

ทางด้านการมีเหตุผล ทุกคนรู้แล้วว่าคืออะไรและสำคัญอย่างไร แต่ยุคนี้มีหลายอย่างที่เป็นผลลัพธ์ของความไร้เหตุผลโดยเฉพาะโครงการประชานิยม การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจและนโยบายภาคพลังงาน คสช.ได้ยกเลิกโครงการประชานิยมเลวร้ายไปบ้างแล้ว เช่น การรับจำนำข้าวซึ่งหากดำเนินต่อไปจะทำลายสังคมไทยแน่นอน แต่เท่านั้นยังไม่พอ คสช.ต้องยกเลิกอีกหลายโครงการ ในช่วงนี้ คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐวิสาหกิจตกอยู่ในสภาพถูกแร้งรุมทึ้งด้วยค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของกรรมการ ผู้บริหารและที่ปรึกษา ก่อนยุติการทำงาน คสช.ควรวางฐานการบริหารจัดการใหม่โดยกำจัดพวกแร้งให้หมดไปและไม่เปิดทางให้แต่งตั้งพวกแร้งเข้ามารุมทึ้งสมบัติของชาติอีก สำหรับภาคพลังงาน รายงานบ่งว่า คสช.กำลังพิจารณารื้อและปูฐานกันใหม่ เนื่องจากภาคนี้มีความสำคัญสูงมากและมีความไม่ชอบมาพากลจากการขายหุ้นให้เอกชนเมื่อหลายปีก่อน คสช.คงต้องสะสางให้เกิดความกระจ่างและปูฐานอย่างมั่นคงก่อนยุติการทำงาน

ทางด้านการมีภูมิคุ้มกัน หากทหารมีความเชื่อมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเริ่มปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เป็นที่ประจักษ์ การขับเคลื่อนให้เกิดภูมิคุ้มกันย่อมจะสำเร็จไปได้ขั้นหนึ่ง การยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและการระดมสมองเพื่อออกแบบนโยบายในภาคนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมมาก นอกจากนั้น ยังควรรื้อโครงการบริหารจัดการน้ำที่จะทำด้วยเงินกู้จำนวนมหาศาลและควรเริ่มการปฏิรูปที่ดินตามแนวที่คณะกรรมการและสมัชชาปฏิรูปที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานได้เสนอไว้

นอกเหนือจากนั้น ผมเสนอให้ทหารจัดทำการนำร่องเรื่อง “ศูนย์ปฏิบัติภูมิปัญญาชาติไทย” ซึ่งผมเสนอไว้หลายครั้งหลังในหลวงตรัสเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อคืนวันที่ 4 ธันวาคม 2540 (รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน” ซึ่งอาจดาวหน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) เป้าหมายหลักของศูนย์ปฏิบัติภูมิปัญญาชาติไทยได้แก่การลดความเสี่ยง เมืองไทยเราโชคดีที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ได้เพียงพอแก่ความต้องการทำอาหาร แต่ตอนนี้เราผลิตสิ่งเหล่านั้นด้วยเทคโนโลยีร่วมสมัยซึ่งใช้ปัจจัยที่ต้องซื้อจากภายนอก เช่น น้ำมัน รถไถและปุ๋ยเคมีในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ลืมวิธีดั้งเดิมไปเกือบหมดแล้ว วิธีดั้งเดิมคือสิ่งที่เรารู้กันในนามของ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” หรือ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะไม่ลืมภูมิปัญญาเหล่านั้นในกระบวนการพัฒนาและพร้อมที่จะนำกลับมาใช้ในยามจำเป็นซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ คำตอบคือ เราต้องมีนโยบายที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้โดยการจัดตั้งศูนย์การเกษตรเพื่อผลิตและประกอบอาหารด้วยวิธีดั้งเดิมขึ้นหลายๆ แห่งทั่วประเทศ จะเป็นกี่แห่งและในเนื้อที่เท่าไรขึ้นอยู่กับการวิจัยและค้นคว้าที่จะบ่งว่าอะไรเหมาะสม การทำนาด้วยวิธีดั้งเดิมหมายถึงเรากลับไปเลี้ยงและฝึกควายเพื่อไถนาและลากเกวียน การประกอบอาหารด้วยวิธีดั้งเดิมซึ่งใช้ฟาง แกลบ ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิงหมายถึงเราต้องปลูกป่าเพื่อใช้เป็นที่มาของพลังงานด้วย ฯลฯ

ศูนย์เหล่านั้นอาจรวมภูมิปัญญาทางด้านการทำเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคแบบเดิมไว้ด้วย พร้อมกันนั้นก็พิจารณารวมเอาศูนย์ต่างๆ ที่ตั้งขึ้นแล้วจำพวกศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ใหม่ ทั้งนี้เพื่อจะช่วยให้เราคิดแก้ปัญหาแบบบูรณาการ หรืออย่างเป็นระบบ การรวมสิ่งที่มีอยู่แล้วเข้าไปในศูนย์ใหม่มิได้หมายความว่าเราต้องเคลื่อนย้ายสถานที่และสิ่งก่อสร้าง หากหมายความว่าเราจะดำเนินงานอย่างเป็นระบบโดยรู้อย่างแน่ชัดว่าส่วนไหนมีบทบาทอย่างไรในยุทธศาสตร์ของชาติ นอกจากนั้น ศูนย์ใหม่ยังอาจรวมกิจกรรมทางวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ด้านสมุนไพรและด้านการแพทย์พื้นเมืองไว้ด้วย ศูนย์ดังกล่าวจะเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการขายผลผลิตของตนเอง เช่น ข้าวซ้อมมือ ส่วนประกอบของอาหารปลอดสารเคมี เสื้อผ้าพื้นเมือง การสอนผู้ที่สนใจเรียนภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเก็บค่าบริการจากผู้เข้าชมหรือศึกษาวิถีชีวิตแบบไทยสมัยก่อน ศูนย์เหล่านั้นจะเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิตซึ่งทำกิจการจำพวกร้านอาหารพร้อมกันไปด้วย

การก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติภูมิปัญญาชาติไทยต้องใช้ทุนก้อนหนึ่งซึ่งเราต้องมองว่าเป็นเสมือนเบี้ยประกันที่เราจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาติ อย่างไรก็ดี หากศูนย์เหล่านั้นมีแรงงานจากทหารเกณฑ์เข้ามาช่วย การดำเนินงานไม่น่าจะมีโอกาสขาดทุน การนำทหารเกณฑ์เข้ามาจะได้ผลหลายอย่าง ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาฝึกวินัยและการใช้อาวุธปีละกว่าแสนคนนั้นจำนวนมากมาจากชนบท พวกเขาจะออกไปใช้ชีวิตตามหมู่บ้านหลังปลดประจำการออกไปเป็นทหารกองหนุนแล้ว ก่อนปลดประจำการ เราควรนำพวกเขามาเข้าเรียนรู้และปฏิบัติเกษตรอินทรีย์และการใช้เทคโนโลยีแบบเก่า เราอาจรวมการใช้ที่ดินแบบเข้มข้นตามแนวคิดใหม่จำพวกหนึ่งไร่ได้หนึ่งแสนบาทเข้าไปด้วย นอกจากนั้น เราจะสอนการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงให้แก่พวกเขา เช่น การทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน การละเว้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำพวกเพื่อซื้อเหล้าและบุหรี่ การบริหารจัดการเวลาและการปกปักรักษาชุมชนของตนเอง สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์มากสำหรับพวกเขาต่อไปไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเกษตรกร หรือประกอบอาชีพอื่น

ทหารมีที่ดินกว่า 5 ล้านไร่ซึ่งน่าจะปันมาใช้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติภูมิปัญญาชาติไทยได้เป็นอย่างดี ศูนย์ที่เริ่มทำนำร่องควรเป็นในภาคกลางเพื่อเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย เช่น ในค่ายอดิศร สระบุรี ซึ่งมีที่ดินผืนใหญ่ที่ใช้ทำสนามกอล์ฟ สนามนี้มีมาตรฐานไม่สูงเท่าไรนัก หากยุบไป นักกอล์ฟอาจไปใช้สนามจำนวนมากที่อยู่ไม่ไกลจากสระบุรี อย่างไรก็ดี หากเมื่อการพิจารณาสรุปว่าสนามกอล์ฟนั้นเล็กเกินไป อาจใช้ที่ดินผืนใหญ่ในส่วนอื่นหรือของค่ายอื่นแทน ถ้าทหารออกมานำอย่างแข็งขันด้วยการทำนำร่องอย่างเสียสละ ทหารและ คสช.ย่อมจะเป็นที่ชื่นชมเพิ่มขึ้นของประชาชนโดยทั่วไปและเมืองไทยจะมีโอกาสพัฒนาได้อย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ความพอประมาณเป็นด้านเดียวที่ไม่มีอยู่ในแนวคิดเศรษฐกิจตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันและเป็นเสมือนยอดที่ต่อออกไปเพื่อทำให้ระบบตลาดเสรีเหมาะสมกับสภาพของสังคมโลกที่มีทรัพยากรลดลงแต่มีคนเพิ่มขึ้น ในสภาพเช่นนี้ ระบบตลาดเสรีจะต้องยึดความพอประมาณแทนการขับเคลื่อนด้วยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด ความพอประมาณวางอยู่บนฐานของความจำเป็นในการดำเนินชีวิตซึ่งเรามักมองที่ปัจจัยสี่อันมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากนั้นก็มีการสื่อสาร การขนส่งและอุปกรณ์สำหรับประกอบอาชีพ

ความพอประมาณอาจเกิดขึ้นได้โดยความสมัครใจและโดยการใช้แรงจูงใจจากภาครัฐ ภาพที่เราเห็นเป็นประจำอยู่ในสมัยนี้ย่อมชี้ชัดว่าคนไทยส่วนใหญ่มักบริโภคเกินความจำเป็นเช่นเดียวกับชาวโลกโดยทั่วไป ฉะนั้น รัฐมีบทบาทสำคัญในการจำกัดการบริโภคส่วนที่เกินความจำเป็นนั้น ในระบบตลาดเสรี เราพยายามที่จะไม่ห้ามการบริโภคนอกจากสินค้าจำพวกยาเสพติดหรือมีโทษแบบเป็นที่ประจักษ์เท่านั้น หากใช้ระบบภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งนี้เพราะการเก็บภาษีเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะบริโภคสินค้าหรือไม่ในกรณีที่รัฐเก็บภาษีสินค้าบางอย่างสูง คสช.ควรเริ่มระดมสมองและปูฐานเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่จะเน้นการเก็บภาษีการบริโภคเกินความจำเป็นเพิ่มขึ้น

หวังว่าการที่หัวหน้า คสช. อ้างถึงเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีส่วนประกอบห้าด้านเป็นประจำคงมิใช่เป็นการกระทำจำพวกท่องศีลห้า นั่นคือ ท่องได้แต่มักไม่ปฏิบัติ หากเขาทำได้แค่นั้น โอกาสสำคัญที่จะพัฒนาประเทศให้ไปสู่ความยั่งยืนย่อมสูญไปอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น